ชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่าที่พุกามประเทศ

ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่าที่พุกามประเทศครับ

เคยได้ยินใครหลายต่อหลายคนพูดถึง คนโยเดีย ซึ่งถูกกวาดไปเป็นเชลยครั้งสงครามเสียกรุง มีการพยายามตามหาเจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรด้วย

ก็ได้ความคิดขึ้นมาว่า น่าจะพาไปรู้จักกับคนไทยที่พลัดบ้านพลัดเมืองไปเมื่อคราวสงครามเสียกรุงบ้าง แต่คนไทยคราวนี้ไม่ใช่คนที่มีเลือดเนื้อชีวิตอยู่ต่อไปอีกแล้ว แต่ผมคิดว่าจิตวิญญาณของเขายังคงอยู่ ในฐานะผู้ทำงานศิลปะหรือศิลปินนั่นเอง เมื่อสองสามปีมานี้มีข่าวการสำรวจพบร่องรอยของพวกเขาที่เมืองสะกาย ในมณฑลมัณฑะเลย์ ลองไปดูกันครับ

ทิวทัศน์เมืองสะกายครับ น้ำใสมาก




ที่เมืองสะกาย (Sagaing) มณฑลมัณฑะเลย์ มีวัดเล็กๆวัดหนึ่ง ชื่อมหาเต่งดอจี มองข้างนอกก็คล้ายๆกับวัดพม่าทั่วๆไป ถ้าไม่ได้เข้าไปข้างในจะไม่รู้เลยว่า ภายในมีร่องรอยที่เลือนรางของวิญญาณจากกรุงศรีอยุธยาติดค้างอยู่ กว่าจะหาวัดเจอได้ก็นานโขเหมือนกัน 

เนื่องจากสะกายมีเจดีย์จำนวนมหาศาล แล้วแต่ละวัดแม้จะมีขนาดใหญ่อลังการแค่ไหน ก็มีชื่อซ้ำๆกันไปหมด ก็เหมือนกับบ้านเรานั่นเอง เพราะเขามีชื่อยาวหลุดโลกไว้ชื่อหนึ่ง ปากชาวบ้านจำไม่ได้ เรียกไม่ถนัด ก็ตั้งให้อีกชื่อ 

เหมือนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ใครๆก็เรียกวัดโพธิ์กันทั้งนั้น (ซึ่งทั้งชื่อวัดพระเชตุพน และวัดโพธิ์ ก็เป็นชื่อโหลทั้งคู่)

เพราะฉะนั้น ใครไปพม่าก็จะเจอวัดชื่อโหลทั้งสิ้น อย่าง จ๊อกตอจี กูบยวกจี ชเวกูจี ยาดานาเซดีย์ ต้องกำหนดให้แน่ว่าอยู่จังหวัดไหน หมู่บ้านไหน มหาเต่งดอจี แห่งนี้ก็เป็นชื่อโหลๆเหมือนกัน พอหาวัดเจอก็ขอให้คนขับรถชาวพม่าไปขอกุญแจโบสถ์ ซึ่งพระคุณเจ้าปองคยีท่านทั้งหลายก็อำนวยให้แต่โดยดี






โบสถ์ ภาษาพม่าคือเต่ง เพี้ยนมาจากคำว่า สีมา เขาออกเสียง ส ไม่ได้จะออกเป็น ท สีมาเวลาเรียกเร็วๆเข้าก็จะกลายเป็ย สิม เหมือนที่ตามภาคอีสานใช้คำนี้เรียกโบสถ์ แล้วทีนี้ พม่าออกเสียงตัวสะกด ม แม่กมไม่ได้อีก จากสิมก็กลายเป็น “เต่ง” จนได้ สำหรับวัดนี้ ชื่อว่า มหาเต่งดอจี แปลไทยพอกล้อมแกล้มได้ว่า วัดมหาอุโบสถาราม เรียกบ้านๆ ก็วัดโบสถ์ใหญ่ อะไรทำนองนั้น 

ในพม่า โบสถ์จะมีขนาดเล็ก และมีไม่กี่วัดที่มีโบสถ์ เนื่องจากใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์เท่านั้น บางครั้งหลายๆวัดจะมีโบสถ์สักวัด ถ้าตุ๊เจ้าจะทำสังฆกรรมก็เดินมาจากวัดข้างเคียง มาลงอุโบสถได้ทันเวลา ลักษณะนี้ก็คล้ายๆบ้านเราสมัยก่อน แถวล้านนาหรือสุโขทัย แม้แต่สมัยอยุธยาตอนต้น โบสถ์แทบไม่มีความสำคัญ มีขนาดเล็ก บางวัดก็ไม่มี หรือมีก็โยกย้ายไปอยู่นอกแผนผังหลัก กลับไปให้ความสำคัญกับวิหาร อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เปิดให้สาธุชนกราบไหว้มากกว่า 

เพราะการสร้างโบสถ์สักหลังนั้น มีพิธีกรรมยุ่งยากซับซ้อนยิ่งนัก กว่าจะผูกพัทธสีมาเรียบร้อย หากผูกไม่เรียบร้อยก็ต้องรื้อแก้ จัดการผูกใหม่อีก บางครั้งมีเจ้ากูนิกายใหม่มา ก็จัดการผูกซ้ำเข้าไป กลายเป็นมีเสมาของหลายนิกายปะปนกันในโบสถ์เดียว 

มีเรื่องที่ขำไม่ออกอยู่ในตำนานมูลศาสนาวัดป่าแดง เชียงตุงว่า วัดสวนดอก เชียงใหม่ เป็นวัดที่ต้องผูกและแก้พัทธเสมากันถึง 4 รอบ ด้วยเหตุผลต่างๆกัน ผมจำได้แค่เหตุผลประการเดียว คือ มีพระรูปหนึ่งมาลงอุโบสถไม่ทัน เนื่องจากท้องเสีย แล้วปิดบังความอำยวนไว้ถึง 16 ปี จึงสารภาพ ปรากฏว่าสังฆกรรมที่ทำมาตลอด 16 ปีก็ต้องกลายเป็นโมฆะหมด พระที่บวชในโบสถ์นั้นก็ถือว่าเป็นพระไม่สมบูรณ์ไป

แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของเจ้ากูสมัยโบราณท่านกระทบกระทั่งกันด้วยต่างนิกาย เราเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนไม่พึงไปเกี่ยวข้อง พอแค่นี้ดีกว่าครับ




ใครเคยไปเมืองสะกาย จะเห็นว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยเจดีย์มากมายมหาศาลสุดลูกหูลูกตา จนล้อกันเล่นว่าเป็นสลัมเจดีย์ แสดงถึงศรัทธาของชาวพม่าอย่างยิ่งยวด ก็คงนึกถามว่าเจดีย์ตั้งมากมายขนาดนี้ ทำไมถึงเลือกมาที่นี่ได้ อันนี้ก็ต้องยกเครดิตให้กับหนังสือของ ม.ร.ว. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ เรื่อง “ชาวอยุธยาที่เมืองสะกาย” ที่จุดประกายประเด็นเกี่ยวกับจิตรกรรมฝีมือช่างไทยในพม่าขึ้น รวมทั้งรายงานข่าวของคุณอรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล ที่สำรวจพบจิตรกรรมลักษณะแบบสกุลช่างอยุธยา ที่เมืองสะกายและเมืองมินบู เคยลงในวารสารเมืองโบราณมาก่อน โดยได้กล่าวว่า โบสถ์นี้เดิมชื่อ ยวนเต่ง หรือ โบสถ์ของชาวยวน (ยวนคือ โยนกล้านนานั่นเอง) แต่ฝีมือช่างข้างในเป็นฝีมือแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อาจจะช้าไปบ้างถ้าเอามารีวิวกันตอนนี้ แต่เห็นใจเถอะครับว่ากว่าจะไปได้ก็ต้องรอว่างเว้นจากงานการเสียก่อน





เอาล่ะ ตุ๊เจ้าท่านเปิดประตูให้แล้ว เข้าไปก็เป็นห้องเล็กๆธรรมดา ก่ออิฐถือปูน แต่ที่ไม่ธรรมดาคือมีตามเพดานเขียนภาพจิตรกรรมโบราณเอาไว้ทั้งสิ้น แม้บริเวณผนังจะลบเลือนไปแล้วตามกาลเวลา ก็ยังเหลือลมหายใจเอาไว้บ้างบนพื้นเพดาน มันน่าประหลาดเหมือนกับว่าเป็นการสื่อสารระหว่างคนสองยุคที่พยายามบอกอะไรบางอย่างแก่เรา 

น่าเสียดายที่เห็นได้ชัดว่า ช่างที่สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ ไม่น่าจะเป็นช่างกรุงศรีอยุธยาแท้ๆแล้ว แต่น่าจะเป็นช่างรุ่นลูกหรือลูกศิษย์มากกว่า เนื่องจากกระบวนลายที่แตกออกมาบางลาย แม้ว่าจะพยายามทำให้เป็นลายกนก แต่ก็ไม่เหมือน ยังแข็งๆและผิดรูปแบบไปบ้าง

ขณะเดียวกัน ก็มีลายพม่าปะปนเข้ามามาก แต่เราก็ยังเห็นเชื้อไฟบางอย่างที่แสดงถึงศิลปกรรมเฉพาะของสยามได้เป็นอย่างดี อาจจะเป็นไปได้ว่ามีครูช่างคอยควบคุมอีกที จะเหมือนจะต่างยังไงนั้น ลองมาดูกันครับ



อันแรกเลยที่เป็นไทยแท้ๆพม่าไม่มีแน่ๆ คือยอดปรางค์ครับ เห็นนพศูลชัดเจน เสียดายที่ภาพลบเลือนไปมาก




อันนี้เป็นลายกนกเปลวไหลเลื้อยอยู่ด้านหลังพระประธาน ปกติแล้ว เท่าที่เราพบเห็นในประเทศไทย ผนังหลังพระประธาน (สกัดหลัง) มักนิยมเขียนภาพโลกสัณฐาน มีเขาพระสุเมรุ สัตตบริภัณฑ์ สวรรค์ นรก อะไรทำนองนั้น แต่ที่นี่เขียนลายกนก ไม่ใช่ภาพเล่าเรื่อง ทำนองวัดใหม่ประชุมพล อยุธยา มีแกนกลางเป็นช่อหางโตประกาบลายสิงห์คาบ นกคาบ 

ที่กรอบล่าง พยายามทำกระจังเลียนแบบไทย แต่กลิ่นก็เป็นพม่าไปมากแล้ว โดยรวมฉากนี้สวยครับ ยกเว้นกนกบางตัวยังเก้งก้างอยู่บ้าง คงเป็นช่างชั้นศิษย์ที่ไม่เคยเห็นของจริงในเมืองไทย 



สุดยอดของที่นี่ครับ บริเวณผนังเหนือประตูทางเข้า เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับในปราสาท 7 ยอด ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะยอด 7 ยอดนั้น ดูคล้ายคลึงกับมณฑปพระพุทธบาทก่อนที่จะรวมให้เป็นกระพุ่มยอดเดียวในสมัยพระเจ้าเสือ ปัจจุบันจะหาอาคารทรงอย่างนี้คงไม่มีแล้ว เว้นแต่ธรรมาสน์ต่างๆตามวัด หรือตู้มุกในหอพระมณเฑียรธรรม สังเกตดูฐานแอ่นโค้งเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะอยุธยาตอนปลายทีเดียว 

โดยปกติ ในพม่าที่ร่วมสมัยกับอยุธยาตอนปลาย นิยมเขียนภาพโลกสัณฐาน (เขาพระสุเมรุ) ไว้ที่ผนังด้านหน้าพระประธาน สลับกับบ้านเราที่นิยมเขียนภาพมารวิชัยหรือกองทัพมาร ที่มหาเต่งดอจีนี้ แม้จะไม่เขียนภาพโลกสัณฐาน ที่มีภาพพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ในพุทธประวัติตอนโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่การเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับในปราสาท ที่มีฐานเป็นชั้นๆ ประดับด้วยครุฑ นาค เทวดา อาจหมายถึงภพภูมิของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ที่อยู่ตีนเขาพระสุเมรุ และแทนปราสาทนี้ในฐานะไพชยนต์ของพระอินทร์ที่อยู่บนเขาพระสุเมรุนั่นเอง




ยอดปราสาท 7 ยอด


ภาพอดีตพุทธประทับนั่งบนฐานบัวผ้าทิพย์ครับ ผ้าทิพย์นี้เราได้แบบอย่างมาจากเขมรตอนปลาย ซึ่งในพม่าไม่มี หน้าตาท่าทางพุทธลักษณะต่างๆเป็นแบบไทยทั้งสิ้น ยกเว้นการขัดสมาธิเพชรเพียงอย่างเดียวที่เป็นแบบพม่า หลังพระเศียรจะเห็นฉพรรณรังสี หรือรังสี 6 สีที่เปล่งออกมาจากพระวรกาย ก็เป็นแบบไทยแท้เช่นกัน

Credit: http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=patisonii&month=09-01-2010&group=11&gblog=1
26 มิ.ย. 53 เวลา 01:06 3,602 12 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...