ปฐมบท การ์ตูนสยาม
เมื่อพูดถึงการ์ตูนในฐานะศิลปะลายเส้น (Graphic art) จะถือได้ว่ามีภาพการ์ตูนมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมี “ขรัวอินโข่ง” เป็นจิตรกรเอก ซึ่งภาพของขรัวอินโข่งเป็นภาพฝาผนังแบบเหมือนจริง (Realistic) และ จะสอดแทรกอารมณ์ขันและล้อเลียนผู้คนในยุคนั้น ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นลักษณะภาพการ์ตูนได้ แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ การ์ตูน ทำให้ไม่มีการบันทึกว่าการ์ตูนเริ่มมีในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ประวัติศาสตร์การพิมพ์ของไทยเริ่มต้นในปลายรัชกาลที่สาม โดยหมอชาวอเมริกันที่ชื่อ แดน บิช บรัดเลย์ ( Dan Beach Bradley) หรือชื่อที่คนไทยคุ้นเคยว่า หมอบรัดเลย์ เป็นผู้ริเริ่มนำแท่นพิมพ์มาใช้ในในกรุงสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2378 โดยในยุคแรกจะพิมพ์เป็นหนังสือสอนศาสนา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2387 ได้เริ่มมีการพิมพ์นิทานไทยขายกันอย่างแพร่หลาย เช่นเรื่อง จันทโครพ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น ต่อมาเริ่มมีโรงพิมพ์เอกชนเพิ่มขึ้น และในปี 2464 ได้เกิดนิตยสารสำหรับเด็กเล่มแรกคือ “เด็กไทย” ซึ่งเป็นของโรงพิมพ์เอกชน และหลังจากนั้นก็มีการผลิตหนังสือสำหรับเด็กอย่างแพร่หลายโดยจัดทำคล้ายคลึงกับแบบเรียนของการ์ตูนศึกษาธิการซึ่งมีการใช้รูปภาพประกอบ นั่นคือยุคเริ่มของหนังสือการ์ตูนในสยาม
จุดเริ่มต้นปฐมบทแห่งการ์ตูนสยามเกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2460 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสนพระทัยเป็นอย่างมากในศิลปะการเขียนภาพล้อและโปรดเกล้าฯ ให้แปลคำว่า Cartoon เป็นคำไทยว่า “ภาพล้อ” และในช่วงรัชสมัยของพระองค์ในปีพ.ศ. 2463 ได้ทรงริเริ่มออกวารสารดุสิตสมิต ที่มักจะนำภาพล้อบุคคลต่าง ๆ นำมาตีพิมพ์ด้วยเสมออีกทั้งยังได้มีการประกวดภาพเขียนจากนักวาดมือสมัครเล่นเป็นการภายในอีกด้วย จนบรรดานักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ได้ตีพิมพ์ภาพล้อการเมืองกันมากขึ้น และช่วงเวลานั้นเอกได้ได้กำหนดบุคคลที่จัดเป็นการ์ตูนนิสต์ นักเขียนภาพล้อการ์ตูนการเมืองคนแรกของสยามมีนามว่า “เปล่ง ไตรปิ่น”
เปล่ง ไตรปิ่น ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต นอกจากจะได้รับการยกย่องให้เป็นนักเขียนการ์ตูนคนแรกของประเทศสยามแล้ว และท่านยังเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของสยามอีกด้วยเพราะเป็นผู้ที่นำเทคโนโลยีการทำแม่พิมพ์หรือบล็อก เข้ามาเผยแพร่ในสยามหลังจากที่ได้เดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ และยังได้เปิดร้านพิมพ์บล็อกนามว่า ฮาล์ฟโพนขึ้นเป็นแห่งแรกในสยามประเทศ จนทำให้ล้นกล้ารัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น“ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต”
ในปี พ.ศ. 2470 เป็นยุคเฟื่องฟูของหนังสืออ่านเล่นทั้งหลาย มีการผลิตหนังสืออ่านเล่นเริงรมย์ออกมามากมาย โดยสำนักพิมพ์ที่เป็นที่รู้สึกในยุคนั้นได้แก่ “สำนักพิมพ์เพลินจิตต์”มีนักประพันธ์และนักวาดที่มีชื่อเสียงมากมายอยู่ในสังกัด นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงอยู่จนถึงปัจจุบัน ป.อินทรปาลิต ผู้ก่อกำเนิดหัสนิยายที่โด่งดังอย่าง “พล นิกร กิมหงวน” สำหรับจิตรกร และศิลปินที่วาดภาพประกอบและการ์ตูน ที่มีชื่อเสียงในสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ที่ควรที่จะกล่าวถึงหลายท่านด้วยกัน เช่น เหม เวชกร,เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน, เฉลิม วุฒิโฆสิต ส่วนการ์ตูนนิสต์ก็จะมี วิตต์ สุทธเสถียร ผู้ใช้นามปากกาว่า “วิตตมิน” กับ “สเตอร์ กัณหดุล” ผู้ใช้นามปากกาว่า“มิสเตอร์” สำหรับคนหลังนี้อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง เคยยกย่องไว้เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทคอมิคว่า เป็นนักเขียนการ์ตูนขำขันคนแรกของสยาม ผลงานที่โด่ดเด่น อย่างเช่น การแปลงตัวละครป๊อบอาย ของฝรั่ง มาเป็นการ์ตูนแบบบุคลิกไทย ๆ สำหรับนิยายเล่มแรกที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ได้ออกมาจำหน่ายเป็นนิยายภาพ ก็คือนิยายเรื่อง “สาวน้ำเค็ม”โดย วิตตมิน นั่นเอง
นิยายภาพเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนทำให้สำนักพิมพ์อื่นเอาอย่างบ้างเช่น สำนักพิมพ์ ศรีอิศรา ที่ตีพิมพ์นิยายแนวผี ในชื่อ ผีบ้านร้าง ออกมาบ้าง นิยายภาพในยุคนั้นยังไม่ใช่รูปแบบการ์ตูนหรือ Comicsอย่างที่เราคุ้นเคยอย่างปัจจุบัน เพราะการดำเนินเรื่องราวไปด้วยภาพเต็มหน้า 1หน้า โดยไม่มีช่องคำพูดหรือบอลลูนคอยกำกับเรื่อง แต่จะมีคำบรรยายเหตุการณ์ในด้านล่างของภาพแทน งานในลักษณะนี้บางครั้งก็เรียกว่า นิยายภาพวิจิตร อาทิเช่น นิยายภาพวิจิตรชุด ราชาธิราช ผลงานของ ครูเหม เวชกร ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ชาวไทยรายวัน ราวปี2495 จะเป็นลักษณะภาพลายเส้นสี่ช่องไม่มีช่องคำพูด แต่จะมีคำบรรยายใต้ภาพเช่นกัน อย่ารไรก็ดียุคนี้นับเป็นยุคที่หนังสือการ์ตูนและนิยายภาพมีออกมากจำนวนมาก
ภาพการ์ตูนในยุคต้นมักจะเขียนเป็นภาพลายเส้นที่เก็บรายละเอียดทุกแง่ทุกมุม มีแม้กระทั่งแสงเงา จะมีการบรรยายเชิงขำขันประกอบ ยังไม่ค่อยมีลักษณะและลีลาของการ์ตูนอย่างแท้จริงนัก จึงนับว่าภาพการ์ตูนยุคต้นนั้นเป็นภาพเกิดการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 วงการการ์ตูนเริ่มคึกคักขึ้น มีเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่ จน “คณะราษฎร์”ต้องออกกฎหมายควบคุม เรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นการ์ตูนไทยในยุคแรกๆ ต่างนิยมหยิบยกมาจากวรรณคดีไทย
นิยายพื้นบ้านเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เป็นการ์ตูนใส่ชฎา เช่นเรื่อง พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน จันทโครพ สังข์ทอง ฯลฯการ์ตูนเรื่องใดได้รับความนิยมก็จะนำมาพิมพ์รวมเล่ม เมื่อนักเขียนได้เขียนเรื่องวรรณคดีไทยมากขึ้นจนล้นตลาดแล้วก็ได้หันมาแต่งเรื่องเองบ้าง แต่ก็ยังรับเอาโครงเรื่องมาจากการ์ตูนฝรั่ง และเป็นที่ต้องการของตลาดขณะนั้นแต่ก่อนนักเขียนการ์ตูนคนไหนที่ฝีมือดีก็จะถูกดึงตัวไปอยู่ค่ายต่างๆ รายได้ สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้
พ.บางพลี จิตรกรบ้านนา " รวมวิจิตรผลงาน
“ผมเป็นคนแปลกนะคุณ เวลาเขียนเรื่องแล้ว หากเป็นเรื่องเศร้า น้ำตามันจะหยดออกมาเอง
มีความรู้สึกเศร้าไปกับเรื่องขณะที่กำลังเขียน”
พ.บางพลี (คัดมากจากส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ในนิตยสารไทคอมิค ฉบับที่ 7 ปี 2536)
ในช่วงยุคปี 2500 ได้กำเนิดนักเขียนการ์ตูนสำคัญท่านหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงมีผลงานที่รู้จักกันดี คือ คุณวีรกุล ทองน้อย หรือใช้นามปากกาว่า“พ.บางพลี” เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2461จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง ก่อนจะออกมาเป็นครูช่างเขียนและย้ายไปทำงานที่กรมอุทกศาสตร์ก่อนที่จะผันผวนตัวเองมาทำงานทางด้านศิลปะอย่างเต็มตัว ต่อมาได้ทำงานเขียนนิยายภาพลงในนิตย
สารกมลสาสน์ และเริ่มมีผลงานจากการ์ตูนชุด เด็กสามเกลอ และการ์ตูนนิยายภาพเรื่องชุดเสือใบจนมาเขียนการ์ตูนที่สร้างชื่อให้ พ.บางพลีมากที่สุด คือ นิยายภาพชุด อัศวินสายฟ้า นั่นเองตัวละคร ของอัศวินสายฟ้าได้ถอดแบบมาจากตัวละคร กัปตันมาร์เวลของ ฟอว์เซตต์โดยเนื้อหาของเรื่องแล้วนัว่าใกล้เคียงกับกัปตันต้นแบบอยู่พอสมควร โดยอัศวินสายฟ้าก็มีต้นกำเนิดจากเด็กวัดพิการหลังค่อยแต่จิตใจดีงาม ได้รับพลังวิเศษจากฤาษีตนหนึ่งให้กลายร่างเป็นอัศวินสายฟ้าเพื่อผดุงคุณธรรม แต่ที่แตกต่างกันก็คือโทนเรื่องของอัศวินสายฟ้านั้นจะออกไปในแนวนิทานไทย ๆ จักรๆ วงศ์ ๆ เสียมากกว่า อัศวินสายฟ้าของเราก็มีพลพรรคเพื่อนฝูงตัวประกอบที่แตกต่างจากต้นแบบอยู่พอสมควร อัศวินสายฟ้าเป็นการ์ตูนไทยที่ได้รับความนิยมและโด่งดังในวงกว้างมากในยุคนั้น ถึงขั้นมีการนำไปดัดแปลงสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2517ออกอากาศช่วงเวลา18.55 น. วันอาทิตย์ ช่อง 4 อีกทั้งยังมีการผลิตเป็นอนิเมชั่นสำหรับทำสป็อตโฆษณาลูกอายี่ห้อดังในสมัยนั้นอย่างลูกอมเฮโลด้วย
แต่อัศวินสายฟ้าก็ไม่ได้เป็นผลงานที่โด่งดังเพียงเรื่องเดียวของ อาจารย์ พ.บางพลี เท่านั้นท่านได้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนและนิยายไทยไว้มากมายหลายเรื่อง โดยเรื่องเด่น ๆ นอกจากอัศวินสายฟ้าแล้ว ยังมีนิยายภาพชุด เจ้าชายลิ้นดำ เป็นนิยายภาพจักร ๆ วงศ์ ๆ เล่าถึงเจ้าชายผู้พลัดตกจากราชบัลลังก์ตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนต้องออกผจญภัยกันพักใหญ่ ที่น่าสนใจก็คือเรื่องนี้มีอัศวินสายฟ้าและสหายมาเป็นดารารับเชิญด้วย ส่วนนิยายภาพอีกเรื่องที่จัดเป็นผลงานชิ้นสำคัญ คือ เรื่อง ชุดขุนขวานทมิฬ ที่เป็นนิยายแนวแฟนตาซี เกี่ยวกับการศึกสงครามและการล้างแค้น ซึ่งฉากกระท่อมมุงจากทรงกลมน่าจะจำลองมาจากวัฒนธรรมแอฟริกา การ์ตูนชุดนี้มีความยาวกว่าสามร้อยหน้าทีเดียว
ผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อ
เริ่มวาดคือ การ์ตูนชุดเด็กสามเกลอ กับเรื่องเสือใบ
ปี 2500 การ์ตูนที่สร้างชื่อคือเรื่อง อัศวินสายฟ้า เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความใฝ่ฝันของเด็กชายง่อยเปลี้ยเสียขาคนหนึ่ง แต่แล้วกลับกลายมาเป็นมนุษย์อภินิหารผู้ปราบยุคเข็ญของแผ่นดิน
ปี 2504 เขียนเรื่องเจ้าชายลิ้นดำ
ปี 2506 เขียนเรื่องขุนขวานทมิฬ การ์ตูนที่สร้างชื่อเสียงของ พ.บางพลีไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังมีเรื่องสงครามล้างโลก น้องศรีธนญชัยการผจญภัยของนักเรียนสาวกับนากแสนรู้ ฯลฯ
พ.บางพลีได้ฝากผลงานไว้มากมาย และวางปากกาเลิกวาดการ์ตูนอย่างถาวรเมื่ออายุได้ 68 ปีเพราะความไม่เอื้ออำนวยของสังขารและร่างกาย แต่ยังคงจับงานวาดภาพศิลปะสไตล์สีน้ำมันต่อไปจนกระทั่งท่านได้จากโลกนี้ไปด้วยอาการสงบในวัย 76 ปี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2537ปิดฉากจิตรกรบ้านนา ที่ฝากผลงานภาพวาดการ์ตูนยุคกึ่งพุทธกาลไว้กับดินแดนประเทศสยามแห่งนี้
บรรณานุกรม
นิรวาณ คุระทอง .2553.ประวัติย่อการ์ตูนไทย.กรุงเทพฯ.LET’S Comic.
ข้อมูลออนไลน์
http://4592010192.bizhosting.com/html/history.html