พระรัชทายาทผู้ปฏิเสธราชบัลลังก์

read:http://variety.teenee.com/world/76342.html

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีเจ้าฟ้าพระราชอนุชาอันประสูติร่วมพระบรมราชชนนีเดียวกันอีก ๔ พระองค์

อันดับแรกคือ

๑ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงสำเร็จการศึกษานายร้อยทหารบกจากประเทศรัสเซีย

๒ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงศึกษาจากประเทศอังกฤษ

๓ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ทรงสำเร็จ Bachelor of Arts จาก Cambridge University

๔ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมาธิราช ทรงศึกษาวิชาทหารบกจากประเทศอังกฤษ

ทั้งนี้ไม่รวมพระเชษฐาและพระอนุชาที่ประสูติจากพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นในรัชกาลที่ ๕ อีกหลายพระองค์ ในเมื่อทรงเป็นพระอนุชาพระองค์ท้ายที่สุด จึงไม่มีผู้ใดคิดว่าจะเสด็จขึ้นครองราชย์

รวมทั้งพระองค์เองด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นความสามารถในการศึกษาพระธรรมวินัยได้ดี จึงทรงชักชวนให้อยู่ในสมณเพศตลอดไป แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะทรงมีพระสุขภาพพลานามัยไม่แข็งแรงนัก

ใน ๑๕ ปีของรัชสมัย (๒๔๕๓-๒๔๖๘) เกิดเหตุน่าเศร้าสลดอย่างไม่นึกฝันหลายครั้ง พระราชอนุชา ๓ พระองค์ สิ้นพระชนม์ตามๆกันไปทั้งที่พระชนมายุยังไม่มากด้วยกันทั้งนั้นอย่างเช่นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓ พระชนม์เพียง ๓๗ พรรษา ต่อมาอีก ๓ ปี เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ฯ ก็สิ้นพระชนม์ พระชันษาเพียง ๓๒ ปี ปีต่อมา ๒๔๖๗ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาฯ ก็ประชวรสิ้นพระชนม์ไปอีกพระองค์หนึ่ง พระชนม์แค่ ๓๕ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดาซึ่งประสูติก่อนหน้าวันสวรรคตเพียงวันเดียว คือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ในพระราชหัตถเลขานิติกรรม ทรงระบุไว้ว่า หากทรงมีพระราชโอรสก็ขอให้ได้สืบราชสมบัติต่อไป โดยให้เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรส ก็มีพระราชประสงค์ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯทรงสืบสันตติวงศ์

ในตอนแรก เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยฯ ทรงปฏิเสธตำแหน่งนี้ ว่าไม่เคยแก่ราชการเพียงพอ เจ้านายพระองค์อื่นที่อาวุโสพอจะรับราชสมบัติได้ก็ยังมี แต่ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ ถวายราชสมบัติ โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นพระโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงรับรองแข็งแรงว่าจะภวายความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ จึงทรงยินยอมรับเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

***เกร็ดความรู้เพิ่มเติม***

ในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีกฎหมายพระราชบัญญัติสำคัญอยู่ฉบับหนึ่ง ที่พลิกผันโครงสร้างครอบครัวของไทย แต่โบราณ คือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. ๒๔๗๓

สังคมไทยโบราณ เป็นแบบ polygamy คือมีคู่สมรสได้พร้อมๆกันหลายคน (นับเฉพาะฝ่ายชาย)

เมียหลวงเมียน้อย นับเป็นเมียถูกต้องตามกฎหมาย (กฎหมายตราสามดวงในรัชกาลที่ ๑ อิงหลักการจากสมัยอยุธยา รับรองเมียน้อยว่ามีศักดินากึ่งหนึ่งของเมียหลวงแปลว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกคน)

ธรรมเนียมครอบครัวแบบนี้ฝังรากกันมาหลายร้อยปี จะเปลี่ยนให้เป็นผัวเดียวเมียเดียว ไม่ใช่เรื่องง่าย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงริเริ่มแบบละมุนละม่อม ให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตรเพื่อปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่ แทนธรรมเนียมดั้งเดิม

จนกระทั่งมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัวยอมรับหลักการเรื่องการมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว ใช้ถือมาถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์แรก และพระองค์เดียว ที่มีพระบรมราชินีเพียงพระองค์เดียว ไม่มีเจ้าจอมพระสนมใดๆทั้งสิ้น

ที่มา เรือนไทย ดอดคอม

Credit: ที่นี่ดอดคอม
4 พ.ย. 59 เวลา 02:14 1,077 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...