มีคำอยู่คำหนึ่งที่ชาวพุทธพูดกันจนติดปาก คำนั้นก็คือ "อนุโมทนา" ความหมายของอนุโมทนาคืออะไร และเมื่อไหร่ที่ควรใช้คำนี้ คำตอบก็คือ...
ในหนังสือ ‘คำวัด' โดยพระธรรมกิตติวงศ์ ได้อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่า
อนุโมทนา หมายถึง การ แสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ การอนุโมทนานั้นอาจทำได้ด้วยการพูด เขียนหนังสือ หรือแสดงกิริยาก็ได้ เช่น เมื่อได้ยินเสียงย่ำฆ้องกลองที่วัดในตอนเย็น แสดงว่าพระท่านทำวัตรเย็นจบ ก็ยกมือขึ้นประนมไหว้ เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วก็ยกมือขึ้นสาธุ เป็นการอนุโมทนาบุญของเขาด้วย ..
เรียกการพูดแสดงความยินดีในความดีของผู้อื่นว่า "อนุโมทนากถา" เรียกหนังสือรับรองการบริจาคที่วัดออกให้แก่ผู้บริจาคทรัพย์ทำบุญว่า "อนุโมทนาบัตร หรือใบอนุโมทนา" เรียกบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาตามตัวอย่างข้างต้นว่า "อนุโมทนามัยบุญ"
และ การที่ภิกษุกล่าว สัมโมทนียกถา อันแปลว่า ถ้อยคำอันเป็นที่บันเทิงใจ ใช้เรียกการที่ภิกษุพูดแสดงความขอบคุณหรือกล่าวถึงประโยชน์และอานิสงส์ของ ความดี ของบุญกุศล ที่ทายกทายิกาได้ทำ เช่น ถวายอาหาร สร้างกุฏิ สร้างหอระฆัง เป็นต้น ไว้ในบวรพระพุทธศาสนา บางทีเรียกว่า อนุโมทนากถา ..
ส่วนในหนังสือศาสนพิธี เล่ม ๒ ฉบับมาตรฐาน โดยคณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับถวายปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นภัตตาหาร หรือทานวัตถุใดๆ ก็ตามจากทายกทายิกา จะต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้น ไม่ว่าจะได้รับรูปเดียวหรือหลายรูปก็ตาม ต้องอนุโมทนาทุกครั้ง จะละเว้นเสียมิได้ถือว่าผิดพระพุทธานุญาต ต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลังเท่านั้น
ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติ กันมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ฉะนั้นการอนุโมทนาทานจึงเป็น ประเพณีมานานในหมู่สงฆ์ การประกอบพิธีอนุโมทนาลับหลังทา ยกทายิกามีวิธีเดียว คือ การบิณฑบาตที่ต้องออกรับในสถานที่ต่างๆ ทั่วไปไม่จำกัด กรณีเช่นนี้ไม่ต้อง อนุโมทนาต่อหน้าขณะที่รับบิณฑบาต แต่กลับมาถึงวัดฉันอาหารเรียบร้อยแล้ว จึงอนุโมทนา หรือยกไปอนุโมทนาในช่วงทำวัตรสวดมนต์ เช้า-เย็นก็ได้
ส่วนพิธีอย่างอื่นนอกจากนี้ควรจะอนุโมทนาต่อหน้าเสมอไปจึงจะสมควร พิธีอนุโมทนาแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ ๒ หัวข้อ คือ (๑) สามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาที่นิยมใช้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ไม่จำกัดงานหนึ่งงานใด ก็คงใช้คำอนุโมทนาแบบเดียวกัน (๒) วิสามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาด้วยบทสวดพิเศษ คืออนุโมทนาเฉพาะทาน เฉพาะกาล และเฉพาะเรื่อง
สำหรับคำว่า "สาธุ" แปลว่า "ดีแล้ว ชอบแล้ว" ดังนั้นการเปล่งวาจาว่าสาธุก็เพื่อแสดงความเห็นชอบ ด้วยชื่นชม หรือยกย่องสรรเสริญ เพื่ออนุโมทนาในบุญ หรือความดีที่ผู้อื่นทำนั่นเอง
ในพระไตรปิฎก ได้พูดเรื่องผลบุญของการอนุโมทนาที่ทำให้ไปเกิดในวิหารวิมานว่า
ท่านพระ อนุรุทธเถระได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า เหตุใดมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไป ทั่วทุกทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ มีเสียงอันเป็นทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจ มีกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ เสียงของเครื่องประดับผมก็ดังเสียงไพเราะดุจเสียงดนตรี แม้พวงมาลัยบนศีรษะก็มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร ?
นางเทพธิดาตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นสหายของดิฉัน อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้น แล้วมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา ก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิ ฉันได้แล้ว เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น วิมานนี้เป็นวิมานอัศจรรย์น่าดูน่าชม โดยรอบสูง ๑๖ โยชน์ เลื่อนลอยไปในอากาศ ได้ตามความปรารถนาของดิฉัน ดิฉันมีปราสาทเป็นที่อยู่อาศัย อันบุญกรรมจัดแจงเนรมิตให้เป็นส่วนๆ งามรุ่งโรจน์ตลอดร้อยโยชน์โดยรอบทิศ วิมานอันมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ น่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชมเช่นนี้ เกิดแต่ดิฉันเพราะกุศลกรรมทั้งหลาย ควรทำบุญโดยแท้
สรุปแล้วการอนุโมทนา เป็นสิ่งดี แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือ การลงมือทำความดี สร้างบุญกุศลนั้นๆ ด้วยตนเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://thaiza.com/
ภาพ จาก : GooGle