สร้างความโศกเศร้าไปทั่วทั้งแผ่นดินไทย หลังสำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” เสด็จสวรรคต เมื่อเวลา ๑๕.๕๒ น. ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ณ โรงพยาบาลศิริราช ปวงชนชาวไทยหลั่งน้ำตา ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมใจร่วมกันน้อมส่งเสด็จพ่อหลวงสู่สวรรคาลัย
โดยหากกล่าวถึงการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินแล้วในนั้น ในอดีตเคยมีบันทึกเกี่ยวกับ “ธรรมเนียมทหารล้อมวัง ในคืนสวรรคต” ซึ่งเป็นธรรมเนียมราชประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แต่การที่ทหารจะมาล้อมพระราชวังนั้นจะต้องเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เช่นเป็นการรักษาป้อมกำแพงพระราชวังเมื่อกำแพงหรือประตูวังมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ และที่สำคัญคือ “ถวายความปลอดภัยแก่องค์รัชทายาทในช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน” ซึ่งมีการอธิบายดังนี้
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีพระอาการประชวรหนักใกล้สวรรคต พระราชวงศ์ผู้ใหญ่หรือเจ้าพระยากลาโหมจะต้องทำหน้าที่ในการสั่งการเจ้ากรมทหาร เพื่อนำกำลังไปปิดล้อมกำแพงวังอันเป็นที่ประทับขององค์พระมหาอุปราช , องค์พระยุพราช หรือองค์รัชทายาท เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกลอบปลงพระชนม์จากขบฏหรือผู้ไม่เห็นด้วยในการสืบราชบัลลังก์ ณ ขณะนั้น
โดยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เองก็ได้ปรากฏธรรมเนียมทหารล้อมวังในคืนผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเช่นกัน ดังที่มีการบันทึกถึง ๒ ครั้งคือครั้งที่ ๑ ตรงกับวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๑๑ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระประชวรหนักจวนจะสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญในพระบรมมหาราชวัง ด้านเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ผู้เป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้าชายใหญ่ประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบซึ่งขณะนั้นพระองค์ก็ทรงพระประชวรหนักเช่นเดียวกัน
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมจึงเร่งประชุมขุนนาง และข้าราชการทั้งปวง จึงมีมติเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวและพระราชโอรสเจ้าฟ้าชายใหญ่ประชวรหนักกันทั้งคู่ อาจมีผู้ใดคิดแย่งชิงพระราชบัลลังก์ได้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงจัดตั้งกองทหารล้อมวังรักษาพระบรมมหาราชวังอย่างเข้มแข็ง และส่งทหารอีกกองหนึ่งไปล้อมรักษาถวายความปลอดภัยรอบๆ พระตำหนักสวนกุหลาบด้วย
ครั้งที่ ๒ ตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระประชวรหนัก อยู่บนพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งในขณะนั้นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ผู้เป็นองค์รัชทายาท ได้เฝ้าดูพระอาการอยู่บนพระที่นั่งด้วย พระองค์เจ้าชายจิรประวัติวรเดช ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ จึงเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เพื่อขอพระอนุญาตนำกองกำลังทหารเข้าล้อมพระราชวังดุสิตเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยแก่องค์รัชทายาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมโบราณ ด้านเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจึงมีพระดำรัสกลับไปว่า “ทำเถิด เห็นจะเป็นธรรมเนียม”
อ้างอิง: หนังสือปิยมหาราชจอมกษัตริย์,ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ จากภาพด้านซ้าย คือพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมหาราชวัง สถานที่ประทับของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในขณะกำลังพระประชวร
จากภาพด้านขวา คือพระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต สถานที่สวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จากภาพด้านล่าง คือ ทหารรักษาพระองค์ ฯ ในสมัยก่อน