สำนักข่าวเทเลกราฟ เผย 10 อันดับ “เมืองโตเร็วที่สุดในโลก” (The world’s fastest growing cities) โดยพิจารณาจากเมืองมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโดยเฉลี่ยต่อปี ในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 สูงที่สุดในโลก (คัดมาจาก หนังสือ ไทม์เอาท์’ ส ไกด์ ทู เดอะ เวิลด์’ ส เกรทเทส ซิตี้ส์)
มาดูกันว่าเมืองไหนในโลกนี้ที่จะมีอัตรา การเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากร มากที่สุดภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
อันดับที่ 10.
เมืองจิตตะกอง (Chittagong) สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
จิตตะกอง เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองและเป็นเมืองท่าใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ อีกทั้งยังเป็นเมืองสำคัญทางธุรกิจ เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ โรงงานขนาดใหญ่ และ อีโคพาร์ค มีประชากรอาศัยอยู่ราว 4 ล้านคน อัตราความหนาแน่นของประชากรต่อตารางกิโลเมตรอยู่ที่ 15,276 คน และมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 4.29% ต่อปี
หมาย เหตุ:
บังกลาเทศ
ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือ ตะวันตก และตะวันออกตอนบนติดกับอินเดีย (มีแนวชายแดนยาวติดต่อกันประมาณ 4,053 กิโลเมตร) ทิศตะวันออกตอนล่างติดพม่า (มีแนวชายแดนยาว 193 กิโลเมตร) ส่วนทางด้านทิศใต้ติดอ่าวเบงกอล มีเมืองหลวงชื่อ “กรุงธากา (Dhaka)”
อันดับที่ 9.
เมืองดาร์ เอส ซาลาม (Dar es Salaam) สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย
ดาร์ เอส ซาลาม (Dar es Salaam) เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดในประเทศแทนซาเนีย ทั้งยังเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของแอฟริกาตะวันออก ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของแทนซาเนีย แม้ว่าปัจจุบันเมืองหลวงของประเทศจะย้ายไปอยู่ที่กรุงโดโดมา (Dodoma) แต่หน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งยังคงตั้งอยู่ในเมืองดาร์ เอส ซาลาม
ปัจจุบัน เมืองดาร์ เอส ซาลาม มีประชากรราว 2.8 ล้านคน และคาดว่าน่าจะเพิ่มเป็น 5.12 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 4.39% ต่อปี
หมายเหตุ:
สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย
ประกอบ ด้วย 2 สาธารณรัฐ คือ แทนกานยิกา (Tanganyika) และแซนซิบาร์ (Zanzibar)… “สาธารณรัฐแทนกานยิกา” ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา อาณาเขตทางด้านเหนือและตะวันออกติดเคนยา ยูกันดา และทะเลสาบวิคตอเรีย ทิศตะวันตกติดกับรวันดา บุรุนดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (เดิมคือซาอีร์) และทะเลสาบแทนกานยิกา ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับแซมเบีย มาลาวี และทะเลสาบมาลาวี ทิศใต้ติดโมซัมบิก ด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของภูเขาคิลิมันจาโร (Kilimanjaro) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงสุดในทวีปแอฟริกา ส่วน “สาธารณรัฐ แซนซิบาร์” ประกอบด้วยเกาะแซนซิบาร์ และเกาะเพมบา (Pemba) อยู่ห่างจากชายฝั่งของแทนกานยิกา ประมาณ 40 กิโลเมตร
** 2 อันดับต่อไปนี้มีอัตราการการเพิ่มขึ้นของประชากรเท่ากัน **
อันดับที่ =7.
เมืองลากอส (Lagos) สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย
ลากอส เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของทวีปแอฟริกา (รองจากกรุงไคโรของอียิปต์) ทั้งยังเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางด้านธุรกิจ การบิน การพาณิชย์ และอุตสาหกรรมน้ำมัน ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกอีกด้วย ในอดีตลากอสเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศไนจีเรีย แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่มากและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเกินไป รัฐบาลไนจีเรียจึงได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่กรุง “อาบูจา” แทน อย่างไรก็ตาม ลากอส ยังคงได้ชื่อว่าเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของโลก เนื่องจากไนจีเรียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดในทวีปแอฟริกา
ลากอส เป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากถึง 15.5 ล้านคน (อยู่ในเขตตัวเมือง 7.9 ล้านคน) และมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 4.44% ต่อปี
หมายเหตุ:
ไนจีเรีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดสาธารณรัฐไนเจอร์ ทิศใต้ติดมหาสมุทรแอตแลนติกบริเวณอ่าวกินี ทิศตะวันออกติดสาธารณรัฐแคเมอรูนและสาธารณรัฐชาด ทิศตะวันตกติดสาธารณรัฐเบนิน มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา
อันดับที่ =7.
เมืองฟา ริดาบัด (Faridabad) สาธารณรัฐอินเดีย
ฟาริดาบัด เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเดลี (Delhi) ถือเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมของรัฐหรยาณา มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในด้านการผลิตเฮนน่า ทั้งยังเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รองเท้า ตู้เย็น ฯลฯ
เมืองฟาริดาบัด มีประชากรทั้งสิ้นมากกว่า 1 ล้านคน อัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 4.44% ต่อปี
หมายเหตุ:
อินเดีย ตั้งอยู่ในเอเชียใต้ ทิศเหนือติดจีน เนปาล และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดปากีสถาน ทิศตะวันออกติดบังกลาเทศ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดพม่า ทิศตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ติดมหาสมุทรอินเดีย
อันดับที่ 6.
เมือง บามาโก (Bamako) สาธารณรัฐมาลี
บามาโก เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศมาลี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนเจอร์ (ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ) ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตและค้าทองคำให้กับอาณาจักรต่างๆ ที่อยู่รายรอบแม่น้ำไนเจอร์ แต่ปัจจุบันเป็นเมืองท่าริมแม่น้ำ ตลอดจนศูนย์กลางการขนส่งทางเรือและอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งยังเป็นเมืองที่มีผู้คนในชนบทหนีภัยแล้งเข้ามาหางานทำและอาศัยอยู่เป็น จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาหางานทำโดยผิดกฏหมายและลูกจ้างชั่วคราวอีกนับ ไม่ถ้วน ส่งผลให้มีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย อาทิ ปัญหาด้านการจราจร สุขอนามัย และปัญหาด้านมลภาวะ เป็นต้น
เมื่อปีที่แล้วมีรายงานว่า ประชากรในเมืองบามาโกมีมากกว่า 1.8 ล้านคน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าปัจจุบันนี้ประชากรในเมืองดังกล่าวมีมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 4.45% ต่อปี
หมายเหตุ:
มาลี ตั้งอยู่ ทางภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดประเทศแอลจีเรีย ทิศตะวันออกติดประเทศไนเจอร์ ทิศตะวันตกติดกับประเทศเซเนกัลและมอริเตเนีย ทิศใต้ติดกับประเทศบูร์กินาฟาโซ โกตดิวัวร์ และกีนี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของแอฟริกาตะวันตก
อันดับที่ 5.
เมือง คาบูล (Kabul) สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน
กรุงคาบูล เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถาน ตั้งอยู่บนความสูง 5,900 ฟุต (1,800 ม.) เหนือระดับน้ำทะเล ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศ ที่ผ่านมา ชาวอัฟกานิสถานต้องเผชิญกับภาวะสงครามอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ส่งผลให้ประชาชนในชนบทอพยพหนีความอดอยากเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงคาบูลเป็น จำนวนมากตลอด 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่กันอย่างไม่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่ได้จดทะเบียนที่พักอาศัยอย่างถูกต้อง จึงทำให้การสำรวจจำนวนประชากรที่แท้จริงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากรุงคาบูลน่าจะมีประชากรอาศัยอยู่ราว 3-4 ล้านคน โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 4.74% ต่อปี
หมายเหตุ:
อัฟกานิสถาน ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ค่อนไปทางเอเชียกลาง ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทิศเหนือติดทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ทิศตะวันออกและใต้ติดกับปากีสถาน และทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดจีน ทิศตะวันตกติดอิหร่าน
อันดับที่ 4.
เมืองสุ รัต (Surat) สาธารณรัฐอินเดีย
เมืองสุรัต เป็นศูนย์กลางทางด้านการพาณิชย์ของรัฐคุชราต มีชื่อเสียงทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเพชร จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งสิ่งทอของอินเดีย (คุณภาพระดับเวิลด์คลาส) และเป็นเมืองหลวงแห่งเพชรของโลก เนื่องจากมีเพชรจำนวนมากถึง 92% ของโลกที่ถูกส่งมาเจียระไนและขัดเงาในเมืองสุรัต
อย่างไรก็ตาม สุรัตยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก โดยมีบ้านพักที่ถูกสร้างขึ้นอย่างผิดกฏหมายและสลัมหลายแห่ง ประกอบกับมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงมาก (โดยเฉพาะในหมู่ผู้อพยพ) จึงเชื่อว่าในปีที่ผ่านมา น่าจะมีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองสุรัตมากกว่า 5.4 ล้านคน หรือกว่า 1.6 หมื่นคนต่อตารางกิโลเมตร โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 4.99% ต่อปี
อันดับที่ 3.
เมือง ซานอา (Sana’a) สาธารณรัฐเยเมน
ซานอา เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของประเทศเยเมน นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่โตเร็วสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว ยังเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,500 ปี และมีสถาปัตยกรรมโบราณมากมาย อาทิ มัสยิดเก่าแก่ 103 แห่ง และบ้านอีกราว 6,500 หลัง ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนศตวรรษที่ 11 (หลายอาคารมีอายุยาวนานกว่า 1,400 ปี) จึงได้ รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529)
เมือง ซานอา มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 2 ล้านคน และมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 เท่ากับ 5% ต่อปี
หมายเหตุ:
เยเมน
ตั้งอยู่ใน ภูมิภาคตะวันออกกลาง ทิศเหนือติดราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และรัฐสุลต่านโอมาน ทิศใต้ติดทะเลอาหรับ ส่วนทิศตะวันตกติดกับทะเลแดง
อันดับที่ 2.
เมือง คาเซียบัด (Ghaziabad) สาธารณรัฐอินเดีย
คาเซียบัด เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่กำลังเฟื่องฟู ตั้งอยู่ในรัฐอุตระประเทศ ห่างจากกรุงเดลลีเพียง 19 ก.ม. อุตสาหกรรมที่สำคัญของเมืองนี้ คือ การผลิตโบกี้รถไฟ เครื่องยนต์ดีเซล แหวนและลูกสูบรถยนต์ ยารักษาโรค เหล็ก สุรา จักรยาน เครื่องแก้ว ดินเผา น้ำมันพืช สี ฯลฯ ทั้งยังเป็นเมืองที่มีการวางผังและวางแผนก่อสร้างโครงการต่างๆ มาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนนหนทาง ห้างสรรพสินค้า ทางยกระดับ และระบบรถไฟใต้ดิน เป็นต้น แต่ก็มีโบราณสถานและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ (สมัย 2,500 ปีก่อนคริสตกาล) ให้ได้เที่ยวชมและศึกษากัน
ปัจจุบัน คาเซียบัด มีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน
และมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดย เฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020
เท่ากับ 5.20% ต่อปี
อันดับที่ 1.
เมือง เป๋ยไห่ (Beihai) สาธารณรัฐประชาชนจีน
เมืองเป๋ยไห่ ตั้งอยู่ในมณฑลกวางสี อดีตเคยเป็นท่าเรือที่สำคัญของจีน แต่ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญและมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยว คือ หาดเงินเป๋ยไห่ (Silver Beach) ที่มีหาดทรายยาวถึง 24 กิโลเมตร ด้วยความที่ทำเลดีเพราะอยู่ใกล้ประเทศเวียดนาม ฮ่องกง และมาเก๊า จึงมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองให้เจริญ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
เป๋ ยไห่ เป็นเมืองที่ถูกคาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะ “โตเร็วที่สุดในโลก”
เนื่องจากมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของ ประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020
สูงถึง 10.58% ต่อปี ซึ่งหมายความว่าภายในปี ค.ศ. 2020
หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า เมืองเป๋ยไห่ จะมีประชากรราว 1,250,000 คน
จากเดิมที่มีเพียง 306,000 คนในปี ค.ศ. 2006
หมายเหตุ:
จีน ตั้ง อยู่ด้านตะวันออกของทวีปเอเชีย มีพรมแดนติดต่อกับประเทศต่างๆ โดยรอบ 15 ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ รัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอร์กิชสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม ขณะที่ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้
******************
** กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 244
มีอัตราการเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020
เท่ากับ 1.11 % ต่อปี (ส่วนจังหวัดอื่นๆ ของไทยไม่ติด 1 ใน 300 อันดับ) **