สมาพันธ์ฟุตบอลนานา ชาติ (FEDERATION INTERNAIONAL OF FOOTBALL ASSOCIATION) หรือเรียกย่อว่า FIFA ก่อกำเนิดเกิดขึ้นโดยการประชุมร่วมกันของ 7 ชาติสมาชิก อันได้แก่ ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฮอลแลนด์, สเปญ, สวีเดน และสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) เพื่อให้เป็นองค์กรควบคุมการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติทั่วโลก
ทีมชาติไทยชุดแรกเกิดขึ้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
หลังจากนั้น อีก 21 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้คณะฟุตบอลแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สมัครเป็นสมาชิกของ FIFA เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) ในขณะนั้น มร.จูลล์ ริเมต์ (JULES RIMET) ชาวฝรั่งเศสเป็นประธานฟีฟ่า นับเป็นสมาคมกีฬาแห่งแรกของสยามที่ได้เป็นภาคีองค์กรกีฬาระหว่างประเทศ นอกจากสมาชิกชาติแรกของทวีปเอเชีย (ลำดับที่ 38 ของโลก) อีกด้วย
อนึ่ง เมื่อคณะฟุตบอลแห่งสยามฯ สมัครเป็นสมาชิก FIFA แล้วนั้น ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2468 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเตรียมจัดงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ณ สวนลุมพินี เพื่อการแสดงสินค้าของสยามสู่อารยะประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ กล่าวกันว่า นักฟุตบอลมีการฝึกซ้อมและร่วมคัดเลือกตัวผู้เล่นทีมชาติกันอย่างพร้อมเพรียง แต่ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเสด็จสวรรคตก่อน จึงทำให้กิจกรรมดังกล่าวทั้งหมดต้องงดจัดไป
ใ
นขณะเดียวกัน 5 ปีต่อ
มา เมื่อ ค.ศ. 1930 ฟีฟ่าจึงได้จัดฟุตบอลโลก ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศอุรุกวัย เนื่องจากทีมชาติอุรุกวัยสามารถครองเหรียญทองฟุตบอลโอลิมปิก ถึง 2 สมัยซ้อน (ค.ศ. 1924, 1928) ทำให้ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ WORLD CUP โดยนักเตะเจ้าถิ่นก็ไม่ทำให้เหล่ากองเชียร์ต้องผิดหวัง เมื่อคว้าถ้วยฟุตบอลโลกได้สำเร็จเป็นทีมแรกของโลก
ก่อนการแข่งขัน ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1930 หรือตรงกับ พ.ศ. 2473 นั้น สมาคมฟุตบอลแห่งสยามฯ ได้ส่งทีมชาติสยามไปแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ ณ เมืองไซ่ง่อน ตามคำเชิญของผู้สำเร็จราชการอินโดจีนฝรั่งเศส ก่อนจะได้ลงสนามรวม 4 ครั้ง แต่นัดสำคัญ คือการแข่งขันหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2473 ทีมชาติสยาม ชนะ ทีมผสมญวน-ฝรั่งเศส 4 – 0
มีบันทึกฉบับหนึ่งกล่าวว่า ถ้าหากสยามประเทศไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จนต้องดุลข้าราชการออกและการเดินทางด้วยเรือเดินทะเลเป็นเวลาแรมเดือน เพื่อไปยังทวีปอเมริกาใต้แล้ว ทีมชาติสยามอาจคือหนึ่งในชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ค.ศ. 1930 แล้วก็เป็นได้
เมื่อมาถึงฟุตบอลโลก ครั้งที่ 2 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) เนื่องจากมีทีมสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก ทำให้ FIFA ต้องจัดแข่งขันรอบแรกเพื่อหาทีมตัวแทนของแต่ละทวีป จึงเรียกว่าปรี – เวิลด์คัพ ในหนังสือ “L” HISTOIRE MERBEILLEUSE DE LA COUPE DU MONDE” (หน้า 77) ได้ลงชื่อทีมของแต่ละโซน โดยเฉพาะโซน Asie นั้น ปรากฏว่ามีชื่อ "Siam" ร่วมกับ Indes Neerlandaises, Japon และ Philippines ในการสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน World Cup ครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1930 ณ ประเทศอุรุกวัย.
จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ฟุตบอลทีมชาติสยามได้สมัครลงเล่นรอบคดเลือกเป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1934 สมัยนั้นคณะฟุตบอลแห่งสยามฯ มี พระยาวิเศษศุภวัตร์ เป็นสภานายก (พ.ศ. 2475 – 2478) แต่ปรากฏว่าในโซนเอเชียนั้น ไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น สาเหตุเพราะทั้ง 4 ชาติ ขอถอนทีมเนื่องจากต่างประสบปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีผลทำให้คณะฟุตบอลแห่งสยามที่อยู่ในพระบรมราชูปภัมภ์ ต้องหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ลงชั่วคราว ทีมชาติสยามจึงพลาดโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก อีกครั้งหนึ่งไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
นับจากนั้น ล่วงเลยถึง 44 ปี ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 10 ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) นักเตะไทยจึงได้ลงสนามแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก หรือปรี-เวิลด์คัพ อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516
ตลอด ระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษของWORLD CUP วงการลูกหนังไทยยังไม่เคยประสบความสำเร็จ บนเส้นทางฟุตบอลระดับโลก และคงจะต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ต่อการพัฒนาทั้งระบบขององค์กรเพื่อผลักดันให้ทีมชาติไทยเข้าไปเล่นรอบสุด ท้ายฟุตบอลโลก สร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก ก่อนที่สมาคมฟุตบอลของไทยจะมีอายุครบรอบศตวรรษ ในอีก 10 ปีข้างหน้า.
ทีมชนะเลิศ World Cup 1930 - 2006
การแข่งขันฟุตบอลโลก ตั้งแต่ ครั้งที่ 1 ค.ศ. 1930 จนถึงครั้งที่ 18 ค.ศ. 2006 มีทีมฟุตบอล 6 ชาติเท่านั้น ที่ได้เคยคว้าถ้วย World Cup คือทีมชาติอุรุกวัย (ค.ศ. 1930, 1950), ทีมชาติอิตาลี (ค.ศ. 1934, 1938, 1982, 2006), ทีมชาติเยอรมนี (ค.ศ. 1954, 1974, 1990), ทีมชาติบราซิล (ค.ศ. 1958, 1962, 1970, 1994, 2002), ทีมชาติอังกฤษ (ค.ศ. 1966), ทีมชาติอาร์เจนตินา (ค.ศ. 1978, 1986) และทีมชาติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1998
1930 ทีมชาติอุรุกวัย
1934 ทีมชาติอิตาลี
1938 ทีมชาติอิตาลี
1950 ทีมชาติอุรุกวัย
1954 ทีมชาติเยอรมนีตะวันตก
1958 ทีมชาติบราซิล
1962 ทีมชาติบราซิล
1966 ทีมชาติอังกฤษ
1970 ทีมชาติบราซิล
1974 ทีมชาติเยอรมนีตะวันตก
1978 ทีมชาติอาร์เจนตินา
1982 ทีมชาติอิตาลี
1986 ทีมชาติอาร์เจนตินา
1990 ทีมชาติเยอรมนีตะวันตก
1994 ทีมชาติบราซิล
1998 ทีมชาติฝรั่งเศส
2002 ทีมชาติบราซิล
2006 ทีมชาติอิตาลี
2010
สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอล แห่งประเทศไทย ฐานข้อมูล