คนไทย มีเฮ! คาดคลังชงต่ออายุ "รถไฟ-เมล์"ฟรีอีก6เดือน

 

"อภิสิทธิ์"สั่งกระชับวงล้อม "ครม.เศรษฐกิจ" เรียกประชุมทุกสัปดาห์ หวังดันจีดีพีปีนี้โต 6% ตามเป้า ประเดิมวาระแรกภัยแล้ง สศช.เชื่อคลังชงต่ออายุ"รถไฟ-รถเมล์"ฟรีอีก 6 เดือน


นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ว่า ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการนัดหมายประชุม ครม.เศรษฐกิจ เป็นประจำทุกสัปดาห์ หลังจากที่ผ่านมาจะมีการงดประชุมในบางสัปดาห์ สาเหตุการนัดประชุมทุกสัปดาห์ เนื่องจากนายกฯต้องการที่จะใช้เวทีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ทำการติดตามความคืบหน้างานนโยบายด้านเศรษฐกิจให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขณะนี้นายกฯให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการติดตาม เฝ้าระวังปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปีและนาปรัง ในฤดูกาลเพาะปลูกปี 2554 ว่าจะมีน้ำเพียงพอหรือไม่ โดย สศช.จะหารือนายกฯเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า


นายอำพน กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกฯยังให้นโยบายให้ ครม.เศรษฐกิจทำการติดตามความเคลื่อนไหวภาวะเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ที่สำคัญ

อาทิ การเงิน การลงทุนทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ ปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศ การท่องเที่ยว การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2553 ขยายตัวให้ได้ถึง 6% ตามเป้าหมาย


"นายกฯได้กำชับว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจ จากนี้ไปจะต้องมีทุกอาทิตย์ แต่บางอาทิตย์อาจจะสลับกับการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) หรือการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจที่นายกฯเป็นประธาน เช่น คณะกรรมการโลจิสติคส์ ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลให้ได้มากที่สุด" เลขาฯ สศช.กล่าว


สำหรับการแก้ไขปัญหาการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับโครงการที่ยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 นั้น

นายอำพนยืนยันว่า รัฐบาลมีความพยายามในการติดตามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่ถูกระงับการลงทุนอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าหลังจากที่ ครม.ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ไปแล้ว จะทำให้แผนการแก้ไขปัญหามีความชัดเจนมากขึ้น และหากรัฐบาลผลักดันกฎหมายในสภาสำเร็จได้รวดเร็ว การปัญหาของเอกชนจะได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ เพราะคณะกรรมการอิสระฯมีการวางแนวทางปฏิบัติไว้หมดแล้ว


   
  นายอำพนกล่าวถึงการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

มาตรการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี คงจะได้รับการต่ออายุออกไปอีก 6 เดือน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากใช้งบฯไม่มาก และจะช่วยแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่คงไม่มีการต่ออายุมาตรการลดภาระค่าไฟ แต่ในรายละเอียดต้องรอให้กระทรวงการคลัง เสนอเรื่องอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้งในเร็วๆ นี้


วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์"

ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 (สทท.11) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มดีขึ้นตามลำดับ โดยมีการมอบหมายให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี รายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นรายวัน ยืนยันว่า น้ำที่จะใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคไม่มีปัญหา แต่มีความจำเป็นต้องเลื่อนการทำนาปีในพื้นที่เขตชลประทานออกไปทำในเดือนกรกฎาคม ส่วนพื้นที่อื่นๆ นอกเขตชลประทานทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสำรวจและดูความเป็นไปได้ในการเข้าให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาไม่ได้ โดยอาจจัดหาอาชีพเสริม หรือจัดหาปัจจัยผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน


นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า แม้ฤดูกาลทำนาปีจะผ่านไปแล้ว แต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วง 5 เดือนแรกของปีน้อยมาก

จึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรในกรณีที่ไม่สามารถทำนาปรังได้ โดยก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติหลักการให้นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เร่งสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมอนุมัติหลักการให้ตน รัฐมนตรี เกษตรฯ และสำนักงบประมาณ ไปหารือเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ขาดรายได้ ขอยืนยันว่ารัฐบาลจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

เปิดเผยในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังว่า วันที่ 29 มิถุนายน สศค.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีใหม่ เพราะจากข้อมูลช่วง 5 เดือนแรกของปี โดยเฉพาะไตรมาสแรกพบว่า การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนดีขึ้นมาก แต่เดือนเมษายน-พฤษภาคมพบสัญญาณชะลอตัวลงจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง เห็นได้จากรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและวันหยุดยาวในเดือนพฤษภาคม ทำให้ประเทศไทยยังคงพึ่งภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก จึงมีความกังวลว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากการที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลง ดังนั้น เมื่อเราพึ่งพาเครื่องจักรการส่งออกเพียงด้านเดียวจึงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งระบบได้


"เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ยังจำเป็นต้องเป็นตัวนำการลงทุนเพื่อประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2554 ที่ตั้งงบขาดดุล 4.1% ของจีดีพี เพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และจากการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2553 จนถึงสิ้นเดือนพฦษภาคม พบว่าได้มีการเบิกจ่ายแล้ว 64% ของงบประมาณ คาดหน่วยงานรัฐสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าที่ 94% ในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ" นายเอกนิติกล่าว


นายเอกนิติกล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเศรษฐกิจภาพรวมว่าจะต่ออายุมาตรการออกไปอีกหรือไม่ แต่โดยปกติการตัดสินใจขึ้นกับนโยบายภาคการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อพิจารณาผู้ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการลดค่าครองชีพดังกล่าว พบว่าเป็นประชาชนระดับฐานรากเป็นส่วนใหญ่ และจากสัญญาณการบริโภคในประเทศยังไม่ฟื้นตัว จึงอาจจำเป็นที่รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการออกไป

Credit: teenee.com
#รถ
monkiize
นักแสดงรับเชิญ
สมาชิก VIP
21 มิ.ย. 53 เวลา 13:36 1,553 1 6
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...