~ กู่เจิ้ง ~กระชับสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน

 

   
     

“กู่เจิ้ง” กระชับสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน

 

   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เตรียมเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12-25 ธ.ค.52 เพื่อทรงร่วมแสดงดนตรีในงานแสดงดนตรีและวัฒนธรรม"สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" ครั้งที่ 4 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลจีนโดยกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากการแสดงดนตรีและวัฒนธรรมทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนของทั้ง 2 ประเทศอย่างงดงาม




    ก่อนการเสด็จเยือนตามหมายกำหนดการ ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกของโลก ที่สามารถทรง "กู่เจิ้ง" เครื่องดนตรีโบราณในราชสำนักจีน หรือ ที่ชาวตะวันตกขนานนามเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า"เปียโนตะวันออก" เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ทรงพระกรุณาประทานสัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อม ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ว่า นับเป็นการตัดสินพระทัยร่วมแสดงที่ค่อนข้างกระทันหัน เพราะทรงทราบเรื่องเมื่อเดือน มี.ค. จากกระทรวงวัฒนธรรมจีน ซึ่งทูลขอให้ทรงร่วมการแสดง สายสัมพันธ์สองแผ่นดินภายในเดือน ธ.ค.ปีนี้ หลังจากที่ห่างหายจากการแสดงดนตรีดังกล่าวมานานถึง 4 ปี เนื่องจากทรงติดภารกิจด้านงานวิชาการ และการทรงเป็นพระอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ

    "ยอมรับว่าตอนแรกข้าพเจ้าตกใจมาก เพราะทิ้งกู่เจิ้งมานาน 2 ปีเต็ม เนื่องจากมีงานวิชาการที่แน่นมาก ทำให้ไม่มีเวลาที่จะซ้อม คิดว่าลืมไปหมดแล้ว และคงเล่นได้ไม่ดี จึงเรียก อ.หลี่หยาง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เคยสอนมารื้อฟื้นกันยกใหญ่ ปรากฏว่ารื้อฟื้นไม่นานก็กลับเล่นได้ดีกว่าเดิม ไม่แน่ใจว่า ทำไมดีกว่าเดิม สงสัยจะแอบซ้อมในฝัน" ทรงเล่าอย่างมีพระอารมณ์ขัน พร้อมรับสั่งว่า "จริงๆ ตามธรรมดาแล้วการแสดงนี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี ผลัดเขามา 2 ปีแล้ว รวมเป็น 4 ปี จนกระทั่ง เมื่อข้าพเจ้าไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยภูฏาน เมื่อเดือน มี.ค. ทางการจีนก็กระโดดจับตัวเลย ขอว่าอย่างไรปีนี้ก็ห้ามเบี้ยว จึงไม่กล้าเบี้ยว ต้องเล่นแล้ว



    หลังจากที่ทรงตอบรับเข้าร่วมการแสดงดนตรีในครั้งนี้ พระองค์ทรงฝึกซ้อมอย่างหนักตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึง เม.ย. ทรงซ้อมร่วมกับวงดุริยางค์ราชนาวี กองดุริยางค์ทหารเรือ มากถึงวันละ 5 ชั่วโมง เพราะต้องรื้อฟื้นสิ่งที่ลืมไปแล้วเพื่อให้กลับมาเล่นได้ ซึ่งเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ทรงกู่เจิ้งก็ไม่ลืมเสียทีเดียว ทรงรับสั่งว่า เมื่อพระอาจารย์มารื้อฟื้นให้ก็ทรงเล่นได้เร็วกว่าที่คิด จนถึงขณะนี้ ทรงลดการซ้อมลงเหลือวันละ 2-3 ชั่วโมง และทรงมีความพร้อมเต็มที่ ก่อนจะเสด็จไปร่วมฝึกซ้อมกับวงดนตรีในประเทศจีนช่วงต้นเดือน พ.ย.

    "ในการแสดงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์ไทย-จีน ใกล้ชิดกันขึ้นมากเลย ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้เป็นทูตวัฒนธรรมของประเทศจีน มาตั้งแต่ปี 2002 ที่ผ่านมาข้าพเจ้าถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ ฝรั่งก็แปลกใจมาก มาถามว่าแบกกู่เจิ้งมายังไงไหว ข้าพเจ้าก็บอกกลับไปว่า ไม่ได้แบกขึ้นเครื่อง ใช้โหลดใต้ท้องเอา เวลาจะแพ็คแต่ละทีก็ต้องระวัง เพราะกู่เจิ้งเป็นเครื่องดนตรีที่บอบบางมาก ซึ่งต้องขอเล่าเกร็ดสักหน่อยว่า กู่เจิ้งตัวที่นำไปเล่นที่ต่างประเทศ เวลาเดินทางไปที่ต่างๆ เป็นคนละตัวกับที่จะใช้เล่นในคอนเสิร์ต เพราะตัวนั้นเป็นกู่เจิ้งที่เสียงดี เรียกว่าน้ำหนึ่ง ไม่กล้าเอาเดินทางไปไหนด้วย ตัวที่เอาเดินทางไปคือ ตัวรอง ซึ่งตัวรองนี้ผจญภัยมาก ทั้งถูกโยน ทั้งแตก แต่ที่แตกก็ปรากฏว่าซ่อมได้ ไม่เอฟเฟกต์เสียง ก็เลยคิดว่า ตัวนี้ก็ให้เดินทางต่อไป เพราะเดินทางไปทุกแห่งกับข้าพเจ้า



   โอกาสนี้ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ จะทรงเครื่องดนตรีกู่เจิ้งร่วมกับวงดุริยางค์จีน จำนวน 5 เพลง ได้แก่ เพลงระบำเผ่าอี้ ซึ่งเดิมเป็นดนตรีใช้พิณผีผาบรรเลง ต่อมาถูกดัดแปลงให้เป็นเพลงที่บรรเลงด้วยกู่เจิ้ง ทรงรับสั่งถึงเพลงนี้ว่า เป็นเพลงประจำพระองค์ ทรงใช้เป็นเพลงเปิดด้วยทรงเห็นว่าเป็นเพลงที่ไพเราะที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา ,เพลงที่ 2 "เพลงเผ่าไทย" เพลงดั้งเดิมของไทย ที่ซึ่งภายหลังได้ปรับชื่อและประพันธ์เนื้อร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชทานชื่อเพลงจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต่อมา นายหลี่ ฮุย นักแต่งเพลงชาวจีนได้ดัดแปลงให้เป็นเพลงที่เล่นกับกู่เจิ้งและวงดุริยางค์สากลขนาดใหญ่

เพลงที่ 3 เพลงเมฆตามพระจันทร์ เป็นเพลงพื้นเมืองของเมืองกวางโจวเป็นบทเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระองค์ทรงกู่เจิ้ง หลังจากที่ทรงได้ยินเพลงนี้มาตั้งแต่ปี 2000 ขณะประทับบนเรือชมวิวอยู่ที่แม่น้ำลี่เจียง

เพลงที่ 4 เพลงชุนเต้าลาซา หรือเพลงฤดูใบไม้ผลิที่เมืองลาซา เมืองหลวงของทิเบต ทรงเริ่มฝึกซ้อมได้ไม่นานและไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน 
 ปิดท้ายด้วย เพลงสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน  บทเพลงประจำที่ทรงใช้เล่นปิดท้ายการแสดงคอนเสิร์ตทุกครั้ง เป็นเพลงที่ทรงนิพนธ์เนื้อร้องร่วมกับ อ.วิรัช อยู่ถาวร และประพันธ์ทำนองขึ้นโดย นายหลี่ ฮุย



    "ที่แตกต่างไปจากทุกครั้งคือ ครั้งนี้ข้าพเจ้าเล่นมากถึง 5 เพลง และเป็นเพลงที่ค่อนข้างอยู่ในระดับที่ยาก ซึ่งปกติจะเล่น 2-3 เพลงเท่านั้น บอกกับทางกระทรวงวัฒนธรรมว่า ครั้งนี้ถือเป็นการแก้ตัว ที่หายไปนาน ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง ก็บอกตรงๆ ว่าก็มีความรู้สึกกลัวเหมือนกัน เพราะว่า กู่เจิ้ง เป็นดนตรีของจีน และต้องเอาไปเล่นในประเทศจีน ซึ่งคนที่เล่นกู่เจิ้งเป็นในประเทศจีนก็คงมีไม่น้อยเลยทีเดียว และมีหลายคนที่อยากมาฟังข้าพเจ้าเล่น เพราฉะนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็คงต้องเล่นให้ดีจริงๆ"


 
.ฺ

   

Credit: www.manager.co.th
16 มิ.ย. 53 เวลา 20:55 8,873 2 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...