อีกหนึ่งความภูมิใจของมหาวิทยาลัยรังสิต คือ ความสำเร็จของ นางสาวเรมะ ปาทาน และ นางสาวชาลมา เกื้อเดช ว่าที่นักกายภาพบำบัด 2 คนนี้ คนหนึ่งมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามระบบกลไกปกติ อีกคนเป็นคนชายขอบที่ไร้สิทธิพื้นฐานของความเป็นคนไทยแม้แต่บัตรประชาชนก็ไม่มี
4 ปีที่แล้ว ทั้ง 2 คน ได้รับโอกาสและทุนจากมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้วันนี้กลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ไปรับใช้ประชาชนในพื้นที่บ้านเกิดอย่างเต็มภาคภูมิ
โอกาสทางการศึกษาของ “คนไทยพลัดถิ่น”
“เรมะ ปาทาน” เด็กสาววัย 18 ปี จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในขณะนั้นคือ คนไทยพลัดถิ่น ที่ร่วมเดินเท้าจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สู่กรุงเทพมหานคร เพื่อทวงคืนสัญชาติไทยหลังจากที่ต่อสู้กันมานานนับสิบปี ซึ่งผลจากการเดินเรียกร้องสิทธิในครั้งนี้ ทำให้เรมะมีโอกาสได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรังสิต
เรมะ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เธอเล่าว่า “ช่วงที่จบ ม.6 มีปัญหาเรื่องบัตรประชาชน เพราะไม่มีบัตร จึงไม่มีอะไรที่สามารถแสดงตัวตนได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนไทยพลัดถิ่นเดินเท้าเข้าสภาฯ พอดี ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ให้การสนับสนุนเรื่องที่พัก ซึ่งในระหว่างนั้นพี่สาวเรมะได้เป็นตัวแทนขึ้นพูดเกี่ยวกับปัญหาของเธอที่ไม่สามารถเรียนต่อได้ ทางอาจารย์จึงให้มายื่นเอกสารที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยใช้เอกสารเท่าที่มีในตอนนั้นก็คือวุฒิ ม.6 เหตุผลที่เลือกเรียนคณะกายภาพบำบัด เพราะว่าอยากเรียนทางด้านสายวิทยาศาสตร์ อะไรก็ได้ที่ทำงานในโรงพยาบาล เพราะว่าพวกเราไม่ค่อยมีสิทธิในการรักษาพยาบาล โดนดูถูกบ้างบางครั้งก็ไม่ได้รับการรักษา จึงอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นเสียงช่วยพี่น้องที่บ้านค่ะ
เป้าหมายในชีวิตหลังจากสำเร็จการศึกษาคือ ตั้งใจว่าจะกลับไปทำงานที่บ้าน จะสมัครงานให้ใกล้บ้านได้มากที่สุดเพื่อช่วยเหลือคนที่บ้านและทุกๆ คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบใบประกอบโรคศิลปะค่ะ
อยากขอบคุณมหาวิทยาลัยรังสิตที่ให้โอกาสได้เรียนหนังสือ เป็นชีวิตใหม่ที่มีค่ามาก ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อ เพราะว่าเราก็ไม่มีสิทธิอะไร ไปสมัครที่อื่นก็ไม่มีที่ไหนติดต่อกลับมา ถ้าเราไม่ได้อยู่ตรงนี้เราก็คงเป็นเด็กธรรมดาอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อเรามาถึงจุดนี้แล้วเราได้เป็นนักกายภาพบำบัด สามารถนำสิ่งที่เรียนมากลับไปต่อสู้กับอะไรอีกมากมาย มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้เราก็เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่บ้านด้วยค่ะ” เรมะ กล่าวอย่างภูมิใจ
โอกาสไม่มีที่สิ้นสุด
อีกหนึ่งความสำเร็จคือ “ชาลมา เกื้อเดช” หนึ่งในนักศึกษาโครงการ “84 ทุน เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา” โดยมหาวิทยาลัยรังสิตมอบทุนดังกล่าวเพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงประชาราษฎร์ต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเมตตาห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรที่ทุกข์ยากในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่เสี่ยงภัย
ชาลมา เล่าว่า เธอสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ช่วงที่เรียน ม.6 มีความตั้งใจอย่างหนึ่งคือ อยากเรียนอะไรก็ได้ในมหาวิทยาลัย แต่พอถึงช่วงเวลาที่ใกล้จะเรียนจบ ก็ไปบอกกับที่บ้านว่าไม่ต้องส่งเราเรียนนะ แต่จะหาทุนเรียนเอง หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยสมัครทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุนแรกที่สมัครคือ โครงการ “84 ทุน เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา” ตอนนั้นคิดว่าตัวเองไม่น่าจะติดเพราะเป็นทุนทั่วประเทศ และรู้สึกว่าเราอยู่จุดนี้ไม่น่าจะแข่งกับคนอื่นได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่น้ำท่วมมหาวิทยาลัยรังสิต จึงมีการขยายเวลาการรับสมัครทุนออกไป พอประกาศผลว่าได้รับทุนจึงขึ้นมาสอบสัมภาษณ์ ตอนนั้นขึ้นมาสอบสัมภาษณ์ก็มาในรูปแบบที่ตัวเองปิดหน้า เคยไปสัมภาษณ์ที่อื่นก็โดนเขาเมิน แต่พอมาที่ ม.รังสิต กลับไม่ใช่อย่างที่เคยเจอ
“ช่วงที่เรียนก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ได้มาเรียนรู้ ได้ออกมาสู่โลกกว้าง ได้มาสู่ความฝันที่เราตั้งไว้ ที่นี่สอนอะไรหลายอย่าง เมื่อมาอยู่ตรงนี้เราก็สัมผัสได้ว่า หลายๆ คนเขาไม่มีเงิน แต่ทำไมเขาถึงมาที่นี่ เพราะว่าที่นี่ให้โอกาสกับคนหลายคน หลายสถานะ ไม่จำเป็นต้องรวยหรือต้องมีสัญชาติเท่านั้น สำหรับทุนนี้นักศึกษาทุนทั้ง 84 คน รูปแบบชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทุกคนต่อสู้มาหมด พอมาอยู่จุดนี้ จุดที่ทำให้ความฝันเป็นจริง เชื่อว่า ทุน 84 พรรษา จะไม่ใช่ให้โอกาสคนแค่ 84 คนเท่านั้น แต่ 84 ชีวิตนี้ จะต่อยอดไปสู่พื้นที่ที่ตัวเองจากมา อยากขอบคุณมหาวิทยาลัยและขอสัญญาว่า การที่ได้รับโอกาสเข้ามาเรียน 4 ปี และการได้รับอะไรหลายอย่างจากที่นี่ จะมอบโอกาสนี้ต่อไปเรื่อยๆ และเชื่อว่าจะไม่มีที่สิ้นสุดกับคำว่าให้โอกาสค่ะ” ชาลมา กล่าวเสริม
“เราไม่เพียงให้การศึกษา แต่เราให้ชีวิต และความเป็นธรรมด้วย” คือคำกล่าวของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ทำให้วันนี้ความฝัน และความตั้งใจของเธอทั้งสองคนประสบผลเเล้ว เเละพวกเขาพร้อมเเล้วที่จะออกไปรับใช้สังคมด้วยวิชาความรู้ที่ได้รับโอกาสมา