ทุกเดือนตุลาคม จะมีวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญในหน้า
ประวัติศาสตร์ของยุคคาวบอยตะวันตก ซึ่งได้กลายเป็นตำนาน
เล่าขานติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ใช่แล้วครับ การดวลที่
คอกโอเค หรือ Gunfight at the OK Corral บริเวณใจกลางเมือง
ทูมบ์สโตน (Tombstone) รัฐอริโซน่า กลางวันแสกๆต่อหน้า
ฝูงชนมากมาย ฝ่ายหนึ่งจำนวน 4 คน นำโดยพี่น้องตระกูล
เอิ๊ร์ป (Earp) เดินเข้าเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามจำนวน 5 คน
นำโดยพี่น้องตระกูลแคลนตั้น (Clanton) แล้วสาดกระสุนเข้า
ใส่กันอย่างถี่ยิบในเวลาเพียงไม่ถึง 30 วินาทีก็รู้แพ้รู้ชนะกัน
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปีคริสตศักราช 1881 ครบ 125 ปี
ในวันที่ผมนำเรื่องนี้มาคุยให้ฟังกันที่นี่พอ ดิบพอดี
เหตุการณ์นี้ได้จุดชนวนให้นัก ประวัติศาสตร์ นักเขียน นักวิจารณ์
นัก สร้างหนัง ผู้ที่สนใจ และลูกหลานของผู้สูญเสีย ออกมาแสดง
ความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง มีตั้งแต่ผู้ที่มองว่า เป็นเรื่องของการ
ต่อสู้ที่ฝ่ายธรรมะต้องชนะ ฝ่ายอธรรม ผู้รักษากฎหมายต้องปราบปราม
เหล่าร้าย ให้เด็ดขาด บ้างก็มองว่าเป็นวีรกรรมการต่อสู้ ระหว่างผู้กล้า
ที่มีความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวเป็นนักเลงจริง กับผู้แพ้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา
และขี้ขลาดเห็นแก่ ตัว บ้างก็มองกลับกันว่า เป็นการข่มเหงใช้กำลังเข้า
ประหัตประหาร กระทำวิสามัญอย่างเลือดเย็นต่อผู้ไม่มีทางสู้ บ้างก็
มองแหวกแนวออกไปอีกว่า เป็นเพียงการห้ำหั่นกันของพวกมือปืนหัว
คะแนน พรรคการเมืองอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่เห็นว่าจะเป็น
วีรกรรมหรือเรื่องที่จะต้องยกย่องหรือเหยียบย่ำใครแต่อย่างใด
นอกเหนือไปจากความเห็นแตกต่างกันในเรื่องดัง กล่าวแล้ว อาวุธปืน
ที่ใช้ ก็มีการโต้เถียงไม่น้อยเหมือนกันครับว่า ฝ่ายชนะจากการดวล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ผู้รอดมาได้แบบไม่มีรอยขีดข่วน
เลยนั้น ใช้ปืนอะไร แต่เดิมเชื่อกันว่า วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ใช้ปืน โค้ลท์ ซิงเกิ้ล
แอ๊คชั่น อาร์มี่ ขนาด .45 รุ่น สั่งทำพิเศษลำกล้องยาว 12 นิ้ว แต่หลาย
คนก็ไม่ค่อยเชื่อนัก จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองมีมือดีออกมาท้าพิสูจน์ข้อเท็จ
จริง เจาะลึกสอบรายละเอียดไปจนถึงเอกสารการผลิตของโรงงาน
บริษัทโค้ลท์ซึ่งหุบปากเงียบมาตลอด ไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์อะไร ถึงได้
ยอมจำนนด้วยหลักฐานของตัวเองว่า โค้ลท์เพิ่งจะเริ่มผลิตปืนรุ่นซิงเกิ้ล
แอ๊คชั่นอาร์ มี่ขนาด .45 ลำกล้องยาว 12 นิ้ว เป็นกระบอกแรกในปี ค.ศ.
1892 หลังจากการดวลตั้ง 11 ปี จากนั้นเรื่องก็บานปลาย กลายเป็น
พบหลักฐานเพิ่มว่า ปืนที่ วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ใช้ในการดวล ไม่ได้เป็นโค้ลท์
รุ่นไหนทั้งสิ้น กลับกลายเป็น สมิธ แอนด์ เว้สสัน รุ่นหมายเลข 3 ขนาด
.44 ลำกล้องยาว 8 นิ้วไปเสียฉิบ ส่วนฝ่ายตรงข้ามที่เสียชีวิตจากการดวล
ต่างใช้ ปืนโค้ลท์กันทุกคน เล่นเอาบริษัทโค้ลท์เสียรังวัดไปแยะเหมือนกัน
มีการนำเหตุการณ์ดวลนี้ไปเป็นฉากสำคัญของหนัง คาวบอยหลายเรื่อง
ทีโด่งดังมาจนถึง บ้านเรา (เท่าที่ผมจำได้) ก็มีเรื่อง Gunfight at the
OK Corral ตั้งแต่ 40 กว่าปีก่อน จนล่าสุดเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็มีเรื่อง
Tombstone ตามติดๆมาด้วยเรื่อง Wyatt Earp
แล้วยังพบด้วยว่า แม้แต่หนังที่ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับคาวบอย
สัก นิด ก็ยังอุตส่าห์นำเรื่องราวของการยิงกันครั้งนี้ ไปเป็นฉากสำคัญ
ตอนหนึ่งด้วย ท่านผู้อ่านคงคาดไม่ถึงใช่ไหมครับว่า หนังนวนิยาย
วิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี ว่าด้วยการผจญภัยสำรวจดวงดาวและ
จักรวาล อย่างเรื่อง Star Trek หรือ ตะลุยจักรวาล ที่สร้างเป็นทั้งหนัง
ทีวีและหนังโรง (จนทุกวันนี้ก็ยังตะบันสร้างกันอยู่ไม่ยอมเลิกนั้น) จะมาจะเอ๋กับ Gunfight at the OK Corral ได้อย่างไร แต่ท่านที่เป็น
แฟนพันธุ์แท้ของ Star Trek คงจะต้องจำได้แน่ๆเลยว่า มีอยู่ตอนหนึ่งที่ความผิดพลาดของอุปกรณ์ขนส่งบนยานเอ็นเทอร์ไพร้ส์ พาเอากัปตันเคิ้ร์คกับคุณสป๊อค หมอแม็คคอย คุณชาร์คอฟ และสก๊อตตี้ เดินทางย้อนเวลาไปถึงเมืองทูมบ์สโตนในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1881 โดยไม่ตั้งใจ ถูกพวกเอิ๊ร์ปเข้าใจผิดว่าเป็นพวก แคลนตั้น เกือบจะโดน
สังหารหมู่เสีย แล้ว หากไม่สามารถแก้ไขเครื่องจนสำเร็จและบีมเอา
คณะ พรรคทั้งหมดกลับขึ้นยานมาได้เสียก่อน นี่ก็ทำให้พอทายได้นะ
ครับว่า อีกร้อยๆปีข้างหน้า ผู้คนก็ยังจะต้องจำการดวลครั้งนี้ได้อยู่
ก่อนที่จะกลายเป็นเรื่อง สเป๊ซ คาวบอย ไป เรากลับมาดูเรื่องราวที่นำ
ไปสู่ การยิงกันดีกว่านะครับ รวมทั้งเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากจบการ
ยิงกันไปแล้วด้วย โดยผมจะได้เล่าถึงที่มาที่ไปของแต่ละฝ่ายเสียก่อน
จากนั้นก็ค่อยมาดูว่า อะไรเป็นสาเหตุของการยิงกัน และใครควรจะ
เป็นพระเอกหรือเป็นผู้ร้าย ควรแก่การยกย่องหรือประณามกันแน่
หรือเป็นเพียงเรื่องมือปืนหัวคะแนนเข่นฆ่ากันอย่างที่ บางคนว่าจริงๆ
และที่ขาดไม่ได้ ก็คงจะต้องบรรยายรายละเอียดในช่วงเวลา 30 วินาที
ของการยิงกัน เสียหน่อยนะครับว่าใครฝีมือขนาดไหน
ขอเริ่มที่ฝ่ายแคลนตั้นก่อน ตระกูลแคลนตั้นเข้ามาบุกเบิกทำไร่ปศุสัตว์
อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอริโซน่าตั้งแต่ปี 1873 จนเป็นปึกแผ่น
มั่นคงขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1877 อันเป็นปีเดียวกับที่มีการพบสายแร่เงินใน
พื้นที่ที่เรียกกันว่า กู๊สแฟล็ทส์ (Goose Flats) ห่างจากเมืองชาร์ลสตั้น
(Charleston) ที่พวกแคลนตั้นตั้งนิวาสถานอยู่ไปทางเหนือประมาณ
12 ไมล์ พื้นที่ดังกล่าวต่อมากลายเป็นเหมืองแร่และชุมชนขนาด ใหญ่
ดึงดูดนักแสวงโชคจากทุก สารทิศ จนสถาปนาขึ้นเป็นเมืองในปีเดียวกัน
เมือง ใหม่นี้ถูกขนานนามว่า ทูมบ์สโตน อันมีความหมายว่า แผ่นหินที่
ปักไว้เหนือหลุมศพสำหรับสลักชื่อของผู้ตาย อย่างที่เราเห็นกันตาม
ป่าช้าฝรั่งนั่นแหละครับ
เมืองชาร์ลสตั้น ฐานที่มั่นของตระกูลแคลนตั้น
ที่มาของชื่อเมืองอันไม่ค่อยจะเป็นมงคลนี้ มีประวัติว่า ก่อนที่อีตานักขุดทองชื่อ เอ๊ดเวิร์ด ชิฟเฟลิน (Edward Schieffelin) จะจับพลัดจับ ผลูมาขุดเจอเอาเงินเข้าแทนจนร่ำรวยที่นี่ เคยได้รับคำตักเตือนจากพวก ทหารว่า "สิ่ง เดียวที่คุณจะได้พบที่นั่น คือก้อนหินสำหรับสลักชื่อ เอาไว้ปักบนหลุม ฝังศพของคุณเองเท่านั้น" เนื่องจากพื้นที่นี้ยังมีพวกอินเดียนแดงเผ่าอปาชี่ ซึ่งว่ากันว่าดุร้ายนักผ่านไปผ่านมาอยู่มาก
เอ๊ดเวิร์ด ชิฟเฟลิน นักแสวงโชคผู้พบ
สายแร่เงินขนาด ใหญ่จนกลายเป็นเศรษฐีคนแรก ก่อตั้งเหมืองจนในที่สุดกลายเป็นเมืองทูมบ์สโตนขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1877 ถ่ายรูปคู่กับปืนช้าร์ปส์ไรเฟิล และลูกโม่สมิธแอนด์เว้สสัน
ด้ามงา พกในสไตล์ Butt Forward หรือ หันด้ามออกหน้าทั้งสองกระบอก
เอ๊ดเวิร์ดลุยต่อโดยไม่ ยี่หระกับคำเตือน ขุดพบแร่เงินจนร่ำรวยขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน แล้วก็ตั้งชื่อเหมืองของตัวว่า ทูมบ์สโตน เป็นที่ระลึก (พี่ แกมีอารมณ์ขันไม่เบา จัดอยู่ในพวกตลกร้ายคนหนึ่งเหมือนกันนะครับ)
การเกิดและบูมของเมือง ทูมบ์สโตน ได้นำโชคลาภมาสู่พวกแคลนตั้น
ซึ่งเป็นพวกเดียวในเวลานั้นที่มีไร่ปศุสัตว์เป็นหลักเป็นฐาน สามารถ
ป้อน เนื้อวัวเป็นอาหารให้คนทั้งเมืองได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด สมาชิก
ตระกูล แคลนตั้น อันประกอบด้วย นิวแมน เฮนส์ (Newman Haynes)
ผู้พ่อ ที่ใครๆมักเรียกอย่างเป็นกันเองว่า ตาเฒ่าแคลนตั้น (Old Man Clanton) กับลูกชาย 3 คน ชื่อ ฟิน (Phineas) ไอ๊ค์ (Isaac) และบิลลี่ (William) กลายเป็นบุคคลสำคัญของเมืองทูมบ์สโตน ที่ผู้คนต่างรู้จัก
รักใคร่นับหน้าถือตาอยู่ไม่น้อย
โฉมหน้า ของ นิวแมน เฮนส์
หรือตาเฒ่าแคลนตั้น
ผู้บุกเบิกกิจการปศุสัตว์
และ ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่
มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1873
ก่อนจะมีการขุดพบแร่เงิน
และก่อตั้งเมืองทูมบ์สโสตน
เมื่อ เมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีปากท้องต้องกินอาหารเพิ่มขึ้นอีก
มากมายจนวัวที่มีอยู่ในไร่เริ่มเกิดและโตไม่ทัน พวกแคลนตั้นก็แก้
ปัญหา เนื้อวัวขาดตลาดด้วยวิธีลัด คือ ข้ามชายแดนเข้าไปขโมยฝูง
ปศุสัตว์ของพวก แม็กซิกันเข้ามาป้อนตลาดแทน
งานนี้เป็น งานเสี่ยงอันตราย เพราะหากพลาดพลั้งก็จะโดนตำรวจ
แม็กซิกันจับตายเสียก่อน พวกแคลนตั้นจึงต้องหานักเลงปืนไว้เป็น
พวก หลายคน ที่ไว้ใจกันมากที่สุดก็เห็นจะไม่พ้นสองพี่น้อง แฟร้งค์
(Frank) กับ ทอม (Tom) แม็คลอรี่ (McLaury) นอกจากนั้นยังมีฝูง
มือปืนที่ประวัติไม่ค่อยดีอีกหลายคน อาทิเช่น เคอร์ลี่ บิล โบรเชียส
(Curly Bill Brocious) แฟร้งค์ สติลเวลล์ (Frank Stilwell) จอห์นนี่
ริงโก้ (Johnny Ringo) พี้ท สเป๊นซ์ (Pete Spence) อินเดียน ชาร์ลี
(Indian Charlie)
แกนนำ" ของพวกแคลนตั้น ตรงกลางคือ ไอ๊ค์ แคลนตั้น
ซ้ายมือคือ ทอม ขวามือคือ แฟร้งค์ แม็คลอรี่
เชื่อว่า ช่วงหลังๆนี้ ชาวเมืองทูมบ์สโตนคงพอจะรู้อยู่เหมือนกันว่า
พวกแคลนตั้นไปหาเนื้อวัวได้ตั้งมากมายมาจากไหน แต่ส่วนใหญ่ก็
ปิดหู ปิดตาเสียข้างนึงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ต่างคนต่างต้องดิ้นรนทำมา
หากินกัน ทั้งนั้น ขืนมามัวแต่คอยสนใจเรื่องจริยธรรมอะไรกันมากมาย
เดี๋ยวก็ไม่มีอะไรจะกินเท่านั้นเอง ประกอบกับประเทศเม็กซิโกก็เคยเป็น
คู่ แค้นทำสงครามกันมาก่อน เลยกลายเป็นดีที่มีพวกแคลนตั้นมาช่วย
ทำให้ เศรษฐกิจของเมืองขยายตัวรุ่งเรืองต่อไปไม่สะดุดติดขัด แถมได้
้แก้แค้นประเทศเพื่อนบ้านคู่อริไปด้วยในตัว (เขียนไปเขียนมา ทำท่าว่า
จะ วกกลับมาใกล้บ้านอีกแล้วนะครับ ไม่รู้เป็นยังไง)
แต่พอเมืองทูมบ์สโตนเจริญ รุ่งเรืองมากขึ้น มีการเดินทางติดต่อค้าขาย
กับเมืองอื่นๆมากขึ้น เงินทองเริ่มเดินสะพัด ลูกสมุนของพวกแคลนตั้น
ก็ เริ่มทำกิจกรรมพิเศษเพิ่มพูนรายได้ให้กับตนเองบ้าง ด้วยการแอบ
ปล้นรถม้า โดยสารที่วิ่งผ่านเข้าออกเมืองทูมบ์สโตน เมื่อได้สตังค์มา
แล้ว ก็มิได้นำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์อื่นใด นอกจากรวมหัวกัน
เข้า มากินเหล้าในเมือง และเป็นธรรมเนียมว่า เมื่อเมาแล้วก็ต้อง
อาละวาด เกะกะระรานชาวบ้านเค้าไปทั่ว ไม่เกรงใจใครเพราะมีลูกพี่
เป็นคนสำคัญ
ชาวบ้านชาวเมืองที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากความไม่ปลอดภัย
ในชีวิต และทรัพย์สิน จึงเริ่มคลางแคลงใจในพฤติกรรมของพวก
แคลนตั้น มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรม ว่าสมควรแล้วหรือที่จะ
ปล่อยให้ลูกสมุนก่อเรื่องก่อราวได้ตามใจชอบแบบนี้ (ทั้งๆที่เมื่อก่อน
ก็ ไม่เห็นจะสนใจเรื่องจริยธรรมกันซักเท่าไร พอเดือดร้อนบ้างละเอา
เชียว) แต่ก็มีอีกแยะเหมือนกันที่คิดแค่ว่า ถึงลูกน้องจะนอกคอกไป
บ้าง แต่ลูกพี่ก็เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม ขยันขันแข็งเป็น
กำลัง สำคัญช่วยให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีอีกด้วย ขาดพวกแคลนตั้นเมื่อ
ไรละก็ บ้านเมืองต้องไปไม่รอดแน่ (อะไรๆแบบนี้)
หยุดเรื่องของพวกแคลนตั้นไว้ชั่วครู่ก่อนนะครับ หันมาดูฝ่ายเอิ๊ร์ปกันบ้างว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
พี่น้องเอิ๊ร์ป 4 คนเข้ามาทำมาหากินที่ทูมบ์สโตนในปลายปี ค.ศ.1879 เมื่อ มาถึงใหม่ๆ ทุกคนเข้าหุ้นร่วมกันลงทุนทำเหมือง หวังรวยเร็วเหมือนกับคน อื่นๆที่มาถึงก่อนและประสบความสำเร็จกันไปแยะแล้ว แต่ไม่รู้เป็นเพราะว่าพี่น้องเอิ๊ร์ปโชคไม่ดี หรือมาช้าไปหน่อยก็ไม่ทราบ กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักหลังจากเสียสตังค์ไปแยะ เลยต้องแยกย้าย กันไปหางานประจำอื่นทำตามถนัด
เจมส์ (James) พี่ชายคนโตเข้าทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ในซาลูนชื่อโวแกนส์ (Vogan's) คนรองลงมาคือเวอร์จิล (Virgil) มีตำแหน่ง
ราชการเดิมอยู่ก่อน เป็นผู้ช่วย ยู.เอส. มาร์แชล ประจำเขตปกครองอริ โซน่า (เวลานั้นอริโซน่าและรัฐอื่นๆในภาคตะวันตกส่วนใหญ่ ยังมีฐานะเป็น เพียงเขตปกครองโดยผู้ว่าการ ที่แต่งตั้งมาจากรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตันอยู่ครับ ไม่ได้ถูกสถาปนาเป็นรัฐ มีการเลือกตั้งผู้ว่าการกันได้เองอย่างทุกวันนี้) และไม่นานนักก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยมาร์แชลแห่งเมืองทูมบ์ส โตนด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง คนถัดมาคือวายแอ็ท (Wyatt) เข้าเป็นหุ้นส่วนในซาลูนชื่อโอเรียนทัล (Oriental Saloon) และรับงานเป็นพลปืนลูกซองผู้คุ้มกันรถโดยสารของบริษัท เวลส์ ฟาร์โก (Wells Fargo) คนสุดท้ายได้แก่มอร์แกน (Morgan) ต่อมาเข้ารับงานเป็นผู้คุ้มกันรถโดยสาร เวลส์ ฟาร์โก แทนวายแอ็ท หลังจากที่วาย แอ็ทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเชอร์ริฟแห่งมณฑลพิม่า (Pima County) ในกลางปี ค.ศ.1880
เมือง ทูมบ์สโตนเมื่อต้นปี ค.ศ.1879 มีประชากรเพียง 900 คน
พี่น้องเอิ๊ร์ปมา ถึงที่นี่ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1879
เพียง 2 เดือนต่อมาผู้คนต่างพากันหลั่งไหลเข้ามา
เพิ่มจำนวนประชากร ขึ้นอีกเท่าหนึ่ง กลายเป็น 1800 คน
ขออนุญาตขยายความ อธิบายข้อเหมือนและข้อแตกต่าง ระหว่าง ตำแหน่งมาร์แชล (Marshal) และตำแหน่งเชอร์ริฟ (Sheriff) ที่ใช้กันอยู่ในระบบการปกครองของสหรัฐฯในสมัยนั้นหน่อยนะครับ ข้อเหมือน
ก็ คือ ทั้งสองตำแหน่งมีหน้าที่รักษากฎหมาย ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้าน เมือง และบังคับใช้อำนาจศาลเหมือนกัน ข้อแตกต่างคือ ตำแหน่งเชอร์ริฟจะเป็นตำแหน่งในระดับมณฑล (ใหญ่กว่าเมือง แต่เล็ก กว่ารัฐหรือเขตปกครอง) และมาจากการเลือกตั้ง ส่วนตำแหน่งมาร์แชล มีทั้งในระดับเขตปกครองหรือรัฐ และระดับเมือง หากเป็นระดับ เขตปกครองหรือรัฐ ก็จะเป็นผู้ที่รัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตันแต่งตั้งให้มา ประจำเขตปกครองหรือรัฐนั้นๆ (อาจเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว หรือส่งมาจากที่อื่นก็ได้) ชื่อตำแหน่งก็จะเรียกว่า ยู.เอส. มาร์แชล (U.S. Marshal) หากเป็นระดับเมือง มักมาจากการเลือกตั้ง และชื่อตำแหน่ง ก็จะใช้ว่า ซิตี้ หรือ ทาวน์ มาร์แชล (City/Town Marshal) ส่วนตำแหน่งผู้ช่วย (Deputy) ทั้งหมดเป็นการแต่งตั้งจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งมาร์แชลหรือเชอร์ริฟ โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีคัดเลือกจากคนใกล้ ชิด หรือวางใจว่าสามารถร่วมงานกันได้
พี่น้องเอิ๊ร์ ปทั้งหมดเป็นนักพนันมืออาชีพ (ในยุคนั้นการพนันเป็นสิ่ง
ไม่ผิดกฎหมายครับ มิหนำซ้ำได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นอาชีพที่มี
เกียรติ เสียด้วย) นอกจากนี้ ทุกๆคนยกเว้นเจมส์พี่ชายคนโต ยังมี
ประวัติเคยรับ ราชการเป็นผู้รักษากฎหมายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ใน
แดนตะวันตกกันมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วายแอ็ท ค่อนข้างโด่งดัง
ใน ฐานะอดีตมือปราบแห่งเมือง ด๊อดจ์ ซิตี้ (Dodge City) และเมือง
เถื่อน อีกหลายเมืองในรัฐแคนซัส ที่พวกวายร้ายและอันธพาลทั้งหลายต่างครั่นคร้ามไม่ค่อยอยากจะมีเรื่องมีราวด้วย จึงเป็นที่คาด เดาได้ครับว่า การที่พวกเอิ๊ร์ปเข้ามาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ทูมบ์สโตน สองคนมีตำแหน่งเป็นผู้รักษากฎหมาย อีกคนหนึ่งเป็นผู้คุ้มกันรถโดยสารให้ปลอดภัยจากการปล้น ย่อมนำมาซึ่งความไม่สบอารมณ์ ของเจ้าถิ่นเก่าอย่างพี่น้องแคลนตั้นและสมัครพรรคพวก ผู้ไม่ค่อยใส่ใจ หรือชอบใจกับหลักนิติศาสตร์เท่าไรนัก
ดูฟอร์มทั่วๆ ไปแล้ว ฝ่ายเอิ๊ร์ปน่าจะมีเครดิตสร้างคะแนนนิยมจาก
ชาวบ้านได้ไม่ยากนะครับ แต่มาติดอยู่เรื่องเดียวตรงที่วายแอ็ทดันมี
เพื่อน ซี้ผู้มีนามว่า ด๊อค ฮอลลิเดย์ อดีตหมอฟันผู้ป่วยเป็นวัณโรคและ
พิษสุรา เรื้อรัง มีนิสัยชอบประชดชีวิต ประเภทกลัวไม่มีเรื่องมากกว่า
กลัวตาย มีเรื่องกับใครขึ้นมาแล้วเป็นต้องซัดกันถึงขั้นเลือดตกยางออก
ฆ่า คนตายอย่างดุเดือดไปแล้วหลายคน ถือเป็นตัวก่อความเดือดร้อน
รำคาญให้แก่ ชาวบ้านเอาการอยู่เหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ได้ปล้นจี้ใคร
สมาชิก ฝ่ายเอิ๊ร์ปผู้เข้ามาตั้งรกรากที่เมืองทูมบ์สโตน
ซ้ายบนคือวายแอ็ท ขวาบนคือเวอร์จิล
ตรงกลางคือ มอร์แกน ขวาล่างคือเจมส์
ส่วนซ้ายล่างคือ ด๊อค ฮอลลิเดย
อาการศรศิลป์ ไม่กินกันระหว่างพวกแคลนตั้นและพวกเอิ๊ร์ปเริ่มเด่นชัดเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น เมื่อม้าของวายแอ็ทเองอยู่ดีๆก็หายไปแล้ว ไปโผล่อยู่กับ บิลลี่ แคลนตั้น จากนั้นไม่นานมีฬ่อของทหารฝูงหนึ่งหาย ไปอีก ภายหลังพบว่าถูกตีตราใหม่กลายเป็นสมบัติของพวกแม็คลอรี่
แต่ที่เริ่มกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเมื่อคืนวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1880 เคอร์ลี่ บิล โบรเชียส สมาชิกคนสำคัญของพวกแคลนตั้น นำพรรคพวกมากินเหล้าในเมือง เมาสุราอาละวาด แล้วยิงปืนใส่ เฟร้ด ไว้ท์ ซึ่งเป็นมาร์แชลของเมืองอย่างโหดเ***้ยมในระยะ ประชิด ขณะที่ เฟร้ด ไว้ท์ เข้ามาเจรจาดีๆขอปลดอาวุธ จนวายแอ็ทผู้เห็น เหตุการณ์เป็นคนแรก ต้องรี่เข้ามาคว้าปืนตีหัว เคอร์ลี่
บิล ฟุบลงไป แล้วส่งให้เวอร์จิลนำตัวเข้าคุก พร้อมกับลูกสมุนแคลน ตั้นคนอื่นๆที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น
พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1881 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือเมื่อมณฑลใหม่ถูกตั้งขึ้น โดยแยกตัวออกมาจากมณฑลพิม่าเดิม มณฑล ใหม่นี้มีชื่อว่าโคชิส (Cochise County) และเมืองทูมบ์สโตนถูก ย้ายออกจากมณฑลพิม่า ไปอยู่กับมณฑลโคชิสแทน เมื่อมีมณฑลเกิดขึ้นใหม่ ก็มีตำแหน่งเชอร์ริฟใหม่เกิดขึ้นตามมา ใครได้เป็นเชอร์ริฟคนใหม่ ก็จะกลายเป็นผู้ปกครองคนใหม่ของเมืองทูมบ์สโตนไปด้วย
วายแอ็ท เอิ๊ร์ป ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเชอร์ริฟแห่งมณฑลพิม่า
สมัครเข้าแข่งขันชิงตำแหน่ง และมั่นใจมากว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้
เป็น เชอร์ริฟแห่งมณฑลโคชิส (เชอร์ริฟคนแรกเป็นการแต่งตั้งไปก่อน
ครับ โดยอยู่ในเทอมได้ 1 ปี หลังจากนั้นคนต่อๆไปก็จะมาจากการ
เลือกตั้ง) เนื่องจากผู้ว่าการเขตอริโซน่าเป็นคนของพรรครีพับลิกั