สมเด็จพระมหิตลาธิ เบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เกร็ด ประวัติ น้อยคนนักจะรู้ว่า "สำคัญยิ่ง" เพราะเป็นสิ่ง "เติม" เนื้อ แท้แห่งประวัติให้เต็ม วันนี้เรามีเกร็ดประวัติของสมเด็จพระศรี นครินทราบรมราชชนนี หรือนางสาวสังวาลย์ และสมเด็จพระมหิ ตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือทูลกระหม่อมแดง ซึ่งทรง เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงปรากฏในเวลาต่อมาว่า ทรงเป็นพระราชบิดาพระราชมารดาของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเราทราบกันแต่เพียง คร่าวๆ ว่า ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเสตส์ เพื่อทรงศึกษาวิชาการทางแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดอัน ลือชื่อ และในระหว่างนั้นทรงให้กำเนิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ โรง พยาบาลเมาท์ ออร์เบิร์นในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 แต่ ก่อนจะถึงวันนั้น ใครบ้างจะรู้ว่า ทั้งสองพระองค์ทรงพบกันครั้งแรกที่ไหน วันนี้ เราจะพาท่านไปพบกันเกร็ดประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้า นั้น วันนั้น และครั้งนั้น เชิญท่านตามเรามา ณ บัดนี้
เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช Bhumibol Aduldej
ก่อนปี 2460 นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา (ขณะนั้นเรียกว่า สหปาลีรัฐอเมริกา) มีจำนวนไม่มากนัก แม้นว่าไทยกับสหรัฐฯ จะได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีที่สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศใน ด้านต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2399 และต่อมาก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันในระดับอัครราชทูต
ในปี 2427 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ (ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต้นราชสกุล "กฤดากร") อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ และกรุงวอชิงตัน ก็ได้เสด็จไปยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อประธานาธิบดีเชสเตอร์ อาเธอร์ ที่ทำเนียบขาว และได้เสด็จไปเยือนเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งในสหรัฐ ก่อนหน้านั้น 5 ปี กรุงเทพมหานครก็ได้มีโอกาสต้อนรับ นายพลยูลิสซีส แกรนท์ อดีตประธานาธิบดี คนที่ 18 ของสหรัฐ ในฐานะราชอาคันตุกะ ซึ่งในโอกาสนั้น ท่านนายพลวีรบุรุษแห่งสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ ก็ได้เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาจัดส่งนักเรียนไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาบ้าง
จากหลัก ฐานของคณะมิชชันนารีอเมริกัน นักเรียนไทยคนแรกที่ถูกส่งไปศึกษา ณ สหรัฐอเมริกา เป็นสุภาพสตรี ซึ่งมีชื่อเป็นไทยว่า "เต๋อ" หรือ ชื่อทางคริสเตียนว่า "เอสเธอร์"
"แม่ เต๋อ" ศึกษาวิชาพยาบาลในสหรัฐอเมริกาอยู่ประมาณ 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2403-2406 และต่อมาในปี พ.ศ.2447 ก็ได้เป็นพยาบาลผู้ถวายพระประสูติการสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 7
ต่อจากนั้น ในปี 2408 คณะมิชชันนารีอเมริกัน ก็ได้ส่งนายเทียนฮี้ ไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รัฐนิวยอร์ค ซึ่งหมอเทียนฮี้ก็สำเร็จได้ปริญญา เอ็ม. ดี. กลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2414 หมอเทียนฮี้คือ พันโทและอำมาตย์โท พระยาสารสินสวามิภักดิ์ ท่านบิดาของอดีตนายกรัฐมนตรี นายพจน์ สารสิน
ต่อมาในปี 2419 เมื่อ นพ.แซมมูเอล เรโนลด์ เฮาส์ มิชชันนารี จะเดินทางกลับสหรัฐ ภายหลังที่ได้มาอยู่ในเมืองไทยประมาณ 30 ปี ได้พานักเรียนไทยออกไปศึกษาในอเมริกา 2 นาย คือ นายบุญต๋วน บุญอิต ซึ่งไปเรียนทางศาสนา และ นายก้อน อมาตยกุล (ต่อมาเป็นพระยาวินิจวิทยาการ) ไปศึกษาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ ที่วิทยาลัยลาฟาแยต ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย และกลับมารับราชการในปี 2423
สำหรับนัก เรียนทุนเล่าเรียนหลวง "ชุดแรก" ที่ส่งไปศึกษายังสหรัฐ อเมริกา ก็คือ นายแอบ รักตประจิตร (ต่อมาคือ พล.ท.พระยาศัลวิธานนิเทศ) และ นายตี๋ มิลินทสูต (ต่อมาคือพระยาโภชากร) ซึ่งเดินทางถึงสหรัฐในปี 2452 นายแอบสำเร็จวิชาคณิตศาสตร์และแผนที่จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดทั้งปริญญาตรีและ โท ขณะที่นายตี๋ สำเร็จปริญญาตรีทางกสิกรรมจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยทั้งสองได้เดินทางกลับมารับราชการในปี 2457
ต่อมา ในฤดูร้อนของปี 2459 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก) ก็ได้เสด็จสหรัฐ เพื่อทรงเข้าศึกษาวิชาเตรียมแพทย์และวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เพื่อทรงอุทิศพระชนม์ชีพให้แก่การพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศไทย
ในกลางปี 2460 นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด น่าจะมีจำนวนไม่เกิน 10 คน อาทิเช่น นายเจริญ เชนยวนิช (พระเจริญวิศวกรรม) นายประสิทธิ์ เมนะเศวต (หลวงประสิทธิ์กลมัย) นายสุธ เลขยานนท์ (พระสุทธิอรรถนฤมนตร์) นายวิสุทธิ โทณวนิก (พระยาโทณวนิกมนตรี) และนักเรียนพยาบาล 3 คน คือ นางสาวดี นางสาวหวาน บี โรซ่า (สงสัยจะเป็นพี่น้องกัน) และนางสาวพร้อม เศวตโสภณ (ครูพร้อมแห่งวชิราวุธวิทยาลัย) เป็นต้น
ในเดือนตุลาคมศกนั้นเอง จำนวนนักเรียนไทยในอเมริกาก็ได้เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 20 คน ซึ่งเดินทางมาจากสยามเป็นกลุ่มเดียวกัน ภายใต้การควบคุมดูแลของพระยาชนินทรภักดี ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในอเมริกาคนแรก
การที่มีนักเรียนไทยไปศึกษา ณ สหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ก็เพราะขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังดำเนินไปอย่างรุนแรงในยุโรป สำหรับสหรัฐนั้นเพิ่งจะเข้าสู่สงครามเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 6 เมษายน ของปี 2460 และต่อมาในวันที่ 22 กรกฎาคม ศกเดียวกัน สยามก็ประกาศสงครามต่อเยอรมัน และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน (ฝ่ายเดียวกับ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา)
การสู้รบแผ่ ไปไม่ถึงอเมริกา ขณะที่มหาสมุทรแปซิฟิกยังสงบและปลอดภัยจากสงครามในยุโรป ดังนั้น นักเรียนไทยจึงถูกส่งไปอเมริกาแทนไปอังกฤษและยุโรปที่ไม่อาจไปได้
คณะนัก เรียนไทยที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาคราวนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 18 คน และนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศที่จะไปศึกษาที่ญี่ปุ่น 1 คน สำหรับนักเรียนที่จะไปสหรัฐอเมริกานั้นประกอบด้วย
1. นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
2. นางสาวอุบล ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา (นางลิปิธรรมศรีพยัตต์)
3. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8)
4. นายลิ ศรีพยัตต์ (หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์)
5. นายนิตย์ เปาวเวทย์ (หลวงนิตย์เวชชวิศิษฎ์)
6. หลวงนารถบัญชา (โต๊ะ อมระนันท์ พระยาวิฑูรธรรมพิเนตุ)
7. นายประสบ สุขุม (พระพิศาลสุขุมวิท)
8. นายสิงห์ ไรวา (พระนรราชจำนง)
9. นายประดิษฐ์ สุขุม (หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์)
10. นายขาว ณ ป้อมเพชร (หลวงวิชิตอัคนีนิภา)
11. นายเจียม ลิมปิชาติ (หลวงชาติตระการโกศล)
12. นายบุญเชย ปิตรชาติ (หลวงประพันธ์ไพรัชชพากษ์)
13. นายศิริ หัสดิเสวี (หลวงนฤสารสำแดง)
14. หม่อมเจ้าวรพงษ์พัฒนา สุทัศนีย์
15. นายเชื้อ คชเสนี
16. นายเนิ่น ศิลปี
17. นายเจริญ ศรีสุข (หรือ พัสดิเสวี)
18. นายพิน ตันต์ชา
ส่วนนักเรียนที่แยกไปศึกษาที่ ญี่ปุ่นก็คือ นายอรุณ วิจิตรานนท์
ขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนางอุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์ เป็นนักเรียนพยาบาล ทุนสมเด็จพระ ศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ และหลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ เป็นนักเรียนแพทย์ ทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศฯ พระบรมราชชนก
เรือ "กัวลา" ที่ เป็นพาหนะนำคณะนักเรียนไทยเดินทางจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2460 นั้น เป็นเรือโดยสารขนาดระวางขับน้ำประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งเดินระหว่างกรุงเทพฯกับสิงคโปร์ เรือกัวลาซึ่งออกจากท่าเรือบอร์เนียว ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ใช้เวลา 4 วัน เดินทางถึงสิงคโปร์ ในวันที่ 27 เดือนเดียวกัน โดย "คลื่นลมเงียบคล้ายกับเรือวิ่งในแม่น้ำ" (บันทึก ของนายเนิ่น ศิลปี)
เมื่อถึงสิงคโปร์แล้ว คณะนักเรียนไทยก็จัดส่งสัมภาระไปขึ้นเรือเดินสมุทรของฮอลันดาชื่อ "วอน เดล" แล้วก็ลงเรือกลไฟเล็กไปขึ้นบกเพื่อทัศนาจรสิงคโปร์ จนกระทั่ง 17.00 น. จึงลงเรือกลไฟเล็กจากเกาะสิงคโปร์ไปขึ้นเรือวอนเดลที่ทอดสมออยู่ในอ่าว เรือ วอนเดลมีระวางขับน้ำ 10,000 กว่าตัน "สะอาดมาก แต่รู้สึกโคลงหน่อย รำคาญที่ว่าบัญชีอาหารเป็นภาษาฮอลันดา" (บันทึกของหลวงสุขุมนัย ประดิษฐ์)
การเดิน ทางที่สะดวกสบายในเรือวอนเดลใช้เวลา 5 วัน ก็เข้าสู่อ่าวฮ่องกง ในเวลาเช้าของวันที่ 2 กันยายน โดยเรือจอดใกล้กับท่าเรือ คณะนักเรียนไทยได้ขึ้นไปพักรวมกันที่โฮเต็ลคิงเอ็ดเวิร์ด โดยมีสมาชิกที่เดินทางตรงจากกรุงเทพฯมาสมทบด้วยอีกคนหนึ่ง คือ นาย ตาบ โทณวนิก (หลวงวิมลโทณวนิก) ซึ่งจะไปประจำการ ณ สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน
ในระหว่างที่พักอยู่ที่ฮ่องกงนี้ คณะนักเรียนไทยได้ออกเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการขึ้นรถรางสองชั้น และการขึ้นรถรางที่ลากด้วยสายลวดขึ้นไปบนภูเขา อย่างไรก็ตาม การทัศนาจรในฮ่องกงต้องระมัดระวังการต้มตุ๋น ซึ่งเมื่อส่งภาษากันไม่รู้เรื่องก็ต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ฮ่องกงนี้เองที่ได้มีการถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึก อันต่อมาได้เป็นภาพประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง
นักเรียนไทยสองนาย ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคตาที่เรียกว่า "แทรกโคมา" ซึ่ง เป็นโรคต้องห้ามสำหรับการเข้าเมืองตามกฎหมายของสหรัฐ ดังนั้น พระองค์อาทิตย์ฯ และหลวงชาติตระการโกศล จึงต้องรับการรักษาโรคดังกล่าวที่ญี่ปุ่น เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา
จาก ฮ่องกง คณะนักเรียนไทยได้เปลี่ยนจากเรือวอนเดลเป็นเรือเดินสมุทรขนาด 20,000 ตัน ซึ่งเป็นเรือญี่ปุ่นชื่อ "ชินโยมารู" เรือเดินสมุทร ดังกล่าวนี้ ออกจากฮ่องกงในตอนบ่าย ของวันที่ 7 กันยายน 2460 และถึงอ่าวเมืองเซี่ยงไฮ้ในตอนดึกของวันที่ 10 กันยายน ระหว่างทางฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ คลื่นลมจัด ทำให้คณะนักเรียนไทยส่วนมากเมาคลื่นไปตามกัน ซึ่งเนื่องจากพายุไต้ฝุ่น เมื่อไต้ฝุ่นได้ทำให้การเดินทางล่าช้าไปบ้าง ดังนั้นคณะนักเรียนไทยจึงไม่มีโอกาสขึ้นบกเพื่อชมนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งในสมัยนั้นได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและมีชีวิตชีวามากที่สุดใน บุรพทิศ
รุ่งขึ้น วันที่ 11 กันยายน เรือชินโยมารูก็ออกเดินทางต่อไป และในตอนย่ำรุ่งของวันที่ 12 กันยายน ก็แวะเข้าเมืองนางาซากิ ที่เกาะกิวชิว ซึ่งคณะนักเรียนไทยได้ขึ้นบกชมบ้านเมืองด้วยความสนุกสนาน
กลางดึกของคืนวันที่ 13 กันยายน เรือชินโยมารูได้เดินทางต่อไปยังเกาะฮอนชู และแวะที่เมืองท่าใหญ่ของญี่ปุ่น คือเมืองโกเบ ในวันที่ 15 ซึ่งเป็นอีกที่หนึ่งซึ่งคณะนักเรียนไทยได้ขึ้นบกชมบ้านชมเมืองอย่างเพลิด เพลิน
ในตอนสายของวันที่ 16 กันยายน เรือได้แล่นต่อไป ผ่านเมืองชิโมโนสกีและเมืองชิมมิสซู จนกระทั่งถึงเมืองโยโกฮามา ที่เป็นเมืองท่าใกล้กรุงโตเกียว โดยคณะนักเรียนไทยได้ขึ้นบกทัศนาจรบ้านเมืองด้วยความตื่นตาตื่นใจ เพราะขณะนั้นมหานครของญี่ปุ่นก็คล้ายกับมหานครในยุโรปแล้ว
ในตอนบ่ายของวันที่ 19 กันยายน เรือชินโยมารูก็ออกจากโยโกฮามา ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมุ่งไปยังหมู่เกาะฮาวาย โดยใช้เวลาที่เห็นแต่น้ำกับฟ้าถึง 10 วัน จนกระทั่งวันที่ 29 กันยายน ในตอนเช้า เรือจึงได้เข้าเทียบท่าเมืองฮอนโนลูลู
ระหว่าง ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก คณะนักเรียนไทยก็ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย เพราะในเรือมีภาพยนตร์และเต้นรำทุกคืน มีดนตรีที่ไพเราะบรรเลงให้ฟัง มีอาหารการกินที่สมบูรณ์และอร่อย อีกทั้งมีเกมกีฬาต่างๆ ให้ผู้โดยสารได้ออกกำลังและสนุกสนาน
ที่ฮอนโนลูลู คณะนักเรียนไทยก็ขึ้นบกชมบ้านเมืองทั้งกลางวันและกลางคืน นายเนิ่น ศิลปี เล่าว่า "ได้ลองรับประทานไอศกรีมโซดาเป็นครั้งแรก ใกล้กลิ่นอายอเมริกันเข้ามาบ้างแล้ว"
รุ่งเช้า วันที่ 30 กันยายน เรือเดินสมุทรชินโยมารูก็อำลาฮาวายมุ่งสู่ทวีปอเมริกา และเข้าเทียบท่าที่เมืองซานฟรานซิสโก ในตอนเช้าของวันที่ 5 ตุลาคม 2460 รวมเวลาเดินทางตั้งแต่ออกจากรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 43 วัน
ภายหลังที่ได้พักอยู่ที่นครซานฟรานซิสโกเป็น เวลาหนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ 12 ตุลาคม คณะนักเรียนชายก็ออกเดินทางโดยรถไฟต่อไปยังกรุงวอชิงตัน ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐ สำหรับ "สมเด็จย่า-นางสาวสังวาลย์" พร้อม ด้วยนางสาวอุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์ ได้ประทับอยู่ ณ เมืองเบิร์กเล่ย์ ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของนครซานฟรานซิสโก เป็นเวลาเกือบปีเต็ม จึงได้เสด็จโดยรถไฟข้ามสหรัฐไปถึงนครบอสตัน ในตอนดึกของคืนวันที่ 21 กันยายน 2461
ณ สถานีรถไฟบอสตัน "ทูลกระหม่อมแดง" หรือสมเด็จพระมหิตลาธิ เบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงรอรับอยู่ที่นั้น และเป็นโอกาสแรกที่ทั้งสองพระองค์ "ทรงพบกัน" .