เรื่องเล่าเขย่าขวัญ ผีเฝ้าศาลาหน้าวัดตูม อยุธยา

วัดตูม ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระ-นครศรีอยุธยา ริมถนนสายประตูชัย- แยกป่าโมก ทางทิศเหนือของเกาะเมือง ริมคลองวัดตูม ถนนอยุธยา-อ่างทอง ห่างจากตัวเมืองอยุธยา ประมาณ 6-7 กิโลเมตร เลยทุ่งลุมพลีไปหน่อยเดียว ในท้องที่ตำบลวัดตูม มีเนื้อที่วิสุงคามสีมาประมาณ 15 ไร่เศษ เป็นวัดหนึ่งในหลายวัดของอยุธยา ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยใด ได้แต่สันนิษ-ฐานกันว่า น่าจะเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยเมืองอโยธยา ก่อนที่จะตั้งกรุงศรี-อยุธยา วัดนี้เคยร้างมาครั้งหนึ่งนานนับสิบๆ ปี ช่วงสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310
 
พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ ผู้รั้งเมืองร่วมกับประชาชนปฏิสังขรณ์ วัดตูมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และโปรดให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษามาจนถึงปัจจุบัน
 
วัดตูม มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือเป็นวัดที่มีอายุมานาน ไม่น้อยกว่า 1,000 ปี และเป็นสถานที่สำหรับลงเครื่องพิชัยสงคราม มีพระ-พุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชื่อ หลวงพ่อสุข ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษคือ พระเศียร ตอนเหนือพระนลาฏ(หน้าผาก) เปิดออกได้ และพระเกศมาลาถอดออกได้ ภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้างลึกลงไปเกือบถึง พระศอ มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลาเหมือนหยาดเหงื่อ แต่เป็นน้ำใส เย็นชุ่ม บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน และสามารถดื่มกินได้โดยปราศจากอันตราย ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถรักษาโรคทุกอย่างได้
 
วัด ตูม เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการทหาร ด้วยในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จ-พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้าง ธงพระกระบี่ธุชซึ่งเป็นธงประจำตำแหน่ง จอมทัพ โดยโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระ-บรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ-รานุวัดติวงศ์ จัดทำขึ้น โดยมีพระครูธรรมเสมาจารย์ (พระวิสุทธาจารย์เถร-เลื่อง) รองเจ้าคณะเมืองกรุงเก่าแห่งวัดประดู่ทรงธรรม พระนครศรีอยุธยา ได้ทำพิธีลงยันต์และอักขระที่วัดตูมนี้
 
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินที่วัดนี้อยู่ หลายครั้ง จึงถือเป็นวัดหลวงมาแต่สมัยรัชกาลนี้ ภายในวัดนั้นจะมีสระน้ำสำคัญอยู่ข้างพระอุโบสถ ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดฯให้นำน้ำในสระนี้ไปใช้ในพิธีลงเครื่องพิชัย-สงคราม ชุบพระแสง
 
มี บันทึกไว้ในหนังสือพระราช- หัตถเลขา เรื่อง เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อปี พ.ศ. 2451 ในรัชกาล ที่ 5 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก 127 มีเรื่องราวเกี่ยวกับวัดตูมปรากฏว่า
 
“...วัดตูม นี้ ลานวัดมีต้นไม้ร่มชิด เป็นวัดอย่างสมถะแท้ พระอุโบสถใหญ่ แต่มีหน้าต่างข้างละช่อง จั่นหับหน้าหลัง หน้าบันเทพนมก้านขดโตๆ ปั้นลมเป็นรูปตุ๊กตา... แต่พระเจดีย์เป็น 2 องค์ องค์หนึ่งตรงหลังโบสถ์ องค์หนึ่งไม่ตรงพระพุทธรูปในนั้นมีแถวหน้า 3 แถว แถวหน้ามีพระทรงเครื่องที่มีน้ำในพระ-เศียรองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งว่าเชิญลงไปวัดเบญจมบพิตร แท่นว่างจะให้หาพระขึ้นมาตั้งเปลี่ยน พระ 3 องค์แถวใน ปิดทองแต่เฉพาะที่พระองค์ ผ้าทาชาด...”

 
สภาพของวัดตูมยุค 50 ปีล่วงมาแล้วครั้ง หลวงปู่ถนอม เป็นเจ้าอาวาส สภาพพื้นที่วัดยังมีความรกร้างอยู่มาก และด้วยเหตุที่เป็นวัดเก่าโบราณอายุ นับพันปีมาก่อน จึงมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่จนรกทึบ แลดูน่ากลัว แม้ในเวลากลางวันก็ยังหาสิ่งที่มีชีวิตผ่านไปได้ยาก ยิ่งตกเวลาเย็นค่ำด้วยแล้ว จะหาผู้คน เดินผ่านวัดไปมาสักคนยังยาก แม้กระทั่งพระในวัดที่มีจำพรรษาอยู่ไม่เกิน 5 องค์ ค่ำลงก็เข้ากุฏิ ไม่ยอมโผล่ออกมาจนกว่า จะเช้าออกมาบิณฑบาต
 
ด้วยความรกทึบของต้นไม้ ใหญ่ ในบริเวณวัดที่มีทั้งต้นรัง ต้นโพ ต้นไทร ต้นกร่างต้นไม้เต็ง ไม้รัง ฯลฯ นานาชนิด จึงเกิดคำร่ำลือกันว่า วัดตูมนี้ผีดุ ขนาดที่กลางวันยังกล้าออกมาหลอกผู้คน
สภาพของวัดตูมก็เหมือนกับสภาพ ของวัดเก่าแก่ วัดร้างในอยุธยาทั่วๆ ไป คือ มีเสนาสนะที่ทรุดโทรม มีป่าช้าอยู่ด้านหลังของวัด มีเชิงตะกอนอยู่ติดกับ ป่าช้า คั่นด้วยศาลาธรรมศพ หน้าวัดเป็นคลองกว้างเรียกว่าคลองวัดตูม เป็นคลองเชื่อมกับคลองกบเจาที่ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเข้ามาสู่คลองวัดตูมที่ประตูชัย ไหลไปออกแม่น้ำลพบุรีที่ทุ่งทะเลหญ้า
 
ที่คลองนี้ ช่วงหน้าวัดตูมจะมีศาลาท่าน้ำเก่าหลังคามุงกระเบื้องดินเผาอยู่หลังหนึ่ง และมีเรือบิณฑบาตของหลวงปู่ เจ้าอาวาสจอดประจำอยู่ลำหนึ่ง ทุกเช้า หลวงปู่ถนอมกับเด็กวัดคนหนึ่งก็จะมา ลงเรือพายไปโปรดสัตว์ตามบ้านชาวบ้าน ที่อยู่ริมคลองสองฝั่งเป็นประจำ
 
ที่ศาลาท่าน้ำนี่แหละ มีเสียงร่ำลือกันว่ามีผีดุ ปรากฏให้เห็นว่านั่งห่มผ้าขาว คลุมโปง โผล่หน้าดำๆ อยู่ตรงที่ริมศาลา ข้างบันไดท่าน้ำเป็นประจำ ชาวบ้านย่านท่าวัดตูมที่พายเรือผ่านท่าน้ำตอนเย็นๆ โพล้เพล้เคยเห็นมาเกือบทุกคน
 
สาเหตุที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา หลวงลุงของผม ท่านขึ้นจากวัดตึกไปเยี่ยมหลวงปู่ถนอมที่เป็นอาจารย์ของท่านในคราวหนึ่ง หลวงปู่ถนอมเล่าให้หลวงลุงของผมฟังว่า
 
ตอนที่ท่านเข้ามาครองวัดได้ สัก 5 พรรษา วันหนึ่งมีคนเสียสติพเนจรเดินมา จากไหนไม่ปรากฏ เข้ามาอาศัยนอนที่หน้าโบสถ์ หลวงปู่เห็นก็เวทนา ให้ข้าวก้นบาตรมันกินอาศัยประคองชีวิตไปวันๆ คนบ้าคนนั้นสติเสื่อม ขนาดที่เสื้อผ้าไม่ยอมใส่ เดินแก้ผ้าอยู่ในวัด หลวงปู่สงสารเลยเอาจีวรเก่าๆ ผืนหนึ่งให้มันห่มกันอุจาดตา ตั้งแต่ได้จีวรหลวงปู่ เจ้าคนบ้านั่นก็เลยผูกพันกับจีวรเก่า ห่มไปห่มมาตลอด เลยหายอุจาดตาไปได้
 
หลวงปู่เรียกคนบ้านั่นว่า “ไอ้คง” ท่านบอกว่ามันจำได้เพียงชื่อ และจำบ้าน ที่มันอยู่เดิมตอนเกิดได้ว่าอยู่ที่บ้านแพน การที่ไอ้คงเดินทางเร่ร่อนจากบ้านแพนมาถึงวัดตูมนี่ ถ้านับระยะทางก็หลายกิโลเมตรอยู่ แต่มันก็มาถึงจนได้และอยู่ที่นี่จนเกิดเหตุประหลาดอย่างหนึ่ง คือ วันดีคืนดี ไอ้คงก็ห่มจีวรขาดขึ้นไปกราบหลวงปู่ถึงกุฏิ พูดจารู้เรื่องเหมือนคนสติดีทั่วไป มันเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า
 
มันกินน้ำมนต์ในเศียรพระพุทธรูปที่ในโบสถ์ จึงหายจากอาการบ้า
 
หลวง ปู่เห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลก ก็ให้ไอ้คงพาไปที่พระพุทธรูปที่เรียงรายอยู่ในโบสถ์เกือบ 10 องค์ ไอ้คงพาไปที่พระพุทธรูปองค์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุด แล้วก็หมุนพระเกศมาลาและพระเศียรตอนเหนือพระนลาฏออก หลวงปู่ชะโงกดูก็เห็นน้ำใสบริสุทธิ์ในพระเศียรจริงๆ ท่านถามไอ้คงว่า รู้ได้ยังไง มันก็บอกว่า มีเทวดามาบอก และว่ามันหมดกรรม จะต้องจากโลกนี้ไปแล้ว หลวงปู่ท่านก็เลยอาราธนายกพระพุทธรูปขึ้นไปตั้งไว้บนกุฏิ คนทั่วไปได้ข่าว ก็แห่กันมาดู และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า “หลวงปู่สุข” (ซึ่งยังมีปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้)
 
ข้างไอ้คงนั้น หลังจากมันหายจากสติฟั่นเฟือนได้แค่ 7 วัน อยู่มาวันหนึ่ง เด็กวัดก็พบมันนอนสิ้นใจอยู่ที่ศาลาท่าน้ำโดยไม่มีสาเหตุใดๆ เรียกว่านอนหลับตายไปเฉยๆ หลวงปู่ท่านก็เวทนามัน เอาศพไอ้คงมาเผา แล้วสวดอุทิศส่วนกุศลให้มันไปสู่สุคติ
 
ไอ้คงตายไปได้ 7 วัน ก็เกิดมี ผีไอ้คงที่หน้าศาลาท่าน้ำหน้าวัดอาละวาด
 
วัน หนึ่ง ทิดมากับทิดมี สองคน พี่น้องคนบ้านกบเจา เอาไก่ชนที่มีอยู่ ลงเรือ พายไปบ้านเพื่อนที่ลุมพลี เพื่อจะเอาไก่ไปซ้อม กะไว้ว่าจะเอาลงสังเวียน ที่ลุมพลี ตอนวันพระหน้า ขากลับสองคนก็พายเรืออีป๊าบผ่านหน้าวัดตูม ช่วงนั้นเป็นเวลาเย็นโพล้เพล้ แดดผีตากผ้าอ้อมเหลืองคล้ำ ทำให้มัวหน้ามัวตา สองคน พี่น้อง พี่พายท้าย น้องพายหัวผ่านบ้านผู้คนที่บางตา มาจนเข้าเขตวัด
 
และกระทั่งผ่าน เข้ามาที่ศาลา ท่าน้ำหน้าวัดตูม สองคนพี่น้องพาเรือกันมาเงียบๆ และทุกอย่างก็เงียบจริงๆ ได้ยินแต่เสียงจ๋อมๆ ของพายจุ่มน้ำ นานๆ จะมีเสียงปลาผุดบ้าง เสียงนกกลางคืน บินผ่านมาส่งเสียงร้องบ้าง ลมเย็นจากท้องทุ่งไกลๆ พัดมากระทบผิวน้ำ พาลเย็นยะเยือกไปทั่วร่าง และ..ทันใดนั้น ทั้งสองพี่น้องก็รู้สึกขนลุกซู่ไปทั้งตัว เพราะ....
 
ที่ ศาลาท่าน้ำหน้าวัดมีร่างๆ หนึ่ง ห่มผ้าขาวคลุมทั้งตัว เหมือนผีถูกมัดตราสัง นั่งตะคุ่มๆ อยู่บนยกพื้นศาลา หันข้างมาทางสองพี่น้องที่กำลังพายเรือผ่าน
 
ทิดมาคนน้องหันหน้ามา มองทิดมีพี่ชายที่พายท้าย ก็เห็นพี่ชายกำลังตาเขม็ง มองดูร่างที่คลุมผ้าขาวนั้น ไม่มีสรรพเสียงใดๆ ออกมาจากปากของชายทั้งสองคน แต่มือต่างก็กำพายจนแน่น
 
เรืออีป๊าบของสองพี่น้องถูกคัดท้าย ให้พายเลาะไปทางฝั่งตรงข้ามของศาลา แต่ระยะความกว้างมันก็ไม่ห่างจากศาลา สักเท่าไหร่ พอเรือเลยบันไดท่าน้ำของศาลามาได้ไม่เกินวา ร่างที่ห่มผ้าขาวคลุม ทั้งร่างก็หันมาสบตา ไอ้สองคนพี่น้อง ตกตะลึง ตัวชาไปทั้งคู่ เพราะหน้า..ที่หันมานั้นมันดำสนิท เห็นแต่ลูกนัยน์ตาสีขาว กลวงโบ๋
 
ทั้งสองคนร้องออกมาพร้อมกันว่า
 
“ผี...หลอกโว้ย”
 
เท่า นั้นล่ะ เสียงจ้วงพายลงน้ำดังพรึบ ไม่ต่างอะไรกับการจ้วงพายแรกของเรือยาวที่แข่งกันกลางน้ำ เรืออีป๊าบลำนั้นแล่นฉิวไปยิ่งกว่ามีแรงฝีพายสักสิบพาย ถึงบ้านกบเจาเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว พอถึงก็เอาหัวเรือเกยตลิ่ง วิ่งขึ้นไปนั่งหอบแห่กซี่โครงบานอยู่บนบ้าน ไม่ยอมพูดยอมจากับใคร พูดแต่ว่า “ผี...ผี...ผี”
 
หลวงลุงเล่าให้ผมฟังว่า ผีที่ศาลาท่าน้ำหน้าวัดตูม เป็นวิญญาณสัมภเวสีของไอ้คง มันมานั่งรอเพื่อขอส่วนบุญ ถ้ามีคนอุทิศให้ มันก็จะได้ไปผุดไปเกิด เสียที แต่ก็ยังไม่มีใครอุทิศให้ เพราะเห็นมันทีไร ก็โกยอ้าวอย่างไม่รั้งรอไปด้วยกันทั้งนั้น จนหลวงปู่ท่านมาพบกับมันเองตอนเช้ามืดวันหนึ่ง มันมานั่งรอขอส่วน-บุญตอนที่ท่านจะไปบิณฑบาต ท่านก็เลยกรวดน้ำให้ วิญญาณไอ้คงเลยได้ไปเกิด ไม่มาวนเวียนต่อไปแล้ว
 
“ที่ข้าขึ้นไปวัดตูม คราวนั้น ก็จะไปพิสูจน์น้ำในเศียรหลวงปู่สุขนั่นแหละ อ๋อ...ของจริงซีวะ ถ้าเอ็งไม่เชื่อจะไปดูด้วยกันก็ได้” หลวงลุงว่า
 
Credit: http://xfile.teenee.com/ghost/2530.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...