thairath
ใน ช่วงพุทธศตวรรษต้นๆ นั้น กรีกกับโรมันเป็นสองอาณาจักรที่เรืองอำนาจ และมีการกระทบกระทั่งกันบ่อยๆ ทั้งสองฝ่ายมีกองทัพชั้นดี ซึ่งมีกลยุทธ์ ในการต่อสู้ที่แตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างถือว่าชั้นเชิงการรบของตนเหนือกว่า กระทั่งในที่สุดกองทัพทั้งสองก็ได้เผชิญหน้าและโรมรัมพันตูกันอย่างดุเดือด ฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะ และด้วยกลยุทธ์อย่างใด? ลองติดตามกันดูได้
หลังจาก อเล็กซานเดอร์มหาราช (356-323 ปีก่อน ค.ศ.) จอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรกรีก สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ราชสมบัติก็สืบทอดเรื่อยมา จนถึงปีที่ 221 ก่อน ค.ศ. ฟิลิปที่ 5 ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ องค์ใหม่แห่งมาซิโดเนีย นครรัฐอันเป็นมาตุภูมิของอเล็กซานเดอร์ พระเจ้าฟิลิปทรงมุ่งมั่นที่จะสร้างกรีก ให้เกริกไกรดั่งเช่นที่บรรพบุรุษของพระองค์เคยสร้างไว้ หากแต่ยังกริ่งเกรงพระทัยในการเรืองอำนาจขึ้นมาของอาณาจักรโรมัน
โรมัน นั้นเมื่อแผ่ขยายอำนาจไปดินแดนไหน ก็จัดตั้งนครหรือรัฐนั้นเป็นเมืองขึ้น โดยประสงค์ ที่จะให้เมืองเหล่านั้นเป็น “กันชน” เมื่อมี ศัตรูจู่มารุกราน
อย่าง ไรก็ตาม อำนาจของโรมันก็สั่นคลอน เมื่อจอมทัพ ฮานนิบาล แห่งคาร์เธจยกขบวนศึกอันมีกองกำลังช้างเป็นทัพหนุน เข้าโจมตีอาณาจักรโรมันในปีที่ 216 ก่อน ค.ศ. ทำให้กษัตริย์ฟิลิปทรงถือโอกาสเข้าร่วม เป็นพันธมิตรกับฮานนิบาล ทั้งสองได้รับชัยชนะในช่วงต้นๆ แต่ท้ายที่สุดทัพฮานนิบาล ก็พ่ายแพ้ ในการศึกที่ซามา, แอฟริกาเหนือ กระนั้นฟิลิปก็ยังทรงไม่เลิกล้ม พระทัยที่จะชิงอำนาจกับกรุงโรมต่อไป และยาตราทัพหมายมุ่งตีนครรัฐกรีซ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในอาณัติของโรมัน
อาณาจักรโรมันแม้กำลังกะปลก กะเปลี้ย จากการรบกับคาร์เธจ แต่ ฟลามินิอุส ซึ่ง เป็นหนึ่งในกงสุลที่ปกครองโรม ก็จำเป็นต้องส่งกองทัพไปคุ้มครองกรีซ
ทัพโรมันประกอบด้วยทหารราบ 20,000 นาย ทหารเหวี่ยงหิน 2,000 นาย ทหารม้า 2,500 นาย และกองช้างอีก 20 ตัว (ช้างนั้นเอาไว้ใช้ ปะทะกับทหารม้า เพราะอาชาชาติทั้งหลายไม่ชอบกลิ่นช้าง) ส่วนทางฝ่ายกรีกมีกำลังทหารราบ 16,000 นาย ทหารเหวี่ยงหิน 4,000 นาย ทหารม้า 2,000 นาย ทหารรับจ้างกับพันธมิตรอีกราว 5,000 นาย
แต่ทีเด็ดของทัพกรีกก็คือการจัดตั้งขบวนศึก อันแยบยล ซึ่งใช้ได้ผลมาตั้งแต่ครั้งอเล็กซานเดอร์ ที่เรียกว่า “ทัพ แหลน (PHA-LANX)” มีรูปขบวนประกอบด้วยแถวทหารเรียงหน้ากระดานเป็นชั้นๆ อาจมีตั้งแต่ 8 ชั้น ถึง 15 ชั้น ในมือของแต่ละคนถือ “แหลน” หรือหอก ซึ่งยาวเหยียด 5 ถึง 7 เมตร เมื่อประจัญบานกับข้าศึก แถวหน้าจะเหยียดแหลนออกไปข้างหน้าตรงๆ ส่วนแถวข้างหลังจะตั้งแหลนเป็นมุมเฉียงเพื่อปัดป้องธนูหรือก้อนหินที่ข้าศึก ยิงมา เมื่อหน่วยกล้าตายแถวหน้าล้มลง พลแหลนแถวหลังก็จะเข้ามาแทนที่และคุ้มครองคนล้มไว้
ด้วย ยุทธการอาวุธด้ามยาวนี่แหละ ทำให้ข้าศึกครั่นคร้ามยิ่งนัก เพราะเข้าไม่ถึงตัวทหารกรีก ถ้าบุกเข้าไปก็มีแต่จะโดนแหลนจิ้มอกเอาเสียก่อน
สำหรับโรมันนั้นก็จัดทัพเป็นรูปสี่ เหลี่ยม เหมือนกัน หากทว่าแบ่งออกเป็น กลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม แนว หน้าเป็นทหารถือหอก (ซึ่งสั้นกว่าแหลนของกรีกมาก) และมีดาบสองคมแบบสเปน ห้อยติดเอวเอาไว้ในยามต่อสู้ประชิดตัว แม้จะเสียเปรียบกรีก ในด้านความยาวของอาวุธ แต่ได้เปรียบในด้านความคล่องตัว ของการบุกและปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธ
ในเดือนมิถุนายนปีที่ 197 ก่อน ค.ศ. ทัพของฟิลิปที่ 5 กับทัพของฟลามินิอุส ก็มาตั้งแคมป์กันอยู่คนละซีกเนินเขา ที่มีชื่อว่า ซายโนเซฟาแล และเช้าของวันหนึ่งซึ่งมีหมอกลงทึบ ทัพทั้งสองก็เคลื่อนขบวนเข้าหากัน โดยทางฝ่ายกรีกขึ้นไปถึงยอดเนินก่อน ในขณะที่ทัพโรมัน บุกสวนขึ้นมาบนเนินอีกฟากหนึ่ง
จัด เป็นสมรภูมิลาดชัน ที่ไม่ถนัดด้วยกันทั้งกรีกและโรมัน!
เพราะฝ่ายกรีกนั้น การเดินลงที่ลาด จะทำให้ต้องทิ่มปลายแหลนลง ส่วนฝ่ายโรมันเองก็ชำนาญ แต่การแปรขบวนบนพื้นที่ราบ ด้วยเหตุที่หมอกลงหนาทึบ ทั้งสองฝ่ายจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังมุ่งหน้า เข้าหากัน อย่างไรก็ดี กองลาดตระเวนต่างก็จ๊ะเอ๋กันก่อน และส่งสัญญาณให้ทัพใหญ่ที่ตามมาได้รู้ การเตรียมรบอย่างกะทันหันจึงได้ บังเกิดขึ้น
การจัด “ทัพแหลน” นั้นต้องใช้เวลา เพราะรูปขบวนและอาวุธออกจะเทอะทะ อุ้ยอ้าย นอกจากนี้ แม่ทัพกรีกยังออกคำสั่งจัดตั้งแถวหน้ากระดานเรียงซ้อนกันถึง 16 แถว โดยใช้กำลังพล 16,000 นาย จึงชุลมุนไม่น้อย
ส่วนโรมันจัดทัพ ง่ายกว่า โดยแบ่งออกเป็น 30 กลุ่ม ในรูปจัตุรัส
กษัตริย์ ฟิลิปทรงประสงค์จะโจมตีโรมันแบบไม่ให้ทันตั้งตัว แม้ว่าทัพของพระองค์ก็ยังไม่ พร้อม ในช่วงแรกของการรบ พระองค์ทรงได้รับชัยชนะทางแนวปีกขวา ซึ่งตีเอาโรมันถอยร่นไป หากทว่า ในขณะเดียวกันนั้น นิคานอร์ ขุนศึกกรีกซึ่งคุมปีกซ้ายยังจัดรูปขบวนไม่เสร็จ จึงโดนโรมันจู่โจมบุกเข้าประชิดตัวถอยกรูด
โดยทั่วไปพลแหลน ของกรีกจะผนึกกำลังกันแบบแน่นหนา แต่ละคนห่างกันไม่ถึงเมตร ส่วนโรมันจะกระจายห่างกันเกือบสองเมตร เมื่อกรีกจัดรูปขบวนไม่พร้อม โรมันจึงตีแหวกฝ่าเข้าไปได้ และเมื่อใดที่ฝ่าแนวแรกของทัพแหลนได้แล้ว พวกเขา ก็ไม่มีทางต่อสู้อะไรได้ ถ้ายิ่งตีทะลุแนวที่ สองได้อีก เขาก็หมดหนทางป้องกันตัว พอทะลุได้ถึงแนว 5 ก็เป็น อันว่าทัพแหลนนั้นหมดสภาพ เกิดความระส่ำระสายไปทั่ว ทหารโรมันสามารถใช้ดาบสั้นเข่นฆ่าทหารกรีกได้อย่างมันมือ
เมื่อปีกขวาบุกลงมาได้ แต่ปีกซ้ายแตกถอยร่นขึ้นไป ทัพกรีกทั้งหมดจึงอยู่ในลักษณะ “หมุน” ทำ ให้โรมันตีตลบหลังได้อีก ทัพแหลนนั้นมีแต่จะบุกไปข้างหน้าลูกเดียว ไม่มีสิทธิหันมาป้องกันหลังของตัวเอง แล้วอะไรจะไปเหลือ!
เหล่า ทหารกรีกต่างยกแหลนขึ้นชี้ฟ้า เป็นรหัสว่า “ยอมแพ้” แต่โรมันไม่สนใจ หรือแกล้ง “ไม่รู้” ยังคงตั้ง หน้าประหารข้าศึกต่อไป ทำให้ทหารกรีกถึงกับตะลึงงัน เมื่อเห็นโรมันไม่เคารพในกติกาแล้ว ก็เลยแตกตื่นเผ่นหนี แบบตัวใครตัวมัน
ทหารกรีกจำนวนถึง 8,000 นาย กลายเป็นศพกลางสมรภูมิ อีก 5,000 ตกเป็นเชลย ส่วนฟลามินิอุสสูญเสียทหารแค่ 700 นายเท่านั้น
ก็ เป็นว่ากษัตริย์ฟิลิปต้องตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม โดยผู้ชนะก็ได้เรียกร้องค่าตอบแทน ความเสียหายสูงลิบลิ่วเป็นเงินถึง 10,000 ทาเลนท์ ซึ่งคิดเป็นปัจจุบันก็ราว 8,000 ล้านบาท จ่ายทันทีครึ่งหนึ่ง ที่เหลือให้ผ่อนส่งนานสิบปี นอกจากนี้ โอรสองค์เล็ก เดเมทริอุส ยังต้องไปเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงโรมอีกด้วย
อันที่ จริงโรมันอาจไม่ชนะอย่างง่ายดายอย่างนี้ แต่เป็นเพราะกรีกเชื่อถือในกฎสงคราม ที่ผู้แพ้จะได้รับการปฏิบัติ อย่างดีจากผู้ชนะ ถ้ารู้ว่าวางอาวุธแล้วจะยังคงถูกเข่นฆ่า ทหารกรีกอาจต่อสู้แบบยอมตายก็เป็นได้
โรมัน กลายเป็นผู้พิชิต เพราะไม่สนใจกติกา ฟลามินิอุสได้รับการยกย่องจากชาวโรมให้เป็นวีรบุรุษ ทว่า ชาวกรีกมีแต่ด่าทอฟลามินิอุส ไปตลอดกาล