Open Season ล่าตามฤดูกาล !?

thairath

ฤดู ที่ว่านี้ไม่ใช่ฤดูร้อนหรือฤดูหนาว แต่เป็นฤดูกาลล่าสัตว์ หรือช่วงเวลาที่ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “พราน” ทั้งหลายสามารถจะเข้าป่าไปพร้อมปืนและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งผู้ช่วย เช่น สุนัข เพื่อล่าหรือฆ่าสัตว์ที่ตัวเองต้องการ จะเพื่อเอามาเป็นอาหาร เพื่ออวดอัตตา หรือเพื่อแก้เซ็งอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับฤดูล่าสัตว์นี้ ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ อนิเมชั่นฟอร์มใหญ่เปิดปี 2550 เรื่อง “Open Season” คู่ซ่า ป่าระเบิด ซึ่งกำลังเข้าฉายอยู่ในขณะนี้


กฎและข้อจำกัดในการล่าสัตว์มีมาตั้งแต่ สมัยโบราณ เพราะการล่าสัตว์เป็นกิจกรรมอันจำเป็นต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีทุกแห่ง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด จะก่อนประวัติศาสตร์หรือใหม่กว่านั้นก็ตาม สิ่งที่จะพบแน่ๆ คืออาวุธ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการล่าทั้งหลาย โดยมีการกำหนดบทบาทชัดเจนว่าผู้ชายเป็นผู้ล่า ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่จัดการกับสัตว์ที่ล่ามาได้ และดูแลผู้ล่าให้พร้อมที่จะออกไปล่าในวันต่อๆ ไป

ผู้ชาย ที่เชี่ยวชาญในการล่าที่สุดจะถูกยกให้เป็นหัวหน้ากลุ่มหรือเผ่า วัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เช่น ในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะชาวบ้านแถวทะเลทรายกาลาฮารีทางใต้ของทวีป ซึ่งรักษาไว้กระทั่งวิธีการล่าแบบดั้งเดิมที่สุดคือ วิ่งไล่จนกระทั่งสัตว์ที่ถูกล่าหมดแรง สัตว์ที่ถูกล่าด้วยวิธีนี้คือ กวางคูดู กลุ่มนักล่าจะวิ่งไล่กวางกลางแดดทะเลทรายร้อนเปรี้ยงสัก 4-5 ชั่วโมงติดกันโดยไม่มีเวลาพัก จนกวางเหนื่อยและขาดน้ำ วิ่งไม่ไหว ปล่อยให้กลุ่มนักล่าเข้าไปใกล้แล้วแทงจนตายในที่สุด

การล่าสัตว์แบบที่ว่านี้มนุษย์ไม่ได้เปรียบสัตว์ที่ถูกล่ามาก นัก อาศัยความอึดและความฉลาดกว่าเป็นสำคัญ กว่าจะได้ก็เสี่ยงอันตรายและเหนื่อยแทบขาดใจเช่นกัน เมื่อล่าได้พอแก่ความต้องการของปากท้องแล้วก็มักจะพอ สัตว์ที่ล่ามานอกจากจะกินเนื้อและเก็บไว้ยามยากแล้ว ส่วนอื่นๆ เช่น หนังหรือกระดูก ยังถูกเอามาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ไม่ค่อยเหลือทิ้ง


เมื่อสังคมมนุษย์ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นเมืองเริ่มมีการเพาะปลูกและ เลี้ยงสัตว์ การล่าก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชายทุกคนอีกต่อไป หลายคนหันไปทำงานอย่างอื่น เช่น ปั้นหม้อ ทอผ้า หรือค้าขาย ผู้ที่ออกล่าคือ ผู้มีฝีมือเท่านั้น การล่าจึงค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการกีฬาสำหรับผู้มีเวลาและทุนทรัพย์

กิจกรรม สุดโปรดของฟาโรห์อียิปต์ และกษัตริย์บาบิโลนอย่าง หนึ่ง คือการเสด็จประพาสป่าด้วยรถศึกเต็มยศเพื่อล่าสิงโต (ถือเป็นการฝึกภาคสนามยามสงบ ยามรบจะได้คล่องตัว) แต่ที่ก้าวหน้ากว่าใครคือชาวโรมัน เพราะมีการล่าสัตว์ ดุร้ายเป็นๆ เพื่อเอามาเป็นตัวประกอบในกีฬามหาโหด เช่น กลาดิเอเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎในการล่าอื่นๆ เช่น ห้ามล่าสัตว์ในเขตอภัยทาน คือ รอบๆ วิหารที่ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นต้น

ล่วงมาถึงยุคกลางของยุโรป การล่าสัตว์กลายเป็นเรื่องของสถานะทางสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ ในอังกฤษมีการห้ามไม่ให้คนธรรมดาล่าสัตว์ในเขตป่าของกษัตริย์ ทำให้เกิดตำนานแห่งการต่อต้านขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ เรื่องของ โรบินฮู้ด จอมโจรขวัญใจคนยาก ซึ่งกลายเป็นคนนอกกฎหมายเพราะแอบเข้าไปล่าสัตว์ในป่านอตติงแฮมของพระเจ้า ริชาร์ด จนกลายเป็นคู่รักคู้แค้นกับท่านนายอำเภอของนอตติงแฮมในเวลาต่อมา



เมื่อ การล่าสัตว์กลายเป็นเกมกีฬาเสียแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องล่าเฉพาะสัตว์ที่เป็นอาหารอีกต่อไป สัตว์อื่นๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก กลายเป็นเหยื่อยอดนิยมในหมู่ผู้ดีอังกฤษ วิธีการล่าก็ชักจะเอาเปรียบสัตว์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขี่ม้าไล่ ใช้หมาเห่าเป็นทัพหน้าเข้าไปก่อน หรือแม้แต่การใช้อาวุธปืนหรือธนู ยิงสัตว์ได้จากระยะไกล เมื่อได้แล้วก็ไม่สนใจจะใช้ประโยชน์จากซากสัตว์นั้น อย่างดีก็อาจจะถลกหนัง เอาหัว เขาหรือฟันไปเป็นที่ระลึก

ปัจจุบัน ยังมี การล่าสัตว์เพื่อดำรงชีพจริงๆ และไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ เหลืออยู่น้อยมาก เช่น อินเดียนแดงในสหรัฐอเมริกา และชาวเผ่าอินูอิตหรือเอสกิโมในอลาสกา ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองให้ล่าสัตว์ได้อย่างเสรี เพื่อนำมาเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ ตลอดจนเอามาขายเป็นสินค้า นอกนั้นหากจะล่าสัตว์ต้องประพฤติปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบกันอย่างเคร่งครัดทั้ง สิ้น


กรอบแรกของนักล่าคือ เวลา หรือฤดูกาลล่า ซึ่งต่างกันไปตามชนิดของสัตว์ โดยทั่วๆ ไปแล้วจะห้ามไม่ให้ล่าในฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มันดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ กฎข้อนี้รวมถึงการตกปลา และการล่านกด้วย แต่ไม่รวมถึงสัตว์เล็กๆ ที่มีจำนวนมากและก่อความเสียหายหรือความรำคาญ เช่น กระรอก กระต่าย สกังค์ ตัวแบดเจอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณสัตว์ดังกล่าวไม่ให้มีมากไปจนเกิดผลเสียหายต่อระบบนิเวศ และระบบเศรษฐกิจ


กรอบ ที่สองคือ ชนิดและจำนวนของสัตว์ที่ถูกล่า สัตว์ที่ห้ามล่าโดยเด็ดขาดคือ สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ สัตว์หายาก สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ (เช่น นกอินทรีหัวล้านของอเมริกา) และนกอพยพ นักล่าสัตว์จึงต้องเช็กกับราชการอยู่เสมอว่าสัตว์ที่ตัวเคยล่าอยู่นั้น ถูกขึ้นบัญชีห้ามล่าไปแล้วหรือเปล่า สัตว์ที่ได้รับอนุญาตให้ถูกล่าได้ จะมีข้อจำกัดว่า ล่าได้กี่ตัวต่อใบอนุญาตหนึ่งใบ หรือกี่ตัวต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ถูกล่าจนหมดป่า โดยทั่วๆ ไป ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น กวางหรือหมี จะมีการออกป้ายให้ ตามจำนวนที่ได้รับอนุญาต เมื่อล่ามาได้จะต้องติดป้ายนั้นเอาไว้ที่ซากสัตว์ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจได้เสมอ หากถูกหยุดรถตรวจแล้วพบสัตว์ที่ไม่มีป้ายติด หรือติดป้ายไม่ตรงกับชนิดของสัตว์ จะถือเป็นความผิดร้ายแรง ต้องถูกปรับจนหน้าซีด หรือเข้าไปนอนคุกกันเลยทีเดียว



กรอบที่สาม คือ อาวุธ ซึ่งต้องใช้ให้เหมาะสมกับ ชนิดและขนาดของสัตว์ ปืนยิงนกก็เป็นแบบหนึ่ง ปืนยิงกวางก็อีกแบบจะเอาแบบที่ยิงกวางมายิงนกไม่ได้ บางคนอาจรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหยุมหยิม แต่จริงๆ แล้วสำคัญมาก เพราะการใช้อาวุธที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้สัตว์ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเกินไป หรือเตลิดไปจากถิ่นเดิมที่เคยอยู่ จึงต้องตรวจตราอย่างเข้มงวด

กรอบสุดท้าย คือการศึกษาและการเตรียมตัว ก่อนจะขอใบอนุญาต นักล่าทุกคนต้องเรียนรู้วิธีใช้และการดูแลรักษาอาวุธ ตลอดจนกฎกติกามารยาทในการล่าเป็นอย่างดี ที่สำคัญมากคือ การป้องกันตัวเองจากการถูกสัตว์ป่า หรือพรานคนอื่นทำร้าย (โดยไม่ได้ตั้งใจ) นักล่าในสหรัฐอเมริกาจึงมักจะใส่เสื้อสีส้มสดให้เห็นเป็นเครื่องหมายแต่ไกล จะได้ไม่เผลอไผลยิงถูกกันเองเข้า แต่ก็มีอยู่เป็นประจำ

อย่างเมื่อตอนต้นปีที่ดิ๊ก เชนีย์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกไปล่านกเป็ดน้ำ แล้วพลาดทำปืนลั่นไปโดนเพื่อนนักล่าในกลุ่มเดียวกัน โชคดีที่เป็นกระสุนลูกปรายยิงนก เลยไม่เป็นอะไรมาก แต่ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ ให้คนล้อเลียนกันสนั่นเมืองอยู่นาน


การล่าสัตว์ตามฤดูกาลโดยอยู่ในความควบคุมของรัฐแบบนี้ ไม่ว่าที่ไหนล้วนทำรายได้เข้ารัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำทั้งสิ้น มีรายงานว่านายพรานที่เข้าไปล่าสัตว์ในประเทศแทนซาเนียทำรายได้ให้รัฐบาล มากกว่านักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั่วๆ ไปประมาณ 50-100 เท่า แถม สิ่งแวดล้อมเสียหายน้อยกว่ากันเพียบ เพราะพวกนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่เข้าไปถ่ายรูปสัตว์ในซาฟารีเกือบจะร้อย ทั้งร้อยต้องการพาหนะ ที่พักและอาหารหรูหราสิ้นเปลืองเงินตรา และทรัพยากรอย่างมหาศาล เทียบกับนายพรานไม่ว่าผิวขาว ผิวดำที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตล่าสัตว์ และค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ รวมแล้วไม่น้อยกว่าทัวร์เท่าไหร่

ใน สหรัฐอเมริกานั้น ตามสถิติในปี ค.ศ.2001 มีคนที่ซื้อใบอนุญาตล่าสัตว์ตามฤดูกาลถึง 18 ล้านคน รวมๆแล้วใช้เงินไปราว 20 กว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการออกล่าประมาณ 18 วันโดยเฉลี่ย โดยเงินจะสะพัดมากในหมู่ธุรกิจเกี่ยวกับการล่าสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นปืน พาหนะบุกป่า เสื้อผ้า เครื่องใช้ในการพักแรมกลางแจ้ง สื่อการสอนวิธีล่า ฯลฯ




แม้จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับรัฐบาล แต่อย่างไรเราก็ไม่ควรสนับสนุนการล่าสัตว์อย่างออกหน้าออกตา  เราต้องนึกถึงหัวอกสิ่งมีชีวิตที่เราเล็งเป้าบ้าง...เพราะโดนยิง ไม่ใช่แค่เจ็บ แต่ถึงกับตายเลยทีเดียว

Credit: http://www.artsmen.net/
#ล่าตามฤดูกาล
Messenger56
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIPสมาชิก VIP
13 มิ.ย. 53 เวลา 15:34 4,925 1 28
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...