ทำไมพระต้องถือตาลปัตร ?

 
 
]
 

เมื่อเราไปทำบุญที่วัดหรือนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงานหรือที่ใด เรามักจะเห็น "ตาลปัตร" อยู่คู่กับการสวดของพระอยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่คงจะเคยชิน แต่คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่า เหตุใดพระสงฆ์จึงต้องใช้ตาลปัตรปิดหน้าเวลาสวด ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเรื่องของตาลปัตรมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้

คำ ว่า "ตาลปัตร" หรือ "ตาลิปัตร" เป็นคำภาษาไทย ที่นำมาจากภาษาบาลีว่า ตาล ปตฺต แปลว่า ใบตาล ซึ่งใบตาลนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้บังแดด และใช้พัดลมมาตั้งแต่โบราณ และเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่งในประเทศเมืองร้อน ดังนั้น ตาลปัตร จึงหมายถึง พัดที่ทำจากใบตาลนั่นเอง โดยคำว่า "พัด" ที่ภาษาบาลีเรียกว่า "วิชนี" นี้ มีความหมายว่า เครื่องโบกหรือเครื่องกระพือลม และไทยได้นำมาแปลงเป็น "พัชนี" ต่อ มาคงเรียกกร่อนคำให้สั้นลงเหลือเพียง "พัช" ออกเสียงว่า "พัด" แล้วก็คงใช้เรียก และเขียนกันจนลืมต้นศัพท์ไป


 

"ตาลปัตร" หรือบางแห่งก็ใช้คำว่า "วาลวิชนี" (ที่เดิมหมายถึง เครื่องพัดโบกสำหรับผู้สูงศักดิ์) นี้ ดั่งเดิมคงหมายถึง สิ่งที่ใช้พัดวีเช่นเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงวัสดุที่ใช้ คือ ตาลปัตรทำด้วยใบตาล แต่วาลวิชนีอาจจะทำด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น ผ้าแพร ขนนก ขนหางสัตว์ เป็นต้น ซึ่งสมัยก่อน "พัด" ที่พระถือกันอยู่สมัยแรกทำด้วยใบตาลจึงเรียกว่า "ตาลปัตร" ต่อมาแม้จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เป็นวัสดุอื่นหรือตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร อย่างไรก็ยังเรียก "ตาลปัตร" อยู่เช่นเดิม และถือเป็นสมณบริขารอย่างหนึ่งของพระสงฆ์

สำหรับสาเหตุที่ พระสงฆ์นำ "ตาลปัตร" มาใช้นั้น ได้มีผู้ให้ความเห็นต่างๆ กันไป บางท่านก็ว่า การใช้ตาลปัตรครั้งแรกดั่งเดิมนั้น มิใช่เพื่อบังหน้าเวลาเทศน์ แต่ใช้เพื่อกันกลิ่นเหม็นของศพที่เน่าเปื่อย เนื่องจากพระสงฆ์ในสมัยโบราณจะต้องบังสุกุลผ้าห่อศพไปทำจีวร ดังนั้น ท่านจึงต้องใช้ใบตาลขนาดเล็กมาบังจมูกกันกลิ่น จากนั้นต่อมาก็เลยกลายเป็นประเพณีของสงฆ์ที่จะถือตาลปัตรไปทำพิธีต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีปลงศพ


 

บางท่านก็ว่าการที่พระถือตาลปัตรในระหว่างการแสดงธรรมเทศนาหรือสวดพระปริตร ก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรเมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ พระสงฆ์จึงได้ปฏิบัติตาม

นอกจากนี้ยังมีผู้ สันนิษฐานว่า เกิดจากเนื่อง จากสภาพจิตใจของผู้ฟังธรรมมีหลายระดับ จึงต้องมีการป้องกันไว้ก่อน ดังเรื่องเล่าที่ว่า พระสังกัจจายน์ พระสาวกที่สำคัญรูปหนึ่ง ท่านมีรูปงามหรือพูดง่ายๆ ว่าหล่อมาก ขณะที่แสดงธรรมโปรดอุบาสก อุบาสิกาอยู่นั้น ทำให้สตรีบางคนหลงรักท่านอย่างมาก และด้วยภาวะจิตที่ไม่บริสุทธิ์ของสตรีเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดบาปขึ้น เมื่อท่านรู้ด้วยญาณ จึงได้อธิษฐานจิตให้ตัวท่านมีรูปร่างอ้วนใหญ่พุงพลุ้ยกลายเป็นไม่งามอย่าง ที่เราเห็นในปัจจุบัน และเป็นเหตุให้พระสงฆ์ต้องหาเครื่องกำบังหน้าเวลาเทศน์หรือประกอบพิธี เพราะต้องการให้ผู้ฟังได้ฟังแต่ธรรมจากท่านเท่านั้น มิใช่มัวแต่มองหน้าหลงรูป



อย่างไรก็ดี แม้ว่าต้นกำเนิดของการที่พระสงฆ์ต้องถือตาลปัตร จะยังไม่แน่ชัดว่าแท้จริงเป็นมาอย่างไร แต่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประทานความเห็นไว้ว่า ความคิดที่ให้พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกา เพราะมีพุทธประวัติปรากฏใน "ปฐมสมโพธิ" ซึ่งต้นฉบับเขียนขึ้นในลังกาโดยพระพุทธรักขิตาจารย์ กล่าวถึงเทพบริวารสององค์ที่ขนาบองค์พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ คือ สันดุสิตเทวราชจะถือพัดที่เรียกว่า วิชนี ที่มีรูปร่างคล้ายพัดใบตาลอยู่เบื้องขวา และสยามะเทวราชทรงถือจามร (แส้) อยู่เบื้องซ้ายเพื่ออยู่งาน และอาจเป็นเครื่องแสดงดุจเป็นเครื่องสูงที่ใช้ถวายพระสมณศักดิ์แห่งพระ พุทธองค์ด้วย..
 


 

และเมื่อลัทธิลังกาวงศ์ได้แพร่หลายและเป็นที่เลื่อมใสกันในยุคนั้นทั้งใน ประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และไทย จนเป็นที่เชื่อกันว่าพระสงฆ์ที่ได้บวชเรียนในลัทธิลังกาวงศ์จะต้องมีความรู้ ทางพระศาสนาลึกซึ้งมากกว่าพระสงฆ์ที่บวชในลัทธิอื่นที่มีมาแต่เดิม ดังนั้น พุทธศาสนิกชนในไทยที่เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์ก็ย่อมรับเอา พิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังฆพิธีมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถือตาลปัตรหรือการตั้งสมณศักดิ์ เพราะท่านว่าจากตรวจสอบศึกษาศิลปะอินเดียโบราณสมัยต่างๆ โดยเฉพาะจากประติมากรรม ยังไม่พบรูปพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ หรือพระสมณะ ถือตาลปัตรเลย

 


 

ดังนั้น การที่พระสงฆ์ถือตาลปัตร จึงไม่น่าจะเป็นคติดั่งเดิมจากอินเดีย แต่น่าจะมาจากลังกาตามหลักฐานที่ว่าข้างต้น ส่วนนักบวชที่มิได้เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่ามีการถือตาลปัตรด้วย เช่นกัน ดังจิตรกรรมฝาผนังที่วัดช่องนนทรี อันเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนเป็นภาพทศชาติตอนชาดก เรื่อง พรหมนารถ ก็มีภาพพระเจ้าอังคติกำลังสนทนากับเดียรถีย์ ซึ่งแสดงตนเป็นบรรตชิตนั่งอยู่เหนือพระองค์ เดียรถีย์ในภาพจะถือพัดขนาดเล็กรูปร่างคล้ายตาลปัตร จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า ตาลปัตรสมัยโบราณอาจจะเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นนักบวชก็ได้ เพราะแม้แต่ฤษีก็ยังถือพัด ซึ่งบางครั้งก็มีรูปร่างคล้ายวาลวิชนี และบางครั้งก็คล้ายพัดขนนกซึ่งพระสงฆ์ไทยก็เคยใช้เป็นตาลปัตรอยู่ระยะหนึ่ง เช่นกัน


 

และจากความศรัทธาที่ฆราวาสถือว่า ตาลปัตร เป็นของใช้อย่างหนึ่งของพระสงฆ์ จึงได้เกิดความคิดนำไปถวายพระ โดยชั้นแรกคงเป็นใบตาลตามคติเดิม ต่อมาใบตาลอาจจะเสื่อมความนิยมเพราะเป็นของพื้นบ้านหาง่าย ไม่เหมาะจะถวายพระ เลยอาจนำพัดของตนที่ทำด้วยไม้ไผ่สาน หรือขนนกไปถวายให้พระใช้แทนใบตาล โดย อาจจะถวายด้วยตนเอง หรือให้ทายาทนำพัดของบิดามารดาผู้ล่วงลับไปถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดา มารดาของตนก็ได้ จึงทำให้ตาลปัตรมีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ และมีพัฒนาการเช่นเดียวกับศิลปกรรมประเภทอื่นๆ ดังจะได้เห็นว่านอกจากทำจากใบตาลเดิมแล้ว ยังทำจากวัสดุอื่นที่คิดว่างามและหายาก เช่น ไม้ไผ่สาน งาสาน ผ้าแพรอย่างดี ขนนก หรือมีการปักดิ้นเงินดิ้นทอง หรือประดับด้วยอัญมณีต่างๆ สุดแต่กำลังศรัทธาที่จะถวาย ซึ่งตาลปัตรนี้ถือว่าเป็นของมงคลอย่างหนึ่งใน ๑๐๘ มงคลที่ปรากฏในรอยพระพุทธบาทด้วย


 

โดยทั่วๆ ไป เมื่อพูดถึง ตาลปัตร ในความหมายของพระสงฆ์จะเรียกว่า "พัดรอง" คือ พัดที่เราเห็นพระใช้กันอยู่ในงานกุศลพิธีทั่วไป มักทำเป็นพัดหน้านาง คือพัดที่มีลักษณะรูปไข่ คล้ายเค้าหน้าสตรี มีด้ามยาวตรงกลาง ยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ส่วนพัดที่มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า "พัดยศ" นั้นเป็นพัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแก่พระสงฆ์ พร้อมกับพระราชทานสมณศักดิ์ เพื่อเป็นสิ่งประกาศเกียรติคุณหรือบอกชั้นยศที่พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทาน นั้นว่า เป็นชั้นอะไร คล้ายๆ กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ข้าราชการหรือประชาชนได้รับ ซึ่ง พัดยศที่เราเห็นจะมี ๔ ลักษณะ คือ

(๑) พัดหน้านาง มีลักษณะอย่างที่กล่าวข้าง ต้น เป็นพัดยศสมณศักดิ์ระดับพระครูฐานานุกรมขึ้นไป รวมทั้งเป็นพัดยศเปรียญด้วย

(๒) พัดพุดตาน มีลักษณะเป็นวงกลม รอบนอกหยักเป็นแฉกคล้ายกลีบบัว เป็นพัดยศสมณศักดิ์ตั้งแต่ระดับพระปลัด พระครูปลัด ขึ้นไปจนถึงชั้นพระครูสัญญาบัตร

(๓) พัดแฉกเปลวเพลิง ใบพัดจะมีลักษณะทรงพุ่มเข้าบิณฑ์ มีแฉกคล้ายเปลวเพลิง เป็นพัดยศสมณศักดิ์ระดับพระครูเจ้าคณะจังหวัด และพระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก

(๔) พัดแฉก ใบพัดมีลักษณะเป็นแฉกทรงพุ่มเข้าบิณฑ์ มีกลีบอย่างน้อย ๕-๙ กลีบ เป็นพัดยศตั้งแต่ระดับพระราชาคณะถึงสมเด็จพระราชาคณะ สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะหรือราชาคณะ เมื่อได้รับพระราชทาน "ตาลปัตรแฉก" เป็นพัดยศ เมื่อได้รับนิมนต์ให้เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาในงานพระราชพิธีต่างๆ จะต้องนำพัดเข้าไป ๒ เล่ม คือ "พัดยศ" ประกอบสมณศักดิ์เล่มหนึ่ง และ "พัดรอง" อีกเล่ม เมื่อขึ้นธรรมาสน์ถวายศีลนั้น กำหนดให้ใช้พัดรอง ครั้งจบพระธรรมเทศนาแล้ว เมื่อจะถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกจึงจะใช้พัดยศ

สำหรับ "ตาลปัตร" ที่เราทำถวายพระไม่ว่าจะเนื่องในวันเกิด วันสถาปนาหน่วยงาน หรือในพิธีการต่างๆ ส่วนใหญ่ก็คือ "พัดรอง" ที่กล่าวถึงข้างต้นนั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลจาก ://www.dhammajak.net/
ภาพจาก : GooGle

Credit: http://atcloud.com/stories/84315
#ตาลปัตร
Messenger56
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIPสมาชิก VIP
13 มิ.ย. 53 เวลา 13:36 4,297 2 46
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...