สำหรับท่านใดที่ริเริ่มจะปลูกมะนาว นี่อาจเป็นเทคนิคหนึ่งที่อยากให้ลองพิจารณา เพื่อเป็นแนวทางต่อไป
วิธีการทำนอกฤดู
สมมุตว่าเราต้องการให้เก็บผลมะนาวได้ในเดือนเมษายน…พอถึงเดือนพฤศจิกายน เราจะต้องทำการงดน้ำ จนดูว่าใบเริ่มม้วนทำท่าจะสลด ให้โรยปุ๋ยสูตร 12-24-12ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะบางๆ โรยรอบต้นให้ทั่ว อย่าให้ใกล้ต้นมาก และรดน้ำตามทันที จากนั้นรดน้ำทุกวันให้ชุ่ม แต่อย่าให้แฉะ ภายใน 2 สัปดาห์ มะนาวจะออกดอกสะพรั่ง ให้เปลี่ยนเป็นปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่เดือนละประมาณ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ และเมื่อเห็นว่ามะนาวติดลูกดีแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูง สูตร 13-13-21 ในอัตราเท่าเดิม เดือนละ 2 ครั้ง (ถ้าไม่มีปุ๋ยสูตรนี้ จะใส่สูตรเดิม 15-15-15ก็ได้) กระทั่งก่อนเก็บเกี่ยวเมื่อลูกมะนาวโตเต็มที่แล้วก็ให้งดปุ๋ย…ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังออกดอกก็เก็บเกี่ยวได้
เคล็ดลับ…ช่วงที่มะนาวผลิใบใหม่ๆ หลังงดน้ำ จะมีศัตรูจ้องทำลาย ทั้งหนอนชอนใบ หนอนกัดกินใบสารพัดชนิด แต่เราไม่ต้องรอให้มันมา ให้ใช้ยาฉุน(ยาเส้น) ½ จับ ใส่ลงไปในแก้วน้ำอัดลมขนาด 1 ลิตร ใส่น้ำให้เกือบเต็ม แช่ไว้ 3-4ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ ใส่ป๊อกกี้ที่ฉีดรีดผ้า ก่อนฉีดให้ผสมเหล้าขาวลงไป 1 เป๊ก เขย่าให้เข้ากันดี นำไปฉีดพ่นให้ทั่ว วันเว้นวัน จนครบ 7 วัน จึงหยุดได้
นี่เป็นวิธีบังคับมะนาวในกระถางให้ออกนอกฤดูแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับปลูกมะนาวในบ้าน แต่ถ้าเป็นการปลูกเพื่อการค้าอาจจะต้องใช้สารเคมีก็ว่ากันไป
อาจมีคำถามว่า มะนาวกระถางให้ผลผลิตได้กี่ปี…เรื่องนี้ได้รับคำตอบว่า ต้นมะนาวเริ่มโทรมเมื่อมีอายุครบ 5 ปี เนื่องจากรากเจริญเติบโตอัดแน่นในกระถาง ไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ แม้บำรุงเต็มที่แล้วก็ตาม จำเป็นต้องรื้อปลูกใหม่
จบจากพูดคุยเรื่องการปลูกมะนาวกระถางและการทำนอกฤดูแล้ว ยังได้มีโอกาสเดินสำรวจรอบบ้าน อ.ประเวศ พบว่านอกจากมะนาวที่ครองใจเจ้าของบ้านแล้ว ยังมีไม้ผลชนิดอื่นๆ เช่น หม่อนพันธ์ุเชียงใหม่ 60 ที่เพาะชำไว้นับสิบต้น ซึ่งเป็นพันธุ์แท้ที่ได้มาจากศูนย์วิจัยหม่อนไหมเชียงใหม่… และที่ชั้น 2 ของบ้าน ที่เป็นระเบียงหน้าบ้าน ยังได้พบมะนาวอีก 4-5 กระถาง กำลังให้ผลผลิตเช่นกัน และข้างๆกันนั้นยังมีต้นอินทผาลัมอีก 3 กระถาง ซึ่ง 1 ใน 3กระถาง ทำท่าว่าจะออกดอกในเร็ววัน
ก่อนอำลาเจ้าของบ้านได้ให้ข้อคิดน่าสนใจทีเดียว
“ข้อดีของการปลูกมะนาวในกระถาง คือ ไม่มีที่ก็ปลูกไว้บริโภคได้ อีกทั้งทำให้เพลิดเพลิน เป็นงานอดิเรกที่ดี ส่วนข้อด้อย ก็มีเพียงต้องให้น้ำทุกวัน”
ที่มา : feedclip.blogspot