ปลาเล็กกินปลาใหญ่ ชัยชนะของไก่รองบ่อน: ญี่ปุ่นในกำมือจีน

นับตั้งแต่ปี 2000 ชื่อของญี่ปุ่นกับผลงานทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรียกได้ว่ามี “อิมแพ็ค” ต่อกระแสการบริโภคในโลกก็แผ่วไปจากความเคยชินของผู้คน เมื่อผนวกกับเศรษฐกิจที่เดี๋ยวทรงเดี๋ยวทรุดตั้งแต่ปี 1990 จนทำให้ตลาดในประเทศที่เคยแข็งแกร่งจนไม่ต้องง้อว่าโลกจะซื้อสินค้าของญี่ปุ่นหรือไม่กลับอ่อนยวบยาบ ญี่ปุ่นก็กลายสภาพมาเป็น “คนป่วยเรื้อรัง” ไม่อาจเข็นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ดังใจ และหลังจากวิกฤติลีแมนช็อค ดูเหมือนญี่ปุ่นยิ่งทรุดหนักจนเกิดปรากฏการณ์บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ใหญ่และอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าสู่สภาวะขาดทุนติดๆกัน กลายเป็น “ความพินาศแบบโดมิโน” ที่ทำเอาภาครัฐและเอกชนกุมขมับกันยกใหญ่ ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุและไม่รู้ว่าจะฟื้นฟูตัวเองอย่างไร

ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีของประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนที่โตเอาๆจากภาวะการระเบิดของชนชั้นกลาง โหมให้กระแสการบริโภคในประเทศแข็งแกร่งขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี บวกกับการสนับสนุนสุดแรงเกิดของรัฐบาล ก็สะสมทุนรอนก้อนใหญ่มากพอจนเข้าซื้อบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นที่อยู่ในอาการร่อแร่ได้ ไม่น่าเชื่อว่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียในสมรภูมิสินค้าเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น จะถูกเบียดจนบี้จากประเทศที่เคยเป็นเพียง “ฐานการผลิต” ด้วยทักษะและราคาค่าแรงต่ำสุดใจอย่างจีน หรือนี่คือยุคสมัยแห่งการแข่งขันที่ไม่อาจคาดเดาได้อีกแล้ว และแม้แต่ชัยชนะของไก่รองบ่อนก็ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์อีกต่อไป?

คิดเองไม่ได้…ก็ใช้เงินซื้อซะ

เป็นข่าวที่บั่นทอนกำลังใจของคนญี่ปุ่นติดๆกัน เมื่อบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนอย่าง Haier เทคโอเวอร์บริษัทSanyo ของญี่ปุ่นในปี 2011 และในปีเดียวกัน Lenovo ของจีนก็ตกลงซื้อสิทธิบัตรนวัตกรรมโทรศัพท์มือถือของ NEC ทั้งหมดมาไว้ในครอบครอง นอกจากนี้เมื่อต้นปี Sharp ได้ตกเป็นของฮงไฮ่ ฟ็อกซ์คอนของไต้หวัน และ Toshiba ก็ถูกบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนอย่าง Midea Group เข้าซื้อหุ้นกว่า 80% เป็นเหตุให้นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของโตชิบาตกเป็นของจีน ด้วยเงินในมือมหาศาล กระแสการเข้าซื้อบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนหรือที่เรียกว่า “Corporate Shopping” ทำให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลกอกสั่นขวัญแขวน ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ผู้ผลิตของเกาหลีและอเมริกาก็เกิดความกังวลว่าสักวันคงต้องโดนจีนซื้อไปเช่นกัน

ว่ากันว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนออกล่าบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นก็คือ โอกาสที่จะได้เข้าถึงและครอบครองเทคโนโลยีของญี่ปุ่นซึ่งจะให้ผลประโยชน์ต่อจีนในระยะยาว อย่างกรณีของโตชิบาผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญามากที่สุดในโลก แต่ดันผิดพลาดด้านการตลาดและบริหารองค์กรภายใน จึงต้องเสียลิขสิทธิ์นวัตกรรมกว่า 5,000 รายการให้กับมิเดีย กรุ๊ปของจีน ในส่วนของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชนของจีนนั้นขาดความสามารถที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่อาศัยการผลิตซ้ำและขายในราคาถูกให้กับตลาดในประเทศจนมีทุนมากพอเข้าซื้อเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ตนขาด นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังสนับสนุนการซื้อเทคโนโลยี เพราะจะส่งผลให้จีนได้เทคโนโลยีจนสามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง พึ่งตัวเองได้และไม่ต้องนำเข้าให้เสียสตางค์ แถมยังเป็นการอัพมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของจีนไปโดยปริยาย

แน่นอนว่าคนที่เสียหายไม่ใช่ใครนอกจากญี่ปุ่น เพราะเกิดการรั่วไหลของเทคโนโลยีซึ่งไม่อาจตีเป็นมูลค่าได้ และยังเสี่ยงต่อการที่เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานฝีมือดั้งเดิมสูญหายไปจากกระแสการผลิตซ้ำเพื่อขายในราคาที่ถูกกว่าโดยจีน

พึ่งบารมีแบรนด์ญี่ปุ่น

 

ด้วยภาพลักษณ์คุณภาพต่ำ ไม่ทนทาน ดีไซน์เชยๆ และไม่มีลูกเล่นอะไรใหม่ๆ สินค้าในสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนจึงแทบไม่เป็นที่รู้จักในระดับโลก นอกจากในแง่ของราคาที่ถูกกว่าเจ้าอื่นเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว การเข้าเทคโอเวอร์และผลิตสินค้าเพื่อขายในนามบริษัทญี่ปุ่นจึงเป็นการปูทางให้สินค้าของจีนเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ด้วยการพึ่งเครือข่ายทางการค้าและชื่อเสียงที่สั่งสมของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น จากที่ครองตลาดในประเทศอย่างเดียว บารมีของญี่ปุ่นจะเสริมให้จีนได้เปิดตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นที่มีมูลค่ามหาศาล นำสินค้าเข้ามาขายในญี่ปุ่นได้มากขึ้น (นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจีนถึงพยายามซื้อกิจการค้าปลีกในญี่ปุ่นด้วย เรียกว่าเหมาหมดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ) แถมยังมุ่งหวังจะใช้ญี่ปุ่นเป็นตัวผลักสินค้าเข้ามาขายในอาเซียนอีกด้วย และหากสำเร็จ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนก็จะกลายเป็นผู้ครองตลาดอันดับ 1 ในเอเชีย

ญี่ปุ่น “ปีกหัก”

 

ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจประการหนึ่งของคนญี่ปุ่นก็คือ การเป็นประเทศเอเชียเพียงหนึ่งเดียวที่พัฒนาทัดเทียมกับตะวันตกตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลก มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นประเทศแรกในเอเชียจนเป็นรากฐานของความเจริญทางเทคโนโลยีในทุกวันนี้ บริษัทใหญ่ๆไม่ว่าโตชิบา มิตซูบิชิ หรือชาร์ปต่างก็เป็นเสาหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้เติบโตแม้ว่าจะเคยเสียหายยับเยินจากสงครามโลกก็ตาม

ในทศวรรษที่1960 ซึ่งเป็นยุคที่ญี่ปุ่นฟื้นฟูตัวเองจากสงคราม และสยายปีกอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปทั่วโลก ทฤษฎี Flying Geese Paradigm โดยนักวิชาการเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของญี่ปุ่นอย่างคานาเมะ อากะมัตสึ ซึ่งบรรยายถึงพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆในเอเชียนั้นเป็นที่นิยมมาก อากะมัตสึเปรียบการเติบโตทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของเอเชียกับลักษณะการบินของห่านป่าในสองแง่ หนึ่งคือวิวัฒนาการของอุตสาหกรรม ที่เริ่มจากการผลิตง่ายๆเช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตเสื้อผ้า และค่อยๆไต่ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อีกแง่ก็คือเปรียบญี่ปุ่นเป็น”ห่านจ่าฝูง”ของวิวัฒนาการทางอุตสาหกรรมเอเชีย ส่วนประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่นไต้หวันกับสิงคโปร์ เป็นห่านป่าที่บินอยู่แถวสอง ส่วนไทย มาเลเซีย และอาเซียนอื่นๆ บินอยู่แถวที่สาม ในขณะที่แถวถัดไปคาดคะเนไว้ว่าเป็นจีนและอินเดีย

 

ลักษณะการบินของห่านป่าที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของญี่ปุ่นใช้เพื่อจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจของเชียในชื่อ Flying Geese Paradigm หรือทฤษฎีห่านบิน

ประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมเมื่อนำมาเทียบกับ Flying Geese Paradigm โดยญี่ปุ่นเป็นผู้นำตามด้วยประเทศอื่นๆในเอเชียเป็นลำดับ แผนภูมิโดย S. Kumagai

ประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมเมื่อนำมาเทียบกับ Flying Geese Paradigm โดยญี่ปุ่นเป็นผู้นำตามด้วยประเทศอื่นๆในเอเชียเป็นลำดับ แผนภูมิโดย S. Kumagai

หากอากะมัตสึมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ เขาอาจจะแปลกใจกับการเติบโตของประเทศจีน ที่นอกจากจะผิดจากที่คาดแล้ว ยังไม่สามารถใช้ทฤษฎีนี้เพื่ออธิบายการเติบโตทางอุตสาหกรรมที่รวดเร็วจนน่าตกใจของจีนด้วย เพราะจีนนั้นจัดได้ว่า “ก้าวกระโดด” ทางเทคโนโลยี ใช้เวลาเพียงไม่ถึงสามทศวรรษก็เริ่มกระโดดจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นการผลิตอินฟราสตรัคเจอร์ขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งด้านไอที อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางอวกาศด้วย ในขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งครองตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบครึ่งศตวรรษ กลับเพิ่งมาคิดได้ว่า “เครื่องใช้ไฟฟ้า” นั้นเริ่มเป็นของตกยุคไปแล้วสำหรับญี่ปุ่น และเริ่มขยับขยายขายเทคโนโลยีอินฟราสตรัคเจอร์ในตลาดระหว่างประเทศไม่นานมานี้เมื่อเห็นจีนเร่งทำแข่งกับตน เรียกว่ากว่าจะเริ่ม “ปรับตัว” ก็เกิดความพังพินาศจนหลายคนตั้งคำถามว่า “หรือจะสายไปเสียแล้ว?”

 

หากเป็นคนโลกสวยก็จะมองว่า การ “ขาย” บริษัทที่ร่อแร่ให้กับจีนนั้นถือเป็นเรื่องที่ทำกันปกติ ไม่ใช่เพียงญี่ปุ่นแต่ในอเมริกาหรือยุโรปก็เคยเกิดขึ้น เรียกว่าเป็นการขาย “ของเล่นที่เสียแล้ว” ให้จีนไปรับช่วงต่อ และญี่ปุ่นก็ยังมี “อาวุธลับ” ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหนือกว่าจีน ตราบใดที่จีนยังไม่รู้จักพัฒนานวัตกรรมของตนเองและได้แต่ทุ่มเงินซื้อเช่นนี้ แต่หากมองโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว เมื่อพ้นจากนี้ไปสัก10ปี จีนอาจเรียนรู้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่นและนำไปต่อยอดจนเป็นของตัวเอง เมื่อนั้นญี่ปุ่นจะยังคงสถานะความเป็น “จ่าฝูง” ได้หรือไม่ หรือจะปีกหักจนถูกจีนแซงขึ้นมาเป็นจ่าฝูงของเอเชียแทน ญี่ปุ่นในวันนี้จึงมีโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องกลับไปขบคิดว่า ตนจะต้องเดินไปทางไหน และจะเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางใด เพราะการขึ้นมาเป็นที่หนึ่งนั้นไม่ยากเท่าการรักษาสถานภาพความเป็นที่หนึ่ง มูลค่าของมันอาจจะต้องแลกมาด้วยบทเรียนจากความผิดพลาดในวันนี้ก็เป็นได้

 

ที่มา bloomberg koreatimes globaltimes iam-media

Credit: http://anngle.org/th/news/chinaoverjapan.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...