ซ้าย ขุนเดช-จิระเดช ไวยโกสิทธิ์ ขวา ขุนเดช (คนที่ 2 จากซ้าย)และคณะสำรวจที่วัดสี่อิริยาบท กำแพงเพชร มีสุจิตต์ วงษ์เทศ (คนที่ 2 จากขวา) ปรากฏในภาพ คาดว่าเป็นภาพจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก “ศรีสัชนาลัย” ซึ่งเป็นแฟนเพจที่นำข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอำเภอศรีสัชนาลัยและจังหวัดสุโขทัย ทั้งในมิติของอดีตและปัจจุบัน ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเก่าของชายสูงวัยผู้หนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็น “ขุนเดช” ตัวจริง คือ นายจิระเดช ไวยโกสิทธิ์ ผู้พิทักษ์โบราณวัตถุสถานของชาติอย่างแข็งขันในยุคร่วมสมัยกับนายขรรค์ชัย บุนปาน และ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งนำเรื่องราวอันเข้มข้นเกี่ยวกับการดูแลแหล่งโบราณคดีด้วยใจรัก และต่อกรกับโจรลักลอบขุดโบราณวัตถุไปร้อยเรียงเป็นวรรณกรรมเรื่อง “ขุนเดช” ซึ่งถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เฟซบุ๊กดังกล่าวยังหยิบยกข้อเขียนจาก คุณ Noppadon Intaptim มาเผยแพร่ ข้อความมีดังนี้
คุณลุงมหาจิระเดช ไวยโกสิทธิ์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ขุนเดช” ท่านมีคุณูปการกับวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีในยุคบุกเบิกของสุโขทัย – ศรีสัชนาลัยเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่มาของวรรณกรรม ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์มาแล้วหลายครั้ง
เรื่องราวของวีรบุรุษบาปผู้พิทักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุผ่านบรรยากาศแห่งกรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัย ทุกครั้งที่มีการลักลอบโจรกรรมโบราณวัตถุ เหล่ามิจฉาชีพเหล่านั้นจะต้องเผชิญหน้ากับวีรบุรุษบาปผู้นี้ทันที ทุกรายหลายคดีไม่มีการส่งขึ้นโรงขึ้นศาลให้เปลืองเวล่ำเวลาข้าราชการ ตำรวจไทย หลายรายกลายเป็นศพให้ชาวบ้านร้านตลาดก่นด่าสาปแช่งไล่หลังให้ด้วย บทสุดท้ายในละครขุนเดชได้ชำระแค้นให้บิดาด้วยการบั่นหัวคนฆ่าพ่อของตนเพื่อบูชาพระศิลาและหนี้แค้นที่จุกอกตั้งแต่วัยเยาว์ สิ้นสุดเวรกรรมที่จองล้างกันมาแต่อดีต…
บทประพันธ์ก็คือตัวหนังสือที่เขียนขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียนจะเสกสรรค์อะไรลงไปย่อมตามใจเจ้าของปากกาด้ามนั้น แต่สิ่งนึงที่ขาดไม่ได้คือ “แรงบันดาลใจ” ขุนเดชเป็นตัวละครที่มีตัวตนจริงในสังคมไทย บุคคลคนนี้มีชื่อว่า “จิระเดช ไวยโกสิทธิ์” หรืออามหา ของนักศึกษาโบราณคดี ม.ศิลปากร บุคคลที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ถือว่าเป็นครูอีกท่านนึง ด้วยความเป็นลูกจ้างกรมศิลป์แกจึงมีความชำนาญด้านพื้นที่และการขุดแต่งโบราณสถานในสุโขทัยอย่างดีเยี่ยม จนได้รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาวิชาโบราณคดีในแต่ละปี จนเป็นแรงบันดาลใจให้สุจิตต์ วงค์เทศ นำเอาเรื่องราว บุคลิกของแกมาปั้นแต่งเป็นตัวละครให้โลดแล่นบนแวดวงวรรณกรรมและละครโทรทัศน์ อย่างน้อยๆ ก็ 2 ครั้งปาเข้าไปแล้ว
แม้นว่าทุกวันนี้จิระเดช ไวยโกสิทธิ์ หรืออามหา ได้ลาลับโลกไปนานแล้ว แต่ชื่อของ “ขุนเดช” คงเข้มขลังสะกิดเตือนความละโมบและสร้างจิตสำนึกในการสร้างความรักและหวงแหนมรดกแผ่นดินที่บรรพชนสร้างไว้ให้ลูกหลานสืบนานเท่านาน
(ซ้าย) ปกหนังสือ ขุนเดช (ขวา) โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องขุนเดช ฉายเมื่อ พ.ศ.2523 (ภาพจากมูลนิธิหนังไทย)
นอกจากนี้ ยังมีผู้นำภาพถ่ายหาชมยากของขุนเดชมาเผยแพร่ โดยเป็นภาพขุนเดชและคณะสำรวจ ยืนอยู่หน้าพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่วัดสี่อิริยาบท กำแพงเพชร โดยหนึ่งในนั้น คือนายสุจิตต์ ในวัยหนุ่ม จึงเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก
ต่อมา ยังมีการยกข้อเขียนของ นายขรรค์ชัย บุนปาน จาก ‘บังสุกุล ขุนเดช’ มาเผยแพร่อีกด้วย ข้อความตอนหนึ่งว่า
ก่อนตาย สุรพล ดำริห์กุล หัวหน้าหน่วยศิลปากรเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นน้อง บอกว่า อามหามีท่าเดินเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยปางลีลาทุกวัน ผมก็ตอบไปว่า จิตแกผูกพันอยู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กับคณะไปเยี่ยม กลับมาบอกว่า อามหาจําอะไร ไม่ได้แล้ว ผมก็รําพึงในใจว่า นี่เป็นสัญญาณของสัญญาวิปลาส ข่าวสุดท้ายของอามหาก็มาถึงคือ ความตายของอามหา
สุจิตต์โทร.มาถามว่า ยกศพให้โรงพยาบาลเลยดีไหม ผมตอบว่าดี แล้วเราค่อยทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้วันหลัง กาพย์แก้ว สุวรรณกูฏ เขียนจดหมายมาบอกอีก ย้ำว่าคุณอาช่วยทําบุญถวายสังฆทานอุทิศบุญกุศลไปให้อามหาด้วย อาจารย์ปฐม พัวพันธุ์สกุล ศิษย์เก่าศิลปากรรุ่นพี่ บอกข่าวมาทางจดหมายว่า อามหาตายแล้ว อย่าลืมทําสังฆทานไปให้แก แล้วเราก็นัดพร้อมหน้าพร้อมตากันเพื่อทําบุญอุทิศส่วนกุศลไป ให้อามหาในวันนี้แด่อามหา จิระเดช ไวยโกสิทธิ์ ณ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2528
คนคนหนึ่งได้เกิดมาแล้ว มีชีวิตที่ได้ทําประโยชน์แล้ว ชีวิตส่วนใหญ่ยังเพื่อคนอื่นตลอดมา มีความผูกพันกับอาณาจักรสุโขทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้กินดินกลางเมืองสุโขทัยแล้ว อุทิศความรู้แห่งอดีตทั้งหมด เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งอนาคตบัดนี้ สังขารอันเป็นที่ประชุมของธาตุทั้งสี่ของท่านผู้นี้ได้เลิก ประชุมแล้ว ได้คืนกลับไปสู่สภาพดั้งเดิมอันปกติแล้ว ที่ประชุมได้ว่างเปล่าแล้ว ขอท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้ ในโลกนี้ จงแจ้ง จงเห็น และพึงน้อมใจอันอ่อนน้อมนั้นอุทิศส่วนกุศลที่จะพึงมีแด่ท่านผู้นี้ แด่ทุกท่าน ที่อำลาจากโลกนี้แล้ว แด่ทุกท่านที่ธาตุอันไม่จีรังกำลังประชุมกันอยู่ ให้ประสบกับความสงบสุขชั่วนิตย์นิรันดร-เทอญ
ขรรค์ชัย บุนปาน
ขุนเดช (แถวหลังคนแรกจากขวา) มีผู้ระบุว่าได้ภาพจากนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร
หลังข้อความและภาพขุนเดชถูกเผยแพร่ ได้มีผู้กดถูกใจจำนวนมาก และแชร์ต่อมากกว่า 1,000 ครั้ง รวมถึงแสดงความคิดเห็นมากมาย ส่วนใหญ่มีความภาคภูมิใจที่ตนเกิดเป็นชาวสุโขทัย ซึ่งถือเป็นลูกหลานของขุนเดช บางรายยกบทกลอนของนายสุจิตต์ ซึ่งแต่งให้ขุนเดช มาเผยแพร่ ดังนี้
จงเป็นขุนสุโขทัยในสยาม อยู่เหนือความเชื่อโลกนรกสวรรค์
เป็นขุนเดชจิระเดชเพศสามัญ เป็นเสื้อคำสำคัญสุโขทัย
ให้ในน้ำมีปลานาเต็มเข้า เมืองบ่เอาอันระบอบจกอบไพร่
ทั้งอิฐดินหินผาพนาลัย มันผู้ใดทำลายอย่าไว้มัน ฯ
ขุนเดช กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้แต่งเรื่องสั้นชุดขุนเดช ซึ่งถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง
นอกจากนี้ บางส่วนเรียกร้องให้นำเรื่องขุนเดชมาสร้างเป็นละครอีกครั้ง รวมถึงแสดงความเห็นว่า บรรพบุรุษของไทย ได้ร่วมกันรักษา ปกป้องบ้านเมือง ขอให้ลูกหลานอย่าอ้างความรักชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องทำเพื่อส่วนรวม