กินเนื้อแปรรูปบ่อยๆ อาจเสี่ยงเป็นมะเร็ง
ช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ข่าวคราวการออกมาประกาศสงครามกับเนื้อแปรรูปขององค์การอนามัยโลก ได้กลายเป็น talk of the town ในบ้านเราไม่ใช่น้อย ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อแปรรูปกับการก่อมะเร็ง ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย นักวิชาการหรือแพทย์บ้านเราก็หยิบยกมาตักเตือนอยู่บ่อยครั้ง
เนื้อสัตว์แปรรูป คือ เนื้อสัตว์ที่ถูกนำมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ เปลี่ยนรูปร่าง ปรุงรส เติมสารให้เนื้อคงสภาพนานขึ้น สีสวยขึ้น แลดูน่ารับประทานขึ้น อย่างที่องค์การอนามัยโลกยกตัวอย่างคือ ไส้กรอก แฮม ซาลามี่ เบค่อน แต่ถ้าเขยิบใกล้เข้ามาบ้านเราหน่อย ก็จะเป็นกุนเชียง หมูยอ ไส้กรอกอีสาน แหนม ลูกชิ้น (บางยี่ห้อ)
เนื้อสัตว์แปรรูปนอกจากจะมีสารไนเตรทและไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งได้แล้ว ยังมักมีเกลือโซเดียมสูง ซึ่งการบริโภคเกลือโซเดียมที่มากเกินพอดี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไต โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
การบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง เพราะมีไขมันอิ่มตัวแทรกสูง มีเกลือโซเดียมและผงชูรสต่างๆ ส่งผลให้สมองเสพติดได้ง่าย และเผลอพลั้งรับประทานไปมากกว่าที่ควรจะเป็น
อ่านมาถึงตรงนี้.. หลายคนอาจเริ่มตั้งคำถามกึ่งเถียงกับหมอในใจว่า “แล้วจะให้ ดิฉัน/ผม/เรา/สรรพนามอื่นๆที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ...กินอะไร??? นู่นก็ห้าม นี่ก็ห้าม???”
คำตอบคือ สำหรับเนื้อสัตว์แปรรูปแบบไทยๆ นั้น หากอยากรับประทาน ปลอดภัยที่สุดคือทำเอง เช่น อยากรับประทานลูกชิ้น ก็ซื้อสันในไก่มาสับ ปรุงรส (อย่าปรุงจัดเกิน และอย่าใส่ผงชูรส) แล้วปั้นเป็นก้อน ก็ได้ลูกชิ้นไก่นุ่มๆ แบบไม่ทำร้ายสุขภาพแล้ว แต่ถ้าไม่ว่างมานั่งทำเอง ก็อาจต้องเสาะแสวงหาเจ้าที่ผ่านการตรวจสอบจาก อย. ว่าไม่ใส่สารเหล่านี้ หรือมีสารเหล่านี้ในปริมาณที่ไม่เกินกำหนดตามกฏหมาย (กุนเชียง ไส้กรอก และแหนม ใส่ไนเตรท/ไนไตรท์ได้ แต่ห้ามเกินปริมาณที่กำหนด ส่วนลูกชิ้น ปูอัด หมูยอนั้น ห้ามใส่) และรับประทานแต่พอประมาณ สลับสับเปลี่ยนประเภทอาหารหลายๆ อย่าง
หรือง่ายกว่านั้นคือ เรากลับมารับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อสัตว์จริงๆ ไม่ใช่เนื้อแปรรูป เช่น อยากรับประทานก๋วยเตี๋ยว ก็สั่งเป็นก๋วยเตี๋ยวน่องไก่ ก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีก ก๋วยเตี๋ยวเนื้อปลาสด ก๋วยเตี๋ยวเป็ด อยากรับประทานยำอะไรหนึบๆ เปรี้ยวๆ แทนที่จะสั่งยำแหนม ก็หันมาส่งยำปลาหมึก หรือยำหอยลายรสแซ่บๆ อยากรับประทานหมูยอ ก็เปลี่ยนมาใช้ไก่สับปั้นเป็นแผ่นปรุงรสเอง เป็นต้น
สมัยคุณปู่คุณย่าของเรา เนื้อแปรรูปอย่าง ไส้กรอก แฮม หรือแม้แต่ หมูยอ ไม่ใช่อาหารที่รับประทานกันดาษดื่นอย่างทุกวันนี้ อาหารส่วนใหญ่ที่บรรพบุรุษของเรารับประทาน ปรุงมาจากเนื้อสัตว์จริงๆ ผักจริงๆ ใช้เครื่องปรุงรสจริงๆ และปรุงสดๆ ไม่ได้ทำสำเร็จรูป หมอว่ามันเป็นวิถีชีวิตที่น่ารักดีนะคะ หากพวกเราจะย้อนกลับไปรับประทานเหมือนคนไทยจริงๆ ในสมัยก่อนบ้าง ในทุกๆ วันที่มีโอกาส
สุดท้ายนี้อยากจะฝากว่า หมอได้บอกกล่าวเล่าให้ฟังถึงข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับอาหารที่ควรทราบ แต่สุดท้ายแล้ว การจะกินหรือไม่ เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ไม่มีคำว่า ”ห้ามกิน” อยู่ในบทความ การเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเกิดจากหลายปัจจัย การกินอาหารเพื่อสุขภาพไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเราจะไม่ป่วย แต่เป็นเครื่องการันตีว่า เราได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ในการดูแลร่างกายของเราที่พ่อแม่บรรจงสร้างมา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา: http://www.rak-sukapap.com/2016/05/blog-post_30.html
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Twitter, Instagram: @thidakarn
ภาพและข้อมูลจาก raipoong