บริษัท Nihon Rikagaku Kogyo (日本理化学工業)
เป็นบริษัททำชอล์กเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว
ในวงการ รู้จักบริษัทนี้กันดีในฐานะบริษัทอันดับ 1
ในการผลิตแท่งชอล์กไร้ฝุ่น
สิ่งมหัศจรรย์ที่ดิฉันจะเล่าวันนี้
ไม่ใช่วิธีการทำส่วนแบ่งตลาดให้เป็นอันดับ 1 ได้อย่างไร
แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพนักงานบริษัทนี้ค่ะ
ร้อยละ 70 ของพนักงาน Nihon Rikagaku Kogyo
เป็นผู้ที่แตกต่างทางสติปัญญาค่ะ
ทำไมบริษัทถึงต้องจ้างพนักงานผู้พิเศษเหล่านี้?
คุณ Oyama Kazuhiro ผู้บริหารบริษัทฯ
มีเรื่องให้คิดหนักเมื่อตอนที่บริษัทดำเนินธุรกิจมาได้ 22 ปี
คุณครูโรงเรียนสอนผู้ทุพพลภาพในละแวกนั้น
มาติดต่อขอให้นักเรียนของเธอมาทำงานที่บริษัทหลังเรียนจบ
คุณครูอยากให้ลูกศิษย์เธอใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ
ช่วยเหลือตัวเองได้ ทำงานเองได้ ไม่ต้องมีคนคอยดูแล
ตอนแรก คุณ Oyama ปฏิเสธ เพราะกลัวเด็กๆ จะทำงานปกติไม่ได้
แต่คุณครูไม่ยอมแพ้
มาติดต่อบริษัทถึง 3 ครั้ง เพราะเธอเห็นว่า
การทำชอล์ก น่าจะมีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก
เกินความสามารถของลูกศิษย์เธอ
ในที่สุด คุณ Oyama ตัดสินใจรับเด็กมาฝึกงานก่อนแค่ 2 สัปดาห์
โรงเรียนส่งมา 2 คน เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 15 และ 17 ปี
เขาพบว่า เด็กหญิงทั้งคู่
กลับมีสมาธิจดจ่อ และตั้งอกตั้งใจทำงานมาก
…มากเสียจนพวกเธอไม่ได้ยินเสียงกริ่งพักทานข้าวเสียด้วยซ้ำ
เมื่อเด็กสองคนฝึกงานครบ
พนักงานต่างมาขอคุณ Oyama ให้รับเด็กสองคนนี้เป็นพนักงานประจำ
โดยสัญญาว่า พวกเขาจะช่วยดูแลเด็กๆ เอง
ตอนนั้น คุณ Oyama ก็รับเด็กๆ มาทำงานเพียงเพราะสงสาร
แต่หลังจากนั้นไม่นาน คุณ Oyama ไปทานเลี้ยง
และเผอิญได้นั่งที่นั่งติดกับพระรูปหนึ่ง
แกเล่าให้พระรูปนั้นฟังว่า
“ผมไม่เข้าใจ…เด็กๆ เหล่านี้เรียนจบแล้ว
ก็น่าจะไปเข้าสถานรับดูแล
พวกเขาจะได้เล่นเกม ได้เจอเพื่อนๆ คนอื่น
มันน่าจะมีความสุขกว่าการนั่งรถไฟแน่นๆ
มาทำงานแบบนี้ทุกวัน”
พระรูปนั้นจึงบอกว่า
“มนุษย์จะรู้สึกมีความสุขมากๆ เมื่อพบเหตุการณ์ต่อไปนี้
1. ได้รับความรักจากผู้อื่น
2. ได้รับคำชมจากผู้อื่น
3. รู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์แก่ผู้อื่น
4. รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้องการของผู้อื่น
และทุกสิ่งที่อาตมากล่าวมานี้
เป็นสิ่งที่เด็กๆ ได้จากการทำงานที่บริษัทคุณนะ”
คุณ Oyama ถึงเข้าใจ….
ความสุขของเด็กๆ ไม่ใช่การอยู่ดีกินดี
แต่คือการได้รับความรัก และรู้สึกว่าตนเองมีค่านั่นเอง
หลังจากนั้น คุณ Oyama ก็รับผู้ทุพพลภาพทางสติปัญญา
เข้ามาทำงานที่บริษัททุกปี
โดยปรับกระบวนการผลิตให้เรียบง่าย
เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้เข้าใจและปฏิบัติตามคำสั่งได้
เมื่อเด็กๆทำได้ เขาก็ชื่นชม
คุณ Oyama กล่าวขอบคุณพนักงานทุกคน
ทุกเย็น หลังเลิกงาน
ตั้งแต่มีพนักงานพิเศษเข้ามา
พนักงานรักใคร่ช่วยเหลือกันกว่าเดิม
ผลผลิตของบริษัทก็ดีขึ้นเรื่อยๆ
มหาลัยเข้ามาเสนอร่วมวิจัยเทคโนโลยีใหม่กับบริษัท
เพราะอยากช่วยเหลือ
ปัจจุบัน บริษัท Nihon Rikagaku Kogyo
มีพนักงานทั้งหมด 73 คน
โดยมีพนักงานที่มีภาวะทางสมองถึง 53 คน
ส่วนเด็กหญิงสองคนที่เข้ามาทำงานแต่แรก
ก็ทำงานจนพวกเธออายุ 68 ปี และ 65 ปี
หากท่านใดรู้สึกไม่มีความสุขหรือหมดกำลังใจกับการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นเพราะโครงสร้างองค์กร
รายได้ เจ้านาย หรือลูกค้าบางคน
ลองมองมุมใหม่ดูนะคะ
งานที่เราทำ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไร
เราสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นได้อย่างไร
ท่านจะเริ่มรู้สึกถึง “ความสุข" จากการทำงานค่ะ
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : Japan Gossip by เกตุวดี Gade Marumura