ใน พ.ศ.2325 ประชาชนพลเมือง อยู่ในความทุกข์ยากลำบากเหลือประมาณ เพราะว่าเกิดมีอาชีพเป็นโจทก์ฟ้องร้องต่อพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าฟ้องด้วยความจริง หรือความเท็จ คนฟ้องก็จะเป็นคนที่ทรงโปรดปราน ได้รับบำเหน็จความชอบทางราชการ จึงเป็นเหตุให้คนพาล แกล้งใส่ความฟ้องร้องผู้อื่นกันทั้งเมือง
พงศาวดารบันทึกว่า มีผู้หากินกับการเป็นโจทก์มากกว่า 300 คน ในจำนวนนี้ มีพันศรี โปรดให้เป็นขุนจิตรจูล อีกคนชื่อพันลา ได้เป็นขุนประมูลราชทรัพย์ ไอ้สองคนนี้เป็นโจทก์ฟ้องผู้คนไม่เลือกหน้า เป็นเหตุให้ราษฎรถูกเฆี่ยน และย่างไฟเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
กรมหลวงนรินทรเทวีบันทึกไว้ในจดหมาย เหตุความทรงจำว่ากรุงธนบุรี เกิดโกลี พันศรี พันลา ยื่นฟ้องว่า ขุนนางแลราษฎรขายข้าวเกลือลงสำเภา โยธาบดีผู้รับฟ้องกราบทูล รับสั่งให้เร่งเงินที่ขุนนางราษฎรขายข้าวเกลือ ให้เฆี่ยนเร่งเงินเข้าท้องพระคลัง ร้อนทุกเส้นหญ้า สัมมนาประชาราษฎร ไม่มีสุข ขุกเข็ญเป็นที่สุดในปลายแผ่นดิน
เงินในคลังหาย 2,000 เหรียญ เหรียญละ 1 บาท 3 สลึง 1 เฟื้อง แพรเหลือง 10 ม้วน รับสั่งเรียกหาไม่ได้ ชาวคลังต้องเฆี่ยนใส่ไฟอย่างแสนสาหัส ฯลฯ
ความโหดร้ายทารุณนี้ มีผลให้ชาวพระนครเดือดร้อนทั่วหน้า ที่อพยพหลบหนีไปอยู่ตามป่าตามดงก็มีมาก ผู้ที่มีใจกล้าก็เริ่มคิดรวบรวมสมัครพรรคพวก ตั้งตนเป็นใหญ่
ส่วนในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียกกันว่ากรุงเก่า ประชาราษฎรก็ถูกกดขี่ข่มเหง สมัยพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น ชาวบ้านได้ฝังทรัพย์ซ่อนไว้ในดิน ก่อนหลบหนีออกจากเมือง เมื่อสงครามเสร็จสิ้น ใครรอดชีวิตมาได้ก็กลับมาขุด ส่วนคนที่ตายหรือสูญหายไปก็มีเป็นจำนวนมากมาย จึงมีขุนนางชื่อพระยาวิชิตณรงค์ ประมูลขอกรรมสิทธิ์เป็นผู้มีอำนาจขุดทรัพย์สมบัติที่ไม่มีเจ้าของ และรับส่งเงินหลวงปีละ 500 ชั่ง
พระยาวิชิตณรงค์คงมีความโลภ หรือไม่สามารถขุดหาทรัพย์สมบัติได้เพียงพอ จึงส่งลูกน้องเที่ยวกดขี่ข่มเหงชาวบ้าน บังคับให้ยกทรัพย์สินเงินทองแก่ท่าน ชาวกรุงศรีอยุธยาจึงก่อจลาจลรวมพวกเข้าปล้นผู้รักษากรุง เป็นเหตุให้พระยาวิชิตณรงค์ และบุตรชายถูกฆ่าตาย ถูกเผาไปพร้อมกับบ้าน โดยหัวหน้าผู้ก่อการครั้งนี้ชื่อขุนแก้ว เป็นน้องชายพระยาสรรค์
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สั่งให้พระยาสรรค์นำทหารไปปราบจลาจล แต่กลับพลาดถูกนายแก้วน้องชายจับตัวเอาไว้ แต่สองพี่น้องกลับคบคิดกันว่า ขณะนี้แผ่นดินวิปริตสมควรที่จะปลดองค์พระมหากษัตริย์ออกจากราชบัลลังก์
วันเสาร์ เดือน 4 แรม 11 ค่ำ พ.ศ.2325 เวลา 4 ทุ่ม พระยาสรรค์กับนายแก้วก็ยกพวกมาล้อมกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตื่นบรรทมขึ้น
ทรงคว้าดาบเสด็จออกบัญชาการป้องกันพระราชวัง แต่เวลานั้นมีผู้จงรักภักดีเหลืออยู่น้อยเต็มที เหลือแต่ทหารฝรั่ง และทหารไทยกองราชองครักษ์ที่นับถือศาสนาคริสเตียน ถึงกับเสด็จไปที่คุกปล่อยนักโทษออกมาสู้ข้าศึกรบเพียงคืนเดียว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ ทรงเห็นว่าไม่มีทางสู้ จึงทรงยอมแพ้ พระยาสรรค์ผู้ชนะก็มิได้ทำอันตราย กราบทูลให้ไปบวชเป็นพระภิกษุชำระพระเคราะห์ 3 เดือน
กรุงธนบุรีเวลานั้น มีผู้มีอำนาจเหลืออยู่ไม่กี่คน กรมขุนอนุรักษ์สงคราม หลานพระเจ้าตาก ก็ถูกพระยาสรรค์จับเข้าตะราง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และน้องชาย เจ้าพระยาสุรสีห์ ก็ติดสงครามอยู่ในเมืองเขมร มีแต่พระยาสุริยอภัย หลานชายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเหลืออยู่
พระยาสรรค์ปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ออกจากตะราง รวบรวมกำลังกันวางแผนโจมตีพระยาสุริยอภัย แล้วไปกราบทูลขอให้พระเจ้ากรุงธนฯ สึกออกมานำทัพ แต่พระเจ้ากรุงธนฯไม่ร่วมพวกด้วย ตรัสว่า " สิ้นบุญเราแล้ว อย่าทำเลย "
พระยาสุริยอภัยรวมพวกต่อสู้เข้มแข็ง ยันพระยาสรรค์ไว้ได้ แต่เมื่อเจ้าสิริรจนา ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาสุรสีห์นำกองทัพทหารมอญมาสมทบ ก็สามารถรบชนะฝ่ายพระยาสรรค์ จับกรมขุนอนุรักษ์สงครามไว้สอบสวนได้ความว่าต้นคิดวางแผนโจมตีคือพระยาสรรค์
แต่พระยาสรรค์แสร้งทำเป็นไม่รู้ตัว เดินไปไหนมาไหนทั่วไปในพระราชวัง บอกใครต่อใครว่า ที่ทำกบฏครั้งนี้ มิใช่หวังอำนาจให้ตัวเองหรือเพื่อเชื้อพระวงศ์พระเจ้ากรุงธนฯ แต่กบฏเพื่อรักษาราชบัลลังก์ไว้ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
หลังสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ถวัลย์ราช ปราบดาภิเษกก็ยังมิได้ลงโทษพระยาสรรค์ทันที ทรงโปรดให้พิจารณาไต่สวนจนถ่องแท้ว่า เป็นคนไม่ตั้งอยู่ในสุจริตจริง จึงได้ประหาร ส่วนบุตรหลานทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงไว้ให้รับราชการต่อสืบไป
ภาพ : พระเจ้าตากทรงผนวช
ที่มา // อ้างอิง : บทบาทพระยาสรรค์ เมื่อตอนเปลี่ยนแผ่นดิน นพ.วิบูล วิจิตรวรการ เขียนไว้ในหนังสือแผ่นดินพระเจ้าตาก