สำหรับยุคสมัยนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องการดูแลหน้าตาผิวพรรณนั้นค่อนข้างเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและหันมาดูแลกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด ก็ตาม ปัจจุบัน จึงมีการโฆษณาครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มต่าง ๆ จำนวนนับไม่ถ้วน ที่ชูสรรพคุณการช่วยสร้างความสวยใสอ่อนเยาว์ หนึ่งในนั้นคืออาหารเสริมที่มีสารที่ชื่อว่า “คอลลาเจน (collagen)” รวมอยู่ด้วย คุ้นๆ ใช่ไหมคะ? ก่อนที่คุณจะจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เรามาทำความรู้จักกับเจ้า “คอลลาเจน” กันก่อนดีกว่า
คอลลาเจน เป็นโปรตีนในผิวหนังที่ร่างกายสร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยพยุงและเป็นส่วนประกอบหลักของเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของส่วนประกอบของโปรตีนทั้งหมดในร่างกายคนเรานั้นคือคอลลาเจน ซึ่งพบใน กระดูก กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆ โดยในผิวของคนเรานั้น มีคอลลาเจน เคราติน และอิลาสติน ที่ช่วยให้ผิวมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการสร้างคอลลาเจนจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
ผู้หญิงจะมีอัตราการผลิตคอลลาเจนที่น้อยกว่าผู้ชาย โดยผิวจะสูญเสียคอลลาเจนโดยเฉลี่ย ปีละ 1% นั่นหมายความว่า ในอายุ 50 ปี ผู้หญิงจะเสียคอลลาเจนไปเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว สาเหตุการลดลงนั้นมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น แสงแดด สารอาหาร การที่ผิวถูกทำลาย สารพิษหรือมลพิษการสูบบุหรี่ เมื่อคอลลาเจนลดลง ผิวหนังจะเกิดการสูญเสียความยืดหยุ่น ความกระชับเรียบเนียน จะเกิดริ้วรอยและความหย่อนคล้อยได้ง่าย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อกระดูกด้วย ดังจะเห็นจากโครงสร้างของกะโหลก ของคนที่อายุต่างกันคือวัยหนุ่มสาว(ซ้าย) และวัยแก่ชรา(ขวา)
อาหารเสริมคอลลาเจนมักมีการกล่าวถึงสรรพคุณมากมาย ดังนี้ ลดเลือนริ้วรอย ลดอายุผิว ทำให้ผิวตึงกระชับ เต่งตึง และ ยืดหยุ่น แต่ในความเป็นจริงนั้น ยังไม่มีหลักฐานหรือผลการวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่า อาหารเสริมหรือเครื่องดื่มเหล่านั้นสามารถแสดงสรรพคุณได้จริง คอลลาเจน เป็นเพียงโปรตีนชนิดหนึ่งที่เมื่อถูกย่อยด้วยระบบการย่อยอาหารก็จะกลายเป็นกรดอะมิโนเพื่อรอเซลล์นำไปใช้ แต่เมื่อมีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และอาหารเสริมคอลลาเจนหลายรายมากขึ้นอย่างฉับพลัน จึงเป็นเรื่องง่ายที่ผู้บริโภคจะหลงเชื่อโดยไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่พิสูจน์ได้ว่า อาหารเสริมคอลลาเจนเหล่านั้นมีผลต่อสุขภาพผิวและรูปลักษณ์ภายนอก ไม่มีการยืนยันว่าการดื่มเครื่องดื่มคอลลาเจนจะทำให้มีผลดีต่อผิวกว่าการบริโภคแหล่งโปรตีนเช่น เนื้อสัตว์ ชีส ไข่ หรือถั่ว
สำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ผสมคอลลาเจน ซึงโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูป โลชั่น ครีม หรือเจล ขนาดโมเลกุลก็ใหญ่เกินกว่าที่จะซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ จึงทำได้เพียงแค่เคลือบอยู่บนผิวเท่านั้น ถึงแม้จะมีผู้ผลิตบางยี่ห้อที่พยายามผลิตคอลลาเจนจนได้อนุภาคขนาดไมโครเมตรเพื่อให้เล็กพอที่จะซึมซาบลงสู่ผิวได้ แต่เซลล์ผิวหนังก็ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์จากอนุภาคของคอลลาเจนขนาดไมโครนี้ได้อยู่ดี นอกจากนี้คอลลาเจนยังต้องถูกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจัดการในฐานะผู้บุกรุกอีกด้วย ซึ่งอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบของอาการแพ้หรือถูกเม็ดเลือดขาวทำลายก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป
ถึงแม้ว่าการบริโภคหรือการบำรุงผิวด้วยคอลลาเจนอาจจะไม่ช่วย ชะลอ หรือ ลดริ้วรอยแต่คุณเองก็สามารถช่วยยับยั้งการลดลงของคอลลาเจนในผิวของคุณได้ สิ่งแรกที่คุณควรทำคือการปกป้องผิวจากแสงแดด เพราะมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการปกป้องผิวจากแสงแดดช่วยชะลอการเหี่ยวย่นของผิวได้ การสูบบุหรี่ก็เช่นเดียวกัน จากการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่สามารถทำลายคอลลาเจน และยังมีผลการศึกษาว่าการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอนั้นมีผลเสียต่อสุขภาพผิวอีกด้วย
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักและผลไม้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างคอลลาเจน ผักผลไม้สีสดใสเช่นมะเขือเทศ เกรปฟรุ๊ต และแตงโม ซึ่งประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดี “ไลโคปีน (lycopene)” ที่ชะลอการสลายตัวของคอลลาเจน ผลไม้จำพวก ส้ม สตรอเบอรรี่ และ พริก มีวิตามินซีในปริมาณสูง ที่ช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี บล็อกเคอลี่ และผักใบเขียวเป็นแหล่งของ “กลูโคไซโนเลต (glucosinolates)” หนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกัน อีกหนึ่งอาหารผิวที่สำคัญคือ โอเมกา 3 ซึ่งเป็นที่รู้กันในชื่อ กรดไอโคซาเพนทาอีโนอิก (Eicosapentaenoic Acid : EPA) สารที่สามารถต้านอนุมูลอิสระพร้อมทั้งช่วยป้องกันการติดเชื้อ เพื่อปกป้องและรักษาผิวหนัง โอเมกา 3 ถูกพบในน้ำมันปลา และ สาหร่ายสไปรูลิน่า นอกจากนี้คุณควรหลีกเลี่ยง อาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล ซึ่งเป็นการช่วยลดการติดเชื้อที่ไปรบกวนกระบวนการผลิตคอลลาเจนตามธรรมชาติได้
ที่มา:http://www.vcharkarn.com/varticle/19560
อ้างอิงจากเว็บไซต์ ณ วันที่ 30/8/57 http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000035342
http://cosmedmd.blogspot.com/2012/09/collagen-supplements-do-they-really-work.html
http://www.livestrong.com/article/325664-side-effects-of-taking-collagen-supplements/ รูปภาพจาก
http://cosmedmd.blogspot.com/2012/09/collagen-supplements-do-they-really-work.html http://joellady.com/
http://www.eternogen.com/media/collagen-diagram.jpg