สิงโตอินเดีย หรือ สิงโตเอเชีย หรือ สิงโตเปอร์เซีย เป็นพันธุ์ย่อยของสิงโต (Panthera leo) ที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera leo persica มีรูปร่างทั่วไปคล้ายสิงโตที่พบในทวีปแอฟริกา แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยตัวผู้เมื่อโตเต็มมีน้ำหนักประมาณ 160-190 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 110-120 กิโลกรัม ความยาวหัวถึงหางของตัวผู้ 2.92 เมตร ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของสิงโตอินเดีย คือ มีแผงคอทั้งตัวผู้และตัวเมีย และแผงคอของตัวผู้ไม่หนาและใหญ่เหมือนสิงโตในทวีปแอฟริกา มองเห็นใบหูเห็นชัดเจน ดังนั้นตัวผู้และตัวเมียจึงมีรูปลักษณ์ที่คล้ายกันมาก นอกจากนี้แล้วยังมีหนังทอดยาวตลอดใต้ลำตัวซึ่งไม่พบในสิงโตในทวีปแอฟริกา
ในอดีต มีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง, เปอร์เซีย, อิรัก, อิหร่าน, ซีเรีย, อัฟกานิสถาน, ปากีสถานไปจนถึงมาซิโดเนียในกรีซด้วย แต่ปัจจุบันพบเหลือเพียงแห่งเดียวในธรรมชาติ คือ ป่าอนุรักษ์ทางตอนเหนือของอินเดียเท่านั้น (อุทยานแห่งชาติป่ากีร์) และก็มีเหลือจำนวนน้อยมาก ประมาณ 290-350 ตัวเท่านั้น
พฤติกรรมการรวมฝูงของสิงโตอินเดีย แตกต่างไปจากสิงโตในทวีปแอฟริกา กล่าวคือ มีขนาดฝูงที่เล็กกว่า โดยมีจำนวนอย่างมากที่สุดเพียง 5 ตัวเท่านั้น และอาจมีตัวเมียเพียง 2 ตัว และอาจมีตัวผู้เป็นจ่าฝูง 2 ตัวก็เป็นได้ โดยเป็นลักษณะร่วมปกครอง ขณะที่ตัวผู้จะเข้าร่วมฝูงก็ต่อเนื่องจะล่าเหยื่อหรือในการผสมพันธุ์เท่านั้น
ในวัฒนธรรมของอินเดีย มีสิงโตอยู่มากมาย เช่น หัวเสาหินสลักในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่เป็นรูปสิงโตอินเดีย รวมถึงปรัมปราในศาสนาฮินดูที่เป็นศาสนาพื้นเมืองของอินเดีย ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิงโตอยู่มาก
หรือแม้กระทั่งในประวัติศาสตร์ยุโรปเอง ก็มีภาพโมเสกของอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงร่วมล่าสิงโตกับพระสหาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นแม่ทัพชื่อ เฮฟฟาฮิสเตียน เชื่อว่าสิงโตชนิดนั้นก็คือ สิงโตอินเดีย นั่นเอง
ทางวัฒนธรรมจีน มีการละเล่นเชิดสิงโต ซึ่งในประเทศจีนเองไม่มีสิงโตเป็นสัตว์พื้นเมือง เชื่อว่าเป็นการรับมาจากเปอร์เซีย
สิงโตอินเดียตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4 ปี ซึ่งมากกว่าสิงโตในทวีปแอฟริกา และจะออกลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน และมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 16-18 ปี ในตัวผู้ และตัวเมีย 17-18 ปี พบมากที่สุดคือ 21 ปี ถือว่ามากกว่าสิงโตทวีปแอฟริกา