ที่มารูปปั้นเด็กเดินเเบกฝืน ชาวนาผู้สอนผู้บริหารญี่ปุ่น

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ผู้บริหารญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมากๆ
อาทิ Inamori Kazuo (ประธาน Kyocera)
และ Idemitsu Sazo (ประธานบ.น้ำมัน Idemitsu)
ล้วนกล่าวถึงคุณธรรม
และความสำคัญของการเห็นประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน

ทุกท่านกล่าวว่า ตนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก
Ninomiya Sontoku (二宮尊徳)

 

 


ชาวนาคนหนึ่งที่เกิดในศตวรรษที่ 18
เขาเป็นผู้ "สอน" วิถีแห่งความเป็นผู้นำและจิตวิญญาณเสียสละ
ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ ....
ได้อย่างไร?
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
"ที่มาของรูปปั้นเด็กแบกฟืน"

 



ใครเคยอ่านการ์ตูนหรือเคยไปโรงเรียนประถมญี่ปุ่น
อาจพอคุ้นภาพเด็กชายแบกฟืนที่กำลังเดินอ่านหนังสือนี้อยู่บ้าง

นี่แหละค่ะ สุดยอดชาวนาที่ดิฉันจะเล่าให้ฟังวันนี้

Ninomiya เกิดในตระกูลชาวนาที่ยากจน
พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุไม่ถึง 17 ปี
จนต้องระเห็จไปอาศัยอยู่กับลุง

เพื่อไม่ให้ลุงมองว่าเขาเป็นภาระ
Ninomiya พยายามช่วยเหลืองานทุกอย่างที่เขาทำได้

ความฝันของเขา คือ การอ่านเขียนออก
ตอนกลางวัน เขาต้องช่วยงานลุง
เขาจึงพยายามใช้เวลาช่วงกลางคืนในการอ่านหนังสือ

เมื่อลุงพบเข้า แกโกรธมาก
"แกนั่งอ่านหนังสือตอนกลางคืน ก็เปลืองน้ำมันในตะเกียงฉันหมดน่ะสิ"

Ninomiya บอกตัวเองว่า เขาจะหยุดอ่านหนังสือ...
จนกว่าจะหาน้ำมันมาใช้อ่านหนังสือได้ด้วยตัวของเขาเอง

Ninomiya ตัดสินใจปลูกพืชตรงที่ดินผืนเล็กๆ ริมแม่น้ำ
ไม่กี่เดือนถัดมา เขาเก็บเมล็ดพืชที่ได้ไปแลกกับน้ำมันตะเกียง
เขาอ่านหนังสือตอนกลางคืนได้โดยไม่ต้องรบกวนน้ำมันของลุงแล้ว

ทว่า ... ลุงก็โกรธอีก
การอ่านหนังสือไม่เห็นสร้างประโยชน์อะไรกับการงาน
เวลาของหลาน ก็คือ เวลาของลุง
ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด

จากนั้นเป็นต้นมา ตอนกลางคืน
เขาก็จะนั่งทำรองเท้าฟาง และเสื่อให้กับลุง

Ninomiya จึงเปลี่ยนมาอ่านหนังสือ
ตอนที่เดินไป-กลับที่พักกับแปลงนาแทน

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
"จุดกำเนิดชาวนานักพัฒนา"

จากประสบการณ์ในการปลูกพืชเพื่อน้ำมันในครั้งนั้น
ทำให้ Ninomiya ได้เรียนรู้ว่า
"หว่านพืชอย่างไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น"
หากเราพากเพียรทำงาน ธรรมชาติก็ย่อมให้ผลตอบแทนที่ดีกับเรา

ในหมู่บ้าน มีแอ่งน้ำร้างแห่งหนึ่งที่โดนน้ำท่วม
Ninomiya ไปพบเข้า และพัฒนาพื้นที่จนกลับมาปลูกพืขได้
เขากลับไปบ้านพ่อแม่ที่ถูกทิ้งไว้
และพัฒนาที่ดินรกร้างให้กลับมาเขียวชอุ่มได้เช่นกัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
"วิถีแห่งผู้นำที่แท้จริง"

เรื่องที่ Ninomiya พัฒนาที่ดินดังไปถึงหูเจ้าเมือง
ซึ่งกำลังกลุ้มใจเรื่องหมู่บ้านบางแห่งที่ยากจน
และไม่สามารถส่งภาษีข้าวได้มากเหมือนแต่ก่อน

หมู่บ้านเหล่านี้ เคยอุดมสมบูรณ์ ประชากรอยู่เยอะ
แต่เมื่อคนใช้พื้นที่ปลูกพืชผักเยอะ
ดินเริ่มเสีย คนก็เริ่มย้ายออกไป ปล่อยให้ที่ดินรกร้าง
คนที่เหลืออยู่ในหมู่บ้านก็เป็นคนที่ขี้เกียจทำไร่ทำนา

ท่านเจ้าเมืองจึงขอให้ Ninomiya ไปช่วยพัฒนา

เมื่อไปถึงหมู่บ้าน Ninomiya สังเกตชีวิตความเป็นอยู่
เดินเข้าไปคุยกับชาวบ้านแต่ละบ้าน

เขาส่งจดหมายไปรายงานท่านเจ้าเมืองว่า
"การส่งเงินช่วยเหลือ หรือการละเว้นภาษี
ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนนี้ได้
สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของความอุตสาหะ
และรู้จักช่วยตัวเอง"

Ninomiya มองว่า ทุกคนต้องใช้แรง ใช้พลังของตัวเอง
ในการดิ้นรนเพื่อหลุดจากบ่วงความจนนั้นได้

ในตอนแรก ชาวบ้าน (ผู้ขี้เกียจ) ต่อต้าน
ไม่ยอมรับการเกษตรวิธีใหม่

แต่ Ninomiya ก็ไม่ย่อท้อ

Ninomiya ตื่นมาทำงานก่อนใครและกลับดึกที่สุด
เขานอนเพียงวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น
เขาเริ่มทำงานกับชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ก่อน
หลังจากนั้น เมื่อมีผู้เห็นความมานะบากบั่นของเขา
และการมุ่งมั่นปฏิรูปหมู่บ้านอย่างแท้จริง
ชาวบ้านก็หันมาหยิบจอบปลูกพืชผักทำนาตาม

เขาสอนให้ชาวบ้านอดทน อุตสาหะในการทำงาน
เขาสอนให้ชาวบ้านเข้าใจถึงการช่วยเหลือตัวเอง
โดยค่อยๆ ทำให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่าง ทั้งวิธีปลูกพืช และวิธี "ขยัน"
สุดท้าย ความขยันและร่วมมือร่วมใจของทุกคนก็นำไปสู่
ทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
โรงเรียนในญี่ปุ่นตั้งรูปปั้น Ninomiya ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์...

 

 



Ninomiya ได้สอนเด็กๆ ทั่วประเทศว่า
ไม่ว่าเจออุปสรรคแค่ไหน
หากพยายามขวนขวายเล่าเรียน
ความรู้นั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนจริงๆ

Ninomiya ได้สอนผู้บริหารญี่ปุนว่า ...

ผู้นำ...ไม่ใช่คนที่เอาแต่นั่งสบายเสวยสุข
หรือเบียดบังน้ำพักน้ำแรงคนอื่น

ผู้นำที่แท้จริงต้องกระโดดลงสนามก่อนใคร
ต้องทำงานหนักกว่าใคร
และต้องมุ่งมั่นทำเพื่อคนอื่น มิใช่เพื่อตัวเอง

 

ในยุคที่ระบบศักดินายังศักดิ์สิทธิ์มาก
การที่ Ninomiya ซึ่งเป็นเพียงชาวนา
แต่กลับได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเมืองผู้มีศักดินาสูงส่งนั้น
ย่อมแสดงถึงความสามารถของ Ninomiya ได้เป็นอย่างดี

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++

ขออนุญาตเล่าต่อนะคะ


"่เงินสกปรก อยู่กับเราไม่นาน"

สิ่งที่น่าแปลก คือ ยิ่ง Ninomiya ใช้ความรู้ความสามารถ
ช่วยเหลือหมู่บ้านต่างๆ เท่าไร
เจ้าเมืองก็ยิ่งไว้ใจ และให้ผลตอบแทนเขามากขึ้นเท่านั้น
โดยที่เขาไม่เคยคาดหวังมาก่อน

วันหนึ่ง มีพ่อค้าข้าวผู้ประสบเหตุเภทภัยทางครอบครัว
และกำลังจะล้มละลายมาขอให้ Ninomiya ช่วย

Ninomiya ทราบว่า พ่อค้าคนนี้ ในอดีตเคยร่ำรวยมาก
แต่ความร่ำรรวยนั้น มาจากการกักตุนและขายข้าวในราคาสูง
ช่วงที่คนกำลังยากลำบากและขาดแคลน

Ninomiya จึงกล่าวแก่พ่อค้าทีใกล้ล้มละลายคนนั้นว่า ...
"วิธีแก้ คือ ขายทรัพย์สินที่มีให้หมด และจงเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่"

การที่พ่อค้าสูญเสียเงินทองไปเยอะ
เป็นเพราะเงินทองเหล่านั้นไม่ใช่ของพ่อค้า
ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ตอนนี้ เป็นของสกปรก จึงควรขายไปเสีย

รายได้ที่มาจากเรื่องมิชอบธรรม ไม่ใช่ของเราที่แท้จริง
(และอยู่กับเราได้ไม่นาน)

รายได้ที่ได้มาอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ไม่ขัดกับหลักคุณธรรมเท่านั้นถึงจะเป็นของเรา

พ่อค้าขี้โกง ตัดสินใจแจกจ่ายทรัพย์สินทั้งหมดให้ชาวบ้าน
และเริ่มประกอบอาชีพถ่อเรือส่งสินค้า "อย่างสุจริต" อีกครั้ง

เขาได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญในการสร้างรายได้แล้ว
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
"หน้าที่ข้าราชการ"

ในปี 1836 เกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่หลวงทั่วญี่ปุ่น
เจ้าเมืองจึงรีบส่ง Ninomiya ไปยังเมือง Odawara
เพื่อให้เขานำข้าวในคลังเสบียงไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านผู้หิวโหย

เมื่อไปถึง ข้าราชการประจำเมืองปฏิเสธการเปิดคลังโดยอ้างว่า
"ไม่มีหนังสือแจ้งจากท่านเจ้าเมือง"

Ninomiya ตอบว่า
"ไม่เป็นไร ระหว่างรอทางเราทำหนังสือไปยังท่านเจ้าเมือง
เพื่อขอเอกสารนั้น
พวกท่าน...ในฐานะ "ข้าราชการ" ....ผู้รับใช้แผ่นดิน ผู้รับใช้ประชาชน
ก็ควรจะอดอาหารตามเช่นกัน"

ขุนนางต่างพากันอึ้ง...
ท่านพูดว่าอะไรนะ?

Ninomiya กล่าวต่อว่า

"ขณะที่ประชาชนกำลังทุกข์ยาก หิวโหย
ท่าน...ผู้กำลังรับใช้ "ประชาชน" จะอยู่ดีกินดีได้อย่างไร
มา...มาอดอาหารไปพร้อมกับประชาชน"

เมื่อข้าราชการประจำเมืองได้ยินดังนั้น
ก็รีบเปิดคลังเสบียงแจกจ่ายให้ประชาชนทันที
+++

Ninomiya สอนข้าราชการเหล่านั้นต่อ ...

"เมื่อเกิดภาวะอดอยาก คลังของเราว่างเปล่า ประชาชนไม่มีอะไรกิน
เราจะโทษใครถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง

ความอดอยากนั้น เกิดจากความฟุ่มเฟือยในยุคที่อุดมสมบูรณ์
ตอนที่มีข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ พวกท่านใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย
ไม่คิดจะเก็บออม
ไฉนตอนเกิดเภทภัย เรากลับนิ่งเฉยเสียเล่า

หน้าที่ของพวกเรา คือ ดูแลประชาชน
ปกป้องพวกเขาจากเรื่องชั่วร้าย
และดูแลให้พวกเขามีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข

แต่ดูพวกท่านตอนนี้...คนอดอยากล้มตายอยู่ตรงหน้า
ท่านยังเมินเฉยได้
พวกท่านก็สมควรตายเช่นเดียวกัน
(ไม่ใช่ท่านโกรธ แต่พูดด้วยความหมายว่า
หากประชาชนตาย ผู้รับใช้ประชาชนอย่างข้าราชการ ก็ควรตายด้วย)"

+++++++++++++++++++++++++++++
หลังจากสั่งสอนอบรมเหล่าขุนนาง
Ninomiya แก้ปัญหาความอดอยากในเมือง Odawara
โดยแบ่งคนเป็น 3 ประเภท

1. ผู้ที่ไม่ลำบาก (มีเงิน มีอาหารกิน)
2. ผู้ที่ลำบากน้อย (พอมีเงินและอาหารอยู่บ้าง)
3. ผู้ที่ลำบาก (ไม่มีเงิน ไม่มีอาหารกิน)

เขาแบ่งข้าวให้คนกลุ่มที่ 3 (ผู้ลำบาก) วันละ 1 กระป๋อง
พร้อมทั้งบอกผู้คนว่าอย่าหมดหวัง ให้อดทนและสู้ชีวิตต่อไป

จากนั้น เขาขอให้คนกลุ่มที่ 1&2 (คนทีไม่ลำบาก)
ให้คนกลุ่มที่ 3 ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย

(เกตุวดี: โปรดสังเกตว่า เขาไม่ได้ขอให้ให้เปล่า
แต่ให้ยืมเงิน เพื่อให้คนรู้จักสร้างเนื้อสร้างตัวเอง)

ในตอนแรก กลุ่มผู้ที่มีทรัพย์ก็อิดออด
เพราะกลัวว่า จะไม่ได้เงินคืน กลัวตนเองไม่มีเงินใช้

Ninomiya จึงกล่าวว่า
"ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พวกเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
ดื่มน้ำบ่อเดียวกัน อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน
เราเข้าใจว่า พวกท่านคงโกรธว่า
ในกลุ่มคนที่ลำบาก มีพวกคนขี้เกียจอยู่ด้วย
แต่การบริจาคข้าวให้พวกเขาอยู่รอดต่อไปได้
ก็เป็นการแสดงความเมตตา คือความรักที่มนุษย์ควรมีให้แก่กัน"

หลังจากนั้น
คนในหมู่บ้านก็ร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันมากขึ้น
ภัยพิบัติก็ค่อยๆ ซาลง
และไม่มีผู้ใดตายจากความอดอยากอีก
+++++++++++++++++++++++++++++
จริงๆ แล้ว Ninomiya ปฏิรูประบบต่างๆ ไว้มาก
เช่น วางระบบกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ให้สิทธิ์คนโหวตเลือกผู้นำ (ประชาธิปไตย)
วางมาตรฐานที่ตวงข้าวเพื่อกันเจ้าหน้าที่ทุจริต
ฯลฯ

แต่ดิฉัน เลือกหยิบเรื่องพ่อค้า ข้าราชการ และคนในหมู่บ้านมาเล่าให้ฟัง
เนื่องจากทั้ง 3 เรื่องสะท้อนสิ่งที่ Ninomiya จะสอน

นั่นคือ ....

"การประพฤติหน้าที่อย่างมีคุณธรรม
และกระทำสิ่งต่างๆ โดยนึกถึงผลประโยชน์ของ
ผู้อื่นก่อนตนเอง"

พ่อค้า ควรจะขายข้าวในราคาปกติช่วงที่คนกำลังขาดแคลน
...หากเขานึกถึงความลำบากของลูกค้า

ข้าราชการ ควรรีบจัดจ่ายเสบียงในคงคลังและรีบแก้ไขปัญหา
...หากเขาเห็นความทุกข์ยากของประชาชน

ชาวบ้าน ควรหาทางช่วยกันและกัน ไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตกยาก
... หากเขาเห็นใจคนในหมู่บ้านเดียวกัน

 

Credit: https://www.facebook.com/japangossip/timeline
31 มี.ค. 59 เวลา 18:38 2,409
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...