'ชาร์ลส์ โจว' จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสภาคองเกรส เป็นสมาชิกสภาฯเชื้อสายไทยคนแรก แม้มีเลือดแม่ชาวกรุงเทพฯเพียงครึ่ง แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน...
การลาออกจากตำแหน่งของ "นีล อาเบอร์ครอมบีย์" เพื่อพุ่งเป้าหาเสียงลงชิงชัยผู้ว่าการรัฐฮาวาย ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งครั้งพิเศษ เพื่อเฟ้นหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่มาดำรงตำแหน่งแทน และ นี่คือจุดเริ่มต้นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ของพี่น้องชาวไทย เพราะ "ชาร์ลส์ โจว" วัย 40 ปี ได้รับเลือกให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกครองสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐอเมริกา นับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสภาคองเกรส ที่มีสมาชิกสภาฯเชื้อสายไทยคนแรก
ชาร์ลส์ โจว (Charles Djou) หรือ ชาร์ลส กอง โจว (Charles Kong Djou) เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2513 ที่นครลอส แอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ย้ายไปอยู่ และเติบโตที่รัฐฮาวาย ชื่อเสียงเรียงนามอาจดูขัดๆตา เนื่องจากบิดาเป็นชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ แห่งจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนมารดาเป็นชาวไทย อาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้นามสกุล 'โจว' ของเขาเป็นที่ถามถึงกันมาก เพราะการเขียนนั้นเป็นแบบภาษาฝรั่งเศส จึงเป็นที่ตั้งข้อสงสัยให้กับหลาย ๆ คน แต่จากการสืบสาวราวเรื่องแล้ว ทราบมาว่า เมื่อปี 2463 คุณปู่ของนายโจว ทำงานให้กับวิศวกรชาวฝรั่งเศส จึงตั้งนามสกุลภาษาฝรั่งเศสให้กับคุณปู่ของนายโจวว่า ดิชู (Dijou) เชื่อว่าการออกเสียงน่าจะใกล้เคียงกับ โจว (Zhou) มากที่สุดสำหรับชาวเมืองน้ำหอมในขณะนั้น แต่เมื่อปี 2491 ระหว่างการปฏิวัติระบอบคอมมิวนิสต์ในจีน คุณปู่ของนายโจว จึงอพยพไปอยู่ประเทศอังกฤษ แต่กรอกนามสกุลในเอกสารตรวจคนเข้าเมืองเพียง Djou (ไม่ทราบแน่ชัดว่าสะกดผิดหรือตั้งใจ) ท้ายที่สุดตระกูลนี้จึงใช้นามสกุล Djou นับแต่นั้นเป็นต้นมา กระทั่งย้ายมาอยู่สหรัฐฯ ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพลับริกันเชื้อสายไทย-จีน คนนี้มีนามสกุลเป็นภาษาฝรั่งเศสนั่นเอง
ชาร์ลส์ โจว จบการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย ยูเอสซี ลอว์ ในลอส แอนเจลิส ระดับปริญญาตรี ด้านรัฐศาสตร์ และ การคลัง จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากสถาบันวาร์ตัน ด้าน หน้าที่การงาน ร่วมงานกับกองทัพบกสหรัฐฯ และสมาชิกสภานครฮอนโนลูลู ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งพิเศษสภาผู้แทนราษฎรคองเกรส เขต 1 รัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยสามารถเอาชนะ เอ็ด เคส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนฯเดโมแครต และคอลลีน ฮานาบูซา ประธานวุฒิสมาชิกเดโมแครต รัฐฮาวาย ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกในรอบ 50 ปีของพรรครีพับลิกันในเขตนี้ หลังจากที่เดโมแครตครองตำแหน่งมายาวนาน ทั้งนี้นายโจว จะเป็นรีพับลิกันคนที่ 3 ของรัฐฮาวายที่ทำหน้าที่ในสภาคองเกรสนับตั้งแต่ปี 1959 ที่จัดตั้งรัฐฮาวายขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม อายุของสมาชิกสภาผู้แทนฯคองเกรส มีกำหนดสิ้นสุดลงปีนี้ และต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อสรรหาผู้เข้าไปมีบทบาทในสภาอันทรงเกียตริอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่งต้องลุ้นกันต่อไปว่า สมาชิกสภาผู้แทนฮาวาย เชื้อสายไทย-จีน ท่านนี้จะได้รับเลือกอีกครั้งหรือไม่
ดูจากประวัติการทำงานที่ผ่านมาแล้ว นับเป็นนักการเมืองเชื้อสาย "เอเชีย-อเมริกัน" ที่น่าจับตามองอีกคนหนึ่ง เพราะคลับคล้ายคลับคลา กับ "บารัค โอบามา" ประธานาธิบดีผิวสี และเชื้อสาย "แอฟริกัน-อเมริกัน" คนแรกของสหรัฐฯ ที่มีบิดาเป็นชาวเคนยา และมารดาเป็นชาวสหรัฐฯ และต้องโยกย้ายติดสอยห้อยตามมารดาไปอยู่ต่างแดนไกลถึงอินโดนีเซีย เมื่อผู้ให้กำเนิดตัดสินใจแยกทางกัน หากมองในเรื่องของตัวเลข ทั้งคู่ยังหนุ่มยังแน่น ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะนี้โอบามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศด้วยวัย 49 ปี ส่วนนายโจว อายุ 40 ปี ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภารัฐฮาวาย และหากผลงานของเขาโดดเด่นโดนใจชาวมะกันแล้ว ตำแหน่งใหญ่ ๆ ทางการเมืองอาจอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเท่าใดนัก
พูดกันเรื่องของอายุ ในหลาย ๆ ประเทศ มีผู้นำอายุยังน้อย ก้าวขึ้นมาบริหารบ้านเมืองกันมากมาย ที่เห็นกันเด่นชัด คงหนีไม่พ้นผู้นำโอบามา ที่สามารถล้มยักษ์มากประสบการณ์อย่าง "ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน" และ "จอห์น แมคเคน" ได้อย่างไม่คาดฝัน ด้านประเทศแถบยุโรปมีให้เห็นล่าสุด ที่เกาะอังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ "เดวิด คาเมรอน" ขึ้นแท่นผู้บริหารประเทศอายุน้อยที่สุดในรอบ 198 ปี ของเมืองผู้ดี ด้วยวัยเพียง 43 ปีเท่านั้น หากมองกลับมาที่ประเทศไทย บ้านเราก็มีนายกรัฐมนตรีรูปหล่อ วัย 46 ปี นับเป็นผู้นำอายุไม่มากเช่นเดียวกับชาติมหาอำนาจเหมือนกัน จากจุดนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง มาแรงกว่าผู้อาวุโสมากประสบการณ์ในวงการการเมืองก็เป็นได้...