http://xfile.teenee.com/tamnan/ตำนาน_นกแสก-_นกผี
ตำนาน นกแสก- นกผี ลางร้ายมรณะ
"นกแสก" ซึ่งเคยสร้างความเชื่อกับคนเฒ่าคนแก่ ให้เกลียดกลัวหนักหนาว่า หากนกแสกมันไปส่งเสียงร้องที่หลังคาบ้านไหนภายใน 3 วัน 7 วัน ต้องมีคนที่รักตายจากไป ความเชื่อของชาวไทย ผิดกับคนไทยที่เชื่อว่านกแสกเป็นนกอัปมงคล นกผี และนกแห่งความตาย หากมันบินมาจับหลังคาบ้านใครก็ถือว่าซวยเต็มที ต้องทำน้ำมนต์มารดกันทีเดียว และถ้าสมาชิกบ้านใดกำลังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ ก็จะถึงแก่ความตาย ทั้งนี้เพราะบางตำนานว่านกแสกเป็นพาหนะของพระยม ซึ่งเป็นทูตนำทางมาก่อนประกอบกับลักษณะของนกแสกเองที่ชอบอาศัยอยู่ตามบ้านร้างอันเป็นเสมือนที่ซ่อนตัวของภูตผี มีเสียงหวีดแหลมน่ากลัวและมีขนท้องเป็นสีขาว ยามบินในเวลากลางคืนจึงมองเห็นเป็นสีขาวโพลนคล้ายผีปีศาจลอยล่องอยู่ในความมืด บ้างก็เชื่อว่า นกแสกเป็นพาหนะของ พญายม เทพเจ้าแห่งความตายที่จะพาวิญญาณของคนตายไปสู่ยมโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 เคยมีข่าวว่า พระภิกษุที่วัดเหมืองหม้อ จังหวัดแพร่ ได้จับนกแสกที่ทำรังอยู่ในซอกใต้หลังคาวิหารเอามาขังกรง เพราะชาวบ้านในละแวกนั้นต่างพากันหวาดกลัวว่าเป็นนกปีศาจ จนกลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในต่างประเทศ นกแสกก็ยังคงเป็นสัญญลักษณ์แห่งความตายเช่นกัน ในอิตาลี บนเกาะซิซิลี (Sicily) ชาวบ้านเชื่อว่า ถ้าหากนกแสกส่งเสียงร้องใกล้ๆ บ้านหลังใดซึ่งมีคนนอนป่วยอยู่ คนนอนป่วยในบ้านหลังนั้นจะตายภายใน 3 วัน แต่ถ้าในบ้านหลังนั้นไม่มีคนนอนป่วยอยู่ คนในบ้านหลังนั้นจะมีอาการเจ็บป่วยเพราะต่อมทอนซิล (tonsil) อักเสบ อย่างไรก็ดี ชาวโรมันและชาวกรีกโบราณถือกันว่า นกแสกเป็นนกที่บอกลางร้ายเท่านั้น และความเชื่อเช่นนี้ยังสืบทอดติดต่อกันมาจนถึงชาวอังกฤษและชาวยุโรปชาติ อื่นๆ อีกด้วย ความเชื่อของชาวอินเดีย ความเชื่อเกี่ยวกับนกแสกมีทั้งที่เป็นมงคลและอัปมงคล ในทางมงคลนั้น ชาวอินเดียเชื่อว่านกแสกเป็นนกของพระลักษมีเทวีแห่งโชคโภคทรัพย์และการเกษตร นกแสกจึงช่วยกินหนูในท้องนาให้เกษตรกร ชาวฮินดูในแคว้นเบงกอลก็เชื่อว่า หากนกนี้ทำรังในบ้านใคร บ้านนั้นจะได้ทรัพย์สินเงินทอง เป็นการนำโชคดีมาให้ เชื่อหรือไม่ว่า ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการทดลองให้ชาวสวนปาล์ม เลี้ยง นกแสก หรือ "ไอ้ตาใส" หรือที่หลายคนเรียกมันว่า "นกผี" ไว้คอยจับ "หนู" มาแล้วอย่างได้ผล และต่อมาหลายแห่งนำวิธีดังกล่าวมาใช้ เพื่อเป็นอีกแนวทางในการลดต้นทุนในเรื่องของการซื้อหาสารเคมี เพื่อมากำจัด "ไอ้จี๊ด" ศัตรูตัวร้ายฉกาจที่เข้าทำลายผลผลิตปาล์ม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ กรมวิชาการเกษตร จึงนำต้นแบบอย่างที่ ประเทศมาเลเซีย ที่เขาใช้วิธีดังกล่าวนี้ได้ผลมาแล้ว โดยการ "สร้างรัง" ไว้ในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อชักนำให้มันเข้ามาอาศัย ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรในฝูง และเพื่อให้มันคอย ทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าผลิตผล ในสวนปาล์ม ซึ่ง นกแสก 1 ตัว จะช่วยกำจัดหนูได้มากถึง 700 ตัว/ปี นกแสกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tyto alba ชื่อสกุลคือ Tyto เพี้ยนมาจากคำว่า tuto ในภาษากรีก ซึ่งหมายถึง นกเค้า ส่วนชื่อชนิดคือ alba มาจากคำว่า albus ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า สีขาว รวมความแล้วจึงแปลว่า นกเค้าสีขาว เพราะขนส่วนใหญ่เป็นสีขาว โดยเฉพาะใต้ปีกซึ่งขาวมาก
ในเวลาที่นกแสกบินผ่านหน้าในยามค่ำคืนอันมืดมิด เราจึงเห็นเป็นนกขนาดใหญ่สีขาวๆ บินผ่านหน้าเราไปอย่างรวดเร็วและเงียบกริบ ใครที่มองไม่ค่อยทัน จึงมักทึกทักเอาว่าได้เห็นภูตผีปีศาจลอยผ่านหน้าไป ลักษณะทั่วไป นกแสกเป็นนกในวงศ์ Tytonidae คนละวงศ์กับนกเค้าต่างๆ ซึ่งอยู่ในวงศ์ Strigidae แต่รูปร่างหน้าตาโดยทั่วๆ ไปคล้ายคลึงกับนกเค้า ลำตัวตั้งตรง และสอบมาทางด้านท้าย คอสั้นมาก หัวโตและกระหม่อมแบน ใบหน้าก็แบนมากซึ่งเห็นได้ชัดถ้าหากมองทางด้านข้าง ดวงตาเล็กอยู่ทางด้านหน้าของหัว รอบๆ ดวงตามีขนซึ่งเรียงออกไปดูคล้ายกับจานครึ่งวงกลม เรียกกันว่า วงหน้า (facial disc) เมื่อวงหน้าทั้งสองมาชนกันที่กึ่งกลางหน้าจึงทำให้เห็นใบหน้าของมันเป็นรูป หัวใจ ซึ่ง นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีสันเหมือนกัน แยกความแตกต่างไม่ได้เลย แต่นกตัวเมียมีตัวโตกว่าเล็กน้อย นกแสกมีขนสีขาวขึ้นอยู่เต็มไปหมด ออกแบบมาไว้ป้องกันเสียงที่เกิดจากลมเวลาบิน เพราะหากไม่มีขนแน่น ลมจะผ่านเส้นขนจนเกิดเสียงสะท้อน ทำให้เหยื่อไหวตัวหนีได้ทัน เวลามันหากินจะเกาะนิ่งๆ ในระดับสูง ตากลมดำโตนั้นคอยจ้องมองเหยื่อตามพื้นดิน ทางด้านท้องมีสีขาว และมีจุดมีเทาและสีน้ำตาลทั่วไป ขนปีกและหางมีลายขวางสีเหลืองสลับน้ำตาลอ่อน ปากแหลมงุ้ม ขนตัวด้านบนมีสีเหลืองปนน้ำตาล ปนเทา มีจุดสีขาว และสีน้ำตาลทั่วไป เล็บเท้ายาวงุ้มและแหลม เล็บที่นิ้วกลางลักษณะคล้ายฟันเลื่อย เวลาบินร้องเสียง "แสก" มีสายตาและประสาทหูดีมาก ตาของมันสามารถเห็นเหยื่อชัดในเวลากลางคืน โดยเฉพาะหูของมันถูกออกแบบมาให้เยื้องมาด้านหน้า ตรงกับจานรับเรดาร์ตามโครงหน้าของมัน เพื่อไว้คอยรับเสียงที่แม้เหยื่อจะเดินอย่างแผ่วเบาที่สุดในระยะ 9-10 เมตร มันก็ยังได้ยิน ฉะนั้นยามที่มันบินโฉบตะครุบเหยื่อจะไม่เคยพลาดเลย ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นนักล่าเหยื่อยามราตรีตัวฉกาจอย่างไม่ต้องสงสัย นกแสกมีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 34 ซม. ขาท่อนบนมีขนปกคลุมด้วย และคลุมลงมาจนถึงขาท่อนล่างตอนบน ส่วนขาท่อนล่างตอนล่าง รวมทั้งนิ้วเท้าและเล็บเป็นสีน้ำตาลแกมดำ นิ้วเท้ามีข้างละ 4 นิ้ว ยื่นไปข้างหน้า 2 นิ้ว และยื่นไปข้างหลัง 2 นิ้ว แต่ในเวลาที่มันใช้กรงเล็บไล่จับเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนู นิ้วเท้าหลังด้านนอกจะหันมาข้างหน้าได้ ทำให้มันจับเหยื่อได้ถนัดและคล่องแคล่วขึ้น รูปร่างลักษณะตัวผู้และตัวเมียจะคล้ายกันคือ วงหน้ามีขนสีขาวขึ้นเต็มเป็นรูปหัวใจตา กลมดำโต ปาก แหลมงุ้ม ขน ตัวด้านบนมีสีเหลืองปนน้ำตาลเทา มีจุดขาว และน้ำตาลประปราย ขนใต้ท้อง ขาว ส่วนปีก และ หาง มีลายขวางสีเหลืองสลับน้ำตาลอ่อน เล็บเท้า ยาวงุ้มแหลม เล็บนิ้วกลาง ลักษณะคล้ายฟันเลื่อย ขา ยาว มีสายตา และ ประสาทหูดีมาก กลางวันชอบนอนบนเพดานบ้านหรือที่มุมมืดหลังคาโบสถ์ ชอบกินหนูนา ใต้ตรงที่มันเกาะนอนมักพบซากกระดูกและหนังของหนู หรือเหยื่ออื่นๆที่มันสำรอกคายของแข็งๆที่มันย่อยไม่หมดตกลงไปกองอยู่บนพื้น ดิน ก้อนที่มันสำรอกคลายทิ้งนี้ดูคล้ายกับก้อนข้าวเม่าทอด ออกหากินในเวลากลางคืน ชาวบ้านถือกันว่า หากมันไปเกาะอยู่บนหลังคาบ้านใคร จะทำให้เกิดเรื่องไม่ดี จะมีคนเจ็บคนตาย รุ่งเช้าจะต้องทำบุญตักบาตรเพื่อล้างเคราะห์ เรื่องนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ นกแสก (Barn Owl) มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ในแถบอินเดีย อันดามัน ชวา พม่า เขมร เวียดนาม โคชินไชนา ลาว และ ประเทศไทย พบมากในแถบทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ กลางคืน อันเป็นช่วงเวลาที่มันออกหากินซึ่งอาหารโปรดของมันคือ หนูท้องขาว ส่วนตอนกลางวันสายตาจะแย่ที่สุด ดังนั้นเมื่อตะวันขึ้นแตะขอบฟ้าพวกมัน จะหาที่ตามซอกหลืบมืดๆ โพรงไม้ซอกเจดีย์พักผ่อนหลับนอน ช่วงเวลาที่นกแสกผสมพันธุ์จะตลอดทั้งปียกเว้นหน้าฝน ภายหลังเลือกคู่ได้แล้วมันจะคาบเศษหญ้าสำหรับปูรองพื้นเพื่อวางไข่ ซึ่งออกครั้งละประมาณ 4-7 ฟอง ขณะที่ตัวเมียเป็นฝ่ายกกไข่ ใช้เวลาเกือบเดือน สมาชิกใหม่จึงออกมา "แหกปาก" ให้พวกเราขนพองสยองเกล้ากันนั้น ตัวเมียจะไม่ทิ้งห่างพื้นที่วางไข่เลย ฉะนั้นการหาอาหารจึงเป็นหน้าที่ของตัวผู้และทั้งคู่จะอยู่ช่วยเลี้ยงสมาชิกใหม่ของโลกใบนี้ต่ออีกประมาณ 2 เดือน กระทั่งเมื่อลูกนกที่โตเต็มวัย ซึ่งมีขนาดลำตัวใหญ่ประมาณ 14 นิ้ว จะบินออกสู่โลกภายนอกหลืบหลังคา เพื่อไปใช้ชีวิตโฉบเฉี่ยว หาพวกบรรดาหนูๆมาเปิบเป็นอาหาร จากนั้นเมื่อมันอายุได้ขวบปี ก็จะเริ่มมองหาคู่เพื่อขยายเผ่าพันธุ์เป็นวัฏจักรชีวิตต่อไปเรื่อยๆนั่นเอง
ที่มา https://www.l3nr.org/posts/432567