http://www.catdumb.com/life-in-japan-prison-290/
หากจะกล่าวถึงหนึ่งในประเทศในฝันแถบเอเชียที่มีทั้งระเบียบวินัยเป็นเลิศ ประเพณีอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ บ้านเมืองสะอาด อัตราการเกิดอาชญากรรมน้อยถึงน้อยมาก อันเนื่องมาจากเป็นประเทศที่พัฒนาทั้งทางด้านความคิดและรูปลักษณ์ภายนอก นั่นก็คือ ‘ประเทศญี่ปุ่น’ นี่แหละ
ว่ากันว่าประเทศญี่ปุ่นมีอาชญากรรมน้อยมาก การปล้นจี้แทบจะไม่มีเลย โดยเทียบอัตราส่วนของประชากร 100,000 คน จะมีเพียงแค่ 49 เท่านั้นที่เป็นนักโทษ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาตัวเลขพุ่งสูงไปถึง 760 คน (อัตราเทียบในปีค.ศ. 2008)
โดยระบบยุติธรรมของประเทศญี่ปุ่นเน้นในเรื่องของ ‘การสำนึกตัวให้กลับมาเป็นคนดี’ หากใครกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงมากเป็นครั้งแรก ทั้งตำรวจและศาลจะว่ากล่าวตักเตือนก่อนและทำการปล่อยตัวไป พยายามติดต่อคนในครอบครัวช่วยพาผู้ที่หลงผิดกลับตัวเป็นคนดีให้ได้ แต่ถ้าหากว่ารุนแรงเกินกว่าจะเป็นคนดีได้ ก็ต้องถูกส่งตัวเข้าคุกไปตามระเบียบ
ดูผิวเผินจากระบบดังกล่าวแล้ว คล้ายๆ กับการให้อภัยแก่ผู้ที่หลงผิดให้มีโอกาสกลับตัวกลับใจ และสภาพภายในของคุกญี่ปุ่นนั้นดูสะดวกสบายมากๆ มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้เพรียบพร้อมทุกอย่าง แต่กระบวนการต่อจากนี้อาจทำให้ผู้ต้องหาภายในคุกกลับทุข์ทรมานยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก
เพราะหัวใจหลักของระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นคือ ‘การสารภาพ’ เพราะเชื่อว่าการสารภาพคือขั้นแรกของการกลับตัวกลับใจ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาในอาชญากรรมรุนแรงอย่างการฆาตกรรม ทำให้เกิดปัญหาที่ว่าผู้ต้องสงสัยหลายรายยอมรับสารภาพ เพื่อที่จะไม่ต้องเจอการสอบสวนแบบหนักหนาสาหัสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 23 วัน โดยที่ยังไม่ถูกตั้งข้อหา
โดยการสอบสวนเพื่อเค้นให้ยอมรับสารภาพของตำรวจญี่ปุ่น จะกินเวลาประมาณ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ผู้ต้องหาจะถูกบังคับให้อยู่ในท่าเดิมตลอดเวลาการสอบสวน (อย่างเช่น การนั่งคุกเข่า) เจ้าหน้าที่ก็จะทำการตะคอก ข่มขู่ และตั้งคำถามตลอดเวลา อีกทั้งยังทำการกระตุ้นเมื่อผู้ต้องสงสัยหลับหรือไม่มีการตอบสนอง และสุดท้ายก็ส่งผลทำให้ผู้ต้องสงสัยส่วนมากยอมรับเพื่อหนีความทรมาน
แม้ว่าสภาพแวดล้อมภายในคุกของประเทศญี่ปุ่นจะดูดีกว่าประเทศอื่น แต่ภายในคุกมีความกดดันทางจิตวิทยาทุกรูปแบบ นักโทษห้ามสบตากับผู้คุมโดยเด็ดขาด กฏระเบียบการปฏิบัติตัวภายในคุกเป็นแบบระบบทหาร ต้องขออนุญาตทุกครั้งหากจะทำอะไร เช่นการยกมือเพื่อขออนุญาตยืน สิ่งเดียวที่ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตก็คือ ‘การหายใจ’
หากถูกแยกขังเดี่ยว นับว่าเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เพราะจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย นอกจากนั่งเพ่งมองประตูที่อยู่ด้านหน้าของตนเอง
อีกทั้งนักโทษที่ถูกตัดสินรับโทษประหาร จะไม่มีวันรู้วันประหารของตนเอง รอความตายอย่างไม่มีกำหนด อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้หรือชั่วโมงถัดไปก็เป็นไปได้ทั้งนั้น และถึงแม้จะกินดีอยู่ดีภายในคุก แต่กลับให้ความรู้สึกที่เงียบสงัดและน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งใด
บรรยากาศภายในคุก Fuchu ย่านชานเมือง Tokyo
ที่มา : xpatnation, nytimes, japanvisitor