ยุทธการคาเดชและสนธิสัญญาฉบับแรกของโลก

ยุทธการคาเดชและสนธิสัญญาฉบับแรกของโลก

 

นับแต่ยุคอาณาจักรใหม่ อียิปต์ได้มีพัฒนาการด้านอาวุธมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีการนำรถศึกพร้อมพลธนูมาเป็นกำลังหลักและได้ขยายดินแดนจนกลายเป็น จักรวรรดิ ทั้งนี้ นอกจากแผ่อำนาจไปยังดินแดนรอบข้างในอาฟริกาเหนือแล้ว จักรวรรดิอียิปต์ก็ได้เข้าครอบครองดินแดนคานาอันซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในเอเชียไมเนอร์ด้วย

ความวุ่นวายในปลาย ราชวงศ์ที่ 18 ทำให้อียิปต์สูญเสียอำนาจในเอเชียไป ทว่าหลังการก่อตั้งราชวงศ์ที่ 19 จักรวรรดิอียิปต์ก็กลับมาทวงอำนาจเหนือดินแดนคานาอันอีกครั้ง แต่ก็ทำให้อียิปต์ต้องเผชิญกับศัตรูที่เข้มแข็งอย่าง จักรวรรดิฮิตไตท์

 

ชาวฮิตไตท์ เป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่มาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรอนาโตเลีย โดยนอกจากจะเชี่ยวชาญในการใช้รถศึกแล้ว พวกเขายังเป็นชนกลุ่มแรกที่สามารถนำเหล็กมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และ อาวุธด้วย

หลังการสิ้นพระชนม์ของ ฟาโรห์ทุทอังอามุน (หรือตุตันคาเมน ที่คนส่วนมากรู้จักดี) สถานการณ์อียิปต์วุ่นวาย มีการชิงอำนาจระหว่างมหาปุโรหิตอัยย์และนายพลโฮเรมเฮป เวลานั้นพระนางอนัคซูนามุน มเหสีม่ายของทุทอังอามุนไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจของคนทั้งสอง จึงลอบส่งสาส์นไปยังจักรวรรดิฮิตไตท์เพื่อขอให้กษัตริย์ฮิตไตท์ส่งพระโอรสมา อภิเษกกับพระนาง ซึ่งทางฮิตไตท์ตอบตกลงหลังจากไตร่ตรองอยู่นาน ทว่าเมื่อขบวนเสด็จของเจ้าชายชาวฮิตไตท์ผ่านชายแดนเข้ามา ก็ถูกสังหารล้างขบวนจนสิ้นโดยจับมือใครดมไม่ได้ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความร้าวฉานรุนแรงระหว่างจักรวรรดิทั้งสอง

ความพยายามขยายอำนาจเข้า ไปในดินแดนคานาอัน ทำให้อียิปต์ต้องปะทะกับฮิตไตท์ นับแต่ปลายราชวงศ์ที่ 18 จนถึงราชวงศ์ที่ 19 โดยในราชวงศ์ที่ 19 ฟาโรห์เซติที่หนึ่งได้ยกทัพใหญ่บุกเข้าดินแดนคานาอัน พระองค์ได้ทำข้อตกลงสงบศึกอย่างไม่เป็นทางการกับชาวฮิตไตท์และเข้ายึดครอง นครคาเดชและอเมอร์รู อย่าไรก็ตาม หลังจากทัพอียิปต์เคลื่อนกลับไม่นาน นครทั้งสองก็กลับเป็นอิสระ โดยอเมอร์รูนั้น ภายหลังได้หันไปอ่อนน้อมต่อจักรวรรดิฮิตไตท์ที่อยู่ทางเหนือ

 

รามเสสที่สอง

ในปีที่สี่ของรัชกาล แห่งฟาโรห์รามเสสที่สอง โอรสแห่งเซติที่หนึ่ง พระองค์ได้เดินทัพเข้าสู่ดินแดนคานาอันเพื่อยึดนครอเมอร์รูให้มาอยู่ในอำนาจ อียิปต์อีกครั้ง โดยหลังจากยึดเมืองได้แล้ว รามเสสที่สองได้จัดกองทหารรับจ้างจำนวนหนึ่งประจำการที่เมืองนี้

ในปีที่ห้าของรัชกาล แห่งรามเสสที่สอง กษัตริย์มูวาตัลลิสที่สองแห่งฮิตไตท์ทรงต้องการให้อเมอร์รูกลับมาอยู่ใต้ อิทธิพลของฮิตไตท์ จึงทรงให้กองทัพเคลื่อนลงใต้ ซึ่งเมื่อฟาโรห์รามเสสที่สองทรงทราบก็พิโรธมากและจัดทัพเคลื่อนพลขึ้นเหนือ เพื่อเผชิญหน้ากับชาวฮิตไตท์ โดยจุดหมายคือเมืองคาเดช

กองทัพของฟาโรห์รามเส สที่สอง ประกอบกองพลทั้งสี่คือ อมุน รา เซ็ธ และ พทาห์ มีไพร่พลรวมสองหมื่นนายและรถศึกสองพันคัน นอกจากนี้ยังมีกองทหารองครักษ์ชาวต่างชาติที่เรียกว่าชาดาน อีกหลายร้อยนาย ทัพอียิปต์เคลื่อนพลออกจากเมืองหลวง พี รามเสส ในฤดูใบไม้ผลิของปีที่ 1274 ก่อน ค.ศ.จากนั้นอีกหนึ่งเดือนก็เข้าถึงทางใต้ของนครคาเดช ขณะที่กษัตริย์มูวาตัลลิสที่สองนั้น เมื่อทราบว่าฟาโรห์รามเสสที่สองกำลังนำทัพใหญ่มุ่งตรงมา พระองค์ก็ทรงรวบรวมไพร่พลทั้งจากชาวฮิตไตท์และเหล่าพันธมิตรได้กำลังทหาร ทั้งสิ้นห้าหมื่นและรถศึกสามพันห้าร้อยคันก่อนจะเคลื่อนทัพลงใต้

ในยามนั้น รามเสสที่สองพร้อมกองทัพได้ตั้งทัพอยู่บนเนินสูงเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำโอรอน เตส ส่วนกองทัพใหญ่ของฝ่ายฮิตไตท์ได้มุ่งหน้ามายังอีกฟากหนึ่งของคาเดช ทว่ารามเสสที่สองไม่ทรงระแคะระคายเรื่องนี้ พระองค์ถูกสายลับชาวเบดูอินสองคนที่ทหารอียิปต์จับตัวมาได้ หลอกว่ากองทัพฮิตไตท์ยังคงอยู่ไกลถึงอเลปโปซึ่งห่างจากที่ตั้งทัพของพระองค์ ถึงสองร้อยกิโลเมตร พระองค์จึงทรงนำกองพลอมุนซึ่งมีกำลังทหารเพียงห้าพันเร่งยกขึ้นเหนือเพื่อ หมายจะทรงยึดคาเดชไว้เป็นชัยภูมิ โดยทิ้งให้ทหารอีกสามกองพลเคลื่อนตามมาข้างหลัง

 

เมื่อถึงที่ราบของคา เดช ฟาโรห์ทรงตั้งค่ายอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง ทว่าก่อนที่ทัพของพระองค์จะเข้ายึดเมือง ทหารอียิปต์ก็จับสายลับชาวฮิตไตท์ได้สองนาย ซึ่งกษัตริย์มูวาตัลลิสสั่งให้มาสอดแนมฝ่ายอียิปต์ โดยหลังการโบยตีสอบสวน สายลับทั้งสองก็สารภาพว่า ยามนี้กองทัพมหึมาของฮิตไตท์ได้มาชุมนุมพลยังอีกฟากของเมืองแล้ว รามเสสที่สองตกพระทัยกับข่าวร้ายที่ได้รับ จึงทรงมีบัญชาให้กองพลอมุนเร่งทำแนวป้องกันพร้อมกับส่งม้าเร็วไปแจ้งให้กอง พลที่เหลือทั้งสามเร่งมาสมทบโดยเร็วที่สุด

ในยามนั้น กองพลเรได้เคลื่อนพลมาถึงที่ราบของเมือง แต่ได้ถูกกษัตริย์มูวาตัลลิสส่งทัพเข้าโจมตี รถศึกนับพันคันของฮิตไตท์เข้าบุกตะลุยจนกองทหารอียิปต์แตกพ่ายยับเยิน พวกที่เหลือได้หนีมายังค่ายขององค์รามเสส โดยมีทัพรถศึกฮิตไตท์ไล่หลังมา ความโกลาหลทำให้ฝ่ายอียิปต์ไม่อาจตั้งรับได้ทันท่วงที

เมื่อสถานการณ์เข้า ขั้นวิกฤต ฟาโรห์รามเสสที่สองได้ทรงสวดขอองค์เทพอมุนให้ทรงประทานพลังให้พระองค์เพื่อ พิชิตข้าศึก จากนั้นฟาโรห์จึงให้สารถีของพระองค์บังคับรถศึกบุกเข้าหาฝ่ายศัตรูโดยมี เหล่าทหารองครักษ์ชาดานตามไปติด ๆ

ความห้าวหาญของฟาโรห์ รามเสสและเหล่าราชองครักษ์ชาดานสร้างขวัญกำลังใจให้เหล่าทหารอียิปต์ที่ กำลังตกเป็นรอง พวกเขารวบรวมกำลังเข้าตีโต้ข้าศึกอย่างดุเดือด ทว่ากำลังพลของฝ่ายอียิปต์ยังน้อยกว่าฮิตไตท์หลายเท่านัก อีกทั้งกองพลเซ็ธและกองพลพทาห์ก็ยังยกมาไม่ถึง ทำให้ฝ่ายอียิปต์ไม่อาจขับไล่ข้าศึกไปได้ กษัตริย์มูวาตัลลิสทรงให้รถศึกทั้งหมดบุกเข้าใส่กองทหารอียิปต์ถึงหกครั้ง ทว่าก็ยังไม่สามารถบดขยี้กองทัพอียิปต์ได้ และในเวลานั้นเอง ก็มีกองทหารรับจ้างของอียิปต์ซึ่งประจำการอยู่ที่นครอเมอร์รูเคลื่อนพลเข้า สู่สมรภูมิและเข้าโจมตีกระหนาบฝ่ายฮิตไตท์อย่างดุเดือด การโจมตีอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ฝ่ายฮิตไตท์ตื่นตระหนก ฟาโรห์รามเสสจึงทรงรวบรวมกำลังทั้งหมดบุกเข้าหาข้าศึก ทำให้กองทัพฮิตไตท์แตกพ่ายและล่าถอยกลับไปยังที่มั่นของฝ่ายตน

 

เย็นวันนั้นเอง กองพลเซ็ธและกองพลพทาห์ก็ยกมาสมทบกับทัพหลวงของฟาโรห์ จากนั้นองค์รามเสสที่สองจึงวางแผนที่จะยกทัพเข้าบดขยี้ข้าศึกที่เหลือ ในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การรบในวันที่สอง ไม่มีฝ่ายใดสามารถชิงชัยได้อย่างชัดเจน จากนั้น ทั้งอียิปต์และฮิตไตท์ก็หย่าศึกและถอยทัพกลับ โดยปล่อยให้นครคาเดชยังคงเป็นอิสระเช่นเดิม

รามเสสที่สองยังทรงยก ทัพเข้าสู่คานาอันอีกหลายครั้ง และเข้าปะทะกับฝ่ายฮิตไตท์เป็นระยะ จนกระทั่งถึงปีที่ 21 ของการครองราชย์ หรือ สิบหกปีหลังสงครามที่คาเดช ฟาโรห์รามเสสที่สองก็ทรงเจรจาปักปันเขตแดนและทำสนธิสัญญาสันติภาพกับ กษัตริย์ฮัตตูซิลที่สามซึ่งครองราชย์ต่อจากกษัตริย์มูวาตัลลิสที่สอง ซึ่งสนธิสัญญาสันติภาพฉบับนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นสนธิสัญญาสันติภาพฉบับ แรกของโลกที่เคยมีการบันทึกไว้

ที่มา: http://www.komkid.com/ประวัติศาสตร์สังคม/

Credit: http://board.postjung.com/950614.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...