กาแฟหอมกรุ่นยามเช้านับเป็นกลิ่นที่ชวนให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่าได้ทั้งวัน
กาแฟตามธรรมชาติมีคาเฟอีนซึ่งมีรสขมเป็นส่วนประกอบ คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ไม่ง่วงนอน ปริมาณคาเฟอีนที่มีในกาแฟขึ้นอยู่กับพันธุ์ เช่น กาแฟพันธุ์อาราบิกา จะมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟพันธุ์โรบัสตา
และกรรมวิธีการแปรรูปกาแฟก็มีผลต่อปริมาณคาเฟอีน โดยเมื่อผ่านความร้อนปริมาณคาเฟอีนจะลดลง การคั่วเมล็ดกาแฟจนเป็นสีเข้มจะมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่าเมล็ดที่คั่วไม่นาน เพราะคาเฟอีนสามารถสลายตัวไปได้ระหว่างการคั่ว
หลายคนคงทราบว่าการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมากเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะเสพติดคาเฟอีน จะมีผลต่อร่างกายและทางจิตใจ เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล กล้ามเนื้อกระตุก นอนไม่หลับ หัวใจเต้นแรง ใจสั่น
นอกจากนั้น การบริโภคคาเฟอีนเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กอักเสบ และปัสสาวะบ่อยได้
กาแฟที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั้งเป็นแบบขวดและแบบกระป๋องนั้น จะมีปริมาณคาเฟอีนระบุอยู่ในฉลากของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆรู้ว่า หากดื่มกาแฟ 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวด จะได้รับคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายปริมาณเท่าใด
แต่กาแฟกดตามร้านสะดวกซื้อจะไม่มีข้อมูลบอกให้เรารู้ว่าใน 1 แก้วนั้นมีปริมาณคาเฟอีนเท่าใด
วันนี้สถาบันอาหารจึงสุ่มเก็บตัวอย่างกาแฟกดพร้อมดื่มที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ จากร้านสะดวกซื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณคาเฟอีน
ผลวิเคราะห์พบว่า ในกาแฟปริมาณ 100 มิลลิลิตรนั้นมีคาเฟอีนอยู่ในช่วง 49.38–145.41 มิลลิกรัม
เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าท่านที่ชื่นชอบกาแฟ ควรบริโภคกาแฟในปริมาณพอเหมาะ และเป็นปริมาณที่ร่างกายของเราสามารถทนทานต่อฤทธิ์ของคาเฟอีนได้
เพื่อป้องกันการนำไปสู่ภาวะเสพติดคาเฟอีน เพราะร่างกายแต่ละคนจะทนทานต่อฤทธิ์ของคาเฟอีนได้ต่างกัน
ที่สำคัญ ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลโรค.
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : thairath.co.th