ผลวิจัยระบุ ตัวราชวงศ์อียิปต์ สร้างปริศนา “สุสานลับ!”

https://www.yaklai.com/lifestyle/

ผลวิจัยระบุ ตัวราชวงศ์อียิปต์ สร้างปริศนา “สุสานลับ!”

ผลงานศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ผ่านวารสารวิชาการ “เยียร์บุ๊ก ออฟ ฟิสิคอล แอนโทรโปโลยี” อาศัยการเทียบเคียงและวิเคราะห์ข้อมูลการวิเคราะห์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อระบุตัวตนของมัมมี่อียิปต์โบราณจากราชวงศ์ที่ 18 ที่เคยมีมาทั้งหมด สร้างปริศนาชิ้นใหม่ขึ้นตามมา เมื่อระบุว่า ซากมัมมี่หนึ่งที่เคยสร้างความสับสนกัน เป็นซากมัมมี่ของพระนางเนเฟอร์ตีติ

ทีมวิจัยครั้งใหม่นี้ นำโดยศาสตราจารย์แฟรงก์ รือห์ลี ผู้อำนวยการสถาบันวิวัฒนาการการแพทย์ ประจำมหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ร่วมกับทีมงานตรวจสอบกระบวนการทั้งหมดที่ใช้ในการระบุตัวตนของมัมมี่ที่ขุดค้นพบจากยุคราชวงศ์ที่ 18 หรือที่เรียกกันว่า ราชวงศ์ทุตโมสิด ตั้งแต่การใช้กระบวนการตรวจสอบเชิงโบราณคดี, การตรวจสอบสารพันธุกรรม, การตรวจสอบด้วยการจำลองใบหน้าจากมัมมี่, การตรวจสอบจากคำพรรณนาในประวัติศาสตร์ เรื่อยไปจนถึงพระนามที่พบโดยตรงบนผ้าแถบสำหรับทำมัมมี่

ราชวงศ์ที่ 18 ดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่กษัตริย์ทุตโมซิสที่ 2 เรื่อยไปจนกระทั่งถึงกษัตริย์ตุตันคามุน ผู้มีชื่อเสียงของอียิปต์โบราณ

 

มัมมี่เควี35 ภาพ-VICTOR LORET/WIKIM

ศ.รือห์ลีระบุว่า การระบุตัวตนที่ถือว่าสมบูรณ์และไม่มีความขัดแย้งแล้ว มีเพียงการระบุตัวตนของตุตันคามุน หรือ “คิงตุต” กับกษัตริย์ยูยา และพระนางทูยา ที่เป็นทวดของตุตันคามุน ซึ่งแสดงให้เห็นความยากลำบากในการระบุตัวตนของบุคคลที่มีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน ในส่วนที่เหลือนั้นงานวิจัยใหม่ชิ้นนี้ให้ผลออกมาสอดคล้องกับงานวิจัยด้วยการตรวจสอบสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ซึ่งทีมงานที่นำโดย ดร.ซาฮี ฮาวาสส์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงโบราณคดีอียิปต์เป็นผู้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

การระบุตัวตนโดยใช้ดีเอ็นเอดังกล่าวนั้นเป็นการทดสอบดีเอ็นเอในมัมมี่ 11 ซากที่สงสัยกันว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับคิงตุต โดยมีมัมมี่ของเชื้อพระวงศ์ 5 ซากที่มีชีวิตอยู่ในยุค “อาณาจักรใหม่” (ระหว่าง 1,550-1,479 ปีก่อนคริสตกาล) ถูกใช้เป็นกลุ่มควบคุมสำหรับเปรียบเทียบดีเอ็นเอ ได้ผลลัพธ์เป็นที่ยอมรับกันในกรณีของคิงตุต กับยูยาและทูยาดังกล่าว ในขณะที่ซากมัมมี่ของฟาโรห์ อาเมนโฮเตป ที่ 3 กับซากมัมมี่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เอลเดอร์ เลดี้” (มัมมี่รหัส เควี35อีแอล) และถูกระบุว่าเป็นปู่และย่าของคิงตุต ส่วนซากมัมมี่ที่รู้จักกันเพียงชื่อรหัส เควี55 เชื่อกันว่าน่าจะเป็นฟาโรห์ อัคเฮนาตอน และสุดท้ายคือ มัมมี่ เควี35วายแอล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ยังเกอร์ เลดี้” ถูกระบุว่าเป็นรุ่นลูกในลำดับถัดมา ซึ่งก็คือ บิดาและมารดาของคิงตุต

ซึ่งหมายถึงว่า “ยังเกอร์ เลดี้” คือซากมัมมี่ของ “พระนางเนเฟอร์ตีติ” และมีเพียงประเด็นนี้เท่านั้นที่งานวิจัยครั้งใหม่ เห็นแย้งกับการระบุตัวตนด้วยดีเอ็นเอดังกล่าว

 

พระนางเนเฟอร์ตีติ

ข้อสังเกตของ ศ.รือห์ลีก็คือ การใช้ดีเอ็นเอเพื่อระบุความเป็นลูกในปัจจุบันนั้น ต้องมี “มาร์กเกอร์” หรือตำแหน่งพันธุกรรมที่ตรงกันมากกว่า 10 ตำแหน่งขึ้นไป ศาลในอังกฤษจึงยอมรับว่าถูกต้อง ศาลในสหรัฐกำหนดมากขึ้นไปอีกว่า ต้องมี 13 มาร์กเกอร์ขึ้นไปจึงถือเป็นลูกสืบสายเลือด ในกรณีการตรวจดีเอ็นเอของโครงการตุตันคามุนนั้นมีเพียง 8 มาร์กเกอร์เท่านั้นเอง

ทีมวิจัยของ ศ.รือห์ลีระบุว่า ซากมัมมี่ 1 ใน 4 ซากที่ไม่ถูกระบุตัวตนในการตรวจสอบด้วยดีเอ็นเอต่างหาก ที่เป็นพระนางเนเฟอร์ตีติ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ได้แน่ใจในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามหลักฐานจากคำพรรณนาในประวัติศาสตร์ และการจำลองใบหน้าเปรียบเทียบกับใบหน้าของตุตันคามุน โดยวิธีซีทีสแกน ก็ชี้ให้เห็นตรงกันว่านั่นคือซากมัมมี่ของพระนางเนเฟอร์ตีติ

 

หน้ากากหลุมศพฟาโรห์ ตุตันคามุน

ถ้าผลงานวิจัยใหม่นี้ระบุตัวตนเนเฟอร์ตีติได้ถูกต้อง ปริศนาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้ว “ยังเกอร์ เลดี้” ที่อยู่ในสุสานลับเบื้องหลังกำแพงด้านตะวันตกของสุสานตุตันคามุน คือใคร? คำตอบอาจเป็นได้หลายทาง อย่างเช่นอาจเป็นมัมมี่ของฟาโรห์ สเมนค์คาเร หรือไม่ก็เป็นของพระราชินี กิยา มเหสีองค์ที่ 2 ผู้ลึกลับของอัคเฮนาตอน หรือไม่ก็เป็น ราชินี เมริทาตอน บุตรีคนโตของฟาโรห์ อัคเฮนาตอนกับพระนางเนเฟอร์ตีติ ซึ่ง “อาจจะ” ทำหน้าที่เป็น “ผู้สำเร็จราชการ” แทนคิงตุตเมื่อยังเยาว์วัยก็เป็นได้ ล้วนแต่เป็นปริศนาที่ต้องไขให้กระจ่างกันต่อไป

ที่มา นสพ.มตินชรายวัน

Credit: หยักไหล่ดอดคอม
#ผลวิจัย
THEPOco
Production Manager
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
21 ก.พ. 59 เวลา 02:58 1,601
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...