ภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามมักจะอ้างอิงข้อมูลตามประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง จึงทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่คิดว่าสิ่งที่เห็นในภาพยนตร์คือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความจริงแล้วฉากเหล่านั้นอาจถูกเติมแต่งและเปลี่ยนแปลงเพื่อจุดประสงค์บางอย่างเท่านั้นเอง
ความเชื่อ 5 ข้อต่อไปนี้คือสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในภาพยนตร์ ฉากเหล่านี้ถูกนำไปใช้ซ้ำๆ จนหลายคนคิดว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่มันกลับเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์!
ผู้นำทัพที่เก่งกาจเข้าไปฟาดฟันกับศัตรูท่ามกลางความชุลมุน
ในภาพยนตร์ดังอย่าง Return Of The King, Braveheart, 300, 300: Rise Of An Empire หรือ King Arthur กองทัพสองฝ่ายจะยืนประจันหน้ากัน เตรียมพร้อมต่อสู้ วางแผนกลยุทธ์ภายในหนึ่งนาที จากนั้นก็เข้าไปรบกันอย่างโหดเหี้ยม ในฉากแบบนี้เราจะได้เห็นตัวละครเอกโชว์ความสามารถอันห้าวหาญอย่างเต็มที่ด้วยการบุกตะลุยฟาดฟันทัพศัตรูจนราบเป็นหน้ากลอง แล้วจึงเข้าไปจัดการตัวร้ายหลักท่ามกลางวงล้อมของการต่อสู้แสนชุลมุน
แต่ในความเป็นจริงแล้วมีบางคนใช้วิธีการนี้ต่อสู้เช่นกัน และเขาเหล่านั้นก็คือผู้ที่ถูกฆ่าตายภายในเสี้ยววินาที…
วิธีการเอาชนะกองทัพของศัตรูที่ใช้กันมาตลอดตั้งแต่สมัยของกองทัพมาซีโดเนียน กรีก โรมัน หรือแม้แต่ชาวไวกิ้งก็คือ “การวางกลยุทธ์” และ “การรักษาทัพ”
สิ่งที่เกิดขึ้นในวินาทีแรกของฉากการรบจากเรื่อง 300 นั้นถูกต้องแล้ว
ก่อนที่ทุกอย่างจะตกอยู่ในความวุ่นวาย…
ฉากในภาพยนตร์ที่เราเห็นจนชินตาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมที่จะได้เห็นฝีมือและความกล้าหาญของตัวเอกเท่านั้นเอง
ทหารนโปเลียนถือปืนคาบศิลาเดินเรียงแถวเข้าไปพิชิตศัตรูได้ทั้งกองทัพ
ในภาพยนตร์เรื่อง The Patriot, Last Of The Mohicans, Barry Lyndon, Sharpe หรือภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามนโปเลียนในศตวรรษที่ 18 เราจะได้เห็นทหารที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างพิถีพิถัน สวมวิก ลงแป้ง ในชุดสีสันสดใส เดินเรียงแถวอย่างสวยงามเพื่อยิงปืนเปรี้ยงเข้าที่หน้าของศัตรูอย่างเป็นระเบียบ และเมื่อเข้าใกล้กันมากพอก็จะเริ่มใช้ดาบปลายปืนเสียบคร่าชีวิตศัตรูได้นับพันคน
แต่ในความเป็นจริงก็คือการเดินแถวหน้ากระดานเข้าไปสู้กับศัตรูนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ และถ้าพวกเขาจะใช้ดาบปลายปืนเป็นอาวุธเหมือนกับหอกก็คงเป็นเพราะอาวุธปืนนั้นไร้ประสิทธิภาพสุดๆ ปืนในระยะแรกๆ นั้นสามารถสร้างควันคลุ้งเต็มสมรภูมิจนไม่มีใครสามารถมองเห็นอะไรได้เลย และถ้าหวังจะพิชิตศัตรูได้ซักคนล่ะก็ทั้งกองทัพอาจต้องเล็งปืนทั้งหมดที่มีไปในทิศทางเดียวกัน
แม้พวกเขาจะใช้ปืนอยู่บ้าง แต่มันไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอจะหวังผลให้ฆ่าคนนับพันได้เหมือนในหนังแน่นอน ตามประวัติศาสตร์แล้ว แม้แต่ในสงครามที่โหดเหี้ยมร้ายกาจที่สุดนั้นมีผู้คนเสียชีวิตเพียงแค่ 13-15 เปอร์เซ็นต์ของทหารทั้งหมดเท่านั้น ส่วนอาวุธอย่างดาบปลายปืนนั้นสามารถฆ่าฝ่ายตรงข้ามได้ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์
กองทัพของฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องนอนตายกันเกลื่อนกลาด
ภาพของคนนับพันนอนตายท่ามกลางเศษซากของสงครามคือภาพที่เห็นกันได้บ่อยครั้งใน The Last Samurai, Platoon, Gladiator, Braveheart หรือในซีรี่ส์ดังอย่าง Game Of Thrones
หลังสงครามจบลงเราจะได้เห็นตัวเอกของเรื่องเดินผ่านร่างไร้วิญญาณของทั้งกองทัพ และความเสียหายรุนแรงที่น่ากลัวราวกับวันโลกแตก ภาพเหล่านี้สอนให้เรารู้ว่า “สงครามคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด”
แน่นอนว่าสงครามคือสิ่งที่ร้ายกาจที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถทำได้ แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะคนทั้งกองทัพต้องตายภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง เพราะแม้แต่ในสงครามที่โหดเหี้ยมที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่าง Battle Of Verdun นั้นมีทหารเข้าร่วมรบทั้งหมด 2.4 ล้านนาย ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตคือ 305,000 ราย ซึ่งเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่ได้มากเท่าที่ทุกคนคิด
ในสงครามส่วนมากมักจะมีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บราว 40% ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะต้องออกจากการรบเพื่อไปรักษาหรือถูกส่งตัวกลับบ้าน เพื่อให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเมื่อสถานการณ์ย่ำแย่สิ่งที่ตามมาก็คือการยกธงขาวเพื่อยอมแพ้
ส่วนสิ่งที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์คือโรคระบาดไม่ใช่สงครามสุดโหด
ทุกคนต้องฆ่าศัตรูให้สิ้นซาก
แน่นอนว่าภาพแบบนี้เราสามารถเห็นได้ในภาพยนตร์เกี่ยวกับสงคราม “ทุกเรื่อง” นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาคือคนจิตใจโหดเหี้ยมแต่พวกเขาจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ฆ่าฝ่ายตรงข้ามเสียก่อนพวกเขาก็จะถูกฆ่าเสียเอง ดังนั้นจงบุกตะลุยเข้าไปแล้วฆ่าทุกคนให้หมด!
แต่ตามหลักมนุษยธรรมและความเป็นจริงก็คือ คนแทบทุกคนไม่สามารถทำใจให้ฆ่าใครที่เพิ่งเคยเห็นหน้าเพียงครั้งเดียวอย่างโหดเหี้ยมได้ลงคอ ทหารทุกนายจะเฝ้ารอ รอ และรอ จากนั้นก็ยิงปืนเพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามซักนิดหน่อย จนกว่าผู้บังคับบัญชาจะสั่งการลงมาซึ่งทำให้พวกเขาจำเป็นต้องทำด้วยความหดหู่ใจ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ได้มีการสำรวจว่าใครเคยยิงศัตรูด้วยความตั้งใจของตนเองบ้าง ผลลัพธ์ที่ออกมาคือมีทหารเพียง 15-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เคยทำ คนที่เหลือจะไม่ยิงจนกว่าจะได้รับคำสั่ง
แม้กระทั่งในสงครามเวียดนามที่กองทัพสหรัฐฯถูกวางเป้าให้ยิงศัตรูให้ได้ 90-95 เปอร์เซ็นต์ หลังสงครามจบพบว่ากระสุนทั้งหมดที่ถูกยิงออกไปคือ 52,000 นัด ซึ่งถือว่าไม่ได้มากอะไรนักเมื่อเทียบกับความโหดร้ายที่เราเคยได้ยินมา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีใครสนุกไปกับสงคราม ทหารทุกนายล้วนทำตามหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศของตนเท่านั้นเอง
ปืนใหญ่เป็นเพียงแค่เอฟเฟ็กต์เสียงดังสนั่นที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์อะไร
ในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น Saving Private Ryan, Band Of Brothers, Gettysburg, All Quiet On The Western Front, War Horse หรือ The Pacific ขณะที่เหล่าทหารหาญกำลังวิ่งข้ามสมรภูมิ นานๆ ครั้งจะมีกระสุนปืนใหญ่ตกลงมาและ ตู้ม! เกิดฝุ่นควันคลุ้งไปทั่วบริเวณ แต่เมื่อมีคนเข้าไปดูยังที่เกิดเหตุก็จะพบทหารบางนายที่บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ประโยชน์ของปืนใหญ่คือการสร้างความตื่นเต้นในภาพยนตร์ ส่วนในชีวิตจริงก็มีเพื่อข่มขวัญศัตรูให้ตกใจกลัว
ส่วนอาวุธที่โหดร้ายของจริงก็คือปืนไรเฟิลของพระเอกต่างหาก นัดเดียวเสร็จทุกราย!
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ…
จากสถิติของสงครามโลกครั้งที่ 1 พบว่า ทหารกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอาวุธที่เรียกกันว่าปืนใหญ่! ส่วนสิ่งที่ทำให้กองทัพของนโปเลียนน่ากลัวและประสบความสำเร็จก็คือเขาจะต้องทำให้แน่ในว่ากองกำลังฝ่ายตนมีจำนวนปืนใหญ่มากกว่าฝ่ายศัตรู เพราะนอกจากจะพิชิตศัตรูได้จำนวนมากในครั้งเดียวแล้ว ยังรวดเร็วทันใจกว่ากันโรมรันฟันแทงกันเป็นไหนๆ
ปืนไรเฟิลไม่ใช่อาวุธที่สามารถหวังผลในด้านสถิติได้เลย นอกจากจะเกิดการเผชิญหน้ากับสไนเปอร์มืออาชีพอย่าง The White Death ส่วนสิ่งที่ทหารคนอื่นทำได้คือยิงให้ฝ่ายตรงข้ามบาดเจ็บและล่าถอยไป
สาเหตุที่ฮอลลีวูดทำให้ปืนใหญ่กลายเป็นเพียงอาวุธประกอบฉากก็เพราะการตายด้วยปืนใหญ่ไม่ส่งผลต่อจิตใจผู้ชม และมันไม่สามารถทำให้เกิด “เรื่องราว” ที่ลึกซึ้งใดๆ ได้เลย บทภาพยนตร์จะน่าสนใจและสร้างอารมณ์ร่วมได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นเรื่องราวการต่อสู้อย่างห้าวหาญแบบตัวต่อตัวระหว่างพระเอกและตัวร้าย ที่นอกจากจะเน้นย้ำความสามารถของตัวเอกได้แล้วยังสร้างความลุ้นระทึกตื่นตาตื่นใจได้เป็นอย่างดี
ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก จึงควรใช้วิจารณญาณในการรับชมเพื่อไม่ให้หลงเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากสามารถหาข้อมูลที่แท้จริงประกอบกับการรับชมได้ก็จะเกิดประโยชน์มากกว่าการเชื่อแต่สิ่งที่เห็นในภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว
ที่มา: cracked