ยีนส์ลีไวน์กับการตื่นทอง

http://www.komkid.com/ประวัติศาสตร์สังคม

ยีนส์ลีไวน์กับการตื่นทอง

มกราคม ปี ค.ศ. 1848 เมื่อคนงานของจอห์น ซัตเทอร์ เจ้าของโรงเลื่อยแห่งหนึ่งแถบเชิงเขาเซียร์ราเนวาดา ในแคลิฟอเนียร์ ได้ค้นพบสายแร่ทองคำ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการตื่นทอง ที่ชักนำผู้คนมหาศาลให้หลั่งไหลมาที่นี่ ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยังก่อให้เกิดเครื่องแต่งกายที่ครองโลกแฟชั่นในกาลต่อมาด้วย

 

หนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ลงข่าวการค้นพบทอง

หลังจากคนงานของเขาค้นพบทองคำ จอห์น ซัตเทอร์พยายามปกปิดข่าวดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่ามันจะทำให้ที่ดินถูกบุกรุกจากพวกขุดทอง และจะทำให้โครงการทำฟาร์มขนาดยักษ์ของเขาบนที่ดินผืนนี้ต้องพังทลายลง ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่อาจถูกปกปิดไว้ได้และสุดท้ายข่าวก็แพร่ออกไปจนเกิดเป็นกระแสตื่นทองครั้งใหญ่ ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนกว่า 300,000 คน เดินทางมาที่นี่เพื่อแสวงโชค ตลอดเวลาเจ็ดปีต่อมา นักขุดทองจำนวนมากมาจากสถานที่อันห่างไกล ด้วยความหวังว่าจะพบความมั่งคั่งที่นี่ ทว่ามีไม่น้อยที่ต้องพบกับความผิดหวังและกลับไปมือเปล่า เมื่อพบว่าแหล่งขุดทองที่ดีที่สุดถูกจับจองและขุดเอาไปหมดแล้ว

 

ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาร่อนทอง

ผู้ที่มาแสวงโชคที่นี่ ไม่ได้มีแต่ชาวอเมริกันเท่านั้น หากยังมีผู้อพยพชาวจีนจากโพ้นทะเลที่เข้ามาร่อนทองและตั้งถิ่นฐานทำงานต่าง ๆ ในขณะที่ชาวเม็กซิโกและชาวอินเดียนแดงซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ก็เข้ามามีบทบาทในการขุดทองด้วยเช่นกัน ทว่าพวกเขาเหล่านี้กลับถูกตั้งข้อรังเกียจจากชาวอเมริกัน จนหลายครั้งที่เกิดการปะทะกันด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ไม่เฉพาะแต่นักขุดทองที่เดินทางมาที่นี่ แต่ยังรวมถึงบรรดาผู้ที่มองเห็นโอกาสจากการทำงานกับเหล่านักขุดทองจำนวนมหาศาลด้วย คนกลุ่มหลังนี้ หากินด้วยการประกอบอาชีพจัดหาอาหาร เสื้อผ้า ไปจนถึงเครื่องมือ เพื่อนำมาขายให้แก่เหล่านักขุดทอง และในปี ค.ศ. 1850 สองปีหลังการขุดพบสายแร่ทอง ก็ได้มีพ่อค้าหนุ่มคนหนึ่งออกเดินทางจากฝั่งตะวันออกของสหรัฐมาที่นี่ ชื่อของเขาคือ ลีไวน์ สเตราส์

 

ลีไวน์ สเตราส์

ลีไวน์ได้ขนผ้าใบและผ้าเนื้อหนาจำนวนมาก โดยหวังที่จะขายผ้าเหล่านี้ให้นักขุดทองใช้ทำเต็นท์ที่พัก ทว่าเมื่อเขามาถึง กลับพบว่า นักขุดส่วนใหญ่ล้วนมีเต็นท์ที่พักหรือไม่ก็มีบ้านพักกันหมดแล้ว ทำให้ผ้าของเขาขายไม่ออกเลยแม้แต่ผืนเดียว ขณะที่ลีไวน์กำลังหมดหวังกับการขายสินค้าของตนนั้นเอง เขาก็ได้สังเกตเห็นว่า กางเกงของเหล่านักขุดมักจะขาดชำรุดบ่อย ๆ เมื่อต้องทำงานในสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยหินขรุขระเช่นนี้ ลีไวน์จึงได้ความคิดที่จะตัดกางเกงที่ทนทานเพื่อให้นักขุดทั้งหลายได้ใช้กัน เขาจึงนำเอาผ้าเนื้อหนามาตัดเย็บเป็นกางเกงและขายมันให้กับเหล่านักขุด

 

กางเกงของลีไวน์ทนทานต่องานสมบุกสมบันได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นที่นิยมของเหล่านักขุดอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับทำกำไรอย่างงดงามให้กับพ่อค้าหนุ่ม หลังจากนั้นลีไวน์จึงหันมาตัดเย็บเสื้อและกางเกงจากผ้าเนื้อหนาเพื่อใช้สำหรับการทำงานสมบุกสมบันประเภทต่าง ๆ ซึ่งกางเกงเหล่านี้ได้ถูกเรียกว่า ยีนส์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยม ไม่เฉพาะแต่ในสหรัฐหากยังแพร่หลายไปทั่วโลกด้วย

สำหรับสายแร่ทองคำที่เซียร์ราเนวาดานั้น หลังการตื่นทองสิ้นสุดลงในเจ็ดปีต่อมา ได้มีการขุดพบทองคำทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าราว 500 ล้านเหรียญ และสร้างความร่ำรวยให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อย ทั้งยังส่งผลให้ดินแดนแคลิฟอร์เนียได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาด้วย เนื่องจากในเวลานั้น สหรัฐอเมริกามีหลักเกณฑ์ว่า ดินแดนที่จะได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นรัฐได้นั้น ต้องมีประชากรอย่างน้อย 60,000 คน ทว่ามีประชากรแค่ 14,000 คน แต่เมื่อยุคตื่นทองเริ่มขึ้นใน ปี ค.ศ. 1848 ประชากรของแคลิฟอร์เนียก็เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่กำหนดภายในปีเดียว และในปี ค.ศ. 1850 ดินแดนแห่งนี้ก็กลายเป็น รัฐแคลิฟอร์เนีย

สำหรับ จอห์น ซัตเทอร์ เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นทองนั้น ไม่ได้คิดจะแสวงหาความมั่งคั่งจากทองคำเหมือนคนอื่น ๆ ทว่าซัตเทอร์ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำฟาร์มเช่นเดิม แต่การตื่นทองทำให้เขาสูญเสียที่ดินเดิมไป และเมื่อเขาเริ่มโครงการของตนในที่ดินผืนใหม่ ซัตเทอร์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจฟาร์มและกลายเป็นบุคคลล้มละลายในที่สุด ..เฮ่อ…

 

Credit: คมคิดคอดคอม
18 ก.พ. 59 เวลา 04:29 2,003 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...