เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่คุ้นหูใครหลายๆคนอยู่บางด้วยทำนองและเนื้อหาที่แสนจะไพเราะ แต่เคยรู้ไหมว่าตำนานของเพลงลาวดวงเดือนนี้จะมาจากชีวิตจริงของเจ้านายรัตนโกสินทร์และเจ้านายฝ่ายเหนือ
แล้วพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มอายุ ๒๑ ปี ก็บังเกิดความสนพระทัยในดรุณีแน่งน้อย อายุ ๑๖ ปีนี้มาก กล่าวกันว่า เมื่อพระองค์ได้เห็นเจ้าหญิงชมชื่นก็ถึงกับทรงตะลึงในความงามอันน่าพิศวงจนเกิดความพิสมัยขึ้นในพระทัย เหมือนกับชายหนุ่มพบคนรักครั้งแรก!!
ในวันต่อมา พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงมลฑลพายัพ เป็นผู้นำพระองค์ไปเยี่ยมเจ้าราชสัมพันธวงศ์ถึงคุ้มหน้าวัดบ้านปิง หลังจากนั้นเจ้าหญิงชมชื่นจึงได้มีโอกาสต้อนรับเจ้าชายหนุ่มนักเรียนนอกผู้สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่นเป็นยิ่งนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์
แต่การเจรจาสู่ขอกลับได้รับการทัดทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดยขอผัดผ่อนให้ เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ ๑๘ ปี เสียก่อน และตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสกุลนั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อจะได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ (หากถวายเจ้าหญิงชมชื่นให้ในตอนนั้นเจ้าหญิงก็จะตกอยู่ในฐานะภรรยาน้อยหรือนางบำเรอเท่านั้น) สาเหตุที่เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ปฏิเสธในครั้งนี้ เนื่องเพราะเคยเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มาแล้ว คือ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พระน้องยาเธอใน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ) ได้เสด็จมาปราบปรามพวกยางแดงแถวแม่น้ำสาละวิน จนได้พบรักกับเจ้าหญิงข่ายแก้ว และทรงสู่ขอจากเจ้าทักษิณนิเกตน์ (มหายศ) บิดาของเจ้าหญิง แต่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตในการเสกสมรส ครั้นพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตเสด็จกลับกรุงเทพ ก็ไม่ได้พาเจ้าหญิง (ในฐานะภรรยาคนนึง) ลงมาด้วยเพราะมีหม่อมเอมอยู่แล้ว ทำให้เจ้าหญิงข่ายแก้ว กลายเป็น "แม่ร้าง" ที่จะไปร้องเรียนกับใครก็ไม่ได้ เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์จึงไม่ปรารถนาให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงได้ทัดทานไว้
เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ ฝ่ายพระองค์เจ้าชายฯ เองก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้วโดยผู้ใหญ่จัดหาให้ การปฏิเสธดังกล่าวจากฝ่ายหญิงก็เลยทำให้ความรักของทั้งคู่กลายเป็นหมัน ไม่มีการติดต่อใดๆกันอีกเลย เพราะเหตุนั้น พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาลขัดขวางไม่ให้รักสมหวังไม่ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปาน
จึงเสด็จกลับกรุงเทพด้วยความร้าวรานพระทัย ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์
ครั้นถึงกรุงเทพ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แน่นอนว่าสาเหตุที่ผู้ใหญ่ทางพระองค์ชายนั้นไม่ยอมให้มีการเสกสมรสกับเจ้าหญิงเมืองเหนือเป็นเพราะเรื่องทางการเมือง ในสมัยนั้นหัวเมืองทางเหนือมีสัมพันธ์กับทั้งสยามและพม่า เป็นความสัมพันธ์ที่สยามมองว่ามีเหตุผลเคลือบแคลงและไม่วางใจ ดังนั้นจึงเกิดโศกนาฎกรรมความรักลักษณะอีกหลายครั้งในสมัยนั้น เหตุก็เป็นเพราะการเมืองนั่นเอง จึงเป็นอันว่าความรักของพระองค์ประสบความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ จากนั้นพระองค์จึงทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย (กฤดากร) พระธิดาในกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ มีพระธิดา ๑ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ ส่วนทางด้านเจ้าหญิง ชมชื่นเองก็สมรสกับเจ้าน้อยสิงห์คำ มีทายาทคือ เจ้าวุฒิ ณ ลำพูน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดเป็นไปตามความเห็นชอบของผู้ใหญ่ของทั้งสอง หากแต่ในใจลึกๆแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังคงระลึกถึงกันไม่คลาย
คราใดที่สายลมเหนือพัดมาจากเชียงใหม่พระองค์ก็ยิ่งทรงสลดรันทดพระทัย จึงทรงระบายความรักความอาลัย ลงในพระนิพนธ์บทร้อง ลาวดวงเดือน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจของพระองค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์เศร้า และเป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวนหวนคำนึง รำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง-ความรัก-ความหลัง อันกลายเป็นความเศร้า... เมื่อใดที่พระองค์ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น พระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย และลาวดวงเดือนก็เป็นเพลงที่จะขาดไม่ได้ จนตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน
กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ทรงมีพระชนมายุน้อยมาก เนื่องจากทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน และประกอบกับพระวรกายไม่ค่อยสมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรนัก อีกทั้งทรงหมกมุ่นกับหน้าที่การงานเพื่อจะให้ลืมความหลังอันแสนเศร้าของพระองค์ที่ฝังใจอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระชนม์ชีพของพระองค์สั้นจนเกินไป พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยพระชันษา ๒๘ ปีเท่านั้น
และเมื่อข่าวการสิ้นชีพของท่านชายไปถึงภาคเหนือ เจ้าหญิงชมชื่น ก็เกิดอาการซึมเศร้าและตรอมใจ นั่นเป็นเพราะความรักของเจ้าหญิงที่มีต่อพระองค์ชายเอง ก็ไม่เคยจางไปจากหัวใจดวงน้อยๆของเจ้าหญิงเช่นกัน หนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพลงเช่นกัน ด้วยชันษา ๒๓ ปีเท่านั้น
ขอบคุณที่มา >> Facebook >> ประวัติศาสตร์ชาติไทยก่อนและหลัง 2475