ไอคิวเด็กไม่สูง!!! เพราะการเลี้ยงลูกแบบเทวดา

  ผลวิจัยจากแพทย์หญิง จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า "เด็กไอคิวสูงไม่ได้หมายถึงเรียน เก่ง แต่หมายถึงรู้จักใช้ชีวิต คิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็น พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่น"

ไอคิวสูงไม่ได้หมายถึงเรียนเก่ง แต่หมายถึงรู้จักใช้ชีวิต คิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็น พึ่งพาตัวเองได้และเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่น

"เด็กไทยไอคิวต่ำ" นั่นไม่ได้การพูดเล่นๆ หรือพูดโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน เพราะคุณหมอคนนี้ทำงานด้านเด็กมาทั้งชีวิต

          แพทย์หญิง จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายก สมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาเด็ก นพลักษณ์ ธรรมะ และการพัฒนาสมอง รวมถึงพัฒนาจิต เพราะคุณหมอพบว่า การเป็นแพทย์ที่มุ่งรักษาโรคอย่างเดียว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เมื่อปี 2543 คุณหมอจึงเริ่มค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวกับเด็ก และพบว่ามีงานวิจัยเหล่านี้น้อยมาก

คุณหมอบอกว่า ในยุคนั้นหมอเด็กก็ทำตามความรู้ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาเด็กไม่ค่อยมีคนสนใจ คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จึงรวมตัวกันทำวิจัยระยะยาวในเด็กไทย เริ่มติดตามตั้งแต่แม่ที่ตั้งท้อง...โดยเก็บข้อมูลจากเด็กทั่วประเทศ


ณ ปัจจุบัน คุณหมอจึงเลือกที่จะเป็นวิทยากรอิสระ จัดรายการทีวี อบรมให้ความรู้พ่อแม่เด็กและครู เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเด็ก เพราะคุณหมอมีข้อสรุปว่า การเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวแบบไทยๆ ไม่ว่ารวยหรือจน โดยเฉลี่ยแล้วทำให้เด็กไทยไอคิวต่ำกว่าอายุจริง....

 


เมื่อสำรวจทั่วประเทศ คุณหมอพบว่า เด็กไทยไอคิวต่ำ อยากให้อธิบายเพิ่มเติม ?

                   ก็คืออายุสมองต่ำกว่าอายุจริง ยกตัวอย่างเด็กอายุ 10 ปีก็ควรมีสมองอายุ 10 ปี แต่เด็กไทยมีอายุสมองแค่ 8 ปี นี่เป็นค่าเฉลี่ยนะ เราสำรวจตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงระดับประถม เด็ก 6 เดือนแรกวัดจากพัฒนาการ เด็กวัยนี้เฉลี่ยแล้วมีศักยภาพทางสมองสูงกว่า 130 เป็นตัวชี้วัดที่เรียกว่าต้นทุนดี ไม่มีปัญหา เพราะเรายังไม่ได้ใส่อะไรให้เด็ก แต่พอผ่านการเลี้ยงดูไปถึงระบบโรงเรียน เด็กจะไอคิวต่ำตั้งแต่ขวบแรก นี่แสดงถึงผลของสิ่งแวดล้อม พ่อแม่ โรงเรียน ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก ทำให้ถดถอย


คือถ้าเราเลี้ยงแบบตามมีตามเกิด โดยไม่มีความเข้าใจมากพอ ผู้ใหญ่มีโอกาสมากที่จะใส่สิ่งไม่ดีให้ลูก เพราะความรู้สึกของเรา เรารักลูก ก็ไม่อยากให้ลูกทำงาน เพราะพ่อแม่เคยเหนื่อยมาก่อน เป็นความคิดของคนไทยสมัยนี้ ต่างจากสมัยก่อน พ่อแม่ฐานะไม่ดีก็ให้ลูกทำงานตั้งแต่เด็ก นั่นเป็นวิธีที่ทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายและสมองแก้ปัญหาชีวิต ดูแลตัวเอง แต่เด็ก สมัยนี้ถูกเลี้ยงแบบเทวดา ไม่ใช่ลูกคนรวยอย่างเดียวนะ คนฐานะไม่ดี ก็เลี้ยงแบบนั้น ไม่ให้ทำอะไรเลย เรียนหนังสืออย่างเดียว ต่างจากสมัยก่อน พ่อ แม่ทำนา ลูกต้องช่วยทำนา พ่อแม่อาจไม่รู้หรอกว่า การให้ลูกช่วยทำนาเป็นสิ่งที่ดี พ่อแม่ทำเพราะความจำเป็น แต่ยุคนี้แม้จะจำเป็น ก็ไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา อยากให้ออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ เติบใหญ่จะได้เป็นข้าราชการ ทุกคนตั้งความหวังกับการเรียนในโรงเรียน ก็คือ เรียนหนังสือสิ แล้วลูกคุณจะฉลาด ซึ่งไม่จริงเลย

ไม่จริงอย่างไรคะ

ในโรงเรียน อยากถามว่า ครูคนหนึ่งดูแลเด็กกี่คน ถ้าโรงเรียนดีๆ ห้องหนึ่งไม่เกิน 25 คน โรงเรียนทั่วไป 50 คน ไม่มีทางที่ครูจะดูแลเด็กขนาดนั้นได้ดีเท่าพ่อแม่ จากงานวิจัยของเราที่ทำมา 5 ปีตามเด็กทั่วประเทศสี่พันกว่าคน ได้เห็นการเลี้ยงดูเด็ก ถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา เด็กก็ต้องแสวงหาเอง อย่างเก่งก็ลูกจ้างในโรงงาน คนเราจะฉลาด ไม่ได้มาจากการสอนในระบบโรงเรียน มันต้องสะสมตั้งแต่เด็ก ก็คือ ฉลาดในตัวเองก่อน รู้จักใช้กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว การหัดคิด กระบวนการทุกอย่างทำให้เด็กฉลาดได้


ในช่วงวัยอนุบาล ให้ฝึกทักษะพื้นฐาน ในโรงเรียนดังๆ มีการสอนเด็กเล็กให้อ่านหนังสือ เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกอ่านหนังสือได้เร็วๆ ซึ่งจริงๆ แล้วการอ่านหนังสือ พ่อแม่สอนลูกได้เลย เพราะยังไงเราก็เก่งกว่าลูกวัยนั้น ครูก็แค่มาต่อยอด เพราะเด็กมีทักษะพื้นฐานการดำเนินชีวิตในความเป็นมนุษย์มาแล้ว การมาโรงเรียนเป็นทางลัด และเด็กก็ต้องมีกระบวนการทดลองด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่การศึกษาไทยทำคือ สอนแล้ว...สอบ



เด็กไม่พัฒนาตัวเองในหลายด้าน เพราะปัญหาการเลี้ยงดู ?

     ตามเทรนด์แล้ว มีสถิติยืนยันว่า เด็กไทยไอคิวต่ำลง ทุกปี ในต่างประเทศ รัฐบาลตั้งเป้าเลยว่า เด็กของเขาไอคิวจะเท่าไหร่ แต่เด็กไทยไม่อาจตั้งเป้าได้เลย เมื่อไม่มีการตั้งเป้า ก็ไม่มีนโยบายสนับสนุน ปกติไอคิวเด็กดูจากอายุจริงกับอายุสมองต้องเท่ากัน ต้องไอคิวประมาณ 100 ตอนนี้ไอคิวประมาณ 89-91 แปลว่าต่ำกว่าอายุจริง 10 เปอร์เซ็นต์ ตามเกณฑ์แล้วยังไม่ถือว่าสติปัญญาไม่ดี แต่ถือว่าเป็นเด็กกลุ่มปัญญาทึบ


ปัญญาทึบเลยหรือคะ

อายุ 10 ขวบ แต่ยังคิดแบบเด็ก 8 ขวบก็ถือว่าปัญญาทึบ ถ้าพ่อแม่จะคาดหวังว่า เด็กอายุแค่นี้จะเข้าใจเหมือนเด็ก 10 ขวบ มันไม่ได้ เวลาจะสอนลูก ก็ต้องรู้ว่า ลูกอายุเท่าไหร่ ควรสอนแบบไหน ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ เด็กเป็นผู้ใหญ่ช้า สิ่งที่ตัดสินใจความเป็นผู้ใหญ่คือ ความคิดความเข้าใจต่อสิ่งรอบข้างเชิงนามธรรม ดังนั้นเวลาทดสอบไอคิวจะทดสอบเรื่องนี้ เพราะเป็นเป้าหมายสำคัญในการเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะได้เข้าใจกระบวนการคิด เรื่องเหตุผล เข้าใจกฎธรรมชาติ และรู้วิธีการดำเนินชีวิต ถ้าคุณบอกว่า ลูกอายุ 20 ปีบรรลุนิติภาวะ ไม่ใช่เลย หากลูกคุณสมองแค่ 17 ปี

ปัญหาครูไม่เข้าใจก็มีส่วนทำให้เด็กพัฒนาช้าลง ?

ครูก็สอนตามหลักสูตร ให้สอนอะไรก็สอน ถ้าพ่อแม่ไม่เติมให้เต็มก่อนเข้าโรงเรียน เด็กพร่องมา ขณะที่ลูกไม่พร้อม เด็กก็ไม่รับ เด็กบางคนอยู่อนุบาลปีที่ 3 ยังใส่เสื้อผ้าไม่ได้ กินข้าวเองไม่ได้ เพราะมีคนรับใช้ตามป้อนข้าว ถ้าเป็นอย่างนั้น เข้าประถมหนึ่งจะเรียนอะไรได้

เพราะพ่อแม่ทำทุกอย่างให้ลูก อยากให้ลูกสบาย ?

เอาแค่ปัญหาการพูดภาษาไทย ซึ่งเป็นการสื่อสาร เป็นกระบวนการการคิดทั้งหมด เมื่อพูดไปแล้ว คนอื่นจะเข้าใจเราหรือไม่ เมื่อคนอื่นพูด เราเชื่อเขาไหม คิดต่อได้ไหม ซึ่งตรงนี้เด็กไทยขาด เพราะเข้าใจภาษาได้ช้า พูดคำแรกตอนอายุ 11 เดือน ขณะที่เด็กฝรั่งพูดได้ตอนอายุ 8 เดือน พอเด็กอายุขวบครึ่ง เด็กฝรั่งจะมีตัวชี้วัดต้องพูดได้เกิน 150 คำ แต่เด็กไทยพูดได้เพียง 15 คำ เพราะพ่อแม่ไม่สอน คิดว่า เมื่อถึงเวลาเด็กจะพูดเอง มันไม่ได้ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องสอน ถ้าไม่สอนเด็กก็เรียนแบบสะเปะสะปะ ถ้ายังพูดไม่ได้ แม่พูดกับลูก แล้วลูกจะเข้าใจหรือ พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการพัฒนาเด็กตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปีสำคัญมาก แม้จะมีหนังสือเลี้ยงลูกออกมามากมาย แต่คนไทยไม่อ่านหนังสือ ดูแต่ทีวี แล้วถามว่าในทีวีมีอะไรที่สอนเด็กได้

ตามหลักการ เด็กก่อน 3 ขวบ ไม่ควรดูทีวี พ่อแม่ต้องไม่ดูทีวีด้วย เราเป็นมนุษย์ เราต้องเรียนจากมนุษย์ด้วยกัน ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นจริง ไม่ใช่สิ่งสมมติ ในทีวีเป็นสิ่งสมมติ ในวัยนี้ถ้าให้ลูกดูทีวี เด็กไม่อาจแยกแยะได้ว่า อะไรจริง หรือไม่จริง เด็กจะมีความสับสน ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่าง ตั้งแต่การพูด บุคลิกภาพ นิสัยใจคอ การดำเนินชีวิต เมื่อเด็กไม่ถูกสอน และพ่อแม่ไม่คิดว่าต้องเป็นต้นแบบ หวังแค่ว่า เลี้ยงๆ ให้โต เมื่อโตก็ส่งไปโรงเรียน ถ้าเป็นแบบนี้ เป็นการเลี้ยงแบบไม่มีคุณภาพ

พอไปถึงโรงเรียน ครูก็ถามว่า พ่อแม่ไม่สอนหรือ ครูก็มีหลักสูตรต้องทำ นี่คือประเด็นเรื่องความไม่ต่อเนื่องในการดูแลลูกตามวัย ความเข้าใจก็มีน้อย เอาง่ายๆ เลยเพื่อนหมอเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนที่นครราชสีมา เขาพยายามฝึกเด็กปลูกผักเองเ พื่อให้เด็กอยากกินผักที่ปลูก พ่อแม่เด็กเป็นชาวนาวิ่งมาหาครูใหญ่ แล้วบอกว่า ส่งลูกมาเรียนหนังสือนะไม่ได้ให้มาทำสวน แทนที่จะมาดูว่าลูกทำอะไร เด็กเรียนรู้จากการเติบโตของธรรมชาติ ถ้าเด็กเข้าใจวิธีการดำเนินชีวิต พอโตเป็นวัยรุ่น จะพูดกันง่าย แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่มีเวลา แต่มีเงินซื้อของเล่นให้ลูก ทำให้เด็กมีทัศนะต่อการดำเนินชีวิตที่ผิด

เมื่อพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลา จึงพยายามซื้อสิ่งของให้ คุณหมอมองเรื่องนี้อย่างไร?

ก็เราเป็นสังคมบริโภคนิยม เราคิดว่าการมีเทคโนโลยีคือความทันสมัย จริงๆ มันเป็นแค่เครื่องมือ แต่เราไปเชิดชูมันมากไป จึงมีปัญหาเรื่องการดูแลอารมณ์ตัวเอง โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น เด็กตีกัน ติดยา เพราะเด็กไม่เข้าใจตัวเอง และกำลังแสวงหา ถ้าพ่อแม่ไม่ใช่ต้นแบบที่ดี เด็กๆ ก็ไปเอาแบบอย่างดารานักร้อง แล้วคนกลุ่มนี้จะเป็นต้นแบบอะไร ถ้าเด็กอยากเป็นดารากันหมด แล้วใครจะปลูกข้าว ทำเสื้อผ้าให้เราใส่ อันนี้เป็นคุณค่าในสังคมที่เกี่ยวโยงกันหมด ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องการดูแลเล็ก เราก็มีส่วนทำให้สังคมแย่ลง

พัฒนาการเป็นตัวชี้วัดไอคิวอย่างไร

สมองเด็กไทยทำงานอย่างไร มีวุฒิภาวะเหมาะกับอายุหรือยัง ยกตัวอย่าง เด็กอัจฉริยะของเรากลายเป็นเด็กโง่ เพราะครูไม่เข้าใจ เด็กบางคนไม่เรียนหนังสือ ไม่ใช่เพราะโง่ แต่เขารู้แล้ว มีเพื่อนคนหนึ่งมีหลานอายุ 5 ปี แม่อ่านหนังสือกับลูกตั้งแต่เด็ก เด็กอยู่บ้าน ก็อ่านเอนไซโคลปีเดีย ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พอไปโรงเรียนครูให้ต่อจุด เด็กไม่ทำ เพราะอยากรู้เรื่องอื่นแล้ว แต่ครูไม่สอนจะให้ต่อจุดอย่างเดียว นี่เป็นเด็กอนุบาลนะ



ศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาทั้งหมด คุณหมอนำมาใช้ในการให้คำปรึกษาครูและพ่อแม่เด็กอย่างไร

ถ้าเราจะพัฒนาเด็ก เราต้องทำงานกับครู พ่อแม่และคนในองค์กร มีพ่อแม่จำนวนมากอยู่กับลูกทุกวัน แต่ไม่เข้าใจลูก คำถามเดี่ยวที่พ่อแม่ถามคือ ลูกดื้อจะทำอย่างไร ผู้ใหญ่ก็ตีความคำว่า ดื้อ คือไม่ทำตาม เด็กอายุเท่านี้ ถ้าลูกไม่เข้าใจก็ทำไม่ได้ หรือช่วงวัยที่กำลังทดสอบผู้ใหญ่ อย่างลูกไม่กินข้าวจะทำอย่างไร การกินข้าวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แสดงว่าคุณทำบางอย่างที่ทำให้ลูกคุณกินอย่างอื่น คุณต้องแก้ไข ถ้าคุณมีนมเต็มตู้เย็น และขนมมากมาย เด็กจะกินข้าวได้อย่างไร เพราะความปรารถนาดี แต่ไม่รู้ว่าเป็นโทษ สร้างนิสัยไม่ดี ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่กินข้าว ก็ให้อดสักสองมื้อ ลูกก็จะกินข้าวเอง อีกอย่างพ่อแม่ต้องสังเกตว่า ลูกใช้พลังงานด้านไหนมาก บางคนชอบคิด ชอบจินตนาการ บางคนใส่ใจเรื่องอารมณ์ ถ้าเป็นเด็กที่ใช้แรงเยอะจะไม่ค่อยใส่ใจคนอื่น เราก็ต้องฝึกให้เขาใส่ใจคนอื่นบ้าง ถ้าพ่อแม่แรงไม่ค่อยมาก จะสู้แรงลูกไม่ไหว จึงต้องรู้ว่า จะทำให้ลูกสมดุลได้อย่างไร



ถ้าจะแก้ไขปัญหาเด็กในระดับมหภาค มีคำแนะนำอย่างไร

คงแก้ไขได้ยาก เพราะระบบย่อยไม่ได้ถูกแก้ ยกตัวอย่างปัญหาครอบครัวแตกแยก จากข้อมูล มีจำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนแม่จะคลอดลูก คนที่เป็นพ่อทิ้งลูกแล้ว ปู่ย่าตายายต้องเลี้ยงแทน ซึ่งคนแก่จะดูแลเด็กลำบาก ขัดขว้างพัฒนาการในหลายด้าน เคยมีตัวอย่างเด็กสองขวบไม่ยอมเดิน เพราะยายอุ้มไว้ตลอด ส่วนพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลา ในช่วงได้อยู่กับลูก ก็ใช้เวลากับลูกให้เต็มที่ ไม่ใช่ทุกคนนั่งดูทีวี ครอบครัวไทยเป็นแบบนี้หมด พอลูกเป็นวัยรุ่น มีปัญหา คุณจะโทษใคร เพราะช่วงที่มีเวลาอยู่กับลูก คุณไม่อยู่ พอเด็กโตแล้วก็ไปอยู่กับเพื่อน คุณจะเรียกร้องให้กลับมาเป็นเด็กเล็กๆ อีก เป็นไปไม่ได้ และต้องบอกเลยว่า โรงเรียนไม่สามารถพัฒนาลูกคุณได้เต็มร้อย เพราะสอนตามหลักสูตร แล้วจะหาครูที่มีคุณภาพ ในประเทศไทยมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์



แก้ระบบใหญ่ไม่ได้ ?

ไม่ได้ ต้องกลับมาที่ครอบครัว เพราะตอนนี้สังคมไทยถูกกระตุ้นกิเลสในตัวเอง ให้ซื้อและซื้อ ต้องรอให้สังคมล่มสลายก่อน เป็นหนี้เป็นสิน เหมือนอาร์เจนติน่า ต่อไปคุณจะดำเนินชีวิตแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะทุกอย่างในประเทศเราเป็นของใครก็ไม่รู้



นอกจากเลี้ยงลูกให้พึ่งพาตัวเองได้น้อย การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ นี่คืออีกปัญหาหนึ่ง ?

ครอบครัวตะวันตกเลี้ยงลูกให้พึ่งพาตัวเอง ตั้งแต่เด็ก ปล่อยให้ลูกแสวงหา ถ้ามีปัญหา พ่อแม่ก็ช่วย พอพ่อแม่แก่เฒ่า ลูกก็มาดูแล แต่คนชราฝรั่งจะไม่ชอบอยู่กับลูก เพราะชอบอิสระ อยากไปเที่ยวไหนก็ไป ส่วนสังคมญี่ปุ่นสอนลูกเรื่องการทำงาน ระเบียบวินัย และจริยธรรมจะเน้นมาก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าสังคมญี่ปุ่นเครียด เพราะอยู่ในระเบียบ แต่ด้านหนึ่งก็ดี ส่วนสังคมไทยเป็นสังคมสบายๆ ทรัพยากรเยอะ เมื่อเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ความเป็นเมืองต้องการระเบียบวินัยมาก ถ้าอย่างนั้นคนที่ด้อยโอกาสจะถูกเอาเปรียบ เราสนใจเรื่องการพัฒนาตึก ถนน แต่ไม่วางฐานเรื่องการดำเนินชีวิต วินัยของครอบครัว ความเอื้อเฟื้อแบบคนไทย
แม้จะมีความทันสมัย แต่ต้องรู้ว่าเทคโนโลยีเราไม่ได้ผลิตเอง ซื้อเข้ามา จึงไม่แปลกที่บางคนเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุกเดือน เพราะคนไทยปรับตัวในเชิงวิถีชีวิตไม่ทัน เราไม่เตรียมรับกับการเป็นสังคมเมือง ในชนบทก็เอาวิถีชีวิตแบบเมืองเข้าไปใส่ เห็นขยะเกลื่อนไปหมด นี่คือปัญหาการบริหารประเทศ คือ ใช้นิสัยแบบไทยเดิม ทิ้งขยะไปทั่ว และตอนนี้ไม่ใช่แค่ขยะใบตองเหมือนสมัยก่อน แต่เป็นขยะพลาสติก



ในอนาคต ดูเหมือนจะฝากความหวังไว้กับเด็กไทยได้ยากยิ่ง ?

ไม่มีอนาคต ลำบากแน่ ยิ่งเราตามเทคโนโลยีเร็วเท่าไหร่ แล้วเราไม่พร้อม เราจะกลายเป็นผู้บริโภคที่ไม่มีวิจารณญาณ ถามว่าเด็กไทยอายุ 20 ปีแต่อายุสมอง 17 ปี การตัดสินใจในการเลือกซื้อของ ถ้ามีเงินร้อยบาท คุณจะซื้ออะไร ก็ต้องซื้อของที่มีประโยชน์และจำเป็น แต่ถ้าซื้อของโดยไม่มีวิจารณญาณ เงินที่ได้มาก็ไม่เกิดประโยชน์



มองลบเกินไปหรือเปล่าคะ

ก็ไม่ลบ ลองดูเทรนด์สิ ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่รับเทคโนโลยีเข้ามาโดยที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง จะมีปัญหามาก ยิ่งเปิดรับเทคโนโลยีเสรีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเหยื่อของคนที่แสวงหากำไร โดยที่ไม่ได้แยกแยะว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กของเรา

สังคมไทยกำลังเดินไปสู่จุดนั้น ?

แน่นอน นี่ยังไม่ได้พูดถึงภัยพิบัตินะ ถ้าเกิดอะไรขึ้น จะมีเด็กสักกี่คนดูแลตัวเองได้ ถ้าตกไปอยู่กลางเกาะ หุงข้าวไม่เป็น จะทำอย่างไรให้อยู่รอด พ่อแม่ทุกคนควรถามตัวเอง ถ้าไม่ได้เลี้ยงลูกให้พึ่งตัวเอง วันหนึ่งพลัดพรากจากกัน ลูกจะดูแลตัวเองได้ไหม รู้ไหมว่า ผักชนิดไหนกินได้หรือกินไม่ได้ หรือเลี้ยงลูกมายี่สิบปี ได้เกียรตินิยมแล้วกระโดดตึกตาย แบบนี้เอาไหม คนเราต้องฉลาดทุกส่วน คิดเป็น ไม่เบียดเบียนคนอื่น


ดังนั้นพ่อแม่ต้องรู้ความสามารถลูก ตรงไหนขาดต้องช่วย ตรงไหนเก่งต้องเสริม อย่าไปใช้ทัศนคติของเราเป็นตัวตัดสิน ปัญหาใหญ่ของพ่อแม่คือ อคติของตัวเอง ต้องยอมรับความเป็นธรรมชาติของลูก เด็กบางคนมีความเก่งอย่างหนึ่ง แต่พ่อแม่ไม่ยอมรับ ยกตัวอย่างการเป็นสถาปนิกที่เก่ง ไม่ได้ใช้แค่วิชาที่เรียน แต่ใช้วิชาความเป็นมนุษย์ รู้จักอารมณ์ของมนุษย์ ธรรมชาติของสี แสง และรูปทรง เรื่องพื้นฐานพวกนี้ต้องสอนตั้งแต่เด็กเรียกว่ามิติสัมพันธ์ ซึ่งเป็นฐานคณิตศาสตร์ แต่เราสอนคณิตศาสตร์แบบที่เด็กไม่ชอบ สอนให้ท่อง ทั้งๆ ที่เป็นวิชาในชีวิตประจำวัน แต่ถูกแปลงจากรูปธรรมเป็นสัญลักษณ์ เราไปเน้นสัญลักษณ์ท่องสูตร ทำให้เด็กไม่เข้าใจ ถ้าเราสอนเป็น ทำให้เด็กคุ้นเคยกับรูปทรง สี พื้นผิว เมื่อเด็กเรียนรู้มาถึงจุดหนึ่งจะแปลงเป็นสัญลักษณ์ได้เอง พ่อแม่บางคนสอนเด็กด้านศิลปะ ดนตรี พอมาเรียนในโรงเรียน เขาจะเก่งกว่าเด็กคนอื่น



เด็กๆ ขาดการเรียนรู้เรื่องมิติสัมพันธ์อย่างไร ?

ขาดทุกเรื่อง ก่อนจะมาถึงจุดนั้น เด็กต้องรู้จักใช้กล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัสทั้ง 6 ต้องดี แต่เราจะสอนแค่สัมผัสทางตาและหู อย่างอื่นเราไม่สนใจ เด็กเล็กๆ ต้องสอนให้ลงมือทำ ดู ชิม ความรู้สึกภายในเป็นอย่างไร เมื่อโตขึ้นเขาจะค่อยๆ แปลงข้อมูลเหล่านี้เป็นนามธรรม เพราะมนุษย์เรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ เด็กไม่ได้เรียนรู้จากการสั่งสอน จริงๆ แล้วเด็กแอบดูพ่อแม่ทุกวัน พ่อพูดแบบนี้ แต่ทำอีกแบบ แล้วลูกจะเชื่อไหม เราจะเรียนรู้มากที่สุดเวลาที่เราไม่รู้ตัว มันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์



นั่นหมายถึงพ่อแม่ก็ต้องมีวุฒิภาวะด้วย ?

อย่างเรื่องสมอง ก็ต้องดูด้วยว่า ที่เราทำแบบนี้ บางครั้งเกิดจากภาวะเซลล์ที่มีปฎิกิริยากัน เพราะเซลล์มีเกิดตายตลอดเวลา มันก็เห็นอนิจจังในการเปลี่ยนแปลงร่างกายอยู่แล้ว ถ้าศึกษาลงไปถึงจุดเล็กๆ ก็คือการศึกษาธรรมะ และธรรมะก็คือธรรมชาติ การศึกษาร่างกายของมนุษย์ ก็คือ การศึกษาธรรมชาติ อยู่ที่ว่าเราปฎิบัติอย่างไร การที่เรานั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็เพื่อให้จิตเราได้พัก ได้เห็นตัวตนข้างในมากขึ้น
Credit: http://newsupdate.sayhibeauty.com/2016/02/blog-post_693.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...