http://www.komkid.com/ประวัติศาสตร์สังคม
เรื่องของเกี๊ยะ
เกี๊ยะเป็นรองเท้าแตะที่ทำจากไม้ เสียงของเกี๊ยะ เวลาเดินจะกระทบพื้นดังก๊อกแก๊ก เป็นเอกลักษณ์ทว่าเบื้องหลังของรองเท้าไม้นี้ มีเรื่องราวสะเทือนใจซ่อนอยู่
ในยุคชุนชิว หรือยุคสงครามระหว่างรัฐ (770 ปีก่อน ค.ศ. – 453 ปี ก่อน ค.ศ.) ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออกของจีน ในยามนั้น อำนาจกษัตริย์อ่อนแอ ทำให้แว่นแคว้นต่างๆของจีนซึ่งมีมากกว่าพันแคว้นรบราฆ่าฟันกันเองเพื่อชิงความเป็นใหญ่
ในเวลานั้น แคว้นจิ้นเป็นแคว้นใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุดในภาคกลางของจีน ในสมัยที่จิ้นเซี่ยนกงปกครองแคว้นจิ้น ก็ได้ส่งกองทัพบุกเข้ายึดแคว้นใกล้เคียงได้หลายแคว้น จนครั้งหนึ่งจิ้นเซี่ยนกงได้สาวงามนามว่า ลี่จี มาจากแคว้นหนึ่งที่พิชิตได้
จิ้นเซี่ยงกงหลงใหลนางลี่จีเป็นอันมากและมีบุตรชายด้วยกัน หนึ่งคน นางลี่จีต้องการให้บุตรของนางได้เป็นเจ้าแคว้น จึงวางแผนกำจัดบุตรคนอื่นๆของจิ้นเซี่ยนกง โดยนางได้ใส่ร้ายบุตรชายคนโตของจิ้นเซี่ยนกง จนทำให้เขาต้องฆ่าตัวตาย ส่วน อี๋อู๋ และฉงเอ่อ บุตรชายอีกสองคนรู้ว่าหากยังอยู่ในเมืองต่อไป อาจถูกนางลี่จีใส่ร้ายจนตาย จึงแยกย้ายกันหนีออกจากเมือง พร้อมคนสนิทไม่กี่คน
มีครั้งหนึ่ง ในระหว่างเดินทางไปขอลี้ภัยยังเมืองอื่น ฉงเอ่อกับลูกน้องที่ติดตามขาดแคลนเสบียงอาหารจนต้องไปเก็บใบไม้ใบหญ้ามาต้มกิน
ฉงเอ่อที่เริ่มท้อใจได้รำพันถึงชะตากรรมของตนอย่างหมดกำลังใจ ในยามนั้น มีลูกน้องคนหนึ่ง นาม จี้สี่ติ้ว ได้ยินผู้เป็นนายท้อใจและอ่อนล้า จึงเชือดเนื้อที่ต้นแขนของตน ปรุงเป็นน้ำแกงให้เจ้านาย ซึ่งฉงเอ่อก็กินจนหมด และเมื่อรู้ว่าเนื้อนั้นเป็นเนื้อของจี้สี่ติ้วก็ตกใจและซาบซึ้งในความภักดีของอีกฝ่ายเป็นอันมาก
สิบเก้าปีต่อมา ฉงเอ่อได้กลับคืนสู่อำนาจ ขึ้นเป็นเจ้าครองแคว้น นาม จิ้นเหวินกง และได้ปูนบำเหน็จให้ผู้มีความชอบทั้งหลาย โดยเฉพาะเหล่าบริวารที่เคยติดตามเมื่อครั้งที่ตนยังลี้ภัย ทว่าจี้สี่ติ้วกลับไม่ยอมอยู่รับบำเหน็จเป็นขุนนางเพราะต้องการใช้ชีวิตสันโดษ จึงพามารดาหนีขึ้นภูเขา
จิ้นเหวินกงส่งกองทหารไปเชิญแต่หาไม่พบ เหล่าขุนนางจึงเสนออุบายให้จุดไฟเผาป่ารอบภูเขาสามด้าน เพื่อให้จี้สี่ติ้วหนีออกมาทางด้านที่ไม่มีไฟไหม้ ทว่าไฟกลับลามไปเร็วเกินคาด จนไหม้ไปทั้งภูเขา
หลังไฟมอด จิ้นเหวินกงสั่งให้ทหารออกค้นหาและพบร่างของจี้สี่ติ้วและมารดาเสียชีวิตอยู่ใต้ต้นหลิว โดยมีตัวอักษรจารึกด้วยเลือดไว้ที่ต้นไม้ว่า
“ที่ข้าพเจ้าตัดเนื้อของตนให้นายท่านกิน ก็ด้วยหวังให้นายท่านมีกำลังเรี่ยวแรง เพื่อวันหน้า ท่านจะได้เป็นเจ้าแคว้นที่ทรงคุณธรรม
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การตายใต้ต้นหลิวดีกว่าการได้เป็นขุนนางมากนัก
ข้าแต่ท่านเจ้าแคว้น หากข้าพเจ้ายังคงอยู่ในใจของท่าน ก็ขอให้ท่านหมั่นตรวจสอบตัวตนของท่านให้อยู่ในความถูกต้อง ทุกครั้งที่ระลึกถึงข้าพเจ้า
การที่ข้าพเจ้าต้องตายในครั้งนี้ หาได้เสียใจไม่ ขอเพียงนายท่านเป็นประมุขที่ดี ทรงคุณธรรม ปกครองปวงประชาให้อยู่เย็นเป็นสุข ก็เพียงพอแล้ว”
จิ้นเหวินกงถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อเห็นสาส์นี้ และมีบัญชาให้ทำศพของจี้สี่ติ้วกับมารดาอย่างดีที่สุดพร้อมทั้งสั่งให้ประชาชนห้ามจุดไฟทำอาหารในวันครบรอบวันตายของจี้สี่ติ้ว จนกลายธรรมเนียมวันอาหารเย็น(วันหานซื่อ)เนื่องจากในวันนี้อาหารที่รับประทานจะปรุงโดยไม่ใช้ไฟ
นอกจากนี้ จิ้นเหวินกงยังให้คนตัดต้นหลิวที่พบศพของจี้สี่ติ้ว มาทำรองเท้า เพื่อให้ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงรองเท้าไม้กระทบพื้น ท่านจะได้ระลึกถึงความดีและคำขอสุดท้ายของจี้สี่ติ้วตลอดไป
จิ้นเหวินกงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประมุขของแคว้นผู้ทรงคุณธรรม ในยุคของท่าน เหล่าประชาชนแคว้นจิ้นล้วนมีความสุขและบ้านเมืองก็รุ่งเรือง นับได้ว่า จิ้นเหวินกงมิได้ลืมเลือนคำขอสุดท้ายของจี้สี่ติ้ว ผู้ภักดีและนี่ก็คือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังรองเท้าไม้ที่เรียกว่า “เกี๊ยะ”