เลียะพะ จากกำปั้นถึงอั้งยี่สยาม

ครั้งหนึ่งตอนข้าพเจ้าเรียนอยู่ ม.3 เพื่อนสนิทข้าพเจ้าได้เล่าถึงที่มาของต้นตระกูลว่า ตอนอยู่เมืองจีน บรรพชนได้ใช้เลียะพะพลั้งมือทำร้ายคนจึงหนีมายังเมืองไทย นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ยินคำว่า “เลียะพะ (掠打)”

ภายหลังเมื่อข้าพเจ้าโตเป็นหนุ่มก็ได้ยินเรื่องเลียะพะอีกจากคำเล่าของลุงเรื่องนายยัง หาญทะเล ประลองกับจี่ฉ่าง และพอได้เห็นภาพถ่ายชุดเหตุการณ์ประลอง ครั้งนั้นก็มีเรื่องน่าค้นหาหลายอย่าง ลองเปิด ตำราดู ลองมองเรื่องราวผ่านกระจกชาวจีนดูก็พบเรื่องเล่า สนุกๆ นอกคำ เล่าขานคนในยุคนั้น ทั้งที่มาของเลียะพะ ทั้งชื่อมวยจีนที่ไม่มีใครกล่าวถึง ทั้งความเกี่ยวพันกับสมาคมลับในกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล หรือที่เรียกกันว่าอั้งยี่

และเมื่อมาถึงวันนี้ก็เชื่อว่ามีชาวไทยไม่น้อยที่ยังติดอกติดใจกับการชกระหว่างยอดมวยไทย บัวขาว บัญชาเมฆ กับอี้ หลง ยอดกังฟูแห่งเส้าหลินเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จึงขอนำเรื่องราวของมวยจีนบนแผ่นดินไทยมานำเสนอต่อแฟนานุแฟนให้รู้ลึกรู้จริงกันไปเลย

 
ภาพการประลองมวยคู่หนึ่งมีนายเกี้ยเหลียนอยู่ทางขวา.

คำว่า “เลียะพะ” มาจากสองคำคือ เลียะ (掠)-คว้าแย่ง และ พะ (打)-ตี

ในไทยสื่อความหมายถึงมวยจีน โดยเฉพาะมวยจีนใต้ที่ชำนาญการใช้หมัด จึงถนัดท่าคว้าจับและตีสั้น คำว่าเลียะพะจึงมีที่มาจากจุดเด่นของมวยนี้

ตำรามวยใต้ไม่มีเล่มใดใช้คำว่า เลียะพะ ชาวจีนเรียกมวยจีนว่า อู่ซู่ หรือที่คุ้นกันว่า วูซู นั่นเอง แต่ปัจจุบันคำว่าวูซูนี้ก็มักหมายถึงกีฬาวูซูที่แข่งขันกันด้วย ทั้งนี้ ชาวจีนใต้เรียกมวยตนเองว่า หนานฉวน หรือ น่ำคุ้ง ในสำเนียงแต้จิ๋ว

ส่วนชาวฮกเกี้ยนมีคำเรียกมวยตนเองว่า กุ๊นโต่ว หรือ กุ๊นเถา เป็นมวยที่แพร่หลายกันทางแหลมมลายู บอร์เนียวจนถึงฟิลิปปินส์ ว่ากันว่าการที่กุ๊นเถาตกทอดมาถึงคนทางแถบมลายู ชวานั้นมีที่มาจากสมัยเจิ้งเหอออกผจญภัยทางสมุทรในยุคราชวงศ์หมิง (ตรงกับสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราชแห่งอยุธยา)

ส่วนคำว่า กังฟู แปลว่า ความสามารถอันมาจากการฝึกฝน แต่มักสื่อประหวัดถึงมวยจีน แท้จริงแล้วกังฟูคือส่วนหนึ่งของอู่ซู่หรือมวยจีน

 
หวงเฟยหงไหหลำ ว่องบุนจอ

ดังนั้น เลียะพะ จึงเป็นคำจีนสยาม ในจีนไม่มีคำนี้ แต่เป็นคำจีนที่ใช้กันในไทยเท่านั้น

เรื่องเลียะพะที่ดังมากๆนั้นเกิดขึ้นในสมัย ร.6 เมื่อนายยัง หาญทะเล ขึ้นประลองมวยกับผู้ฝึกเลียะพะอยู่ 2 คนคือ นายจี่ฉ่าง จากฮ่องกง และนายไล่หู (บันทึกจีนชื่อว่า ไล่เถี่ยหู) จากฮกเกี้ยน

ไม่มีบันทึกใดระบุว่าจี่ฉ่างหัดมวยสำนักใด เพียงบันทึกว่าจี่ฉ่างใช้หมัดตานกอินทรี ในทางจีนเรียกวิธีกำหมัดให้ข้อนิ้วชี้ยื่นออกมาว่า หมัดตาหงส์

ในมวยใต้ทางแถบกวางตุ้งมี มวย 5 ตระกูลใหญ่ 13 มวยดัง 5 หมัดตระกูลใหญ่ ได้แก่ มวยตระกูลหง หลิว ไช่ หลี่ และม่อ ส่วน 13 มวยดัง ได้แก่ มวยไช่หลี่ฝอ มวยสกุลเซี่ย มวยมังกร มวยหย่งชุน มวยคิ้วขาว มวยหนานจื่อ มวยสกุลหยู มวยสกลุฝอ มวยสกุลเตียว มวยสกุลจู มวยสกุลเย่ มวยคุนลุ้น และมวย เหลี่ยนโส่ว

 
นายไล่เถี่ยหูคนซ้ายกำลังตั้งท่า กับนายยังคนขวา.

ส่วน ไล่เถี่ยหู เป็นชาวฮกเกี้ยน ว่ากันว่ามือของไล่เถี่ยหูแข็งมากถึงกับป่นหินได้ สอดคล้องกับมวยพื้นถิ่นทางฮกเกี้ยนที่เป็นแนวทางแข็งกร้าว โดยมากนั้นมวยทางฮกเกี้ยนที่นิยมฝึกกันคือ มวยรูปสัตว์ อย่างมวยกระเรียน มวยพยัคฆ์ มวยมังกร มวยมัจฉา มวยไก่ มวยกระทิง เป็นต้น แม้ไม่อาจระบุชี้ชัดได้ว่าเป็นมวยสายใดก็ตาม แต่สันนิษฐานจากการตั้งท่าคลับคล้ายกับมวยหนึ่งในฮกเกี้ยนมากคือ มวยเบญจบรม หรือ งอโจกุ๊น ในสำเนียงฮกเกี้ยน มวยนี้ได้ผสมผสานมวย 5 สายเข้าด้วยกันคือ มวยตั๊กม้อ มวยไท่โจ้ว มวยกระเรียน มวยลิง มวยอรหันต์

ท่ายกหมัดขึ้นเสมอหน้า มืออีกข้างยกขวางอก เป็นท่าเอกลักษณ์ของมวยเบญจบรมเรียกว่า ท่าเชิญ

ทั้งนี้ ยังมีการประลองมวยอีกคู่หนึ่งคือ ประลองกับ นายเกี้ยเหลียน (บันทึกจีนชื่อว่า ลิ้มเกียเหลียน) จากไหหลำ ชาวไหหลำเรียกมวยตนเองตามคำพื้นถิ่นว่า มวยเข่งผ่าย หรือมวยมณฑลเข่ง (เข่งคือชื่อเก่าของมณฑลไหหลำ เรียกกันมาตั้งแต่สมัยถัง) มีพื้นฐานจากมวยทางกวางตุ้งและกวางสีท่วงท่าสง่างาม เน้นท่าชูแขนสูง ย่อขาสั้นเตะถีบต่ำมั่นคง ถือหลัก “อ่อนชกดีกว่าอ่อนยืน”

 
อาจารย์วี (Florendo M. Visitacion) ปูชนียบุคคลของมวยกุ๊นเถา.

มวยสายเข่งผ่ายนี้มีผู้โด่งดังมากท่านหนึ่งฝีมือเยี่ยมจนได้ผู้คนขนานนามว่า “หวงเฟยหงไหหลำ ว่องบุ่นจอ” ในสมัยหนุ่มเดินทางออกจากเกาะไหหลำไปถึงฮกเกี้ยน ติดตามร่ำเรียนวิชาจาก หลวงจีนเส้าหลินใต้นาม
เถี่ยผาจื่อ สิบกว่าปีหลังจากนั้นก็กลับมาตุภูมิ ในปี พ.ศ.2479 ได้เดิน ทางมาเมืองไทยคบหาสนิทสนมกับนักมวยไทยยุคนั้น

ในประวัติศาสตร์สยามนั้น ผู้ฝึกเลียะพะไม่ได้มีแค่นักมวยขึ้นประลองเท่านั้น แต่เหตุจลาจล ในสยามเราก็มีเรื่องราวผู้ฝึกเลียะพะก่อความวุ่นวายอยู่ด้วยเช่นกัน

ช่วงรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนอพยพมาไทยจำนวนมากเพราะในจีนเกิดจลาจลวุ่นวาย มีชาวจีนหลายกลุ่ม ทำมาหากินอยู่ในแดนสยาม บ้างโดนชาวพื้นเมืองรังแก บ้างถูกเจ้าภาษีนายอากรเบียดเบียน ดังนั้นจึงหันไปพึ่งอำนาจมืดนอกกฎหมายอย่างอั้งยี่ อั้งยี่พวกนี้มักเป็นเลียะพะ ใช้ก่อเหตุวิวาทกับคนอื่นบ่อยๆ

 
มวยใต้ (น่ำคุ้ง)

อั้งยี่ก็เป็นคำจีนสยามที่จีนไม่ใช้เช่นเดียวกับเลียะพะ คำว่าอั้งยี่หรือหงจื้อในสำเนียงจีนกลางแปลว่า อักษรแดง ชาวจีนเรียกอั้งยี่ว่า อั้งมึ้ง คำหน้าออกเสียงเหมือนกันว่า “อั้ง” แท้จริงมาจากชื่อรัชกาลปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิงว่า อั้งบู๊ เมื่อชาติจีนล่มสลายโดนชาวแมนจูยึดครองจึงมีพรรคใต้ดินกู้ชาติถืออุดมการณ์โค่นชิงกู้หมิงจึงใช้คำว่า “อั้ง” อันสื่อถึงอั้งบู๊ ฮ่องเต้ของชาวจีนเป็นชื่อพรรคในสมาคมลับจำนวนนี้ก็มีชื่อ พรรคอั้งปัง คำว่าอั้งยี่จึงมีที่มาจากเช่นนี้

เดิมอั้งยี่ในจีนคือสมาคมลับที่มีปณิธานโค่นชิงกู้หมิง ต้นกำเนิดมาจากการรวมตัวของกบฏชาวนา อั้งยี่จึงไม่ใช่แค่กลุ่มคน แต่เป็นวัฒนธรรมการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้ความไม่เป็นธรรมของชาวจีนด้วย เมื่อตนไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะรวมตัวกันขึ้นเป็นสมาคมลับต่อต้าน

 
ท่าเชิญของมวยเบญจบรม.

ต่อมารูปแบบสมาคมลับนี้ก็แพร่หลายในกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล คนจีนที่มาอยู่ก่อนหาประโยชน์จากคนจีนโพ้นทะเลที่เพิ่งมาทีหลัง ดังนั้นจึงมีพ่อค้าหัวใสรับชาวจีนอพยพที่ท่าเรือมาเป็นกรรมกรของตน ให้งานให้ความคุ้มครองต่างๆ นานวันเข้าก็มีอิทธิพลเป็นเจ้าพ่อกลุ่มคนจีนแต่ละพวกไป เกิดเป็นอั้งยี่คอยรักษาผลประโยชน์กลุ่มตน บางครั้งจึงก่อเหตุจลาจลกับอั้งยี่กลุ่มอื่นเพราะแย่งผลประโยชน์กัน ดังนั้นการรวมตัวชาวจีนเป็นอั้งยี่ในสยามจึงไม่เกี่ยวกับปณิธานโค่นชิงกู้หมิงที่มีแต่เดิมเลย

แม้อั้งยี่จะถูกปราบได้ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ก็เกิดสมาคมลับขึ้นอีกครั้งในช่วงสมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรุกรานจีน ในไทยมีการปลุกกระแสต่อ ต้านญี่ปุ่นในหมู่ชาวจีนเกิดขบวนการ “ฮั่วเคี้ยวตี่คั่ง ยี่ปึ๊ง” แปลว่า “จีนโพ้นทะเลต่อต้านญี่ปุ่น” หรือเรียกกันย่อๆว่า “ฮั่งคั่ง”

ฮั่งคั่งประกาศห้ามคนจีนติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด หากสืบทราบว่าพ่อค้าจีนคนใดฝ่าฝืน ขบวนการฮั่งคั่งจะส่งจดหมายไปเตือน หากเตือนแล้วไม่เชื่อจะส่งมือสังหารไปปลิดชีวิต

 
กังฟูเส้าหลินในปัจจุบัน.

อาวุธปืนเป็นของหายากเพราะอยู่ในช่วงสงคราม มือสังหารได้หันมาใช้กรรไกรแกะขาออกมาข้างหนึ่ง แล้วเอาริบบิ้นสีแดงเขียนอักษรจีนด้วยหมึกดำว่า “ฮั่งคั่ง” ไปดักสังหารเหยื่อตามคำสั่ง จากนั้นก็มีคดีมือสังหารออกเสียบท้องชาวจีนที่ค้าขายกับญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้งด้วยกรรไกรขาเดียว

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการปราบปรามจีนชาตินิยม ตอนนั้นมีคำเรียกคนกลุ่มจีนชาตินิยมนี้ว่าเลียะพะ ครั้งหนึ่งคนกลุ่มนี้ได้ทำร้ายคนจนเกิดเหตุปะทะระหว่างตำรวจและกลุ่มจีนชาตินิยมที่เยาวราช

เนื่องจากมีการปลุกใจด้วยการใช้คำขวัญว่า ชาติฮั่นผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อชักจูงคนพรรคก๊กมินตั๋งในไทย เร่งระดมเอาคนจีนคลั่งชาติ อันธพาล รวมถึงพวกที่เคยร่วมในขบวนการ “ฮั่งคั่ง” ให้ก่อการร้ายด้วยการเลียะพะ ตอนนั้นชาวจีนพวกนี้ก่อความวุ่นวายถึงขนาดปิดเยาวราช เจริญกรุง หัวลำโพง บางรัก บางลำพู สำเพ็ง สามย่าน ฯลฯ เพื่อยิงกับเสรีไทยบางส่วน

ฝ่ายจีนเที่ยวจับคนไทยมาซ้อมตีเล่นด้วยเลียะพะ จนคนไทยหนีหายไปจากย่านที่คนจีนอาศัยอยู่ คนจีนยิ่งได้ใจคว้าปืนขึ้นตึกสูงตามย่านชุมชนยิงลงมาใส่กลุ่มคน เช่น ตึกโรงหนังเทียนกัวเทียน ถนนเยาวราช ตึกตั้งโต๊ะกัง ถนนพระยาไพบูลย์สมบัติ ตึกโรงพยาบาลกว๋องสิว ถนนเจริญกรุง

ตอนนั้นรัฐบาลไทยต้องใช้ตำรวจสนามและนิสิตนักศึกษาที่รักชาติมารวมกันในชื่อ กรมสารวัตรทหาร การต่อสู้ที่ดุเดือดที่สุดอยู่ที่บริเวณสถานี รถไฟหัวลำโพง โดยพวกเลียะพะยึดตึก 3 ชั้นข้างโรงภาพยนตร์กรุงเกษม บริเวณริมคลองกรุงเกษม แล้วตั้งปืนกลกระบอกหนึ่งยิงลงมาใส่ผู้คน

ขณะนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีหนุ่มเลือดเสรีไทย วิ่งฝ่าห่ากระสุนที่ยิงลงมาจากยอดตึก เข้าไปบัญชาการให้ทหารบกนำรถถังออกปราบ

พวกเลียะพะมีอยู่ไม่มาก ชาวจีนส่วนใหญ่รักสงบไม่ยอมร่วมมือด้วย ทั้งรัฐบาลไทยส่งกำลังปราบปรามจริงจัง ในที่สุดเหตุการณ์ก็ยุติในไม่กี่เดือน

วิทยายุทธ์มีไว้ผดุงคุณธรรม เมื่อไร้ธรรมก็ปิดฉากเลียะพะโดยสมบูรณ์.


โดย : ฮ.ศุภวุฒิ จันทสาโร ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน

Credit: http://www.thairath.co.th/content/504852#
1 ก.พ. 59 เวลา 00:39 2,268
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...