เรือดำน้ำ ลำแรกของโลกกลางสมรภูมิ

เรือฮันลีย์ เป็นเรือดำน้ำลำแรกของโลกที่สามารถจมเรือรบข้าศึกในสมรภูมิได้ การทำงานของมันแสดงให้เห็นถึงประโยชน์และอันตรายของการรบใต้ท้องทะเล อีกทั้งการออกปฏิบัติการของฮันลีย์คือจุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาตร์ใหม่แห่งการทำยุทธนาวีของโลก

การโจมตีใต้น้ำปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปีที่ 413 ก่อน ค.ศ. ในการรบที่ไซราคิวส์ ระหว่างสงครามเพโลปอนเนเชียน โดยมีการส่งนักประดาน้ำเข้าเก็บกวาดขวากทำลายใต้น้ำ เพื่อเปิดทางให้กองเรือรบ จากนั้นได้มีการใช้งานนักประดาน้ำในสงครามทางเรืออีกหลายครั้ง

 

 

ในช่วงศตวรรษที่ 16 ในตะวันออกกลาง ได้มีเผยแพร่ภาพวัตถุดำน้ำรูปร่างคล้ายระฆังของชาวมุสลิม ต่อมาใน ค.ศ. 1578 ชาวอังกฤษได้ออกแบบเรือดำน้ำที่สามารถใช้งานได้ขึ้นเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามเรือดำน้ำลำแรกของโลกถูกสร้างขึ้นจริงในปี ค.ศ. 1605 ส่วนเรือดำน้ำที่ดำน้ำได้จริงๆ สร้างสำเร็จในปี ค.ศ.1620 โดย คอเนเลียส จาคอปซูน เดรบเบิล ซึ่งเป็นชาวดัตช์ที่รับราชการในกองทัพของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยทดลองดำน้ำเป็นครั้งในแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน

นับแต่ศตวรรษที่ 16 ได้มีการสร้างเรือดำน้ำขึ้นอีกหลายครั้งในหลายชาติ แต่ไม่มีลำใดที่เข้าทำการรบและสมารถจมเรือข้าศึกได้ กระทั่งถึงปี ค.ศ. 1863 ซึ่งเป็นปีที่สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกากำลังมาถึงจุดเข้มข้น

ในตอนนั้น กองเรือฝ่ายสหพันธรัฐ (ฝ่ายเหนือ)ได้เข้าปิดล้อมอ่าวเมืองชาร์ลสตัน ในรัฐแคโรไลน่าใต้เพื่อต้องการตัดเส้นทางลำเลียงของฝ่ายสมาพันธรัฐ (ฝ่ายใต้) ทำให้กองทัพของฝ่ายสมาพันธ์ประสบปัญหาด้านการส่งกำลังบำรุง พวกเขาจึงหาวิธีทำลายการปิดล้อมนี้

กองทัพเรือฝ่ายสมาพันธ์ได้ให้วิศวกรนามว่า โฮเรซ ลอว์สัน ฮันลีย์ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและสร้างอาวุธลับชนิดใหม่เพื่อใช้ในการนี้ ซึ่งสิ่งที่เขาสร้างขึ้นก็คือ เรือดำน้ำ ซึ่งถูกตั้งชื่อตามวิศวกรผู้สร้าง ว่า ฮันลีย์

 

โฮเรซ ลอว์สัน ฮันลีย์

เรือฮันลีย์มีความยาว 12 เมตร ขับเคลื่อนโดยใช้แรงคนในการปั่นเฟืองหมุนใบจักรเรือ ลำเรือมีขนาดเล็ก มีเนื้อที่พอให้คนเข้าไปนั่งได้ เรือถูกสร้างขึ้นในรัฐแอลาบามาและลงน้ำครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1863 โดยประสบผลสำเร็จในการทดลองจมเรือท้องแบนขนถ่านหิน จากนั้นโดยคำสั่งของพลเรือเอก แฟรงคลิน บูคาแนน ผู้บัญชาการทัพเรือฝ่ายใต้ ก็ได้มีการนำเรือฮันลีย์ขึ้นรถไฟมุ่งหน้าไปยังเมืองชาร์ลสตันเพื่อเข้าสู่สมรภูมิ

 

เรือฮันลีย์

หลังเรือฮันลีย์มาถึงชาร์ลสตัน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1683 เรือโท จอห์น เอ เพนีย์ ได้รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเรือ พร้อมลูกเรืออีกเจ็ดคน ทว่าในการดำน้ำครั้งแรกของพวกเขาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เรือเกิดอุบัติเหตุจมลงไปอีก หลังขึ้นผิวน้ำแล้ว โดยที่ฝาครอบยังเปิดไว้ เพนีย์และลูกเรือสองคนหนีรอดออกมาได้ทัน ส่วนอีกห้าคนจมลงไปกับเรือและเสียชีวิต

ต่อมา ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ฮันลีย์ วิศวกรผู้สร้างได้อาสาเป็นผู้บัญชาการเรือ โดยมีทหารเจ็ดนายเป็นลูกเรือ ทว่าเกิดความผิดพลาดหลังจากดำแล้วเรือไม่ยอมขึ้นสู่ผิวน้ำ ส่งผลให้ฮันลีย์และลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด

อุบัติเหตุร้ายแรงทั้งสองครั้งที่คราชีวิตลูกเรือไป 13 คนส่งผลให้ฮันลีย์กลายเป็นเรือมรณะ นายพลฝ่ายใต้คนหนึ่งกล่าวว่า เรือลำนี้เป็นอันตรายต่อพวกเดียวกันมากกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อข้าศึก อย่างไรก็ตาม เมื่อยังไม่มีทางอื่นในการทำลายการปิดล้อมของกองเรือฝ่ายเหนือ ทางฝ่ายใต้จึงจำต้องมีมติให้นำเรือฮันลีย์ออกปฏิบัติการ

 

ร้อยโท จอร์จ อี ดิกสัน

ร้อยโท จอร์จ อี ดิกสันรับหน้าที่ผู้บังคับการเรือฮันลีย์ในการออกสู่สมรภูมิโดยมีอาสาสมัครชาวใต้เจ็ดนายทำหน้าที่ลูกเรือ ประกอบด้วย แฟรงค์ คอลลินส์ ,โจเซฟ เอฟ ริดจ์อเวย์,เจมส์ เอ วิกส์,อาโนลด์ เบคเกอร์, ซี เอฟ คาร์ลเซน,ซี ลัมพ์กิน และออกัสตัส มิลเลอร์ ซึ่งแม้ทั้งหมด จะรู้ดีว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เสี่ยงตายเพียงใด แต่เพื่อมาตุภูมิแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกอีก ในขณะเดียวกันข่าวเรื่องเรือดำน้ำรู้ถึงฝ่ายเหนือโดยสายลับ ทางกองทัพฝ่ายเหนือจึงออกประกาศว่า หากลูกเรือดำน้ำถูกจับตัวได้จะถูกประหารชีวิตทันที ในข้อหาใช้อาวุธวิปริตผิดทำนองคลองธรรม

 

ลูกเรือฮันลีย์เตรียมการโจมตี

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1864 เรือดำน้ำฮันลีย์ได้ออกเดินทางสู่สมรภูมิโดยมีเป้าหมายคือกองเรือฝ่ายเหนือในอ่าวชาร์ลสตัน ทั้งนี้เรือฮันลีย์มีอาวุธทำลายล้างคือลูกระเบิดขนาดเก้าสิบปอนด์ซึ่งติดไว้กับเสายาวตรงหัวเรือ โดยแผนการรบคือเรือฮันลีย์จะพุ่งเข้าแทงกราบเรือข้าศึกให้เสาติดระเบิดปักเข้ากราบเรือ จากนั้นจะถอยเรือออก เพื่อดึงสายชนวนระเบิด ทั้งนี้แผนดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับเรือหุ้มเกราะเหล็ก ดังนั้นเป้าหมายของฮันลีย์จึงเป็นเรือรบไม้เท่านั้นและเรือที่พวกเขาเลือกคือเรือรบ ยูเอสเอส ฮูสซาโทนิค   

กลางดึก คืนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1864 ร้อยโทจอร์จ อี ดิกสัน นำเรือดำน้ำฮันลีย์เข้าสู่อ่าวชาร์ลสตันโดยอาศัยความมืดแฝงกายใต้ผิวน้ำ และมุ่งเป้าไปยังเรือฮูสซาโทนิคที่จอดทอดสมออยู่

 

การโจมตีเรือฮูสซาโทนิค

ทันทีที่ลูกเรือฮูสซาโทนิคเห็นสิ่งแปลกปลอมตรงรี่เข้ามา เสียงระฆังเตือนภัยก็ดังกังวาน พวกเขาใช้ปืนไรเฟิลระดมยิงใส่เรือดำน้ำทว่าไร้ผล ขณะที่ลูกเรือฮันลีย์ออกแรงปั่นเต็มกำลังพุ่งเรือเข้าชนข้าศึก ฝังระเบิดและถอยออกมา ก่อนที่เสียงระเบิดจะดังขึ้น จากนั้นเรือฮูสซาโทนิคก็จมลงใต้ผิวน้ำ โดยมีลูกเรือฝ่ายเหนือเสียชีวิตไปห้าคน

 

ซากเรือฮันลีย์

หลังการโจมตี เรือฮันลีย์ออกจากบริเวณยุทธภูมิและหายสาปสูญไป จนกระทั่งในวันที่ 8 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2000 ได้มีการกู้ซากเรือฮันลีย์ขึ้นมาได้ จากบริเวณอ่าวชาร์ลสตันไม่ไกลจากจุดที่เรือฮูสซาโทนิคถูกโจมตี โดยสันนิษฐานว่าเรือน่าจะได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดจนจมลงหลังการโจมตีไม่นาน โดยใน ปี ค.ศ.2004 ร่างที่เหลือของลูกเรือทั้งหมดถูกทำพิธีฝังในสุสานแมกโนเลีย เมืองชาร์ลสตัน รัฐแคโรไลน่าใต้

และหลังจากเวลาผ่านไป 140 ปี ดิกสันและลูกเรือผู้กล้าทั้งเจ็ดก็ได้กลับบ้านอีกครั้ง…………..

Credit: http://www.komkid.com/%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a1/%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b9%
15 ม.ค. 59 เวลา 01:25 4,396 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...