6 สตรีผู้น่าจดจำแห่งราชวงศ์ชิง

http://teen.mthai.com/variety/76608.html

วันนี้ทีนเอ็มไทย จะพาทุกคนไปติดตามเรื่องน่ารู้ของประเทศจีน กับ 6 สตรีผู้น่าจดจำแห่งราชวงศ์ชิง ยิ่งถ้าใครชื่นชอบประวัติศาสตร์จีนหรือเคยติดตามหนังจีนแนวนี้อยุ่แล้ว แนะนำว่าห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะสตรีทั้ง 6 นี้เป็นส่วนนึงของเรื่องราวที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์สำคัญๆ ไม่แพ้ผู้ชายในสมัยนั้นเลยนะคะ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปติดตามเรื่องราวประวัติศาตร์ของเหล่าสตรีทั้ง 6 กันเลย…

ราชวงศ์ชิงก่อตั้งโดย “นู่เอ่อร์ฮาเช่อร์” ชาวแมนจู ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในปัจจุบัน พระองค์ได้ก่อตั้งอาณาจักรโฮ่วจินขึ้นมา โดยในระยะแรกยังเป็นเพียงประเทศใต้อำนาจของจักรวรรดิหมิง ต่อมาเมื่อหวงไถจี๋ขึ้นครองราชย์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นจักรวรรดิชิงและเปลี่ยนชื่อเผ่าเป็นแมนจู รวมทั้งสถาปนาพระองค์เป็นจักรพรรดิเท่าเทียมจักรพรรดิหมิง ต่อมาตัวเอ่อคุน พระอนุชาองค์ที่ 14 ของหวงไถจี๋ ได้ร่วมมือกับอู๋ซานกุ้ย บุกยึดเมืองปักกิ่งที่หลี่จื้อเฉิง ได้ยึดครอง และสถาปนาราชวงศ์ชิงอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1644 โดยมีจักรพรรดิชิงซื่อจู่ (ซุ่นจื้อ) เป็นปฐมจักรพรรดิผู้ซึ่งปกครองแผ่นดินจีนอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของราชวงศ์ชิง มีสตรีหลายคนที่น่าจดจำ บางคนได้กระทำสิ่งที่ดี บางคนก็กระทำสิ่งที่ไม่ดี โดยต่อไปนี้คือสตรีผู้ซึ่งทั้งค้ำจุน สนับสนุน ดูแล รวมไปถึงทำลายรากฐานแห่งราชวงศ์ชิง อันนำไปสู่จุดจบของระบอบฮ่องเต้ในเวลาต่อมา

                                                               

พระนางเสี้ยวจวงไทเฮา

1.พระนางเสี้ยวจวงไทเฮา

พระนางเสี้ยวจวงไทเฮาไม่ได้เป็นชาวแมนจูโดยกำหนด แต่ทรงเป็นชาวมองโกล ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศมองโกเลียและเขตมองโกเลียในและบางส่วนในรัสเซียปัจจุบัน ทรงเติบโตมาในตระกูลของหัวหน้าเผ่าโป๋เอ่อร์จี่จี้เท่อหรือบอร์จิกิต ทรงมีพระนามเดิมว่า “ปูมู่ปูไท่” ทรงเข้ามาเป็นพระชายาของเจ้าชายหวงไท่จี๋ในปี 1625 ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ภายหลังเมื่อจักรพรรดิไท่จง (หวงไท่จี๋) เสด็จสวรรคตในปี 1643 พระนางก็ได้ให้ฟู่หลิน พระราชโอรส ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ ใช้รัชศกว่าซุ่นจื้อ โดยมีตัวเอ่อคุนเป็นผู้สำเร็จราชการและพยายามกดขี่จักรพรรดิ แต่ก็ถูกพระนางค้านไว้ตลอด ภายหลังเมื่อตัวเอ่อคุนสิ้นพระชนม์ จักรพรรดิทรงได้ถอดตำแหน่งออก และทรงว่าราชการเอง ภายหลังเมื่อทรงสวรรคตในปี 1661 เสวียนเย่ว องค์ชาย 3 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิคังซี ก็ถูกเอ๋าป้าย ซึ่งเป็นขุนนางเก่าในรัชกาลซุ่นจื้อเป็นผู้สำเร็จราชการและกดขี่ โดยภายหลังเมื่อเอ๋าป้ายพยายามกบฏ ก็ถูกจับและขังคุกจนตาย ส่วนจักรพรรดิคังซีเมื่อทรงว่าราชการได้แล้ว ก็ทรงกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขจนสิ้นพระชนม์เมื่อปี 1688 พระนางไม่ได้เป็นชาวแมนจู หรือชาวฮั่น แต่พระนางทรงช่วยพระสวามี พระราชโอรส และพระราชนัดดาในการว่าราชการช่วยเหลือประเทศ และยังค้ำจุนราชวงศ์และตัวองค์จักรพรรดิให้รอดพ้นจากวิกฤติมาด้วยดีตลอด นอกจากนี้ จักรพรรดิคังซีเองทรงกำพร้าพระราชชนกและพระราชชนนีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตั้งแต่เล็กจนทรงเติบโตมา ได้เพียงแค่พระนางเสี้ยวจวงกับนางกำนัล ซู่หม่าลา เลี้ยงดูจนทรงว่าราชการได้เอง

                                                 

พระนางฉงชิ่งไทเฮา

2.พระนางฉงชิ่งไทเฮา

พระนางฉงชิ่งทรงกำเนิดใน ตระกูลหนิ่วฮู่ลู่ และทรงเป็นพระชายาในองค์ชายอิ้นเจิ้น (จักรพรรดิยงเจิ้ง) ในปี 1705 และทรงให้กำเนิดองค์ชายหงลี่ (จักรพรรดิเฉียนหลง) ในปี 1711 ทำให้ได้เป็นพระชายาเก๋อเก๋อ เมื่อองค์ชายอิ้นเจิ้นขึ้นเป็นจักรพรรดิยงเจิ้ง ได้ทรงเป็นพระสนมซี ภายหลังเมื่อองค์ชายหงลี่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเฉียนหลง ทรงได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีและเป็นพระพันปีหลวงฉงชิ่ง

พระนางฉงชิ่งทรงมักจะตักเตือนและคอยเป็นห่วงพระราชโอรส รวมทั้งยังได้ช่วยเหลือพระราชโอรสในบางครั้งอยู่เสมอ พระราชโอรส จักรพรรดิเฉียนหลงเอง ก็ได้ทรงกตัญญูและเชื่อฟังตามคำสั่งสอนของพระราชชนนี ทำให้การบริหารงานในยุคของจักรพรรดิเฉียนหลงช่วงต้นรัชกาล เป็นไปอย่างเรียบร้อย

พระนางฉงชิ่งสิ้นพระชนม์ในปี 1777 ทรงถูกฝังอยู่ในสุสานราชวงศ์ชิงตะวันตก โดยจักรพรรดิเฉียนหลงทรงควบคุมงานพระบรมศพมาตลอดพระราชพิธี

                                                   

พระนางกงฉือไทเฮา

3.พระนางกงฉือไทเฮา

พระนางกงฉือไทเฮาทรงกำเนิดใน ตระกูลหนิ่วฮู่ลู่ ทรงได้เป็นพระชายาในองค์ชายหยงเหยี่ยน (จักรพรรดิเจียชิ่ง) ต่อมาเมื่อพระราชสวามีได้เป็นจักรพรรดิ พระนางเองก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งใดๆ เลย อีกทั้งจักรพรรดิเจียชิ่งไม่เคยโปรดในตัวพระนาง เนื่องจากพระราชบิดาของพระนางทรงเป็นขุนนางของเหอเซิน ซึ่งจักรพรรดิเจียชิ่งทรงไม่โปรดอย่างมาก เมื่อจักรพรรดินีพระองค์แรก (พระราชชนนีของจักรพรรดิเต้ากวง) สิ้นพระชนม์ พระนางเองได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดินีด้วยเหตุผลทางการเมือง ว่ากันว่า เมื่อทรงได้เยี่ยมสุสานราชวงศ์ชิง และถูกโจรกบฏพรรคบัวขาวจับตัวไป โจรกบฏบังคับให้พระนางกับองค์ชายเหมี่ยนหนิง (จักรพรรดิเต้ากวง) ให้บอกว่าใครเป็นใคร พระนางไม่ทรงยอมบอกจนถูกโจรกบฏแทงพระองค์ไปหลายครั้ง ทำให้จักรพรรดิเจียชิ่งและองค์ชายเหมี่ยนหนิงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและไม่รังเกียจพระนางอีกเลย ต่อมาเมื่อจักรพรรดิเจียชิ่งสวรรคตที่พระตำหนักเฉิงเต๋อ และองค์ชายเหมียนหนิงได้ขึ้นครองราชย์ องค์ชายเหมี่ยนซิน ทรงกล่าวหาว่าจักรพรรดิเต้ากวงทรงปลอมแปลงพินัยกรรม จึงทรงร้องขอให้พระนางตัดสินและทรงตัดสินว่าพินัยกรรมเป็นของจริงและได้ขออภัยโทษแทนองค์ชายเหมียนซิน นั้นเป็นเหตุทำให้จักรพรรดิเต้ากวงทรงยิ่งนับถือพระนางยิ่งขึ้น เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ในปี 1850 จักรพรรดิเต้ากวงเมื่อทรงทราบข่าวก็ทรงเสียพระทัยมากจนทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตไปในปีเดียวกัน พระนางทรงรักจักรพรรดิเต้ากวงมาก แม้มิใช่พระราชโอรสแท้ๆ ของพระนาง แต่พระนางกลับรักและปกป้องพระองค์ยิ่งกว่าพระราชโอรสแท้ๆ ของพระนาง ทำให้จักรพรรดิเต้ากวงนับถือนางดุจพระชนนีแท้มาตลอดพระชนมายุ

                                                       

พระนางซูอันไทเฮา

4.พระนางซูอันไทเฮา

พระนางซูอันไทเฮาทรงกำเนิดใน ตระกูลหนิ่วฮู่ลู่เช่นเดียวกับจักรพรรดินีองค์ก่อนหน้า ทรงได้เข้ารับการถวายตัวเป็นพระชายาในจักรพรรดิเสียนเฟิง และทรงได้รับการคัดเลือกเป็นพระชายาร่วมกับพระชายาอี้หลาน (ซูสีไทเฮา) และได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินีเจินในปี 1852 ภายหลังเมื่อจักรพรรดิเสียนเฟิงสวรรคตในปี 1861 ทรงได้ร่วมมือกับพระนางซูสีไทเฮาร่วมกันจับกุม 8 ผู้สำเร็จราชการที่จักรพรรดิเสียนเฟิงทรงแต่งตั้ง และสำเร็จโทษในเวลาต่อมา ยังทำให้อำนาจผู้สำเร็จราชการตกอยู่ในมือพระนางทั้งสอง พระนางซูอันไทเฮาได้รับการเคารพจากทั้งจักรพรรดิถงจื้อและจักรพรรดิกวงสูเป็นอย่างมาก เนื่องจากทรงมีพระเมตตาและมีความถ่อมพระองค์ ไม่ถือพระองค์ และทรงมีพระเมตตากับเหล่านางกำนัลและขันทีอย่างไม่ถือพระองค์เลย แต่ในระยะหลังทรงมีข้อขัดแย้งกับซูสีไทเฮาอยู่ในหลายๆ ครั้ง และทรงถูกบริภาษจากซูสีไทเฮาว่า “พระนางทรงขี้เกียจและเฉื่อยชา ไม่ใส่ใจพระราชกรณียกิจเท่าที่ควร” ซึ่งแตกต่างกับพระนางที่กวดขันพระราชกรณียกิจบ่อยๆ พระนางซูอันไทเฮาทรงสิ้นพระชนม์ในปี 1881 เชื่อว่าพระนางซูสีไทเฮาทรงวางยาพิษไว้ในขนมของพระนาง แต่ภายหลังนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าทรงอาจจะเป็นโรคลมปัจจุบันมากกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานรองรับใดๆ เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์

                                                

พระนางซูสีไทเฮา

5.พระนางซูสีไทเฮา

พระนางซูสีไทเฮาทรงกำเนิดใน ตระกูลเยโฮนาลา ซึ่งเคยเป็นศัตรูกับราชวงศ์ชิงในอดีต ทรงกำเนิดมาโดยการได้รับเลือกเป็นพระชายาอี้หลาน และทรงให้กำเนิดองค์ชายไจ้ฉุน (จักรพรรดิถงจื้อ) โดยทรงมีขันทีคู่ใจ 2 คน ชื่อว่าอันเต๋อไห่กับหลี่เหลียนอิง ทรงได้ร่วมมือกับพระนางซูอันไทเฮาและองค์ชายอี้ซิน พระอนุชาในจักรพรรดิเสียนเฟิง ทำการรัฐประหาร 8 ผู้สำเร็จราชการที่จักรพรรดิเสียนเฟิงทรงแต่งตั้ง และยึดอำนาจบริหาร “ว่าราชการหลังม่าน” ภายหลังเมื่อจักรพรรดิถงจื้อสวรรคตในปี 1875 ทรงรับเอาพระนัดดา คือ ไจ้เทียน ซึ่งเป็นบุตรชายของพระขนิษฐาของพระนาง ขึ้นเป็นจักรพรรดิกวงสู เพื่อให้ได้คงอำนาจต่อไป ต่อมาเมื่อซูอันไทเฮาได้ทรงสิ้นพระชนม์ ทรงได้บริหารราชการโดยคนเดียวมาตลอด ทรงได้ทำสงครามกับต่างชาติ และปลดผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถออก อีกทั้งยังทรงหาความสำราญท่ามกลางความลำบากของประชาชนนับพันล้าน และยังทรงกีดกันการปฏิรูปร้อยวัน ทำให้ทรงถูกประณามโดยชาวจีนในยุคต่อมา ว่าเป็นต้นเหตุของความเลวร้ายในชาติ และเป็นการจุดชนวนให้กับราชวงศ์ชิงให้แตกสูญในเร็ววัน พระนางซูสีไทเฮาทรง “ว่าราชการหลังม่าน” ยาวนานนับตั้งแต่เมื่อเริ่มศักราชถงจื้อจนถึงสิ้นรัชศกกวงสู โดยจักรพรรดิถงจื้อทรงมีโอกาสได้ว่าราชการบ้านเมืองน้อยมาก และทรงไม่ได้มีโอกาสว่าราชการอีก เมื่อทรงขัดแย้งกับเหล่าขุนนางจนพระนางยึดพระราชอำนาจคืน ส่วนจักรพรรดิกวงสูเอง ทรงมีพระปรีชาสามารถมากพอ แต่น่าเสียดายที่เมื่อเกิดความล้มเหลว พระนางทรงสั่งให้คุมพระองค์ไปที่ตำหนักกลางทะเลสาบ และทรงไม่มีพระราชอำนาจในพระองค์อีกเลยจนเสด็จสวรรคต พระนางทรงสิ้นพระชนม์ในปี 1908 หลังการสวรรคตของจักรพรรดิกวงสู 1 วัน โดยทรงแต่งตั้งให้หลงยู่ฮองเฮาขึ้นเป็นไทเฮา

                                     

พระนางหลงยู่ไทเฮา

6.พระนางหลงยู่ไทเฮา

พระนางหลงยู่ไทเฮาเป็นพระพันปีหลวงองค์สุดท้ายของประเทศจีน ทรงได้รับเข้าเป็นฮองเฮาโดยการบังคับของซูสีไทเฮา ซึ่งทำให้จักรพรรดิกวงสูไม่โปรดปรานในตัวพระนางนัก ทำให้พระนางไม่พอพระทัยและไม่สนใจจักรพรรดิอีก เมื่อจักรพรรดิกวงสูและพระนางซูสีไทเฮาสวรรคตในปี 1908 ทำให้พระนางขึ้นเป็นหลงยู่ไทเฮาในฐานะไทเฮาของพระจักรพรรดิเซวียนถ่ง ซึ่งขณะนั้น ราชวงศ์ชิงเองอยู่ในภาวะที่ใกล้ล่มสลายเข้าทุกขณะ และอยู่ในภาวะวิกฤต การก่อจราจลในอู่จางและการปฏิวัติซินไฮ่ รวมถึงการก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ทำให้ราชวงศ์ชิงสิ้นอำนาจในปี 1911 และต่อมา 1912 นายพลหยวนซื่อไข่ได้ยื่นใบสละราชบัลลังก์ให้พระนางลงพระนาม ทำให้ราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปีนั้น และทำให้ระบอบจักรพรรดิสิ้นสุดลงในที่สุด พระนางทรงตรอมพระทัยจนสิ้นพระชนม์ปี 1913 มีการขนพระบรมศพโดยทางรถไฟ หลี่ หยวนหง รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน ได้กล่าวสรรเสริญพระนางว่า “ทรงเป็นสตรีผู้ดีเลิศยิ่งท่ามกลางสตรีทั้งปวง”

ข้อมูล pantip

 

 

 

 

 

 

Credit: เอ็มไทยทีนวาไรตี้ดอดคอม
11 ม.ค. 59 เวลา 05:12 2,615
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...