"องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์เมจิ" (Emperor Meiji) หรือว่า "องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์มุสึฮิโตะ" (Emperor Mutsuhito) ทรงเป็นพระจักรพรรดิ์องค์ที่ 122 แห่งราชวงศ์เบญจมาศ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์โคเม (Emperor Komei) กับ พระสนมโยชิโกะแห่งตระกูลนาคายามะ (Nakayama Yoshiko) ซึ่งเป็นตระกูลของเสนาบดีฝ่ายซ้าย หรือว่าซาดาจิน (Sadajin) และยังเป็นหนึ่งสายแห่งราชสกุลตระกูลฟูจิวาระ พระองค์นั้นทรงเป็นพระบรมปัยกาธิราชเจ้า(สมเด็จทวด)ขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์อากิฮิโตะ (Emperor Akitito) พระจักรพรรดิ์องค์ที่ 125 แห่งราชวงศ์เบญจมาศ
ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ พระตำหนักพระสนม ซึ่งได้ตั้งอยู่ทางเหนือสุดในพระราชวังโกโช (Gosho) (พระราชวังต้องห้ามแห่งพระจักรพรรดิ์) พระนครหลวงเกียวโต ในช่วงประมาณวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2395 (ค.ศ.1852 - ปีคาเอที่ 5) ซึ่งมันก็เป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 8 เดือนก่อนกองเรือดำของนายพลแมทธิว เพอร์รี่ แห่งสหรัฐอเมริกา จะได้เดินทางมาถึงยังที่ชายฝั่งอ่าวโตเกียว และมันก็ยังเพียงแค่ช่วงเวลา 2 ปี ก่อนที่สนธิสัญญาอยุติธรรมฉบับแรกจะได้มีขึ้นมา ในช่วงการปกครองของท่านโชกุนโทคุงาวะ อิเอซาดะ โชกุนคนที่ 13 แห่งตระกูลโชกุนโทคุงาวะ โดยมี ฮิโตสึบาชิ โยชิโนบุ ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ยอมลงนามร่วมกับนายพลเพอร์รี่ เมื่อปี ค.ศ.1854 (พ.ศ.2397 - ปีคาเอที่ 7 เข้าสู่ ปีอันเซย์ที่ 1) เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น องค์สมเด็จพระจักรพรรดิโคเมทรงได้ประทานพระราชทินนามต่อองค์ชายว่า "เจ้าชายซาชิ" หรือว่า "องค์ชายซาชิโนะมิยะ" (Sachinomiya) ทรงได้ขึ้นครองราชย์เป็นองค์พระจักรพรรดิ์ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 14 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์โคเมได้ทรงพระประชวรและได้เสด็จสวรรคตลงด้วยพระโรคไข้ทรพิษ ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867 - ปีเคโอที่ 3)
พระองค์นั้นทรงเป็นองค์พระจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์เบญจมาศ ผู้ซึ่งทรงมีพระราชอำนาจเต็มในการขึ้นปกครองแผ่นดินพระองค์แรก หลังที่จากอำนาจการปกครองขององค์พระจักรพรรดิ์ได้ถูกริบไป โดยเหลือเพียงแค่ในนามเท่านั้น โดยเริ่มต้นมาจากการปฎิวัติในช่วงต้นยุคคามาคุระ (鎌倉時代 - Kamakura-jidai - Kamakura priod) โดยได้เริ่มต้นการปกครองแผ่นดินโดยได้มีซึ่งผู้ปกครอง คือ "เซอิไทโชกุน (征夷大将軍 - Seii Taishōgun)" ท่านแรก คือ "เซอิไทโชกุน มินาโมโตะ โนะ โยริโทโมะ" (Minamoto No Yoritomo) ท่านโชกุนแห่งรัฐบาลทหารคามาคุระ
ได้ผ่านความวุ่นวายและได้สืบทอดต่อมาจนกระทั่งมาถึงรัฐบาลทหารแห่งโชกุนตระกูลอาชิคางะ (Ashikaga No Seii Taishōgun - The Ashikaga shogunate) ซึ่งก็ได้มีเซอิไทโชกุนอาชิคางะ ทาคาอุจิ (Ashikaga Takauji (足利 尊氏)) เป็นผู้ปกครองคนแรกแห่งรัฐบาลทหารมุโรมาจิ ซึ่งในชื่อของยุคสมัยมุโรมาจิ (室町時代 - Muromachi-jidai - Muromaji Period) ก็ได้มาจากชื่อของรัฐบาลบาคุฟุแห่งตระกูลอาชิคางะอีกด้วย
จนกระทั่งได้ผ่านล่วงเข้าสู่ยุคสมัยสงครามกลางเมือง หรือเรียกว่า "ยุคเซ็นโกคุ" (戦国時代 - Sengoku-jidai - Sengoku Period) ซึ่งได้เกิดขึ้นมาจากเพราะอำนาจของท่านโชกุนตระกูลอาชิคางะได้เสื่อมถอยลง ซึ่งความเสื่อมถอยนี้ได้กลายมาเป็นต้นเหตุที่ทำให้เหล่าไดเมียว(ผู้ปกครอง)แห่งแคว้นต่างๆ ต่างได้ประกาศตนเป็นอิสระและทำสงครามแย่งชิงการเป็นที่หนึ่งในแผ่นดินญี่ปุ่น และกระทั่งได้ล่วงเข้ายังสู่ช่วงยุคอาซึจิโมโมยามะ (安土桃山時代 - Azuchi-Momoyama jidai - Azuchi-Momoyama Period) ซึ่งเป็นช่วงยุคเซ็นโกคุตอนปลาย อันมีท่านโอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga) ท่านไดเมียวเจ้าผู้ปกครองแคว้นโอวาริ ซึ่งท่านได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร(หรือว่าผู้สำเร็จราชการ) นำกองทัพเข้าปราบปรามยังแคว้นต่างๆ จนกระทั่งได้ทำให้แผ่นดินในภูมิภาคคันโตและคันไซได้เริ่มกลับมามีความสงบและเริ่มต้นการมีเอกภาพอีกครั้ง และจนกระทั่งได้ล่วงเข้ามาสู่ในยุคสมัยเอโดะ (江戸時代 - Edo-jidai - Edo Period) หรือเป็นยุคสมัยที่ได้เรียกขานกันว่า "ยุคโทคุงาวะ" (徳川時代 - Tokugawa-jidai - Tokugawa Period) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่แผ่นดินกลับมาเป็นเอกภาพอีกครั้ง โดยมีตระกูลโทคุงาวะเป็นโชกุนผู้ปกครองรัฐบาลทหาร หรือ "รัฐบาลบาคุฟุแห่งเอโดะ" (Tokugawa Bakufu (徳川幕府) - The Tokugawa shogunate หรือว่า Edo bakufu (江戸幕府) - The Edo shogunate) ซึ่งก็ได้มี "เซอิไทโชกุน" คนแรก คือ โทคุงาวะ อิเอยาสึ (Tokugawa Ieyasu - 徳川家康)
และได้จบสิ้นยุคสมัยการปกครองระบอบศักดินาโดยเหล่าซามูไร ในช่วงสมัยยุคบาคุมัตสึ (幕末 - Bakumatsu-jidai - Bakumatsu Period) ซึ่งเป็นการยกเลิกยุคสมัยศักดินาการปกครองโดยซามูไร และยังได้ประกาศเปิดประเทศเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติ หลังจากที่ได้มีประกาศยกเลิกความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ(เกือบจะทั้งหมด) และได้ปิดประเทศไปนับตั้งแต่ในช่วงสมัยของโชกุนโทคุงาวะ ฮิเดทาดะ (Tokugawa Hidetada - 徳川秀忠) และ โชกุนโทคุงาวะ อิเอมิตสึ (Tokugawa Iemitsu - 徳川家光) ซึ่งอำนาจในการปกครองแผ่นดินทั้งหมดนั้นได้ถูกส่งกลับคืนไปสู่องค์พระจักรพรรดิ์อีกครั้ง
ล่วงเข้าสู่ในยุคสมัยเมจิ (明治時代 - Meiji-jidai - Meiji Period) อันเป็นยุคสมัยการปกครองโดยมีองค์พระจักรพรรดิ์เป็นผู้ปกครองโดยมีอำนาจเต็ม ซึ่งเป็นในช่วงรัชสมัยขององค์พระจักรพรรดิ์เมจิ หรือ องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์มุสึฮิโตะ นั้นเอง
องค์พระจักรพรรดิเมจิแห่งราชวงศ์เบญจมาศ ทรงเป็นผู้ที่ได้รื้อฟื้นอำนาจการปกครองโดยองค์จักรพรรดิขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงได้ย้ายเมืองหลวงจากนครหลวงเกียวโตไปที่ยังเมืองเอโดะ ซึ่งเคยเป็นศุนย์กลางการปกครองของรัฐบาลบาคุฟุแห่งโชกุนตระกูลโทคุงาวะในอดีต แล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรุงโตเกียว ทรงได้ปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นในทุกๆด้าน ซึ่งเรียกการปฏิรูปในสมัยพระองค์ว่า "การปฏิรูปสมัยเมจิ" และทรงปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารประเทศ แต่ทว่าองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์ก็ยังคงมีอำนาจเต็มในการปกครอง พระองค์ทรงได้มีการประกาศยกเลิกการปกครองแบบศักดินาสวามิภักดิ์ และจัดระบบการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เป็นแบบศูนย์รวมอำนาจ
สำหรับในยุคเมจิ ถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่เปิดรับวิทยาการจากต่างประเทศ การปฏิรูปเมจิถือเป็นการทลายเขื่อนที่กอปรไปด้วยแรงผลักดันสะสมมานานนับศตวรรษ ซึ่งพลังที่ออกมาดั่งเขื่อนที่แตกนี้ แม้แต่ชาวต่างชาติก็ยังสามารถสัมผัสได้ เพราะว่าชาวญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้นต่างก็มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างสูง พร้อมที่จะเปิดรับในทุกความรู้ในทุกๆด้านที่ได้เข้ามาเผยแผ่จากต่างแผ่นดินสู่ดินแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งนอกจากจะทำให้ญี่ปุ่นความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกด้านแล้ว ยังได้ส่งผลทำให้เพิ่มศักยภาพในการทหารมากขึ้น ด้วยเพราะวินัยแห่งนักรบที่ได้ถูกปลูกฝังมาและด้วยอุปนิสัยที่รักความมีระเบียบและเคร่งกฏเกณฑ์ ทำให้นักรบญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งอย่างยิ่ง ส่งผลจนกระทั่งทำให้ญี่ปุ่นสามารถมีชัยเหนือจักรวรรดิ์รัสเซียอันยิ่งใหญ่ ในช่วงศึกสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ช่วงปี ค.ศ.1905 และผนวกเกาหลีให้เป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมแห่งจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นได้สำเร็จในปี ค.ศ.1910 (ญี่ปุ่นเคยทำศึกสงครามหมายยึดแผ่นเกาหลี ในช่วงสงครามอิมจิน (Imjin War - ค.ศ.1592-1598 ซึ่งในคราวนั้นญี่ปุ่นเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้อย่างหมดรูป กองเรือของทางฝ่ายญี่ปุ่นถูกทำลายเป็นจำนวนมาก)
สมเด็จพระจักรพรรดิ์เมจิทรงปกครองประเทศด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสร้างสรรค์ ซึ่งการปกครองของพระองค์ช่วยนำพาประเทศให้ผ่านพ้นช่วงทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในยุคสมัยนั้นคนที่ต้องการการปกครองแบบเก่ายังคงมีอยู่ และยังคอยสร้างความวุ่นวายและความแตกแยกอยู่เป็นช่วงๆ เหล่าแกนนำของพวกหัวปฎิรูปต่างถูกลอบสังหาร เช่น โอคุโบะ โทชิมิจิ (大久保 利通) รัฐบุรุษก็ได้ถูกเหล่าซามูไรหัวเก่า ซึ่งตอนนี้ถูกลดสถานะลงกลายมาคนธรรมดา(และบางคนได้ผันตัวมาเป็นนักฆ่า)เข้ามาลอบสังหารท่าน ขณะท่านอยู่ที่นครเกียวโต ในช่วงปีเมจิที่ 10 (ค.ศ.1878) และแกนนำของพวกหัวปฎิรูปอีกหลายท่านที่ได้ถูกลอบสังหารหลายครั้งในช่วงต้นยุคเมจิ
แต่ไม่ว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นมาในช่วงปลายยุคบาคุมัตสึ จนกระทั่งได้ล่วงเข้าต้นยุคสมัยเมจิก็ตามที องค์พระจักรพรรดิ์เมจิก็ทรงได้นำพาประเทศไปได้ด้วยฝีมือของพระองค์ พระองค์ทรงได้ประกาศตนขึ้นเป็นองค์พระจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่เทียบเทียมกับเหล่าพระมหากษัตริย์และองค์สมเด็จพระจักรพรรดิราชแห่งจักรวรรดิ์ในทวีปยุโรปทั้งหลายที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น เช่น จักรวรรดิ์รัสเซีย (Russia Empire - Rossiyskaya Imperiya) จักรวรรดิ์อังกฤษ (British Empire) จักรวรรดิ์ไกเซอร์แห่งเยอรมัน (German Empire - Deutsches Reich or Deutsches Kaiserreich) และรวมไปถึงจักรวรรดิ์ออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) ซึ่งพระองค์นั้นก็ทรงกระทำได้สำเร็จ อำนาจชื่อเสียงแห่งราชวงศ์เบญจมาศเริ่มเป็นที่จับตาในสายตาของชาวโลกทั้งหลาย ภายใต้กองทัพอันยิ่งใหญ่แห่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์แห่งประเทศญี่ปุ่น พระองค์นั้นได้ทรงใช้กำลังแห่งกองทัพยึดครอง(ผนวก)แผ่นดินคาบสมุทรเกาหลี เกาะไต้หวันจากจีน(ราชวงศ์ชิง) และในช่วงศึกสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ในช่วงประมาณปี ค.ศ.1904-1905 ญี่ปุ่นสามารถยึดป้อมพอร์ตอาเธอร์และมีชัยในยุทธนาวีทะเลเหลือง ซึ่งในทางกองทัพราชนาวีแห่งจักรรรดิ์รัสเซียนั้นได้ถูกทำลายจนเสียหายอย่างหนัก ซึ่งสงครามในครั้งนี้ก็ได้ส่งผลทำให้ประเทศทางตะวันออกสุดอย่างญี่ปุ่นได้มีอำนาจการต่อรองในเวทีสากล ซึ่งก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของขั้วแห่งอำนาจโลก
ในช่วงปลายรัชกาล องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์เมจิทรงจำต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับพระโรคเบาหวานและพระโรคไบร์ท (อันเป็นโรคไตอย่างหนึ่ง) ที่พระอาการนั้นมีแต่จะทรุดลง จนในรัฐพิธีหลายวาระ สมเด็จพระจักรพรรดิ์ทรงมีพระอาการอ่อนเพลียอย่างหนักจนให้ผู้คนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งในช่วงปีที่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนฤดูร้อนปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ.1912 - ปีเมจิที่ 45) นั้น ก็ยังไม่มีสัญญาณบอกเหตุว่าจะเสด็จสวรรคตในปีเดียวกันนั้น
วันที่ 19 เดือนกรกฏาคม ได้เสด็จไปประทับที่โต๊ะทรงพระอักษร แต่ทรงเหนื่อยเกินกว่าจะทรงงานใดๆได้ และขณะกำลังจะทรงประทับยืนขึ้นนั่นเอง พระองค์ก็ได้ทรงล้มลง บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทางมหาวิทยาลัยโตเกียวได้ถูกเรียกตัวมาช่วยคณะแพทย์หลวงแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ เพื่อร่วมกันถวายการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งทางรัฐบาลนั้นได้ตัดสินแถลงข่าวให้ทางสาธารณชนได้รับทราบในทันที
ในช่วงระยะเวลาหลายวันต่อจากนั้น หนังสือพิมพ์จากทางสำนักพิมพ์ต่างๆได้พากันรายงานถึงพระอาการอย่างละเอียด ทั้งเรื่องพระอัตราชีพจรที่อ่อนลงเรื่อยๆ และการทำงานเสื่อมทรุดลงของอวัยวะต่างๆ ประชาชนต่างได้สวดอธิษฐานให้สมเด็จพระจักรพรรดิหายประชวร มหาชนมารวมตัวกันอยู่รายรอบพระราชวัง หลายคนคุกเข่าหรือหมอบกราบอยู่กับพื้นเพื่อสวดมนต์ภาวนา
จนท้ายที่สุดสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ (องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์มุสึฮิโตะ) เสด็จสวรรคตด้วยอาการของพระหทัยวาย เมื่อช่วงเวลาประมาณ 0.43 นาฬิกา วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 (ค.ศ.1912 - ปีเมจิที่ 45) พระชนมายุได้ 60 พรรษา ณ พระราชวังโตเกียว
เจ้าชายรัชทายาท คือ องค์ชายไทโช (พระราชทินนาม คือ องค์ชายฮารุโนะมิยะ) ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสองค์เดียวในจักรพรรดิเมจิ จึงได้ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดาเป็น "องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์ไทโช" (大正天皇 - Emperor Taisho) ซึ่งเป็นพระนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งพระนามของพระองค์ที่ถูกปิดเก็บเอาไว้ตามธรรมเนียมราชสำนัก คือ สมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ (嘉仁天皇 - Emperor Yoshihito) และยังเป็นการเริ่มต้นยุคสมัยไทโช (大正時代 - Taishō-jida - Taisho Preiod) ยุคสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มเรืองอำนาจในเอเชียตะวันออกและคาบสมุทรทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค
ภาพประกอบ : พระบรมสาทิสลักษณ์แห่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์เมจิ (องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์มุสึฮิโตะ) พระจักรพรรดิ์องค์ที่ 122 แห่งราชวงศ์เบญจมาศ องค์จักรพรรดิผู้ทรงนำพาความเจริญสู่ประเทศญี่ปุ่น จักรพรรดิ์ผู้ทรงมีพระราชอำนาจเต็มพระองค์แรกหลังจากระบอบศักดินาซามูไรได้ล่มสลายลง
จักรพรรดินีฮารุโกะ พระอัครมเหสีของจักรพรรดิเมจิ