thairath
เมื่อ เอ่ยถึงกรุงทรอย (TROY) บางท่านอาจเลือนๆ ชื่อนี้ไป วันนี้จึงขอเล่ารื้อฟื้น ความจำ กันสักนิดหนึ่ง
เมื่อราว 850 ปีก่อน ค.ศ. มหากวีชาวกรีกนาม โฮเมอร์ (Homer) ได้รจนามหากาพย์เรื่อง อีเลียด (ILIAD) ขึ้น ซึ่งบางคนเรียกง่ายๆว่า "ตำนานสงครามกรุงทรอย" เรื่องราวก็คล้ายๆ กับรามเกียรติ์ของอินเดียนั่นแหละ พอย่อๆได้ดังนี้
เจ้าชายปารีส โอรสกษัตริย์ เปรียม แห่งกรุงทรอย ได้ไปลักพา เฮเลน มเหสีโฉมงามของ เมเนเลอุส ผู้ครองนครสปาร์ตา ทำให้ฝ่ายที่เป็นสัมพันธมิตรกับเมเนเลอุสแค้นเคือง และช่วยกันระดมทัพเรือยกไปตีกรุงทรอย โดยมีท้าว อกาเมมนอน เป็นแม่ทัพใหญ่ ส่วนขุนพลก็ล้วนแต่มีชื่อโด่งดังรู้จักกันดี อาทิ อคิลลิส โอดิสซีอุส เอแจ๊กซ์ ฯลฯ
แต่ ทัพกรีกก็ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายทรอยที่มี เฮกเตอร์ เป็นขุนศึกใหญ่ได้ กระทั่งสงครามยืดเยื้ออยู่ถึงสิบปี ฝ่ายพันธมิตรจึงคิดอุบาย สร้างม้าไม้ตัวมหึมาขึ้นและซ่อนทหารไว้ภายใน จากนั้นจึงทำทีถอนทัพกลับไป ฝ่ายทรอยดีใจลาก ม้าไม้เข้าไปทำพิธีฉลองชัยชนะในเมือง พอตกดึก ทหารกรีกก็ออกมาจากม้าไม้และทำลายล้างกรุงทรอยจนสิ้น
แต่ในตำนานของเค้านั้น สนุกสนานพันลึกมาก มีทั้งเทพเจ้าของทั้งสองฝ่าย มาเกี่ยวพันมากมาย ถ้าสนใจก็ลองหาอ่านดูละกัน เพราะหนนี้เราจะว่ากัน ถึงเรื่องทรัพย์สมบัติอันลํ้าค่า ที่กรุงทรอยแอบซ่อนไว้ ให้พ้นตาทหารกรีก
ตำนานกรุงทรอย นั้น จะจริงเท็จอย่างไร ไม่มีใครทราบแน่ แต่โฮเมอร์ระบุว่า ทรอยเป็น ราชธานีอันรุ่งโรจน์ ตั้งอยู่ในดินแดนเอเชียไมเนอร์ ซึ่งตรงกับตำแหน่ง ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน และล่มสลายด้วยนํ้ามือกรีกเมื่อ 1,185 ปีก่อน ค.ศ.
ชื่อเสียงของทรอย ทำให้ผู้คนประทับใจกันมาก นักประวัติศาสตร์หลายต่อหลายคน พากันมา ศึกษาค้นคว้าหาซากนครทรอย โดยเฉพาะบริเวณเนินดินสูง ในเอเชียไมเนอร์ ซึ่งเรียกว่า "ฮิสซาร์ลิ ค (HISSARLIK)" จนที่นี่กลายเป็นเมืองทัศนาจร มีของที่ระลึกเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอย ตั้งแสดงมากมาย แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานแท้จริงของทรอย
จนกระทั่งในปี ค.ศ.1870 ก็มีพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาดำเนินการ ขุดค้นหาซากกรุงทรอย เขาชื่อ ไฮน์ริช ชไลมันน์ (Heinrich Schliemann) เป็นมหาเศรษฐีเชื้อสายเยอรมัน โดยชไลมันน์ หลงใหลในมหากาพย์อีเลียดมาตั้งแต่เด็ก พอรํ่ารวยขึ้นมาก็เลยวางมือจากการงานท่องตระเวนตามดินแดน ที่ท่านโฮเมอร์รจนาไว้ทั้งกรีซและทะเลเอเจี้ยน แล้วสุดท้ายก็เลยตัดสินใจทุ่มเทเงินทองขุดสำรวจเนินดินฮิสซาร์ลิค
และชไลมันน์ก็ไม่ผิดหวัง เขาขุดพบซาก กรุงทรอยทับถมกันอยู่ถึง 10 กรุง!
นั่นก็คือ ณ ที่แห่งนี้ ได้เป็นที่เคยสร้างเมืองซ้อนทับ กันมาหลายยุคหลายสมัย ชั้นล่างสุดหรือที่เรียกกันว่า "ทรอย 1" นั้น สร้างมานานกว่า 5,000 ปี แล้ว ส่วนชั้นบนสุด "ทรอย 10" เป็นเมืองที่โรมันสร้างเป็นที่พัก ของนักท่องเที่ยว เมื่อพันกว่าปีก่อนโน้น
และชั้นที่มี อายุใกล้เคียงกับกรุงทรอย ในตำนานของโฮเมอร์นั้นก็คือชั้นที่ 7 ซึ่งมีอายุราว 1,000 ปีก่อน ค.ศ. (หรือ 3,000 กว่าปีมาแล้ว) ซึ่งชไลมันน์ขุดเลยผ่านไป โดยไม่ได้สนใจมากนัก
กระทั่งขุดลึกลงไปจนถึงชั้น 2 เขาก็ประกาศว่า ชั้นนี้แหละที่เป็นกรุงทรอย ของโฮเมอร์ ทั้งๆที่ภายหลังพิสูจน์กันได้ว่าชั้น 2 นี้ มีอายุถึง 4,200 ปี มาแล้ว ก่อนกรุงทรอยของโฮเมอร์หลายร้อยปี
สาเหตุที่ชไลมันน์มั่นใจเช่นนั้น ก็เพราะที่ชั้น 2 นี้มีซากอาคาร และกำแพงเมืองที่มีร่องรอยของการทำลายเผาผลาญ นอกจากนี้ที่สำคัญก็คือเขาได้พบสมบัติลํ้าค่ามากมายที่คู่ควรกับกษัตริย์ อาทิ เหยือกและจอกสุราทองคำแท้ แจกัน และข้าวของเครื่องใช้จำนวนมาก ที่ทำจากเงินเนื้อบริสุทธิ์
หนหนึ่ง เมื่อชไลมันน์ยกแจกันเงินใบใหญ่ ขึ้นมาจากกองดินทราย ที่ทับถม มันหนักอึ้ง และเมื่อเขาเขย่าดู ก็รู้สึกได้ว่าภายใน คงบรรจุอะไรไว้แน่นขนัด พอเทออกมาดู เขาและพรรคพวกก็ต้องตะลึงงัน
สิ่ง ที่อยู่ในแจกันนั้นคือเครื่องประดับ ที่ประกอบด้วยทองคำ และอัญมณีอันสุดแสนงดงาม และลํ้าค่ายิ่ง!
เมื่อมีชื่อเสียงแล้ว ชไลมันน์ก็ยังไม่หยุดยั้ง เดินทางไปสำรวจต่อที่กรีซ เพื่อหาซากนครของกษัตริย์อกาเมมนอน และก็ขุดพบซากเมืองกับสุสานใหญ่ ที่มีสมบัติลํ้าค่าเพียบ ชิ้นสำคัญคือ หน้ากากทองคำ ซึ่งเขาประกาศว่า เป็นที่ครอบพักตร์พระศพ ของอกาเมมนอน
แต่ก็ผิดอีกล่ะ เพราะเมืองและสุสาน ที่ชไลมันน์เรียกว่า "อารยธรรมไมซีนี" นี้ มีอายุก่อนหน้าการขึ้นครองราชย์ ของอกาเมมนอนหลายร้อยปีอีกนั่นแหละ
แต่ เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ เค้าไม่ว่ากัน คนเราผิดพลาดกันได้ ทว่าผลงานแห่งการค้นพบนี่ซิ สร้างคุณประโยชน์ ให้แก่วงการประวัติศาสตร์ อย่างมหาศาล เป็นเกียรติคุณที่จะต้องยกย่องชไลมันน์
สำหรับทรัพย์ สมบัติที่ชไลมันน์ขุดค้นได้นั้น ได้รับการขนานนามว่า "ทองชไลมันน์ (Schlie- mann's Gold)"
แม้ ว่าเจ้าของดินแดนอันเป็นที่ตั้ง ของซากกรุงทรอย คือ ตุรกี แต่ชไลมันน์กลับคิด จะนำสมบัติที่ขุดได้ไปเก็บรักษายังที่อื่น แห่งแรกที่คิดคือพิพิธภัณฑ์แห่งกรุงลอนดอน ทว่าอังกฤษไม่ได้ ยกย่องเขาเท่าที่ควร ชไลมันน์จึงเปลี่ยนใจนำสมบัติกรุงทรอย หรือ "ทอง ชไลมันน์" ไปมอบให้พิพิธภัณฑ์ แห่งเบอร์ลินในปี ค.ศ.1880 และได้รับเกียรติยศมากมาย ที่เยอรมันทำพิธีให้
นับจากนั้นผู้คนทั่วทุกมุมโลก ก็มีโอกาสได้มาชื่นชม "ทองชไลมันน์" ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลินจัดแสดงไว้
ชไลมันน์เสียชีวิตในปี 1890 พร้อมกับความเชื่อมั่นว่าสมบัติกรุงทรอย คงตั้งแสดง อยู่ในพิพิธภัณฑ์เบอร์ลินตลอดกาล
หากทว่า เพียงครึ่งศตวรรษหลังจากนั้น สงครามโลกครั้งที่สองก็เปิดฉากขึ้น และปิดฉากลง ด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน และต่อไปนี้คือคำให้การ ของผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งเบอร์ลิน
"ทัพสัมพันธมิตรหลั่งไหลเข้าเบอร์ลิน เหล่านาซีพากันขนย้ายศิลปวัตถุอันมีค่า ไปเก็บซ่อนไว้ในหลุมหลบภัย รวมทั้งทองชไลมันน์ด้วย แต่ทหารรัสเซียรู้ในเรื่องนี้ดี และออกตามล่าสมบัตินาซีทุกหนแห่ง และปล้นเอาทองชไลมันน์ไป ทองคำดังกล่าวนั้นบรรจุอยู่ใน***บ 3 ใบ ประทับอักษร ทรอย ไว้ พวกรัสเซียนำขึ้นรถบรรทุก ขนไปสนามบิน และเอาขึ้นเครื่องไปยังมอสโก"
นับ แต่นั้นก็มิได้มีผู้ใดพบเห็นทองชไลมันน์อีก และรัฐบาลรัสเซียก็ปฏิเสธตลอดมา ว่ามิได้ขนเอามาแต่อย่างใด
กระทั่งผ่านมาในช่วง ค.ศ.1980 ขณะที่นักศึกษาศิลปะของรัสเซียเดินผ่านภารโรง ที่กำลังทำความสะอาดภายในพิพิธภัณฑ์พุชกิน, กรุงมอสโก พวกเขาเห็นเอกสารเก่าๆทิ้งอยู่ในถังขยะ จึงแอบเก็บเอามาแล้วก็พบว่า มันเป็นสารบัญรายชื่อศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์ และหนึ่งในรายการนั้นระบุว่าเป็น "หิบสมบัติ 3 หิบของทรอย"!
อา...โบราณวัตถุอันหาค่ามิได้ที่สูญหายไป ที่แท้อยู่ในห้องใต้ดินของพิพิธภัณฑ์กลางกรุงมอสโกนั่นเอง
เมื่อข่าวนั้นแพร่ออกไป รัฐบาลรัสเซีย ก็ถูก บีบคั้นให้เปิดเผยถึงสิ่งลํ้าค่าอันเป็นสมบัติของโลก แต่ก็ยังคงปากแข็งปฏิเสธเรื่อยมาอยู่ดี โดยอ้างว่า ทองชไลมันน์ถูกระเบิดทำลายไปพร้อมกับอาคารในเยอรมันโน่นแล้ว
จวบจน ถึงยุครัสเซียใหม่ ซึ่งมีนโยบายเปิดเผยประเทศต่อชาวโลก รัฐบาลรัส เซียจึงยอมรับใน ค.ศ.1993 ว่า สมบัติลํ้าค่าของทรอยนั้นมีอยู่ในมอสโกจริง
นอกจากนี้ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พุชกินคนหนึ่ง ยังเปิดเผยว่าได้รับอนุญาตให้เปิดหิบ "ทรอย" เพื่อตรวจสอบดู
"ใน ฐานะนักโบราณคดี เมื่อฉันได้เห็นสมบัติเหล่านั้น เช่น ถ้วยโถโอชามทองคำ ฉันก็รู้สึกราวได้สัมผัสกลิ่นอายของมนุษยชาติ..."
แม้รัฐบาลรัสเซียรับปากว่าจะนำทองชไลมันน์ ออกแสดงให้ชาวโลกได้ชม แต่จะเป็นเมื่อใดนั้นยังไม่แน่ ด้วยว่ามีหลายชาติจ้องเรียกร้องสิทธิ ในความเป็นเจ้าของเหลือเกิน เช่น
เยอรมัน - อ้างว่า ทองเหล่านั้นเดิมอยู่ในพิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน
ตุรกี - สมบัตินี้ขุดขึ้นมาจากแผ่นดินเติร์ก
อังกฤษ - สมบัติ นี้อยู่ในเขตควบคุม ของอังกฤษหลังเยอรมันพ่ายแพ้
ดังนั้น ถ้าจะให้รัสเซียนำสมบัติอันหาค่า มิได้นี้มาให้ชมกัน ก็ต้องตกลงให้มั่นเหมาะเสียก่อนว่า จะไม่เรียกร้องเอามันไปจากมอสโก