ตามประวัติรถเมล์ขาวของนายเลิศ นับเป็นรถเมล์สายแรกที่ให้บริการในกรุงเทพฯ เริ่มทำการเดินรถมาตั้งแต่ปี 2451 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่า รถเมล์ขาว ก็เพราะคนสมัยก่อนจะเรียกสายรถเมล์ตามสีของรถ ซึ่งแต่ละสีก็เป็นของแต่ละบริษัท มีทั้ง ขาว แดง เขียว เหลือง เส้นทางแรกที่รถเมล์ขาวนายเลิศวิ่งคือ
‘ยศเส – ประตูน้ำ (ปทุมวัน)’ จากนั้นก็มีการขยายเส้นทางเรื่อยมา เช่น สายสีลม – ประตูน้ำ , บางลำพู – ประตูน้ำ น่าสังเกตว่าเส้นทางวิ่งรถของ รถเมล์นายเลิศ จะต้องผ่านประตูน้ำทุกสายเพราะสมัยนั้น ประตูน้ำ หรือ ปทุมวัน คือศูนย์กลางย่านชุมชน และการคมนาคมมาตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งมีตลาดขายสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งก็คงเหมือนกับ อนุสาวรีย์ชัยฯ ในสมัยนี้
ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณดังกล่าวยังไม่มีการติดตั้ง ‘ประตูน้ำ’ แต่อย่างใด การใช้เรือจึงสะดวกสบาย เพราะชาวบ้านสามารถแล่นเรือเข้าไปตามคูคลองต่างๆ ได้ตลอด แต่พอถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการติดตั้งประตูน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในคลอง การใช้เรือจึงไม่สะดวกเหมือนเคย เพราะเจ้าของเรือต้องมารอเข้าคิวให้ประตูน้ำเปิดอยู่หลายชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ ‘นายเลิศ’ ซึ่งดำเนินกิจการ เรือเมล์ขาว วิ่งในคลองมาก่อน ทั้งคลองแสนแสบ คลองบางกะปิ และคลองพระโขนง ได้มองเห็นลู่ทางธุรกิจ จึงเปิดกิจการรถเมล์ขึ้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้เรือ และต้องมาใช้รถโดยสารต่อ ซึ่งผู้โดยสารที่มาใช้รถเมล์ หรือเรือเมล์ของนายเลิศก็เพียงซื้อตั๋วครั้งเดียว ก็สามารถนั่งต่อทั้งรถทั้งเรือได้ในวันเดียวกัน (โปรโมชั่นแบบนี้ เค้าคิดได้ เค้ามีมาตั้งแต่สมัย ร.5 โน่นแล้ว) นายเลิศ หรือ เลิศ สมันเตา นับเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในกิจการรถโดยสาร และเรือรับจ้างมาตั้งแต่แรก เริ่มจากการเป็นพ่อค้าจักรยานมาก่อนในยุคที่เมืองไทยยังไม่มีรถยนต์มีแต่รถม้ารถลาก แกก็ใช้ม้ามาวิ่งลากรถ ทำเป็นรถม้ารับจ้างทั่วไป พอรถยนต์เข้ามาในเมืองไทยแล้ว ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 แกจึงสั่งรถเข้ามาดัดแปลงวิ่งเป็นรถรับจ้าง ก่อนจะพัฒนามาเป็น รถเมล์ประจำทาง
ต่อมา ยี่ห้อรถที่ นายเลิศ สั่งเข้ามาก็คือ ‘ยี่ห้อฟอร์ด’ โดยทำการออกแบบดัดแปลงรถเมล์ด้วยตัวเอง ต่อเป็นตัวถังไม้ พื้นไม้ ทางขึ้นลงอยู่ตรงท้ายรถ ทำสีขาวทั้งคัน คนทั่วไปจึงเรียกติดปากว่า ‘รถเมล์ขาว’ ส่วนสัญลักษณ์ของรถเป็น ตราขนมกง คือเป็นวงกลมมีกากบาทอยู่ข้างใน ในสมัยแรกนั้นรถเมล์ขาวนายเลิศ จะมีขนาดค่อนข้างเล็กและโปร่ง จุผู้โดยสารได้ 15 – 20 คน ที่นั่งเป็นแถวยาว 2 แถว คงเหมือนกับรถสองแถวสมัยปัจจุบัน แต่ต่อมาก็มีการปรับปรุงรถเมล์ให้มีขนาดใหญ่ แข็งแรง มีความปลอดภัยต่อผู้โดยสารมากขึ้น ในยุคที่กิจการเฟื่องฟูสุดๆ บริษัทนายเลิศมีรถเมล์ให้บริการมากถึง 800 คันเลยทีเดียว
สาเหตุที่มีคนให้ความนิยมมาก ทั้งๆ ที่เวลานั้นก็มีรถเมล์หลายบริษัทให้บริการเช่นกัน คงเป็นเพราะ นายเลิศ ให้ความสำคัญต่อการเอาใจใส่พนักงาน ทั้งคนขับและกระเป๋า มีการฝึกอบรมให้มีมารยาทต่อผู้โดยสารนั่นเอง จึงทำให้รถเมล์ขาวนายเลิศครองใจมหาชนได้อย่างมาก ส่วนการวิ่งให้บริการนั้นก็ยังก้าวล้ำกว่าใคร เพราะในสมัยนั้นรถเมล์ทุกสายจะวิ่งตั้งแต่เวลา ตี 5 ถึง 3 ทุ่มเท่านั้น แต่ต่อมารถเมล์ขาวนายเลิศสาย 2 คือ บางนา – ปากคลองตลาด ก็นับเป็นสายแรกที่วิ่งบริการตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ตามประวัติ รถเมล์ขาวนายเลิศ ก็แทบไม่เคยมีสถิติเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้โดยสารเลย นอกจากจะประสบความสำเร็จในกิจการเดินรถอย่างงดงามแล้ว นายเลิศ ยังเป็นบุคคลที่มีจิตใจงดงามน่าเอาเยี่ยงอย่าง โรงพยาบาลเลิศสิน ที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้ นายเลิศ ก็เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาเอง นอกจากนี้ในปี 2460 สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ นายเลิศ ยังนำเรือเมล์ขาวออกวิ่งช่วยเหลือชาวนาแถวคลองแสนแสบให้ขนข้าวของ วัวควายหนีน้ำโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด คุณความดีนี้เองทำให้ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ นายเลิศ ให้เป็น เสวกตรี พระยาภักดีนรเศรษฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป
ทุกวันนี้ รถเมล์ขาวนายเลิศ ได้กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไปแล้ว เพราะรถเมล์สายต่างๆ ในอดีตได้ถูกพัฒนากลายมาเป็น ขสมก. ดังเช่นทุกวันนี้
ที่มา ตำนาน,เรื่องเล่า
ที่มา: http://variety.teenee.com/foodforbrain/74057.html