ควรอ่าน! ไขมันพอกตับร้ายแรง และ สามารถเป็นได้ทุกคน

ทุกวันนี้คนเรามัวแต่สนใจการลดไขมันที่พอกอยู่ตามหน้าท้อง ต้นแขน หรือต้นขา แต่ลืมไปหรือเปล่าว่าอวัยวะภายในต่างๆก็มีโอกาสที่จะถูกไขมันเกาะได้เช่นกัน โดยเฉพาะ ‘ตับ’ อวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่กำจัดสารพิษ และจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิต 
พญ.วิภากร ชูแสง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ กล่าวว่า ภาวะไขมันพอกตับสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากเป็นในผู้ไม่ดื่มสุราจะค่อนข้างน่ากลัวมากกว่า เพราะผู้ป่วยมักจะไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเกิดความผิดปกติจนกระทั่งตรวจพบโดยบังเอิญ 
  
อาการของโรค 
ปัจจุบัน ประเทศไทยพบภาวะไขมันพอกตับมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในโลหิตสูง ที่มีอายุตั้งแต่ 45 – 50 ปีขึ้นไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่อัตราการเผาผลาญอาหารเริ่มลดลง ภาวะไขมันพอกตับแบ่งระยะการดำเนินโรคได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ 
 
ระยะแรก มีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลใด ๆ 
ระยะที่สอง เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากไม่ควบคุมดูแลและปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อย ๆ เกินกว่า 6 เดือน จะเริ่มพัฒนาเป็นตับ ‘อักเสบเรื้อรัง’ 
ระยะที่สาม การอักเสบรุนแรงมากขึ้นจนเกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับค่อย ๆ ถูกทำลายลง 
ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ‘ตับแข็ง’ และ ‘อาจกลายเป็นมะเร็งตับ’ 
  
โรคตับเป็นโรคที่มีพัฒนาการค่อนข้างช้า และไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ จนแทบไม่เป็นที่สังเกต เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เล็กน้อย ตึง ๆ บริเวณใต้ชายโครงขวา ซึ่งเมื่อเกิดภาวะไขมันพอกตับแล้วจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าโรคจะดำเนินไปอีกขั้น โดยอาจจะกินเวลานานเป็น 10 ปี ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนจำนวนมากหลงลืมที่จะดูแลตับของตัวเองให้ดี กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะสายไปเสียแล้ว 
 
ถ้ามีปัญหาต้องรีบไปตรวจ 
การตรวจวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อตรวจว่าเอนไซม์ตับทำงานผิดปกติหรือไม่ ซึ่งจะแสดงถึงภาวะการอักเสบของตับนั่นเอง นอกจากนี้ อาจทำได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งการเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ ซึ่งจะช่วยประเมินความรุนแรงของโรคได้
 
ต้องรักษาอย่างไร 
เป้าหมายของการรักษา คือ การลดไขมันสะสมและลดการอักเสบของตับ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีไขมันในตับแต่ไม่ได้เกิดอาการตับอักเสบก็ยังไม่จำเป็นต้องรับประทานยา เพียงแค่ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ลดอาหารหวานและอาหารมัน ไขมันในตับก็จะลดลงได้แล้ว
 
แนวทางการป้องกันตัวเอง และลดความเสี่ยง 
1. พยายามลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับปลอดภัย
2. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ
3. ผู้ป่วยเบาหวาน และไขมันในเลือดสูงต้องควบคุมโรคให้ดี โดยอาศัยทั้งการทานยา การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย
4. พยายามลดหรือเลิกการดื่มสุรา
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารเสริมประเภทน้ำมันต่าง ๆ เช่น น้ำมันปลา น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส และสมุนไพรต่าง ๆ
6. ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโดยการฉีดวัคซีนป้องกัน
7. ตรวจสุขภาพประจำปี โดยสังเกตค่าความผิดปกติของเอนไซม์ของตับ (AST และ ALT)
 
การดูแลสุขภาพตับ ก็คล้ายๆกับการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ เพราะไม่ใช่แค่ผู้ที่ดื่มสุราอย่างหนักและผู้มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเท่านั้นที่ต้องระวังเรื่องภาวะไขมันพอกตับ แต่ผู้ที่มีน้ำหนักปกติและมีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงก็จำเป็นต้องตรวจสอบตับของตัวเองให้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ บุคคลคนไหนที่ชอบรับประทานยาและอาหารเสริมมากๆ จนอาจรับประทานผิดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ต้องระวังเรื่องนี้ให้มากไม่แพ้กันด้วย
 
ที่มา :  thaijobsgov 
Credit: http://fb.sayhibeauty.com/2016/01/blog-post_59.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...