http://www.komkid.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%A1/
ศึกปาร์เธียน หายนะของโรมกลางทะเลทราย
ในปีที่ 56 ก่อน ค.ศ. โรมปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ โดยอำนาจสุงสุดอยู่ในมือของสภาไตรภาคี ประกอบด้วยกงสุลสามคน คือ ปอมปีอุส แมกนุส,มาคุส ลิสินิอุส แครสซุส และ จูลิอุส ซีซาร์ ทว่าวาระการปกครองของพวกเขากำลังจะสิ้นสุดในปีที่ 55 ก่อน ค.ศ.
ทหารโรมันในยุคสาธารณรัฐ
ซึ่งในบรรดาสมาชิกไตรภาคีทั้งสามนี้ คนที่เดือดร้อนกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงมากที่สุดคือ แครสซุส เนื่องจากในเวลานั้น เขายังไม่มีผลงานที่ใหญ่พอจะเป็นที่ยอมรับของสภาซีเนต (สภาขุนนาง) และทรีบูน (สภาผู้แทนประชาชน) เลย ในขณะที่ทั้งปอมปีอุสและซีซาร์ต่างก็มีผลงานในการพิชิตดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลมาเป็นอาณาเขตของโรม ส่วนผลงานการศึกที่สำคัญของแครสซุส คือการปราบกบฏทาส สปาร์ตาคัสนั้น ทางสภาเห็นว่า ยังไม่ใช่ผลงานใหญ่เทียบขั้นผลงานของปอมปีอุสและซีซาร์ได้ เนื่องจากสปาร์ตาคัสเป็นเพียงทาสที่ลุกฮือก่อกบฎเท่านั้น และเหนืออื่นใด คือ การปราบกบฎสปาร์ตาคัสไมได้ทำให้โรมมั่งคั่งขึ้น เพราะพวกเขาไม่ได้เชลยศึก ทรัพย์สมบัติหรือดินแดนเพิ่มเติมจากศึกนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผลงานของแครสซุสไม่ได้รับการยกย่องมากเท่ากงสุลอีกสองคน
มาร์คุส แครสซุส
แครสซุสรู้เรื่องนี้ดีและเขาเองก็มีความริษยาเพื่อนกงสุลทั้งสอง โดยเฉพาะกับปอมปีอุสที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากัน อีกทั้งแครสซุสยังมีความทะเยอทะยานทางการเมืองอย่างเต็มเปี่ยม แม้เวลานั้นจะมีอายุย่างเข้าหกสิบปีแล้ว และเขาก็พบว่าตนเหลือเวลาในตำแหน่งอีกเพียงหนึ่งปีที่จะสร้างผลงานยิ่งใหญ่
แครสซุสตัดสินใจว่า เขาจะต้องพิชิตศึกใหญ่ให้เป็นที่เลื่องลือและสร้างความมั่งคั่งให้โรมเพื่อปูทางสู่ความรุ่งโรจน์ทางการเมือง นอกจากนี้ ปับลิอุส บุตรชายของเขาที่เพิ่งสร้างผลงานใหญ่จากการร่วมทัพของซีซาร์ไปทำสงครามในแคว้นกอล (ฝรั่งเศส) ก็เตรียมจะลงเล่นการเมือง จึงต้องการสร้างผลงานอีกครั้งเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสภา
แครสซุส สองพ่อลูก ลงความเห็นว่า พวกเขาต้องเลือกเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และมีโอกาสสำเร็จได้โดยง่าย ซึ่งเป้าหมายที่พวกเขาเลือกก็คือ ดินแดนทางตะวันออกของโรมที่ชื่อ จักรวรรดิปาร์เธียน
นักรบปาร์เธียน
ชาวปาร์เธียนสืบเชื้อสายมาจากชาวเปอร์เซียโบราณ พวกเขาครอบครองดินแดนเมโสโปเตเมียและพื้นที่ส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง เดิมทีปาร์เธียนอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์เซลิวซิดซึ่งสืบเชื้อสายมาจากขุนพลเซเลยูซิสของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ต่อมาได้ก่อกบฏและแยกตัวมาตั้งอาณาจักรก่อนขยายดินแดนจนเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่งเนื่องจากตั้งอยู่กึ่งกลางเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกที่รู้จักในชื่อ เส้นทางสายไหม พวกปาร์เธียนเชี่ยวชาญการใช้ธนูและการรบบนหลังม้า โดยเฉพาะกองทหารม้าหุ้มเกราะอันเข้มแข็งของพวกเขาที่นับเป็นกำลังรบที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการทำเครื่องประดับทองคำและงานฝีมืออื่นๆด้วย
แครสซุสมีความรู้เรื่องปาร์เธียนน้อยมาก เขารู้แค่เพียงว่า กองทัพโรมันเคยเอาชนะอาณาจักรตะวันออก อย่างอาร์เมเนียและปอนตัสได้ง่ายดายแม้จะมีกำลังพลน้อยกว่า ทำให้เขาคิดเอาว่า พวกปาร์เธียนก็น่าจะถูกพิชิตได้โดยง่ายเช่นกัน
กองทหารม้าหุ้มเกราะของปาร์เธียน
อันที่จริงในเวลานั้น ปาร์เธียนได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับโรม การที่แครสซุสจะทำสงครามกับปาร์เธียนจึงทำให้มีชาวโรมันจำนวนไม่น้อย มองว่าเป็นการไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่มีใครจะห้ามได้ เพราะสุดท้ายแล้ว หากแครสซุสชนะศึกนี้ ความมั่งคั่งของปาร์เธียนก็จะหลั่งไหลมาสู่โรม
ในปีที่ 55 ก่อน ค.ศ. มาคุส แครสซุสและบุตรชายนำทัพอันประกอบด้วย ทหารราบโรมัน 35,000 นาย ทหารกองหนุน (ทหารที่ไม่ใช่ชาวโรมันแท้) 4,000 นาย และทหารม้า 4,000 นายซึ่งรวมถึงทหารม้าชาวกอล 1,000 นาย ที่บัปลิอุสนำมาจากแคว้นกอล เคลื่อนทัพเข้าตั้งค่ายที่ซีเรีย พร้อมกับส่งสาส์นไปแจ้งอาร์ตาวัสดีส กษัตริย์อาร์เมเนียโดยให้ส่งกองทหารม้ามาเพิ่มอีก 6,000 นาย
อาร์ตาวัสดีสแนะนำให้แครสซุสเคลื่อนทัพผ่านอาร์เมเนียเพื่อเลี่ยงการเดินทัพผ่านทะเลทรายและเสนอที่จะเสริมทัพให้แครสซุสด้วยทหารม้า 16,000 นายและทหารราบ 30,000 นาย ทว่าแครสซุสปฏิเสธที่จะทำตามคำแนะนำของกษัตริย์อาร์เมเนีย รวมทั้งไม่รับกองทัพหนุนของพระองค์ด้วย โดยแครสซุสตัดสินใจนำทัพมุ่งตรงสู่เมโสโปเตเมียและวางแผนเข้ายึดเมืองใหญ่ต่างๆในภูมิภาคนั้น
พระเจ้าโอโรดีสที่สอง กษัตริย์แห่งปาร์เธียนทราบข่าวศึกด้วยความพิโรธที่โรมฉีกสนธิสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม พระองค์ตัดสินพระทัยแบ่งกองทัพเป็นสองส่วนโดยนำกำลังทหารส่วนใหญ่ซึ่งกำลังหลักเป็นพลธนูเดินเท้าและมีทหารม้าจำนวนหนึ่งยาตราทัพสู่อาร์เมเนียเพื่อลงโทษที่สนับสนุนพวกโรมันและส่งกำลังที่เหลือซึ่งประกอบด้วยทหารม้าธนู 9,000 นายและทหารม้าหุ้มเกราะ (cataphract) 1,000 นาย ภายใต้การนำของแม่ทัพสุเรนาไปถ่วงเวลากองทัพโรมันให้ล่าช้าและก่อกวนให้อ่อนกำลังลง จนกว่ากองทัพใหญ่จะเสร็จศึกในอาร์เมเนีย โดยพระองค์เองก็ไม่ได้คาดหมายว่า กองทัพของสุเรนาจะเอาชนะพวกโรมันได้
ทหารม้าธนูปาร์เธียน
กองทัพโรมันมีออสโรอิเน หัวหน้าเผ่าอารีอัมเนสเป็นผู้นำทาง โดยเขาเคยช่วยเหลือปอมปิอุสเมื่อครั้งที่มาทำศึกในตะวันออกก่อนหน้านี้ แครสซุสเชื่อใจออสโรอิเนทว่า ในครั้งนี้เขาแอบรับสินบนจากปาร์เธียนและหลอกพวกโรมันให้เดินทัพเข้าไปกลางทะเลทรายในส่วนที่แห้งแล้งที่สุด นอกจากนี้ยังหลอกแครสซุสว่า กองทัพของปาร์เธียนอ่อนแอและไร้วินัยทำให้แครสซุสเกิดความประมาท ทั้งนี้ในขณะนั้น อาร์ตาวัสดีส กษัตริย์อาร์เมเนียได้ส่งสาส์นมาขอความช่วยเหลือจากแครสซุสโดยแจ้งว่า กองทัพใหญ่ของปาร์เธียนกำลังบุกเข้าโมตีอาร์เมเนีย ทว่าแครสซุสกลับไม่สนใจจะไปช่วยและยังมุ่งหน้าลึกเข้าไปในเมโสโปเตเมีย ก่อนจะเผชิญกับกองทัพสุเรนาใกล้กับเมืองคาร์เรีย
เมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพม้าอันน่าเกรงขามของปาร์เธียนครั้งแรก แครสซุสถึงกับตกใจเมื่อพบว่าศัตรูของเขาเป็นกองทหารที่เข้มแข็งและมีวินัยดีเยี่ยม แคสซิอุส นายพลของเขาเสนอให้สั่งตั้งขบวนรบแบบแผนโดยให้กองทหารราบอยู่ตรงกลางและกองม้าเป็นปีกซ้ายขวา ทว่าแครสซุสกลับสั่งทหารให้ตั้งแนวเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสโดยมีเขาและกองทหารคุ้มกันอยู่ตรงกลาง ขณะที่สุเรนาได้สั่งให้กองทหารม้าธนูพุ่งเข้าโจมตี
พวกโรมันพบว่าธนูของปาร์เธียนแม่นยำและรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้พวกเขาไม่อาจเคลื่อนทัพรุกคืบหน้าได้ ทหารทุกคนที่โผล่พ้นโล่กำบังจะถูกสังหารด้วยลูกธนู และฝ่ายโรมันส่งกองทหารม้าบุกเข้าตี ก็ถูกทหารม้าหุ้มเกราะของปาร์เธียนตีแตกพ่ายกลับมา ทำให้ฝ่ายโรมันไม่อาจทำอะไรได้นอกจากตั้งรับ ทว่าหลังจากรบกันได้ระยะหนึ่ง พวกปาร์เธียนก็ถอยทัพข้ามเนินทรายไป
การปะทะในครั้งแรก ทำให้ฝ่ายโรมันสูญเสียกำลังไปนับพันนายและแครสซุสก็เครียดหนักกับผลการรบ พวกนายพลเสนอให้เขาตั้งค่ายเป็นที่มั่นและเข้าโจมตีข้าศึกในตอนเช้าเพื่อให้ทหารได้พักผ่อน ทว่าบัปลิอุส บุตรชายแครสซุสกลับต้องการที่จะไล่ติดตามโจมตีข้าศึก จึงชักจูงบิดาให้เคลื่อนทัพต่อทันที
กองทัพโรมันรุกไล่ติดตามข้าศึกโดยไม่ทันระวังตัว ขณะที่สุเรนาซึ่งเห็นฝ่ายตรงข้ามกำลังเร่งเคลื่อนทัพติดตาม โดยไม่ได้จัดเป็นกระบวนรบ ก็สั่งให้กองทหารม้าหุ้มเกราะพุ่งเข้าโจมตีจนทหารโรมันเสียกระบวน จากนั้นจึงส่งกองทหารธนูตามเข้าโจมตีระลอกสอง
การรบระหว่างโรมันกับปาร์เธียน
แครสซุสสั่งกองทหารราบเคลื่อนเข้าโจมตี แต่ทหารม้าธนูของข้าศึกก็ถอยออกไปห่างเกินกว่าที่แหลนของทหารโรมันจะพุ่งไปถึง แต่ลูกธนูของฝ่ายปาร์เธียนยิงมาถึงได้ ทำให้ทหารโรมันถูกสังหารลงไปเป็นอันมาก
เพื่อยุติการโจมตีของข้าศึก แครสซุสจึงส่งบัปลิอุส บุตรชาย พร้อมทหารม้า 1,300 นาย พลธนู 500 นายและทหารราบแปดพันนายแยกออกจากทัพใหญ่รุกเข้าหาทัพข้าศึก
เมื่อเห็นดังนั้น สุเรนาจึงสั่งทหารให้ล่าถอยออกมา โดยล่อให้กองทหารโรมันไล่ติดตามจนห่างจากทัพใหญ่ จากนั้นสุเรนาจึงสั่งทหารม้าหุ้มเกราะเข้าปิดทางถอยและสั่งทหารทั้งหมดล้อมโจมตีกองทหารของบัปลิอุสทันที
แม้จะต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่บัปลิอุสและกองทหารของเขาก็ไม่อาจต้านทานทัพม้าปาร์เธียนได้ จนในที่สุดเมื่อหมดหนทางสู้ บัปลิอุสจึงเชือดคอตายเพื่อที่จะไม่ต้องตกเป็นเชลย ขณะที่ทหารของเขาล้มตายจนหมดสิ้น
ค่ำวันนั้น ทหารปาร์เธียนนำหัวของบัปลิอุสโยนเข้าไปในค่าย ทำให้แครสซุสตกตะลึงและเศร้าโศกกับการตายของบุตรชาย จนไม่อาจสั่งการอะไรได้ นายพลแคสซิอุสเสนอให้รีบถอยทัพก่อนหมดโอกาส แครสซุสจึงสั่งให้ถอยตอนกลางดึกคืนนั้น แต่ก็ทิ้งทหารบาดเจ็บไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ถูกพวกปาร์เธียนฆ่าตายหมด
สุเรนารอจนถึงเช้า จึงนำทัพออกติดตามและไล่ทันพวกโรมันก่อนจะล้อมไว้ที่เนินเขาแห่งหนึ่ง พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอสงบศึกโดยโรมต้องยอมรับว่าปาร์เธียนเป็นพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน แครสซุสไม่มีทางเลือก ทว่าขณะการเจรจา เกิดการโต้เถียงกันขึ้นจนทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันอีกครั้ง กงสุลแครสซุสถูกสังหาร พร้อมไพร่พลส่วนใหญ่ ขณะที่เหลือทหารไม่กี่พันนายที่หนีรอดกลับไปได้
ความพ่ายแพ้ของโรม
ความสูญเสียของโรมันในศึกนี้ใหญ่หลวงนัก โดยมีทหารถูกฆ่าตายไปเกือบสามหมื่นนาย ถูกจับเป็นเชลยหนึ่งหมื่นนาย สุเรนาส่งหัวของแครสซุสไปถวายกษัตริย์ปาร์เธียนพร้อมธงชัยประจำทัพรูปนกอินทรีของโรมันซึ่งต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะได้กลับคืน
หลังสงครามครั้งนี้ โรมันสงบศึกกับปาร์เธียน ระยะหนึ่งซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เปิดโอกาสให้ปาร์เธียนขยายตัวสะสมความมั่งคั่งและทำการค้ากับจีน ก่อนที่ความขัดแย้งกับโรมันจะก่อตัวอีกครั้งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 2 จนเกิดเป็นสงครามซึ่งสงครามกับโรมันที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ประกอบกับการแย่งชิงอำนาจภายในส่งผลให้จักรวรรดิปาร์เธียนอ่อนแอลงจนสุดท้ายถูกพิชิตโดยจักรวรรดิซัสซานิดส์ของชาวเปอร์เซียและถูกผนวกรวมกลายเป็นดินแดนของซัสซานิดส์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3