mgr
เวียดนามรำลึกครบรอบปีที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในวันพฤหัสบดี ที่ 30 ม.ค. 2551 (2008) วันที่เรียกว่า "การรุกรบใหญ่เทศกาลตรุษ" (Tet Offensive) ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของฝ่ายเวียดนามเหนือและนักประวัติศาสตร์ กล่าวว่าเป็นการเริ่มต้นนำไปสู่การยุติบทบาทสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม
ความสูญเสียของกองกำลังเวียดนามเหนือกับฝ่ายเวียดกงซึ่งเป็นกองโจร คอมมิวนิสต์ในภาคใต้ครั้งนั้นใหญ่หลวงมาก แต่ก็คุ้มค่าในทางยุทธศาสตร์ สามารถข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม ปลุกเร้ามหาชนในสหรัฐฯ ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านสงครามในเวียดนาม เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ทราบว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในต่างแดนอันไกลโพ้นอย่างไร้อนาคต
การรุกรบเริ่มในเวลา เกือบจะพร้อมๆ กันตอนเช้าตรู่วันที่ 31 ม.ค.2511 กองกำลังเวียดนามเหนือกับเวียดกงราว 70,000 คน เข้าโจมตีเมืองใหญ่น้อยกว่า 100 แห่ง รวมทั้งกรุงไซ่ง่อนเมืองหลวง กับเมืองเอกของจังหวัดต่างๆ ราว 35 ตัวเมือง
ฝ่ายกองโจรยึดครองหลายเขตของกรุงไซ่ง่อน เป็นเวลาสั้นๆ รวมทั้งบุกเข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯ ด้วย ก่อนจะถูกตีโต้ล้มตายเกลื่อนถนน แต่สงครามเทศกาลตรุษก็ดำเนินต่อมาอีกหลายเดือนและเกิดมีการรุกรบครั้งใหญ่ๆ อีกหลายครั้ง
การรุกรบเทศกาลตรุษที่หนักหน่วงรุนแรงของฝ่าย คอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ได้ทำให้กองทัพรัฐบาลเวียดนามใต้กับสหรัฐฯ ตั้งตัวไม่ติดในระยะแรก เพราะไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น ไม่เชื่อว่าข้าศึกจะสามารถนำการ ต่อสู้จากเขตชนบทเข้าสู่ตัวเมืองได้ขนาดนี้
นัก ประวัติศาสตร์กล่าวว่า ถึงแม้ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะสูญเสียกำลังพลไปหลายหมื่นคนก็ตาม แต่ก็ชนะในสงครามจิตวิทยา ขวัญกำลังใจของชาวอเมริกันและผู้นำสหรัฐฯ ตกวูบลง
ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ขบวนการต่อต้านสงครามได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แรงกดดันจากสารทิศทำให้ประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน (Lyndon B Johnson) เรียกตัว พล.อ.วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ (William Westmoreland) กลับ และประกาศลาออก ในเดือน พ.ค. สหรัฐฯ กับเวียดนามเหนือได้เริ่มเจรจาทำสัญญาสันติภาพกรุงปารีส
พล.อ.หวอ- เงวียน-ย๊าป (Vo Nguyen Giap) ผู้บัญชาการของฝ่ายเวียดนามเหนือประเมินไม่ผิด เรื่องนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว "รบแล้วเจรจา-เจรจาแล้วรบต่อ" เป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ นายพลผู้นี้เคยทำให้พวกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสแพ้อย่างราบคาบก่อนหน้านั้น เพียง 14 ปี
"หลังการรุกรบใหญ่เทศกาลตรุษทหารอเมริกันต่อสู้ เพื่อที่จะถอนออกไปอย่างมีเกียรติ ไม่ได้รบเพื่อเอาชัยชนะอีกต่อไป" พล.ท.เหวียน-ดิ่ง-อเวื๊อก (Nguyen Dinh Uoc) อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การทหารเวียดนามกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน นายลาร์รี เบอร์มัน (Larry Berman) เห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น
"(การรุกรบ) วันตรุษทำให้แอลบีเจกับเวสต์มอร์แลนด์ตกเก้าอี้ และ คำกล่าวของเวสต์มอร์แลนด์ที่ว่า..มองเห็นแค่แสงริบหรี่อยู่ก้นอุโมงค์ก็เห็น ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น" นายเบอร์มันกล่าว
"ถ้าหากทหาร อเมริกัน 550,000 คนในประเทศนั้นไม่สามารถรักษากรุงไซ่ง่อนกับเมืองอื่นๆ ไว้ได้ แล้วจะมีอะไรให้หวัง? สาธารณชนอเมริกันกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่คิดที่จะหาคำตอบ" นักประวัติศาสตร์คนเดียวกันกล่าว
จริงๆ แล้วการรุกรบใหญ่เทศกาลตรุษเริ่มจากการโจมตีเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 30 ม.ค. แต่ที่นครเหว (Hue) การสู้รบอย่างดุเดือดดำเนินต่อมาอีก 3 สัปดาห์ที่นั่นฝ่ายคอมมิวนิสต์สังหารทหารเวียดนามใต้ตายหลายร้อย หรืออาจจะนับพันๆ คน จนกระทั่งนาวิกโยธินสหรัฐฯ เข้าไปช่วยและยึดพระราชวังเก่าคืนได้
ในกรุงไซ่ง่อนนักรบ เวียดกงได้แทรกซึมเข้าสู่ตัวเมืองก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ บ้างก็เป็นคนถีบสามล้อรับจ้าง เป็นกรรมกร เป้าหมายของนักรบกองโจรพวกนี้คือ สถาน ทูตสหรัฐฯ ทำเนียบประธานาธิบดี กองบัญชาการตำรวจ กองบัญชาการทหารเรือและสถานีวิทยุแห่งต่างๆ
กอง กำลังเวียดกงจู่โจมเข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯ เอาไว้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ก่อนที่ฝ่ายกองโจรจะถูกสังหารหมดทุกคน ทีวีสหรัฐฯ ได้นำภาพขาวดำเหตุการณ์ที่สถานทูตไปให้ชาวอเมริกันได้รับชมถึงห้องนั่งเล่น ที่บ้าน
วอ ลเตอร์ ครอนไคท์ (Walter Cronkite) นักจัดรายการทีวีที่มีอิทธิพลได้บอกข่าวดีกับชาวอเมริกันว่า "ตอน นี้มันแน่นอนมากกว่าครั้งไหนๆ ว่า ประสบการณ์นองเลือดในเวียดนามกำลังจะเข้าสู่จุดจบในสถานการณ์ที่ยังอึมครึม"
การสู้รบตามท้องถนนกรุงไซ่ง่อนดุเดือดเลือดพล่านที่สุด กล้องของช่างภาพสื่อแขนงต่างๆ จับภาพศพทหารเวียดกงที่นอนตายกันเกลื่อนกลาด
ยังมี อีกภาพหนึ่งที่สะเทือนใจคนทั้งโลก ตอนที่ผู้บัญชาการตำรวจไซ่ง่อน พล.ต.เห วียน-หง็อก-ลวาน (Nguyen Ngoc Loan) ใช้ปืนลูกโม่จ่อยิงเข้าที่หัวของนักโทษที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นเวียดกง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นริมถนนที่คนพลุกพล่าน
ทหารฝ่าย คอมมิวนิสต์ได้รับคำสั่งให้รุกรบไปข้างหน้า เพื่อปลุกปั่นให้เกิดการลุกฮือขึ้นในภาคใต้และให้เกิดการแข็งข้อ การหนีทัพในกองทัพของศัตรู แต่เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนั้น กองกำลังสหรัฐฯ ที่มีอำนาจการยิงเหนือกว่าได้สังหารฝ่ายกองโจรล้มตายราวกับใบไม้ร่วง
ผู้ปฏิบัติงานของฝ่ายคอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่งได้ยอมรับในเวลาต่อมาถึง ความผิดพลาดและความบกพร่องต่างๆ ที่ไม่สามารถทำให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่เพื่อขับไล่พวกอเมริกันกับรัฐบาล หุ่นในภาคใต้ได้สำเร็จ ซึ่งทำให้เกิดการรบใหญ่อีก 2 ระลอกในเดือน พ.ค.และ ส.ค.ปีเดียวกัน
ในเวลาต่อมาอดีตผู้สื่อข่าวสงครามชาวอเมริกัน นายนีล ชีฮาน (Neil Sheehan) ได้เขียนในหนังสือที่ชื่อ A Bright Shining Lie ว่า "พวก นักรบเวียดกงไม่ได้เห็นการเสียขวัญกำลังใจในหมู่ทหารอเมริกัน จากการเสียสละของพวกเขา (ในขณะนั้น).."
พล.ท.เจิ่น โด (Tran Do) อดีตกรรมการกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังเวียดนามเหนือในศึกนครเหว ได้กล่าวกับนายสแตนลีย์ คาร์นาว (Stanley Karnow) อดีตผู้สื่อข่าวสงครามในเวียดนามในเวลาต่อมา ยอมรับในความล้มเหลว
"ด้วยความสัตย์จริง เราไม่บรรลุเป้าประสงค์หลัก นั่นก็คือการปลุกให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ในทั่วภาคใต้"
"กระนั้นก็ตามเราได้ทำให้ทหารสหรัฐฯ กับพวกทหารหุ่นไซ่ง่อนล้มตายไปจำนวนมากเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เรากลับได้เปรียบอย่างมาก ถึงแม้การเข่นฆ่าทหารสหรัฐฯ จะไม่ใช่เป้าหมายของเรา แต่กลับโชคเข้าข้าง การณ์กลับเป็นอีกหนึ่ง" นายพลโดกล่าว.