เจ้าทิพเกสร สตรีผู้กุมอำนาจเหนือบัลลังค์เชียงใหม่

http://variety.teenee.com/foodforbrain/73638.html

เจ้าทิพเกสร สตรีผู้กุมอำนาจเหนือบัลลังค์เชียงใหม่

 

เจ้าเทพไกรสรบ้างว่า เจ้าทิพเกสร หรือเจ้าทิพเกษรเป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ประสูติแต่ ่เจ้าอุษาเป็นพระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ต่อมาและเป็นพระมารดาในเจ้าดารารัศมีพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์สยาม

พระนางมีพระนิสัยเฉียบขาดเยี่ยงพระบิดาทรงเป็นราชนารีที่มีบทบาทด้านการปกครองที่โดดเด่น เคียงคู่กับพระขนิษฐาคือเจ้าอุบลวรรณา ณ เชียงใหม่ ที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจอันโดดเด่น

เจ้าเทพไกรสร ประสูติในปี พ.ศ. 2384เป็นพระธิดาองค์โตของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 กับเจ้าอุษา มีขนิษฐาร่วมอุทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าอุบลวรรณา ณ เชียงใหม่

เจ้าเทพไกรสรอภิเษกสมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ. เชียงใหม่ เป็นบุตรของเจ้าราชวงศ์(มหาพรหมคำคง) ซึ่งต่อมา เจ้าอินทนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระเจ้าอินทวิชยานนท์" พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 7 ทั้งสองมีพระธิดาสององค์ คือเจ้าจันทรโสภาและเจ้าดารารัศมี

ในช่วงที่เจ้าเทพไกรสรทรงประชวรช่วงนั้นได้มีการพิจารณาการผูกขาดต้มเหล้าของชาวจีนเจ้าอุบลวรรณาพระขนิษฐาจึงใช้โอกาสนี้จัดการเข้าทรง โดยรับเป็น "ม้าขี่" หรือร่างทรงเมื่อวิญญาณที่มาเข้าร่างทรงได้แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่จะอนุญาตให้คนจีนผูกขาดการต้มเหล้าทั้งยังได้ขู่สำทับด้วยว่าหากมีการอนุญาตจะเกิดเหตุใหญ่ร้ายแรงกว่านี้และการที่เจ้าเทพไกรสรเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นเพียงการสั่งสอนเท่านั้นภายหลังจึงได้มีการล้มเลิกการผูกขาดการต้มเหล้าไปเจ้าเทพไกรสร ถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2427 ขณะที่เจ้าดารารัศมี พระธิดามีชันษาเพียง11ปีเจ้าดารารัศมีจึงตกอยู่ในพระอุปการะของเจ้าอุบลวรรณาและสองปีหลังจากนี้เจ้าดารารัศมีก็ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพมหานคร

การที่ได้เสกสมรส

แต่เดิมเจ้าเทพไกรสรเป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสที่ทรงครองโสดอยู่ผู้เดียวเนื่องจากเจ้าอุบลวรรณาพระขนิษฐาได้เสกสมรสไปแล้วก่อนหน้าต่อมาเมื่อถึงวันงานแห่ครัวทานพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ผู้บิดา ได้รับสั่งเจ้าเทพไกรสร ว่า "เจ้าเห็นชายคนไหนดีพอจะเป็นคู่กับเจ้า ก็จงเลือกเอาตามแต่จะเห็นว่าเหมาะควร" และเมื่อเจ้าเทพไกรสร ทอดพระเนตรเจ้าอินทนนท์ก็ทรงชื่นชมในท่าฟ้อนนำแห่ครัวทานกับแต่งกายตามประเพณีอย่างสวยงามจึงทูลตอบพระบิดาว่า"ลูกดูแล้วเห็นแต่เจ้าราชวงศ์อินทนนท์คนเดียวเท่านั้นเจ้าที่น่าจะเป็นผู้ใหญ่ครอบครองบ้านเมืองต่อไปได้" เมื่อเจ้ากาวิโลรสสดับความเช่นนั้นจึงส่งท้าวพญาผู้ใหญ่ไปติดต่อ

เจ้าเทพไกรสรเป็นพระชายาในพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลมรอบรู้ในด้านราชการและมีพระอำนาจเหนือพระสวามีมีหลักฐานของชาวต่างประเทศกล่าวถึงพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เป็นผู้ที่มีใจเมตตากรุณาแต่อ่อนแอ"และเจ้าหลวงถูกครอบงำโดยพระชายาผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็งทดแทนความอ่อนแอของพระองค์..." ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงเรียกพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เจ้าหลวงตาขาว" บทบาทด้านการบริหารบ้านเมืองจึงตกอยู่กับเจ้าอุปราช (บุญทวงศ์) และเจ้าเทพไกรสร พระชายา และมีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ. 2425 และ พ.ศ. 2427 ตามลำดับ

ดร. แดเนียล แมคกิลวารี หัวหน้าคณะมิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสนทนากับเจ้าเทพไกรสร ความว่า "ท่านเป็นพระชายาองค์เดียวของเจ้าหลวงอินทนนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยกำเนิดท่านมีฐานันดรศักดิ์ที่สูงกว่าเจ้าหลวงและท่านก็ทรงคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่งที่ท่านดำรงอยู่ในขณะนี้ทุกประการทั้งยังเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม และตั้งใจมั่นคง ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสวามีของท่านคือเจ้าหลวงองค์ใหม่หลีกเลี่ยงความบกพร่องและความผิดพลาดได้เป็นอันมาก… ในการสนทนาระหว่างข้าพเจ้ากับเจ้าหญิงนั้นเรามักจะวกมาถึงเรื่องศาสนาเกือบตลอดเวลาแต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเจ้าหญิงมีความประสงค์จะเอาชนะในการโต้ตอบเรื่องศาสนานี้มากกว่าจะค้นเอาความจริง ท่านมีไหวพริบเหมือนหมอความ คอยจับคำพูดที่หละหลวมและด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่านทำให้ท่านเป็นนักโต้คารมที่มีอารมณ์ครื้นเครง"และ"...อิทธิพลของสตรีในทางวิเทโศบายต่างๆจงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมากมายมาตั้งแต่ครั้งเจ้าหลวงองค์ก่อน[พระเจ้ากาวิโลรส]ยังทรงครองราชย์อยู่ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรสจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระธิดากลายเป็นผู้มีอำนาจและยังได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจถึงงานต่างๆของรัฐด้วย...โดยกำเนิดแล้วพระนางมียศสูงกว่าพระสวามี...ฐานะของพระนางจึงจำเป็นต่อการคานอำนาจกับองค์อุปราช [บุญทวงศ์]...

เจ้าเทพไกรสรเป็นราชนารีที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็ง ดังปรากฏว่าเมื่อครั้งที่เกิดกบฏพระยาปราบสงครามทรงไม่เห็นด้วยและแสดงความไม่พอพระทัย จึงสั่งให้จับพระยาปราบมาประหารชีวิตเสียทำให้พวกพระยาปราบเกรงกลัวและแตกหนีไปและอีกกรณีที่เจ้าเทพไกรสรได้บัญชาให้ประหารชีวิตพระญาติสาย"ณลำพูน" ที่กระทำการอุกอาจแทงช้างพระที่นั่งพระสวามีของพระองค์ด้วยความคะนอง นอกจากด้านการปกครองแล้ว เจ้าเทพไกรสรยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการละครฟ้อนรำและเครื่องสายตามแบบอย่างราชสำนักกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นแห่งแรกในคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์

ที่มา Facebook :: ราชินี เจ้าจอม หม่อมห้าม ในอดีต >>หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา‬

Credit: ที่นี่ดอดคอม
9 ธ.ค. 58 เวลา 05:47 2,994 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...