น่าดีใจที่ทุกวันนี้เราจะเห็นโปรเจ็กต์จำพวก ‘ห้องสมุดขนาดเล็ก’ เกิดขึ้นในหลายต่อหลายเมืองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดขนาดจิ๋วที่ตั้งอยู่หน้าบ้านใครสักคน รอคอยให้คนแปลกหน้าแวะมาหยิบยืมหนังสือไปอ่าน หรือไม่ก็ห้องสมุดเคลื่อนที่ที่ใช้แรงม้าลากไปยังที่ต่างๆ ในเขตชนบท
ล่าสุด Rachel M. Simon จาก The Public Collection องค์กรที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสนับสนุนศิลปะในพื้นที่สาธารณะ (Public Art) และการอ่านออกเขียนได้ ก็ได้นำเอาไอเดียของห้องสมุดขนาดเล็กที่ว่ามาพัฒนาให้ก้าวไกลไปอีกหนึ่งขั้น โดยนำมารวมเข้ากับศิลปะแบบติดตั้งจัดวาง เกิดเป็นห้องสมุดขนาดเล็กที่ไม่เพียงมีหนังสือให้ชาวเมืองในอินเดียนาโปลิสหยิบยืมเท่านั้น แต่ยังมีคอนเซ็ปต์ของตัวห้องสมุดหรือที่เรียกกันว่า book station นี้ น่าสนใจมากขึ้นด้วย
งานนี้ The Public Collection จึงได้เชื้อเชิญศิลปินจากอินเดียนาโปลิสทั้งหมด 9 ชีวิต ให้มาสร้างสรรค์ book station ทั้งหมด 9 ชิ้น (ซึ่งจริงๆ ก็ถือเป็นประติมากรรมหรือศิลปะติดตั้งจัดวางนี่แหละ) โดยแต่ละชิ้นจะนำไปใส่หนังสือและวางให้บริการอยู่ตามมุมต่างๆ ของเมือง ศิลปินแต่ละคนมาพร้อมกับไอเดียที่มุ่งไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ต้องการโปรโมทเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ความเข้าใจลึกซึ้งในศิลปะ และสร้างความตระหนักในเรื่องการศึกษาและความยุติธรรมในสังคมที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ผลงาน book station ที่ออกมามีเนื้อหาลึกซึ้งที่กินใจไม่ใช่น้อย
เริ่มจาก Brian McCutcheon ที่นำเอา quote จาก Mark Twain ที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ทหารกล้าแห่งหนึ่งของเมือง โดยเป็นข้อความที่บอกว่า หนังสือและห้องสมุดจะก่อให้เกิดอนุสาวรีย์ที่คงทนได้มากกว่าสิ่งไหนๆ ดังนั้น McCutcheon จึงสร้างสรรค์ book station ‘Monument’ (2015) ของเขาให้เป็นเหมือนซุ้มประตูชัยแบบโมเดิร์น (สีเขียวสด) และตรงเสาแต่ละเสาก็มีหนังสือจัดวางไว้ ส่วนอีกหนึ่งชิ้นที่มีคอนเซ็ปต์โดนใจก็คือ Nautilus (2015) ของศิลปินสาว Katie Hudnall ที่ไม่ได้ทำขึ้นจากวัสดุเหลือใช้เท่านั้น แต่ Hudnall ยังสร้างสรรค์เป็นรูปเรือที่งดงามมาก โดยเธอให้สาเหตุว่า เพราะการอ่าน (การศึกษา) ถือเปรียบเสมือนยานพาหนะที่สามารถพาเราไปในหลายต่อหลายที่ รวมทั้งในหลายช่วงเวลาได้ ที่สำคัญ การศึกษาก็ยังทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอีกด้วย
เห็นไหมล่ะว่า ห้องสมุดทั้ง 9 แห่งนี้ ทั้งมีหนังสือให้อ่านและก็ยังมีไอเดียแจ่มๆ ของชิ้นงานซ่อนไว้ให้ได้คิดอย่างน่าสนใจอีกด้วย
อ้างอิง: The Public Collection