ว่าวฮม
หรือปัจจุบันมักเรียกว่า โคมลอย เป็นโคมที่ใช้ความร้อนในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ บ้างก็เรียกว่า ว่าวฮม ว่าวลม หรือว่าวควัน การทำว่าวชนิดนี้ มีความพิถีพิถันในการทำเป็นอย่างมาก มิฉะนั้นว่าวอาจจะไม่ลอยขึ้นสู่อากาศได้ การทำว่าวฮมในอดีต มี ๒ แบบ คือ ว่าวสี่แจ่ง คือว่าวที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมและว่าวมน เป็นรูปทรงกลมทั้งด้านหัวและด้านท้าย ปัจจุบัน มีการประดิษฐ์ว่าวฮมหลากหลายรูปทรง เช่น ทรงเครื่องบิน ทรงจรวด ทรงแปดเหลี่ยม รูปปลา รูปช้าง รูปม้า รูปการ์ตูน ฯลฯ และมีการประกวดแข่งขันด้านรูปทรง และลูกเล่นที่ปล่อยในอากาศขณะที่ว่าวฮมลอยอยู่กลางอากาศ เช่น ปล่อยหาง ปล่อยร่ม ปล่อยเครื่องบิน ควันสี เป็นต้น
การปล่อยว่าวฮม ใช้ควันไฟที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เรียกว่า ฮมควัน ควันไฟที่อัดเข้าไป ทำให้ภายในตัวว่าวมีความร้อนที่จะให้พยุงตัวว่าวให้ลอยขึ้น เนื่องจากอากาศภายนอกในช่วงเดือนยี่ (พฤศจิกายน) จะเย็นลงบ้างแล้ว ดังนั้น การปล่อยโคมนิยมปล่อยกันในช่วงก่อนเที่ยง เพราะอากาศกำลังดีสำหรับการปล่อยว่าว ซึ่งต้องทำในที่โล่งกลางแจ้ง
การรมควันนั้น แบ่งหน้าที่กัน กลุ่มหนึ่งช่วยกันพัดเอาลมเข้าปากว่าว สมัยก่อนใช้กระด้งหรือถาดสังกะสี ปัจจุบันนิยมใช้พัดลม เพราะสะดวกและมีลมแรง มีคนหนึ่งทำหน้าที่ใช้ไม้ส้าวประคองหมง (จุกสำหรับใช้ไม้ส้าวแทงยกขึ้น) ให้ยกขึ้น เพื่อไม่ให้ว่าวกองกับพื้น และอีกกลุ่มหนึ่งเตรียมในส่วนรมควันไฟ โดยมากใช้ไม้ไผ่พันด้วยผ้าแล้วชุบด้วยชันหรือน้ำมันขี้ย้า ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันโซล่า ใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นกระบอกสูบ นำไม้ไผ่ที่พันด้วยผ้าชุบน้ำมันสอดเข้าไปในกระบอก ดันให้หัวผ้าโผล่ออกมานิดหน่อย เพื่อให้ไฟลุก หรือใช้กาบกล้วยทำเป็นกรวยสวมไว้ เพื่อกันมิให้ไฟลุกมากจนไหม้กระดาษว่าว กระบอกไม้ไผ่นี้ ยังใช้สำหรับเร่งไฟ เพื่อเพิ่มควันความร้อนเข้าไปในตัวว่าว ในขณะที่รมควันไฟ ให้สำรวจรอยรั่ว ถ้าพบรอยรั่ว ให้นำกระดาษติดกาวปะทันที เมื่อรมควันไปได้ระยะหนึ่ง ในตัวว่าวจะมีความร้อนเพียงพอ ที่ทำให้ตัวว่าวลอยขึ้น เรียกว่า ลู่มือ ให้นำเอาลูกเล่นต่างๆ เช่น หาง ประทัดสายมามัดติดกับปากว่าว
ความเชื่อการปล่อยว่าวฮม
ชาวล้านนาเชื่อว่าพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเส็ด (ปีหมา) คือพระเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ ดังนั้น การสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี คือการปล่อยว่าวฮมหรือว่าวไฟ พร้อมกับบูชาด้วยสวยดอกไม้ธูปเทียน โดยนำผูกติดกับตัวว่าวขึ้นไป เพื่อสักการะ หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถบูชาว่าวฮม ว่าวไฟ เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีได้เช่นกัน ดังปรากฏในเทศน์ธัมม์พื้นเมืองเรื่อง พระมาลัยโปรดโลก กล่าวว่าผู้ใดอยากขึ้นสวรรค์ให้บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี ปราชญ์ล้านนาได้รจนาคำสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเป็นภาษาบาลี ว่า ตาวติงสา ปุเรรัมเม เกสาจุฬามณี สรีระปัพพะตา ปูชิตา สัพพะเทวานัง ตัง สิระสา ธาตุง อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา ฯ ปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ว่าวฮมและว่าวไฟสามารถปล่อยเคราะห์ได้ จึงมักมีการนำเอาเล็บและเส้นผมใส่ลงไปในสะตวง เพื่อลอยเคราะห์ให้ออกไปจากตัว บ้างผูกจดหมายเขียนคร่าวร่ำ (ค่าวฮ่ำ) และใส่เงินเป็นรางวัลให้สำหรับผู้เก็บว่าวที่ตกได้ (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
ในอดีตเชื่อว่าว่าวไฟหรือโคมไฟตกที่บ้านใคร จะทำให้บ้านนั้นโชคร้าย หรือเป็นบ้านร้าง เนื่องจากรับเคราะห์ของคนที่ได้อธิษฐานปล่อยเคราะห์ แต่ปัจจุบันความเชื่อแบบนี้ไม่ได้ยึดถือกันแล้ว แต่การปล่อยโคมในปัจจุบัน ถ้าโคมไม่ได้มาตรฐานขนาดสัดส่วน อาจจะตกใส่บ้านเรือนและทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ หรือไปรบกวนเส้นทางการบินของเครื่องบินอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและ
ที่มา: http://library.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/yeepeng-wowhome.php