หาก พูดถึงเด็กผู้หญิงวัย 1 ปี 4 เดือนที่ชื่อ “สร้อยเพชร บุญน้อย” เชื่อว่าหลายคนยังคงจำเหตุการณ์เมื่อ 25 ปีก่อนได้ ถึงแม้จะลางเลือนในความทรงจำ แต่ก็แจ่มชัดในความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความน่าเวทนา สลดหดหู่ เมื่อชีวิตน้อยๆ ต้องผจญกับสิ่งเลวร้าย ในก้นรูเสาเข็มอย่างทุกข์ทรมาน ก่อนที่วิญญาณจะค่อยๆ หลุดลอยออกจากร่าง
วันอาทิตย์สุดสัปดาห์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2528 โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ริมถนนวิภาวดี-รังสิต ใกล้เชิงสะพานทางด่วนดินแดง ได้จัดกิจกรรมวัน “ทหารผ่านศึก” ผู้คนมากมายเดินทางมาร่วมงาน และกำลังเพลิดเพลินกับ กิจกรรมที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ เสียงพูดคุยจอแจดังเซ็งแซ่ไปทั้งงาน แต่แล้วจู่ๆ เสียงหนึ่งที่บ่งบอกถึงความตระหนกสุดขีดก็ดังแทรกเข้ามา
“เพชร เพชร เพชร ได้ยินแม่ไหม ?”
“ช่วยด้วย ใครก็ได้ช่วยที เพชร ตกลงไปในเสาเข็ม !!!”
ขณะนั้นเป็นเวลา 08.05 น.เสียงนางสมภาร บุญน้อย คนงานก่อสร้างดังขึ้นหลังกลับ จากซื้อกับข้าวในตลาดและพบว่า “สร้อยเพชร” ลูกสาววัยกำลังน่ารักน่าชังที่ฝากให้นางสมจิต รพี่สาวดูแลชั่วคราวเกิดพลัดตกลงไปค้างอยู่ก้นรูเสาเข็ม ฐานรากอาคาร 9 ชั้นหลังใหม่ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ซึ่งก็คือ “อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟูและออร์โธปิดิคส์”
ในปัจจุบันรูเสาเข็มกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ลึกถึง 24 เมตร ด้วยความกว้างของปากรูขนาดนั้น ไม่น่าเชื่อว่าเด็กจะพลัดตกลงไปได้ แต่เหตุการณ์ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เสียงร้องขอความช่วยเหลือสลับกับ เสียงตะโกนเรียกลูกสาวดังก้องไปทั่วบริเวณ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงทีมงานช่วยชีวิต ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจท้องที่ หน่วยบรรเทาสาธารณะภัย และคณะแพทย์จากโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ก็พร้อมให้การช่วยเหลือ
บรรดาไทยมุงซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนที่มาร่วมงานวันทหารผ่านศึก เมื่อข่าวแพร่กระจายไปมีประชาชน ที่สนใจใคร่รู้แห่เข้ามามุงดูจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเจ้าหน้าที่ต้องกันออกไปเพื่อการช่วยเหลือจะได้ดำเนินไปอย่างสะดวกคล่อง ตัว
เชือกที่หย่อนลงไปวัดระยะที่เด็กหญิงเคราะห์ร้ายติดอยู่ทำให้ทีมงาน ช่วยชีวิตรับรู้ได้ว่า “น้องสร้อยเพชร” ติดอยู่ที่ความลึกประมาณ 14 เมตร หรือ เลยจุดกึ่งกลางของความลึกทั้งหมด
เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง ด้วยความแคบของรูและ ความลึกระดับ 14 เมตร คณะแพทย์มีความเห็นว่า หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปออกซิเจนในรูเสาเข็มจะค่อยๆ หมดไป นั่นหมายถึงชีวิตน้อยๆ ของเด็กวัย 1 ปี 4 เดือนก็จะจบลงตามไปด้วย ดังนั้นถังออกซิเจนจึงถูกลำเลียงมาวางไว้ปากรูเสาเข็ม ขณะที่สายออกซิเจนถูกโรยลงไปอยู่ก้นหลุม
เวลาผ่านไปอย่างเที่ยงตรง ตามหน้าที่ของมัน การประชุมหามาตรการ ช่วยชีวิตยังไม่ได้ข้อสรุป บางคนเสนอให้ใช้วิธีสร้างอุปกรณ์เฉพาะกิจลักษณะ คล้ายตะขอหย่อนลงไปเกี่ยวตัวเด็กขึ้นมา แต่ก็ถูกคัดค้านเมื่อเล็งเห็นถึงอันตราย ที่มีมากกว่าหากเด็กเกิดหลุดจากตะขอ แล้วหล่นลงไปกระแทกพื้นอาจถึงชีวิตได้
ในที่สุดจึงตกลงกันว่า ต้องดึงเสาเข็มท่อนแรกที่สูงประมาณ 12 เมตรขึ้นมาก่อน แม้จะมีเสียงท้วงติงว่าอาจเกิดอันตรายกับเด็ก จากดินโคลนและน้ำที่จะทะลักลงไปในรูเสาเข็ม มาตรการป้องกันต่างๆ จึงถูกกำหนดขึ้นพร้อมๆ กันเพราะดีกว่าจะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไร
11.00 น. รถแบ็คโฮขุดดินบริเวณรอบๆ เสาเข็มได้ลึกลงไป 3 เมตรอย่างระมัดระวัง หวังเพียงที่จะช่วยชีวิตเด็กน้อยออกมาให้ได้โดยด่วน แต่ก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะหากเร่งรีบจนเกินไปจะทำให้หน้าดินพังลงไปทับเด็ก ขณะที่ไทยมุงก็คอยเอาใจช่วยอย่างใจจดใจจ่อ
ขณะที่ตลอดเวลานางสมภาร ผู้เป็นแม่ผุดลุกผุดนั่ง อาการเต็มไปด้วย ความกระวนกระวาย ทั้งเสียงและน้ำตาแหบแห้งลงพร้อมๆ กัน แต่เธอก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เมื่อทีมช่วยชีวิตส่งสัญญาณมาตลอดว่า ลูกน้อยของเธอยังมีชีวิตอยู่ เพราะเจ้าหน้าที่รับรู้ได้ถึงการตอบสนอง ของเด็กจากเชือกที่หย่อนลงไป
แต่แล้วภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าไทยมุงเกือบ พันคนเต็มไปด้วยความน่าเวทนาและ หดหู่ควบคู่กันไป ทุกวินาทีที่ผ่านไปดูจะเชื่องช้ากว่าที่ควรจะเป็น นางสมภารแม่ของเด็กเคราะห์ร้ายทนอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรไม่ได้เดินแหวกวงล้อมออกไปนั่งคุกเข่าที่ ศาลพระภูมิเจ้าที่ของโรงพยาบาลทหารผ่านศึก สองมือที่เปรอะเปื้อนดินโคลนยกขึ้นท่วมหัว พร้อมกับบนบานศาลกล่าวอย่างคนพบที่พึ่งพิงสุดท้าย
“หากลูกของลูกช้างรอดชีวิตมาได้จะถวายพวงมาลัย 50 พวง ไข่ 50 ฟอง กล้วย 50 หวี” นี่คือสิ่งที่เธอใช้ต่อรองความเป็นความตาย ของลูกกับอำนาจเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น
ถึงแม้สิ่งที่นำมาบนบานนั้นจะดูไม่มากมายนักสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่สำหรับครอบครัวของแม่ผู้สิ้นหวังนั้นดูมากมายเสียเหลือเกิน เพราะแม้แต่ข้าวสารกรอกหม้อยังหา แทบไม่ค่อยจะได้ อย่างไรก็ตามตลอดเวลาเธอยังมีนายบุญ หรือจำปี บุญน้อย สามีคอยให้กำลังใจอยู่ข้างกาย
เมื่อเวลาผ่านไปถึง 13.30 น. รถตักดินต้องหยุดงานอย่างกะทันหัน เมื่อขุดลึกลงไปถึงรอยต่อของเสาเข็มต้นแรก ระยะ 12 เมตร เสาเข็มเริ่มโยกไปมาและทำท่าจะล้มลง นั่นหมายถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ทีมช่วยชีวิตต้องนำสลิงมาโยงกับปั้นจั่นรั้งเสาเข็มไว้ในแนว 70 องศา แต่ไม่วายรอยแตกร้าวของเสาเข็มส่งผลให้ดินโคลนและน้ำทะลักลงไปสู่ก้นรู
ความหวังที่เด็กจะมีชีวิตรอดหมดไป พร้อมกับดินโคลนก้อนสุดท้ายที่ตกลงไป แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะพังเดชะบุญที่เด็กมีการตอบสนองกับเส้นเชือกอีกครั้ง มาตรการช่วยเหลือขั้นต่อไปจึงเกิดขึ้นในทันทีทันใด ทีมช่วยชีวิตตัดสินใจใช้มาตรการสุดท้ายถอนเสาเข็ม เพราะหากปล่อยไว้นานทั้งน้ำและโคลนคงจะทำให้เด็กเสียชีวิตเป็นแน่
รถปั้นจั่นโยงสลิงขึ้นมาลักษณะถอน แต่ก็ไม่สามารถขยับเขยื้อนเสาเข็ม ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตรขึ้นมาได้ หนำซ้ำเสาเข็มยังเกิดหักกลางต้นทำให้ดินและ น้ำตกลงไปอีก ความหวังที่ ด.ญ.สร้อยเพชร จะมีชีวิตอยู่เลือนรางเต็มที มีเพียงปาฏิหาริย์อย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เด็กหญิง เคราะห์ร้ายรอดชีวิตจากวิบากกรรมครั้งนี้
10 ชั่วโมงของการช่วยชีวิตขณะนั้นเป็นเวลา 17.45 น.ความหวังของพ่อแม่ ทีมช่วยชีวิต และไทยมุง หมดสิ้นเพราะภายใต้เสาเข็มไม่มีแรงตอบสนองจากเด็ก ดินและน้ำบดบังจนมองไม่เห็นร่างที่อยู่ลึกลงไป จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบัดนี้ชีวิตน้อยๆ ของ ด.ญ.สร้อยเพชรได้หลุดออกจากร่างพ้นทุกขเวทนาไปแล้ว เมื่อทุกฝ่ายมั่นใจว่า ไม่สามารถช่วยเหลือชีวิตของเด็กเคราะห์ร้ายได้แล้ว ทีมช่วยชีวิตประกอบด้วย น.พ.วงค์เมือง หงสกุล ผอ.รพ.ทหารผ่านศึก, นายศรชัย ลีนะบรรจง หัวหน้าตอกเสาเข็ม หจก.พรไพบูลย์, พล.ต.ต.ศักดิ์ระพี ปรักกมะกุล ผู้ช่วย ผบช.น.และ พล.ต.ต.ทศ ธรรมกุล ผบก.ดพ.สมัยนั้นได้ร่วมหารือ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรเสียก็ต้องนำร่างไร้วิญญาณของ ด.ญ.สร้อยเพชร บุญน้อย ขึ้นมาให้จนได้ คือมติเอกฉันท์ที่ทุกฝ่ายต่างก็ยืนยันในเจตนารมณ์ แม้ว่าจะต้องเสียทุนทรัพย์เท่าไหร่ก็ยอม เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนจิตใจคนทั่วประเทศอย่างมาก
งานของเจ้าหน้าที่คงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อุปสรรคต่างๆ นานา ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นทุกนาที จนกระทั่งถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 จึงสามารถนำร่างที่ปราศจากชีวิตของเด็กผู้น่าสงสารขึ้นมาได้ รวมเวลาการปฏิบัติงานทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดเหตุ จนกระทั่งได้ศพกว่า 116 ชั่วโมง
ศพของ ด.ญ.สร้อยเพชร บุญน้อย ถูกนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดตะพาน ถนนราชปรารภ แขวงทุ่งพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ ด้วยความเศร้าโศกของญาติพี่น้องและคนทั้งประเทศ และยิ่งน่าเวทนาขึ้นไปอีก เพราะในขณะที่ร่างอันปราศจากลมหายใจของ ด.ญ.สร้อยเพชร นอนอยู่ในโลงไม้ หน้าโลงศพกลับมีเพียงรูปวาดเหมือนจริงตั้งอยู่หน้าศพเท่านั้น
เด็กหญิงวัย 1 ปี 4 เดือน ไม่มีแม้โอกาสจะถ่ายรูปเก็บไว้แม้แต่ใบเดียว!!! เมื่อฌาปนกิจศพเรียบร้อยแล้ว หจก.พรไพบูลย์ และประชาชนที่ทราบข่าวได้ร่วมกันบริจาคเงินส่วนหนึ่ง ให้นางสมภารกับนายบุญเป็นทุนทำมาหากิน
แต่พ่อแม่ผู้สูญเสียลูกอันเป็นที่รักเลือกจะกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวไร่ ที่ จ.ลพบุรี แทนด้วยความหวังที่ว่า เวลาและสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ จะช่วยเยียวยารักษาแผลในใจได้บ้าง
ที่มา: http://www.patjaa.com/ฝังใจไม่มีวันลืม-ด-ญ-สร้/