แต่ ก่อนแต่ไรหนังผีแดนปลาดิบไม่ค่อยถูกกับคนบ้านเราเสียเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะความน่ากลัวหรอกแต่เพราะมันไม่น่ากลัวต่างหาก คนไทยเคยชินกับผีไทยประเภทแม่นาค กระสือ แต่ผีของญี่ปุ่นมักจะออกมาในรูปของวิญญาณหรืออยู่ในรูปของอสุรกายซึ่งคนไทยไม่คุ้นเคย จนกระทั่งกระแสหนังผีญี่ปุ่นถูกพัดกระพืออีกครั้งในปี ๑๙๙๘ จากภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายสยองขวัญชื่อดัง Ringu ประพันธ์โดย โคจิ ซึสึกิ(Koji Suzuki)
กระแส ของ Ringu หรือ The Ring ทำให้หนังผีญี่ปุ่นกลายเป็นของนิยมสำหรับคอหนังสยองขวัญบ้านเรา รวมถึงหนังผีย่านใกล้เคียงอย่างเกาหลีก็ด้วย โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าคิดว่ามันไม่ค่อยน่ากลัวสักเท่าไหร่ แต่จะออกแนวสยองขวัญเสียวสันหลังมากกว่า แต่ที่ชอบใจประการหนึ่งก็คือ หนังผีญี่ปุ่นมักจะสอดแทรกความเป็นดราม่าเข้าไป บางทีทำเอาผู้ชมสะเทือนใจไปกับโศกนาฏกรรมของตัวละครเสียด้วยซ้ำ แต่ที่รู้สึกจะออกแนวขำๆ ก็คือท่าทางการเคลื่อนไหวของบรรดาผีๆ ที่เดินกันดีๆ ไม่เป็น ต้องคืบต้องคลานแล้วก็ต้องกระตุกเป็นจังหวะๆ ไม่รู้ว่ามันน่ากลัวตรงไหนเนี่ย
บังเอิญ ไปเจอหนังผีญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า The Slit Mouth Woman แปลกันโต้งๆ ว่า อีสาวปากฉีก ดูแล้วไม่ถึงกับชื่นชอบนัก ออกจะสะดุดไม่ไหลลื่นเสียด้วยซ้ำ แต่รู้สึกว่ามันแปลกดีแล้วเขาก็ทำได้เนียนดีทีเดียว
ตำนาน เรื่องผีสาวปากฉีกนี่เป็นตำนานยอดฮืตเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น เหมือนๆ กับที่บ้านเรามีเรื่องเล่าของแม่นาค กระสือ เปรต ที่ญี่ปุ่นเขาก็มีเหมือนกัน จะออกแนวนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับภูติผีเสียมาก ผีของญี่ปุ่นนี่เขาแบ่งประเภทกันด้วย
แบบ แรกเขาเรียกว่า Obake เป็นพวกวิญญาณในรูปของควันหรือหมอก ไม่มีตัวตนแต่สามารถเข้าสิงอะไรก็ได้ทั้งคน สัตว์หรือสิ่งของ อย่างที่เราเคยเห็นในหนังหรือการ์ตูน เช่น ร่มผี โคมไฟ แผ่นหิน แบบที่สองเรียกว่า Yokai พวกนี้คือพวกอสุรกายหรือปีศาจชนิดต่างๆ ที่มีรูปร่างเป็นตัวเป็นตน เช่น กัปปะ ปีศาจจิ้งจอก เปรต เท็นคุ ผีไร้หน้า ผีคอยาว ฯ แบบสุดท้ายเรียกว่า Yurea พวกนี้คือวิญญาณคนตาย ที่ยังไม่ไปผุดไปเกิดยังคงวนเวียนอยู่ทั้งในโลกมนุษย์และโลกของภูติผี เป็นวิญญาณที่ยังคงมีอะไรคั่งค้างในใจเกิดเป็นห่วงหรือความพยาบาท บ้างก็สามารถปรากฎตัวในตอนกลางวันได้ด้วย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ตายโหงหรืออุบัติเหตุ อย่างเช่น ผีซาดาโกะในหนังเรื่อง The Ring หรือผีโทรศัพท์ใน One Miss Call
สำหรับ ตำนานสาวปากฉีกเป็นเรื่องเล่ามาแต่ครั้งโบราณ สาวสวยนางหนึ่งเป็นภริยาของซามูไร หญิงสาวนั้นหน้าตางดงามมากใครเห็นใครก็ชมชอบ ฝ่ายสามีซึ่งคงจะโรคจิตพอสมควรดันกลัวว่าหญิงสาวจะคบชู้ เลยใช้ดาบตัดปากของเธอจนขาดถึงใบหู แล้วเยาะว่า ดูซิ แบบนี้จะมีใครชมว่าสวยอีกมั้ย พอหญิงสาวตายไปเธอจึงกลายเป็นวิญญาณที่อาฆาตแค้น เธอมักจะดักรอผู้คนในช่วงพลบค่ำโดยจะสวมผ้าปิดปากไว้ พอมีใครผ่านมาเธอก็จะถามว่า “ฉันสวยมั้ย” ถ้าตอบว่าสวยเธอก็จะเปิดผ้าออกแล้วถามอีก แล้วอย่างงี้ล่ะยังสวยอยู่มั้ย ถ้าตอบว่าไม่สวยหรือตกใจกลัวก็จะโดนเธอทำร้าย (บ้างก็ว่าจะโดเธอฉีกปากให้เหมือนเธอ) แต่ถ้าทำใจแข็งไม่วิ่งหนีแล้วตอบว่าก็ยังสวยอยู่ เธอก็จะพอใจและจากไปเอง…เหมือนผีบ้ายอเลยแฮะ
สำหรับ ภาพยนตร์ The Slit Mouth Woman จับเอาตำนานเรื่องสาวปากฉีกมาทำใหม่ เปลี่ยนจากหญิงสาวที่ถูกสามีทำร้ายมาเป็นคุณแม่ยังสาวที่มีอาการทางจิต เริ่มเรื่องด้วยเรื่องเล่าขานในหมู่เด็กนักเรียนเกี่ยวกับหญิงสาวที่โผล่ออกมาที่สวนสาธารณะตอนค่ำๆ พร้อมด้วยผ้าปิดปาก เด็กๆ โจษจันกันว่าเธอคือสาวปากฉีกที่ออกมาหาเหยื่อ ขณะเดียวกันนั้นตัวหนังก็โฟกัสไปยังเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ดูท่าทางจะเป็น เด็กมีปัญหา ชอบเก็บตัวและมักจะสวมผ้าปิดปากอยู่เสมอ หนังมาเฉลยเอาว่าเธอถูกทำร้ายจากผู้เป็นแม่ คุณครูประจำชั้นสาวและคุณครูหนุ่มอีกคนหนึ่งต่างก็รู้เรื่องนี้ดีและพยายาม หาทางแก้ไขปัญหานี้ให้เด็กหญิง แต่ไปๆ มาๆ หนังก็สร้างพล็อตย่อยขึ้นมาอีกว่าคุณครูทั้งสองต่างก็ประสบกับเหตุการณ์การทารุณกรรมเด็ก (Child Abuse) ทั้งฝ่ายผู้ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำเสียเอง!
คุณ ครูยามาชิตะเป็นคุณแม่ลูกหนึ่งที่แยกทางกับสามี โดยลูกสาวคนเดียวของเธออยู่กับฝ่ายสามี เพราะเธอมีอาการทางประสาทที่มักจะทำร้ายลูกสาวอยู่เสมอ จนกระทั่งปัจจุบันที่เธอสลัดอาการที่ว่านี้ไปจนหมดแล้วแต่ลูกสาวก็ยังไม่เปิดใจยอมรับเธอ ทางฝ่ายคุณครูหนุ่มมัทสึซากิก็พอกัน แต่เขาเป็นฝ่ายถูกกระทำจากแม่แท้ๆ ของตัวเองที่มีอาการทางจิตเช่นกัน
เหตุการณ์ มาเลวร้ายขึ้นเมื่อเด็กหญิงหายตัวไปอย่างลึกลับพร้อมกับการหายตัวไปของเด็กๆ ในละแวกนั้น จนมีข่าวลือว่าผีสาวปากฉีกเป็นตัวการในเรื่องนี้ แล้วคุณครูทั้งสองก็พบกับความจริงที่ว่าผีสาวปากฉีกนั้นมีตัวตนจริงๆ และยิ่งน่ากลัวขึ้นไปอีกเมื่อได้รู้ว่าผีสาว ตนนั้นคือแม่ของคุณครูมัทสึซากินั่นเอง!
บท หนังอาศัยตัวละครผีสาวปากฉีกเป็นตัวเอกแต่กลับฉีกตำนานเก่าๆ ทิ้ง จากเดิมที่เธออาฆาตแค้นเพราะถูกสามีทำร้ายกลับกลายเป็นเธอเป็นฝ่ายทำร้ายลูก ของตนเองเสียแทน และจบชีวิตอย่างน่าสงสาร (ด้วยสภาพที่ต้องปากฉีกด้วยความบังเอิญ) ซึ่งคนที่สังหารเธอก็ไม่ใช่ใคร ก็คือลูกชายของเธอ (ครูมัทสึซากะ) นั่นเอง การดำเนินเรื่องอาจมีช่องโหว่อยู่บ้าง อย่างเช่นว่าคุณครูยามาชิตะที่มีประวัติทำร้ายเด็ก แต่ทำไมถึงสามารถเป็นครูโรงเรียนประถมได้ หรือทำไมจู่ๆ ผีสาวปากฉีกถึงได้ลุกขึ้นมาทำร้ายคนอื่นทั้งที่ถูกฆ่าไปแล้วเป็นสิบๆ ปี แต่ด้วยภาพและลีลาการดำเนินเรื่องที่ชวนสยอง ทำให้เราพอจะลืมๆ เรื่องปลีกย่อยนั่นไปได้และหันมาสนใจกับความสยดสยองที่โผล่ขึ้นมาเป็นระยะ
มิกิ มิสึโนะ (Miki Mizuno) รับบทเป็นผีสาว
จากเดิมที่สวยใสกลายเป็นสวยสยองไปเลย
หนัง เล่นกับประเด็นของการทารุณกรรมเด็ก ไม่ว่าประเทศไหนก็มีปัญหาแบบนี้ทั้งสิ้น เท่าที่ปรากฎในเรื่องบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายไม่ใช่ว่าไม่รักลูก แต่เพราะอาการป่วยเสียมากกว่าที่ทำให้พวกเธอกลายเป็นปีศาจร้ายในสายตาลูกๆ อย่างตัวผีสาวเมื่อครั้งยังมีชีวิต เธอจัดเป็นคุณแม่ที่แสนดีและรักลูกมากทีเดียว แต่ด้วยอาการป่วยทางกายประกอบกับอาการทางประสาท ทำให้เธอกลายเป็นคนที่มีสองบุคลิก คือเป็นคุณแม่ที่แสนดีที่พร้อมจะแปลงร่างเป็นปีศาจทุบตีลูกได้ทุกเมื่อเช่นกัน ซึ่งอาการที่ว่านี้พบเห็นได้ในสังคมจริงๆ หนังทำเอาคนดูรู้สึกหดหู่ไม่น้อยกับชะตากรรมของเด็กหญิงที่ไม่รู้อิโหน่อิ เหน่อะไรด้วย แต่โชคร้ายต้องตกเป็นเหยื่อของความวิปริตของผีสาว และหนังยังสะท้อนความวิปริตนั้นให้เห็นว่าแท้จริง แล้วปีศาจอยู่ในตัวเราทุกคนเพียงแต่รอเวลาที่จะแสดงตัวตนของมันออกมา โดยนำเสนอให้เห็นว่าผีสาวปากฉีกสามารถไปโผล่ในร่างของใครก็ได้ทุกเมื่อ
หนัง จบลงแบบโศกนาฏกรรม เด็กๆ ต้องเสียแม่ ครอบครัวต้องสูญเสียลูก ครูหนุ่มต้องจบชีวิตลง มันเป็นเรื่องเศร้าไม่ว่าเกิดกับใครหรือครอบครัวใดก็ตาม อาการป่วยประเภทนี้สามารถรักษาได้แต่บางครั้งกว่าที่จะรู้ตัวมันก็อาจจะสายไปเสียแล้ว